เปิดศักยภาพการระบายน้ำสมุทรสาคร ลุ้นจะเจอน้ำท่วมใหญ่หรือไม่?

จากสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง โดยเฉพาะที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ปัจจุบันมีการระบายน้ำลงพื้นที่ท้ายเขื่อนอย่างต่อเนื่อง หลายจังหวัดในพื้นที่ปลายน้ำ หนึ่งในนั้นก็คือสมุทรสาคร เกิดความวิตกกังวลว่าจะเกิดสถานการณ์น้ำท่วมแบบเดียวกับที่เกิดมหาอุทกภัยปี 2554 หรือไม่?

อธิบายก่อนว่า เมื่อน้ำจากทางภาคเหนือตอนล่าง ผ่านแม่น้ำ 2 สาย ได้แก่ แม่น้ำปิง บรรจบกับแม่น้ำวัง ที่ อ.บ้านตาก จ.ตาก กับแม่น้ำน่าน บรรจบกับแม่น้ำยม ที่ อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ก่อนที่จะบรรจบกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ที่แหลมเกาะยม อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ลำน้ำจุดนี้มีความจุสูงสุด 3,590 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที) หากเกินกว่านี้เท่ากับว่ามีน้ำล้นตลิ่ง

จากแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสะพานเดชาติวงศ์ จ.นครสวรรค์ จะไหลมาถึงเขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ประมาณ 20 ชั่วโมง ระหว่างทางยังมีมวลน้ำจากแม่น้ำสะแกกรัง เขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ไหลลงมามาสมทบ ที่สะพานมโนรมย์ รอยต่อระหว่าง ต.ท่าซุง อ.เมือง จ.อุทัยธานี กับ ต.คุ้งสำเภา อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท

ภาพ : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสุพรรณบุรี

แม่น้ำท่าจีน รับน้ำมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ประตูระบายน้ำพลเทพ ต.หาดท่าเสา อ.เมือง จ.ชัยนาท ไหลผ่านจังหวัดสุพรรณบุรี นครปฐม ลงสู่แม่น้ำท่าจีนที่ จ.สมุทรสาคร ระยะทางประมาณ 325 กิโลเมตร มีความจุลำน้ำ 320 ลบ.ม./วินาที แต่หลังจากนั้นผ่านประตูระบายน้ำโพธิ์พระยา ต.โพธิ์พระยา อ.เมืองฯ จ.สุพรรณบุรี ความจุลำน้ำลดลงมาเหลือ 200 ลบ.ม./วินาที

ระหว่างทางยังมีมวลน้ำจากแม่น้ำสองพี่น้อง ที่มีน้ำส่วนหนึ่งจากคลองจระเข้สามพัน ไหลลงแม่น้ำท่าจีน ที่ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี กับคลองท่าสาร-บางปลา ไหลลงแม่น้ำท่าจีน ที่ อ.บางเลน จ.นครปฐม ซึ่งลำน้ำทั้งสองสายรับน้ำมาจากแม่น้ำแม่กลองด้าน จ.กาญจนบุรี ไหลมาสมทบ

ขณะที่คลองเชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำท่าจีน ได้แก่ คลองบางยี่หน ต่อเนื่องคลองเจ้าเจ็ดและแม่น้ำน้อย, คลองพระยาบันลือ, คลองพระพิมล, คลองนราภิรมย์ ต่อเนื่องคลองทวีวัฒนา ออกคลองภาษีเจริญ, คลองโยง ต่อเนื่องคลองบางใหญ่ ออกคลองอ้อมนนท์, คลองมหาสวัสดิ์ ออกคลองบางกอกน้อย และคลองภาษีเจริญ ออกคลองบางกอกใหญ่

คลิกเพื่อดูภาพขนาดใหญ่

ข้อมูลจากโครงการชลประทานสมุทรสาคร ระบุว่า ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร มีสถานีสูบน้ำทั้งหมด 24 แห่ง แบ่งออกเป็นโครงการชลประทานสมุทรสาคร 8 แห่ง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาภาษีเจริญ 10 แห่ง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาดำเนินสะดวก 6 แห่ง มีเครื่องสูบน้ำประจำสถานีสูบน้ำ รวมทั้งสิ้น 84 เครื่อง

ส่วนประตูระบายน้ำมีทั้งหมด 128 แห่ง แบ่งออกเป็นโครงการชลประทานสมุทรสาคร 49 แห่ง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาภาษีเจริญ 59 แห่ง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาดำเนินสะดวก 8 แห่ง และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครปฐม 12 แห่ง

สำหรับแผนดำเนินการป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมนั้น จะใช้คลองที่มีอยู่เป็นคลองรับน้ำเพื่อการระบายน้ำ, เร่งระบายน้ำในพื้นที่โดยใช้ประตูระบายน้ำและเครื่องสูบน้ำถาวรบริเวณริมแม่น้ำท่าจีน, เร่งระบายน้ำจากพื้นที่แก้มลิงที่ประตูระบายน้ำ และสถานีสูบน้ำคลองมหาชัยออกสู่ทะเล รวมทั้งประสานหน่วยงานชลประทานในพื้นที่และบูรณาการร่วมกับท้องถิ่น

โดยแผนงานเตรียมการ ประกอบด้วย ตรวจสอบสภาพประตูระบายน้ำ เครื่องสูบน้ำทุกแห่ง ทุก 7-15 วัน, กำจัดวัชพืชในทางน้ำชลประทาน และบริเวณหน้าประตูระบายน้ำ, ติดตั้งเครื่องสูบน้ำถาวรที่ประตูระบายน้ำคลองหวายลิงใหญ่, ขุดลอกคลองสุนัขหอน เพื่อรองรับน้ำจากคลองในแนวเหนือ-ใต้ และจัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ บุคลากร กระสอบทรายและยานพาหนะ

ส่วนแผนงานเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำขณะน้ำมานั้น พร่องระดับน้ำในคลองมหาชัย ให้ต่ำกว่าตลิ่ง 0.3-0.5 เมตร เดินเครื่องสูบน้ำที่สถานีคลองมหาชัย เสริมในช่วงน้ำทะเลหนุน พร้อมเดินเครื่องสูบน้ำที่ประตูระบายน้ำคลองหวายลิงใหญ่ เสริมในช่วงน้ำทะเลหนุน และประสานหน่วยงานชลประทานในพื้นที่ เร่งระบายน้ำคลองสายหลักเพื่อรองรับปริมาณน้ำจากชุมชน

ส่วนการเฝ้าระวังน้ำท่วมคลองมหาชัย ที่ประตูระบายน้ำคลองมหาชัยนั้น จะควบคุมปริมาณน้ำให้อยู่ในระดับไม่เกิน 1.80 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง กรณีที่ระดับน้ำเกินเกณฑ์ จะดำเนินการเปิดประตูระบายน้ำในช่วงน้ำทะเลลง และเดินเครื่องสูบน้ำขนาดอัตราสูบ 3 ลบ.ม./วินาที จำนวน 12 เครื่อง ศักยภาพการสูบระบายน้ำสูงสุด 36 ลบ.ม./วินาที ในช่วงน้ำทะเลหนุน

และยังมีธงสัญลักษณ์ ได้แก่ ธงเขียว ระดับน้ำ 1.20 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง หมายถึง ระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ, ธงเหลือง ระดับน้ำ 1.50 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง หมายถึง ระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังและติดตามข่าวสาร และ ธงแดง ระดับน้ำ 1.90 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง หมายถึง ระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์วิกฤต ให้เตรียมพร้อมการย้ายทรัพย์สิน

ข้อมูลจากกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ได้ทำนายระดับน้ำขึ้นสูงสุดว่า ในเดือนตุลาคม 2564 ระดับน้ำปากน้ำท่าจีน (สมุทรสาคร) พบว่าจะมีระดับน้ำสูงสุดของเดือนในวันที่ 10 ตุลาคม 2564 อยู่ที่ 3.42 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) รองลงมาคือช่วงวันที่ 23-24 ตุลาคม 2564 อยู่ที่ 3.41 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

นับจากนี้คนสมุทรสาครอาจต้องเฝ้าระวังไม่ให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ซ้ำรอยปี 2554 ด้วยใจระทึก

-กิตตินันท์ นาคทอง-

ทำนายระดับน้ำขึ้นสูงสุด ปากน้ำท่าจีน (สมุทรสาคร)
คำนวณโดยกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ

1 ตุลาคม 2564 น้ำขึ้นสูงสุดเวลา 15.37 น. อยู่ที่ 2.95 ม.รทก.
2 ตุลาคม 2564 น้ำขึ้นสูงสุดเวลา 16.06 น. อยู่ที่ 3.08 ม.รทก.
3 ตุลาคม 2564 น้ำขึ้นสูงสุดเวลา 16.33 น. อยู่ที่ 3.18 ม.รทก.
4 ตุลาคม 2564 น้ำขึ้นสูงสุดเวลา 17.00 น. อยู่ที่ 3.24 ม.รทก.
5 ตุลาคม 2564 น้ำขึ้นสูงสุดเวลา 17.27 น. อยู่ที่ 3.25 ม.รทก.
6 ตุลาคม 2564 น้ำขึ้นสูงสุดเวลา 17.50 น. อยู่ที่ 3.22 ม.รทก.
7 ตุลาคม 2564 น้ำขึ้นสูงสุดเวลา 18.10 น. อยู่ที่ 3.17 ม.รทก.
8 ตุลาคม 2564 น้ำขึ้นสูงสุดเวลา 06.31 น. อยู่ที่ 3.22 ม.รทก.
9 ตุลาคม 2564 น้ำขึ้นสูงสุดเวลา 07.19 น. อยู่ที่ 3.38 ม.รทก.
10 ตุลาคม 2564 น้ำขึ้นสูงสุดเวลา 08.12 น. อยู่ที่ 3.42 ม.รทก.
11 ตุลาคม 2564 น้ำขึ้นสูงสุดเวลา 09.08 น. อยู่ที่ 3.36 ม.รทก.
12 ตุลาคม 2564 น้ำขึ้นสูงสุดเวลา 10.12 น. อยู่ที่ 3.23 ม.รทก.
13 ตุลาคม 2564 น้ำขึ้นสูงสุดเวลา 11.41 น. อยู่ที่ 3.13 ม.รทก.
14 ตุลาคม 2564 น้ำขึ้นสูงสุดเวลา 13.31 น. อยู่ที่ 3.13 ม.รทก.
15 ตุลาคม 2564 น้ำขึ้นสูงสุดเวลา 14.42 น. อยู่ที่ 3.19 ม.รทก.
16 ตุลาคม 2564 น้ำขึ้นสูงสุดเวลา 15.29 น. อยู่ที่ 3.23 ม.รทก.
17 ตุลาคม 2564 น้ำขึ้นสูงสุดเวลา 16.06 น. อยู่ที่ 3.24 ม.รทก.
18 ตุลาคม 2564 น้ำขึ้นสูงสุดเวลา 16.34 น. อยู่ที่ 3.21 ม.รทก.
19 ตุลาคม 2564 น้ำขึ้นสูงสุดเวลา 16.58 น. อยู่ที่ 3.17 ม.รทก.
20 ตุลาคม 2564 น้ำขึ้นสูงสุดเวลา 17.07 น. อยู่ที่ 3.13 ม.รทก.
21 ตุลาคม 2564 น้ำขึ้นสูงสุดเวลา 06.20 น. อยู่ที่ 3.14 ม.รทก.
22 ตุลาคม 2564 น้่ำขึ้นสูงสุดเวลา 07.03 น. อยู่ที่ 3.32 ม.รทก.
23 ตุลาคม 2564 น้ำขึ้นสูงสุดเวลา 07.43 น. อยู่ที่ 3.41 ม.รทก.
24 ตุลาคม 2564 น้ำขึ้นสูงสุดเวลา 08.17 น. อยู่ที่ 3.41 ม.รทก.
25 ตุลาคม 2564 น้ำขึ้นสูงสุดเวลา 08.51 น. อยู่ที่ 3.35 ม.รทก.
26 ตุลาคม 2564 น้ำขึ้นสูงสุดเวลา 09.28 น. อยู่ที่ 3.25 ม.รทก.
27 ตุลาคม 2564 น้ำขึ้นสูงสุดเวลา 10.14 น. อยู่ที่ 3.13 ม.รทก.
28 ตุลาคม 2564 น้ำขึ้นสูงสุดเวลา 11.19 น. อยู่ที่ 3.05 ม.รทก.
29 ตุลาคม 2564 น้ำขึ้นสูงสุดเวลา 12.47 น. อยู่ที่ 3.03 ม.รทก.
30 ตุลาคม 2564 น้ำขึ้นสูงสุดเวลา 13.51 น. อยู่ที่ 3.08 ม.รทก.
31 ตุลาคม 2564 น้ำขึ้นสูงสุดเวลา 14.36 น. อยู่ที่ 3.14 ม.รทก.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *