อย่าเข้าใจผิด! ‘สมุทรสาคร’ ไม่ใช่จังหวัดเก่าแก่อันดับ 3 ของประเทศ

เว็บไซต์ ca.tsgclub.net ได้ลงเนื้อหาเรื่อง “หลายคนไม่รู้ 3 “จังหวัดที่เก่าที่สุด”ในประเทศไทย”

โดยระบุว่า จ.สมุทรสาคร เป็นจังหวัดเก่าแก่ที่สุดอันดับ 3 ของประเทศไทย ก่อตั้งในปี พ.ศ.2456

ส่วนอันดับ 1 คือ จ.กาญจนบุรี ก่อตั้งในปี พ.ศ.2374 และอันดับ 2 คือ จ.เลย ก่อตั้งในปี พ.ศ.2450

“สาครออนไลน์” ได้สืบค้นประวัติศาสตร์ของทั้ง 3 จังหวัด พบว่าข้อมูลดังกล่าวไม่ถูกต้องนัก

เนื่องจากตั้งแต่สมัยสุโขทัย การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคแบ่งออกเป็นเมืองลูกหลวงและเมืองพระยามหานคร ต่อมาในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ แบ่งเป็นหัวชั้นเอก ชั้นโท ชั้นตรี ชั้นจัตวา

แล้วในปี พ.ศ.2437 ช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เริ่มมีการจัดรูปแบบการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาล โดยแบ่งเขตการปกครองเป็นแบบมณฑล

ไล่เรียงตามลำดับลงไปตั้งแต่ มณฑล เมือง(เทียบเท่าจังหวัด) อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน

มีข้าหลวงเทศาภิบาล เป็นผู้กำกับดูแลมณฑล และผู้ว่าราชการเมืองเป็นผู้ปกครองเมือง

ต่อมาคำว่า “จังหวัด” เริ่มถูกนำมาใช้เรียกแทนคำว่า “เมือง” ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

เพื่อป้องกันการสับสนการใช้คำทั้งคำว่า เมือง และ จังหวัด โดยเปลี่ยนให้เมืองหมายถึงตำบลที่ตั้งศูนย์กลางการปกครองของจังหวัด ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2459 เรื่องทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำว่าเมืองเรียกว่าจังหวัด ในราชกิจจานุเบกษา

ดังนั้น 72 เมืองจาก 19 มณฑล ณ ขณะนั้น จึงได้กลายมาเป็นจังหวัดพร้อมๆ กัน ไม่มีจังหวัดใดเก่าแก่ที่สุด ทั้งเมืองกาญจนบุรี ในท้องที่มณฑลราชบุรี, เมืองเลย ในมณฑลอุดร และเมืองสมุทรสาคร ในมณฑลนครชัยศรี

และหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 รัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้มีการตรา พ.ร.บ.ว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินสยาม พ.ศ.2476

เปลี่ยนเป็นแบบการบริหารราชการส่วนภูมิภาค เพื่อวางโครงสร้างการบริหารราชแผ่นดินภายใต้ระบอบการปกครองใหม่ ทำให้วิธีการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลถูกยกเลิกไปโดยปริยาย จังหวัดกลายเป็นหน่วยการปกครองส่วนภูมิภาคระดับสูงสุด

อีกทั้งการอ้างถึงปี พ.ศ. ที่ก่อตั้งจังหวัดในเว็บไซต์ดังกล่าว ดูเหมือนเป็นการยกขึ้นมาลอยๆ ไม่ได้มีข้อมูลอ้างอิงใดให้สืบค้นต่อได้

เช่น จ.กาญจนบุรี อ้างว่าก่อตั้งในปี พ.ศ. 2374 จากการสืบค้นพบว่า เป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงย้ายเมืองกาญจนบุรีเก่า จากตำบลลาดหญ้า (บริเวณเขาชนไก่ในปัจจุบัน) มาที่ตำบลปากแพรก อันเป็นสถานที่บรรจบของแม่น้ำแควใหญ่และแม่น้ำแควน้อย

โดยตัวเมืองอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแม่กลองกับแม่น้ำแควใหญ่ ซึ่งมีความเหมาะสมทางยุทธศาสตร์และด้านการค้า มีการก่อสร้างกำแพงเมืองและป้อมปราการเป็นการถาวร ซึ่งในปัจจุบันยังมีประตูเมืองด้านหน้าและและกำแพงเมืองบางส่วนหลงเหลือให้เห็นอยู่

ทั้งๆ ที่ประวัติศาสตร์ของเมืองกาญจนบุรี ย้อนไกลไปได้ถึงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ จากการค้นพบเครื่องมือหินบริเวณ ต.บ้านเก่า เรื่อยมาจนถึงสมัยทวารวดี สุโขทัย

มีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญในสมัยอยุธยา กระทั่งถึงสมัยกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์

อย่างไรก็ตาม กาญจนบุรีก็ได้ยกฐานะเป็นจังหวัดในปี พ.ศ. 2467

ส่วน จ.เลย อ้างว่าก่อตั้งในปี พ.ศ. 2450 นั้นเป็นปีที่กระทรวงมหาดไทยได้ออกประกาศยกเลิกบริเวณลำน้ำเหือง ให้คงเหลือไว้เฉพาะ “เมืองเลย” โดยให้เปลี่ยนชื่ออำเภอกุดป่อง เป็น “อำเภอเมืองเลย” ลงวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2450

ที่จริงแล้วการก่อตั้งเมืองเลย ต้องย้อนไปถึงปี พ.ศ. 2396 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง “เมืองเลย” ขึ้นที่บริเวณหมู่บ้านแฮ่ ริมฝั่งห้วยน้ำหมาน ใกล้กับแม่น้ำเลย เนื่องจากมีภูเขาล้อมรอบและพลเมืองหนาแน่น สมควรตั้งเป็นเมืองเพื่อประโยชน์ในการปกครองอย่างใกล้ชิด

และ จ.สมุทรสาคร ที่อ้างว่าก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2456 นั้น อ้างอิงมาจากเว็บไซต์จังหวัดสมุทรสาคร ที่ระบุว่า

“…ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาล ที่ 6 (พ.ศ. 2456) โปรดเกล้าให้ทางราชการเปลี่ยนคำว่า “เมือง” เป็น “จังหวัด” ทั่วทุกแห่ง ในพระราชอาณาจักร “เมืองสมุทรสาคร” จึงได้เปลี่ยนเป็น “จังหวัดสมุทรสาคร” มาจวบจนปัจจุบันนี้…”

ซึ่ง “เมืองสาครบุรี” ได้ถูกยกฐานะจาก “บ้านท่าจีน” ขึ้นมาในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เมื่อปี พ.ศ.2099 เพื่อเป็นหัวเมืองสำหรับเรียกระดมพลเวลาเกิดสงคราม และเป็นเมืองด่านหน้าป้องกันข้าศึกศัตรูที่จะเข้ามารุกรานบุกรุกทางทะเล

และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดให้เปลี่ยนชื่อ “เมืองสาครบุรี” เป็น “เมืองสมุทรสาคร” ซึ่งมีความหมายว่า “เมืองแห่งทะเลและแม่น้ำ” และขึ้นตรงกับมณฑลนครชัยศรี ในการปกครองรูปแบบมณฑลเทศาภิบาล เมื่อปี พ.ศ.2438

กระทั่งยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2486 จังหวัดสมุทรสาครได้ถูกยุบรวมกับจังหวัดธนบุรี ตาม พ.ร.บ.ยุบและรวมการปกครองบางจังหวัด พ.ศ.2485

หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 สมุทรสาครก็ได้ออกจากการปกครองของจังหวัดธนบุรี แล้วจัดตั้งเป็นจังหวัดขึ้นอีกครั้งจนถึงปัจจุบัน

แม้ประเด็นที่เว็บไซต์ประเภทดังกล่าวได้นำเสนอ จะไม่ได้สร้างความแตกตื่นให้กับคนสมุทรสาคร เหมือนเรื่องเว็บคลิกเบทปลอมเว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข กุเรื่อง 2 นักเรียนกินกุ้งฝังหัวเชื้อยาไอซ์เสียชีวิตเมื่อปีก่อน

แต่ด้วยเนื้อหาที่ผลิตขึ้นมาเพื่อเรียกยอดไลค์และแชร์ต่อไปเรื่อย โดยเฉพาะเรื่องประวัติศาสตร์ซึ่งขาดการค้นคว้า อาจสร้างความเข้าใจผิดให้เกิดขึ้นแก่ผู้อ่านได้

กิตติกร นาคทอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *