“คลองดำเนินสะดวก” สายน้ำผ่านกาลเวลา 150 ปี

แรกเริ่มเดิมที ในสมัยอยุธยาตอนปลาย ถึงยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น คลองมหาชัย และคลองสุนัขหอน ได้ขุดขึ้นเพื่อให้เป็นเส้นทางใช้เดินทัพไปชายแดนพม่าและมลายู และใช้ในการขนส่งสินค้าจำพวกน้ำตาล เครื่องเทศ เกลือ มายังเมืองหลวง

การเดินทางด้วยเรือจากพระนครไปยังหัวเมืองตะวันตกผ่านเมืองสาครบุรี ต้องใช้เส้นทางคลองมหาชัย ข้ามแม่น้ำท่าจีน จากนั้นเข้าคลองสุนัขหอน ซึ่งมีความคดเคี้ยวจนได้ชื่อว่า สามสิบสองคด ทำให้ใช้ระยะเวลาในการเดินทางมาก

เมื่อถึงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 (พ.ศ. 2394-2411) ภายหลังการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงในปี พ.ศ. 2389 ประเทศสยามเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ มีความเจริญจากการค้าขายกับต่างประเทศ

โดยมีผลิตผลทางการเกษตรที่สำคัญเป็นสินค้าส่งไปขายต่างประเทศ ได้แก่ น้ำตาล ข้าว พริกไทย ทำให้การขุดคลองในสมัยดังกล่าวจึงเป็นการเพิ่มพื้นที่การปลูกข้าว และเป็นการขนส่งน้ำตาลจากแหล่งผลิตอ้อยใหญ่ ๆ อย่างเช่นแถบเมืองนครชัยศรี คือ คลองเจดีย์บูชา คลองมหาสวัสดิ์ คลองภาษีเจริญ ฯลฯ

สำหรับคลองดำเนินสะดวก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชดำริ เมื่อปี พ.ศ. 2409 ว่า “การเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ ถึงสมุทรสาครก็มีคลองภาษีเจริญไปมาสะดวกดีอยู่ จึงควรมีคลองระหว่างกรุงเทพฯถึงสมุทรสาครและราชบุรีให้สะดวกขึ้น โดยมี แม่น้ำแม่กลองเป็นสื่อกลาง”

จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เมื่อครั้งขึ้นรับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระประสาทสิทธิ์ ที่พระสมุหกลาโหม เป็นแม่กองขุด โดยขุดแยกจากแม่น้ำท่าจีนฝั่งขวา ที่ ต.บางยาง อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ผ่าน อ.บ้านแพ้ว ไปเชื่อมกับแม่น้ำแม่กลอง ที่ ต.บางนกแขวก อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม

ในการขุดคลองเป็นการเกณฑ์แรงงานจากทหาร ราษฎร และแรงงานชาวจีนที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร โดยใช้วิธีขุดดินระยะหนึ่งแล้วเว้นไว้ไม่ต้องขุดดินอีกระยะหนึ่ง เพื่อว่าเวลาน้ำหลากมาจะได้กัดเซาะส่วนที่เว้นไว้ให้พังทลายลงไป จะได้ไม่เสียแรงงานมากนัก

พร้อมแบ่งระยะความยาวของคลองออกเป็น 100 เส้น (4 กม.) ตั้งแต่หลัก 0 ถึงหลัก 8 มีความยาวรวม 840 เส้น (32 กม.) ขนาดคลองกว้าง 6 วา (12 ม.) ลึก 6 ศอก (3 ม.) แต่ต่อมาเกิดตลิ่งกัดเซาะ ทำให้ในปัจจุบันคลองมีความกว้าง 10 วา (20 ม.) บางช่วง 20 วา (40 ม.)

ใช้งบประมาณ 1,400 ชั่ง เป็นเงิน 112,000 บาท ในสมัยนั้น โดย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานเงิน จำนวน 400 ชั่ง และสมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ จำนวน 1,000 ชั่ง

เมื่อขุดคลองแล้วเสร็จได้นำแผนขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าเป็นคลองที่เป็นเส้นตรงดี ทำให้มีความสะดวกในการสัญจร จึงพระราชทานนามคลองขุดใหม่นี้ว่า “คลองดำเนินสะดวก”

และทำพิธีเปิดคลองที่บางนกแขวก ในวันจันทร์ เดือน 7 ขึ้น 4 ค่ำ ตรงกับวันที่ 25 พฤษภาคม 2411 ปีมะโรง นอกจากนี้ ในระหว่างขุดคลอง ยังได้สร้างวัดไว้เป็นอนุสรณ์ ที่ ต.โคกไผ่ ระหว่างหลักเขตที่ 4 กับ 5 ให้ชื่อว่า วัดสมเด็จพระประสาทสิทธิ์ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นวัดปราสาทสิทธิ์

หลวงพ่อไตรรัตน์โรจน์ฤทธิ์

อนุสาวรีย์สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุญนาค)

วิถีชีวิต “แม่ค้าตลาดน้ำ” ยังคงมีให้พบเห็นในตลาดน้ำหลักห้า

หลักจากเปิดใช้งาน คลองดำเนินสะดวก กลายเป็นเส้นทางคมนาคมหลักระหว่างแม่น้ำท่าจีนกับแม่น้ำแม่กลอง ที่ช่วยย่นระยะเวลาในการเดินทาง มีการขนส่งสินค้าจำพวกข้าว น้ำตาล และเกลือ มายังเมืองหลวงเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน

รวมทั้งเปลี่ยนสภาพพื้นที่จากเดิมก่อนขุดคลองเป็นเลนตม มีแต่ป่าจาก ป่าปรง ไม่ค่อยมีผู้อยู่อาศัยมากนัก กลายเป็นเรือกสวนไร่นาที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีชาวไทยและชาวจีนที่ขุดคลองเข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน เกิดตลาดขนส่งสินค้า และขุดคลองซอยแยกจากคลองสายใหญ่มากกว่า 200 คลอง

ประตูน้ำบางยาง ต้นทางคลองดำเนินสะดวกฝั่งแม่น้ำท่าจีน

วัดหลักสี่ราษฎร์สโมสร ริมคลองดำเนินสะดวก

ช่วงสุดสัปดาห์ ผู้คนต่างเข้าสักการะบูชา “หลวงพ่อโต” กันอย่างไม่ขาดสาย

เป็นเวลากว่าร้อยปี ที่คลองดำเนินสะดวก เปรียบเสมือนเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตชุมชนริมน้ำของทั้ง 3 จังหวัด คือ สมุทรสาคร ราชบุรี และสมุทรสงคราม

กระทั่งการคมนาคมทางน้ำเริ่มค่อย ๆ ลดบทบาทลง โดยเปลี่ยนไปใช้รถยนต์แทน ตลาดสินค้ากลายเป็นตลาดน้ำเพื่อการท่องเที่ยว ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2530 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

แต่ประเพณี วัฒนธรรม คติความเชื่อ รวมถึงร่องรอยของความเจริญในอดีต ก็ยังคงมีปรากฏให้เห็น รอคอยผู้มาเยือนได้สัมผัสเที่ยวชมตลอดสองฝั่งคลอง

000

และในโอกาสที่คลองดำเนินสะดวกครบรอบ 150 ปี ในปี พ.ศ. 2561

อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบรี, อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม และอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร

บูรณาการร่วมกันจัดงาน “มหากุศล ชลวิถี สมโภช 150 ปี คลองดำเนินสะดวก”

ระหว่างวันที่ 25 พ.ค. – 3 มิ.ย. 2561 ณ วัดปราสาทสิทธิ์ ตลาดน้ำหลักห้า ต.ประสาทสิทธิ์ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี

เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ที่ทรงดำริขุดคลอง โดยมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้อำนวยการขุดคลองให้เป็นเส้นตรงเชื่อมต่อแม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน และแม่กลองเข้าด้วยกัน ทำให้ราษฎรได้ใช้สัญจรไปมาได้สะดวก

ภายในงานมีการจัดซุ้มการแสดง การจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ของดี 8 หลัก 3 อำเภอ 3 จังหวัด การจัดแสดงเสาหินหลักเขตจำลอง หลัก 0 ถึง หลัก 8 การจัดนิทรรศการพระราชกรณียกิจรัชกาลที่ 4 และ รัชกาลที่ 5 นิทรรศการท่านช่วง บุญนาค ซึ่งได้รับเกียรติจากตระกูลบุญนาคมาร่วมงาน และวิถีชุมชนดำเนินสะดวก

ส่วนไฮไลท์สำคัญ ก่อนวันงาน 24 พ.ค. จะมีพิธีบวงสรวงพระศักดิ์สิทธิ์และเหรียญที่ระลึก ในเวลา 09.00 น. และพิธีพุทธาภิเษกเหรียญที่ระลึก จุดเทียนชัยจากหลัก 1 วัดสวนส้ม ถึงหลัก 8 วัดเจริญสุขาราม

เริ่มงานวันแรก 25 พ.ค. เวลา 08.00 น. อัญเชิญพระศักดิ์สิทธิ์ 12 วัดริมคลองดำเนินสะดวก แห่ไปตามลำคลองจากหลัก 1 ถึงหลัก 8 มุ่งสู่มณฑลพิธีวัดปราสาทสิทธิ์เพื่อทำพิธีเปิดงาน โดยมีนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานในพิธีเปิด

จากนั้นเวลา 19.00 น. เป็นการแสดงสิงโตมังกรทอง และการแสดงแสงสีเสียงและสื่อผสมตำนานคลองดำเนินสะดวก เรื่อง “ย้อนยลชลวิถี 150 ปี คลองดำเนินสะดวก”

ส่วนในวันที่ 26 พ.ค. เวลา 09.00 น. เป็นพิธีบวงสรวง รัชกาลที่ 4, รัชกาลที่ 5, รัชกาลที่ 6 และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์, เวลา 12.00 น. แข่งกีฬาเรือนาวามหาสนุก และเวลา 17.00 น. พิธีเจริญพระพุทธมนต์ ณ มณฑลพิธีวัดปราสาทสิทธิ์

จากนั้นในวันที่ 27 พ.ค. เวลา 07.30 น. ร่วมตักบาตรพระทางน้ำบริเวณหน้าวิหารหลวงพ่อไตรรัตน์โรจน์ฤทธิ์ และเวลา 09.00 น. แข่งขันเรือเกษตร และเรือยาว 7 ฝีพาย

ปิดท้ายวันที่ 3 มิ.ย. เวลา 17.00 น. พิธีทอดผ้าป่ามหากุศล และ 19.30 น. พิธีลอยประทีปรำลึกถึงผู้มีอุปการะคุณและผู้ขุดคลองดำเนินสะดวก

เชิญร่วมสัมผัสอารยธรรม ริมสายน้ำประวัติศาสตร์ 3 อำเภอ 3 จังหวัด 1 สายน้ำ ครั้งแรกในงานดังกล่าว

– กิตติกร นาคทอง –

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *