ถนนเลียบชายฝั่งทะเล ปั้น “ไทยแลนด์ ริเวียร่า” สมุทรสาครไม่ได้อะไร

การประชุม ครม.สัญจร ภาคตะวันตก จ.เพชรบุรี เมื่อวันที่ 6 มี.ค. ที่ผ่านมา หนึ่งในโครงการที่ได้รับความเห็นชอบก็คือ “โครงการไทยแลนด์ ริเวียร่า” ในพื้นที่ 4 จังหวัดฝั่งทะเลตะวันตก ได้แก่ จ.เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง ให้คล้ายกับเมืองท่องเที่ยวริเวียร่า ในฝรั่งเศส ระยะทางเกือบ 700 กิโลเมตร

โดยเฉพาะเส้นทางถนนเลียบชายฝั่ง ของกรมทางหลวงชนบท รัฐบาลจะพัฒนาเส้นทางการคมนาคมขนส่งที่มีคุณภาพและมาตรฐาน เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวได้อย่างสะดวก รวมทั้งสร้างภาพลักษณ์ที่โดดเด่น และเน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวไฮ-เอนด์ ที่มีการใช้จ่ายสูง

อันที่จริง โครงการไทยแลนด์ ริเวียร่า ก็เป็นการนำ โครงข่ายถนนเลียบชายฝั่งทะเล หรือ ซีนิค รูท (SCENIC ROUTE) ที่กรมทางหลวงชนบทเป็นผู้ก่อสร้างมาต่อยอด ปัจจุบันมีสายทางที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ 18 สาย ระยะทางรวม 200.36 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 1,221.9 ล้านบาท

โดยจุดเริ่มต้นจากถนนพระราม 2 กม. 72 ต.คลองโคน อ.เมืองฯ สมุทรสงคราม ผ่านบ้านบางตะบูน อ.บ้านแหลม หาดเจ้าสำราญ สิ้นสุดที่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ระยะทาง 80 กิโลเมตร แต่เนื่องจากบางช่วงไม่ได้เลียบชายทะเล จึงต้องใช้เส้นทางหลัก ได้แก่ ถนนเพชรเกษม ของกรมทางหลวงในบางช่วง

ในปี 2561 เตรียมเปิดโครงข่ายถนนเลียบชายฝั่งทะเลเพิ่มอีก 2 เส้นทาง ได้แก่ สายบ้านท่าม่วง-บ้านบางเบิด อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ 16.1 กิโลเมตร และสายแยกทางหลวงหมายเลข 3201-บ้านบางจาก อ.ปะทิว จ.ชุมพร 8.5 กิโลเมตร พร้อมปรับปรุงสาย สส.2021 ตั้งแต่ถนนพระราม 2 ถึงบางตะบูน

ส่วนในปี 2562 ตั้งงบประมาณไว้ 509 ล้านบาท ก่อสร้างอีก 2 เส้นทาง ได้แก่ สายแยก ชพ.4198 อ.ทุ่งตะโก-เทศบาลปากน้ำหลังสวน ระยะทาง 23.5 กิโลเมตร งบประมาณ 247 ล้านบาท และสายสายแยก ชพ.4001-บ.โพธิ์แบะ อ.เมืองฯ จ.ชุมพร ระยะทาง 24.5 กิโลเมตร งบประมาณ 262 ล้านบาท

รูปแบบของถนนในโครงการไทยแลนด์ ริเวียร่า จะเป็นถนนเพื่อการท่องเที่ยว ชมทัศนียภาพสองข้างทาง ขนาด 2 ช่องจราจรสวนทาง โดยไม่ให้เป็นเส้นทางขนส่ง และไม่มีการเวนคืนที่ดินเพื่อขยายถนนตลอดทั้งสาย มีจุดพักรถ ผ่านแหล่งชุมชนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในชุมชน จากการขายสินค้าหรือให้บริการที่พักริมทาง

สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือ ถนนเลียบชายฝั่งทะเลตะวันตก ทำไมถึงเริ่มต้นที่ จ.สมุทรสงคราม?

ย้อนกลับไปในสมัย รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พบว่าในการประชุม ครม.สัญจร จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2555 พบว่าการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ (กรอ.) เคยเสนอโครงการถนนท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของอ่าวไทย เริ่มต้นจาก จ.สมุทรสาคร

โดยเสนอให้เชื่อมต่อโครงข่ายถนนเลียบชายทะเลจากจังหวัดสมุทรสาครให้เป็นระบบเดียวกัน ด้วยการก่อสร้างถนนช่วง ต.บางกระเจ้า ต.กาหลง ต.บางโทรัด และ ต.นาโคก เพื่อเชื่อมต่อกับถนนเลียบชายฝั่งทะเล อ่าวไทยที่ ต.บางแก้ว อ.เมืองฯ จ.สมุทรสงคราม ถึงถนนพระราม 2 ที่หลักกิโลเมตร 50+000

รวมทั้ง ปรับปรุงเส้นทางทางหลวงชนบทสาย สค. 2020 ช่วง ต.บางหญ้าแพรก (ฝั่งตะวันตกแม่น้ำท่าจีน) ถึง ต.บางกระเจ้า เพื่อเชื่อมต่อกับถนนพระราม 2 ทางหลวงหมายเลข 35 ที่หลักกิโลเมตร 38+650

แต่ดูเหมือนว่า การตัดถนนใหม่เลียบชายทะเล 4 ตำบล เพื่อไปเชื่อมกับจังหวัดสมุทรสงคราม ไม่มีอะไรเกิดขึ้น คาดว่าเป็นเพราะต้องเวนคืนที่ดินประมาณ 18 กิโลเมตร เหลือแต่ทางทางหลวงชนบทสาย สค. 2020 ระยะทาง 17.360 กิโลเมตร ที่เป็นเส้นทางเลียบชายทะเลแห่งเดียว แต่ก็สิ้นสุดลงที่บ้านกระซ้าขาว

เพราะฉะนั้น แม้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และทีมเศรษฐกิจ นำโดย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะปั้นโครงการไทยแลนด์ ริเวียร่า เพื่อบูมการท่องเที่ยว แต่แนวเส้นทางก็ได้ประโยชน์เต็มๆ เฉพาะตั้งแต่ จ.สมุทรสงครามลงมาเท่านั้น ซึ่งก็มีนักท่องเที่ยวบางส่วนใช้เส้นทางนี้กันบ้างแล้ว

เหลือแต่ จ.สมุทรสาคร แทบจะไม่ได้อะไร นอกจากเป็นทางผ่านจากกรุงเทพฯ ผ่านถนนพระราม 2 แค่นั้นเอง

– กิตตินันท์ นาคทอง –

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *