ดีแทคเมินคลื่น 1800 ซิมจะดับจริงหรือ?

ขอบคุณภาพ : MGR Online

ในที่สุด บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ตัดสินใจไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz. จาก กสทช. ทั้งๆ ที่สัญญาสัมปทานเดิมที่ทำไว้กับ บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด 27 ปี จะสิ้นสุดในวันที่ 15 ก.ย. 2561 แล้ว และต้องส่งคลื่นให้กับ กสทช. นำไปประมูลในครั้งนี้

ดีแทค ให้เหตุผลว่า มีคลื่นความถี่สูงเพียงพอแล้ว ได้แก่ คลื่น 2100 MHz. ที่ประมูลได้ 15 MHz. และคลื่น 2300 MHz. ที่ทำสัญญากับทีโอที ใช้ชื่อว่า “ดีแทค เทอร์โบ” ซึ่งเป็นคลื่นความถี่เดียวที่กว้างที่สุดในประเทศไทย จะนำมาให้บริการดาต้าที่เน้นการดาวน์โหลดเป็นหลัก

ปัจจุบัน คลื่น 2300 MHz. ให้บริการแล้วที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น และ ภูเก็ต ซึ่งในปี นี้ดีแทคจะขยายสถานีฐานและเสาสัญญาณคลื่น 2300 MHz. ไม่ต่ำกว่า 37 จังหวัด และจะครอบคลุมทั่วประเทศในปี 2562 พร้อมเร่งขยายสถานีฐานคลื่น 2100 MHz. อีก 4,000 แห่งต่อปี

พร้อมทั้งยังเชื่อว่า กสทช. จะรับผิดชอบคุ้มครองลูกค้าคลื่น 1800 MHz. เดิม โดยหยิบยกกลุ่มทรู ที่ได้รับการเยียวยาคลื่น 1800 MHz. ของทรูมูฟ ได้ใช้คลื่นฟรีๆ กว่า 29 เดือน และเอไอเอส ได้รับการเยียวยาคลื่น 900 MHz. ใช้คลื่นฟรีๆ มากกว่า 8 เดือน จึงย้ำว่าเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของ กสทช. และค่ายมือถือ

ก่อนหน้านี้ กลุ่มทรู ไม่ขอเข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz. เนื่องจากมีคลื่น 900, 850, 1800 และ 2100 MHz. ให้บริการเพียงพออยู่แล้ว และไม่ต้องการเข้าร่วมเพียงเพื่อปั่นราคาคลื่น ขณะที่เอไอเอสเป็นรายสุดท้ายที่ประกาศไม่เข่าร่วมประมูล เพราะหลักเกณฑ์และเงื่อนไขไม่เหมาะสมต่อการลงทุน

ขณะเดียวกัน สัญญาสัมปทานของดีแทคและ กสท. จะสิ้นสุดลงในอีก 3 เดือนข้างหน้า ก็เลยรีบยื่นแผนความคุ้มครองลูกค้า 1800 MHz. และ 800 MHz. เดิม ที่ใช้งานโทรศัพท์แบบ 2G (โทรออก รับสาย และส่ง SMS) ด้วยความหวังว่าลูกค้าที่เหลือ ซิมไม่ดับ และใช้บริการอย่างต่อเนื่อง

แต่พอเห็นแบบนี้ พล.อ. สุกิจ ขมะสุนทร ประธาน กสทช. ระบุว่า ดีแทคกับ กสท. จะมาหวังใช้คลื่นฟรีๆ โดยอ้างมาตรการเยียวยาไม่ได้ เพราะก่อนหน้านี้ที่เคยให้มาตรการเยียวยาลูกค้าเอไอเอส และทรูมูฟ เพราะ กสทช. จัดประมูลไม่ทัน เที่ยวนี้ประมูลทัน แต่ไม่มีใครเข้าร่วมประมูล จึงเห็นว่าเอกชนไม่มีทางกดดัน กสทช. ได้

ขณะที่ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. บอกว่า จะประกาศยกเลิกมาตรการเยียวยา และขู่ว่า แค่ 2 คลื่นที่เหลือไม่เพียงพอ เพราะไม่มีคลื่น 1800 MHz. ส่งให้คลื่น 2100 และ 2300 MHz. ทำงานได้ โดยเฉพาะคลื่น 2300 MHz. ไม่สามารถใช้งานด้านเสียงได้

“ใครที่ฝันไม่ไกล ระวังจะไปไม่ถึง บอกว่าคลื่นพอ เราจะทำให้ไม่พอเอง จะอ้างว่า (การประมูลคลื่น 1800 MHz.) ราคาแพง เราก็บอกแล้วว่าลดราคาไม่ได้ เพราะมันเป็นราคาที่ เอไอเอส และ ทรู จ่ายเงินมา 75% แล้ว” นายฐากร ระบุ

ขอบคุณภาพ : MGR Online

จากข่าวที่ออกมาว่า ดีแทคจะไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz. สังคมคงตั้งคำถามอยู่คำถามเดียวว่า แล้วลูกค้าดีแทคจะได้รับผลกระทบหรือไม่?

เมื่อสิ้นปี 2560 ที่ผ่าน ดีแทคมีฐานลูกค้ารวมในระบบ 22.7 ล้านราย แบ่งเป็นลูกค้ารายเดือน (โพสต์เพด) 5.6 ล้านราย และลูกค้าเติมเงิน (พรีเพด) 17.1 ล้านราย ทำให้ในขณะนี้ ดีแทคกลายเป็นเบอร์ 3 ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย โดยมีเอไอเอส และกลุ่มทรูแซงหน้าขึ้นมา

แต่เอาจริงๆ ลูกค้าที่อยู่ในระบบส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่ย้ายเครือข่ายไปยัง “ดีแทค ไตรเน็ต” ซึ่งเป็นเจ้าของคลื่น 2100 MHz. เรียบร้อยแล้ว หลังจากดีแทคชนะการประมูลคลื่น 2100 MHz. และเปิดให้ลูกค้าย้ายเครือข่ายจาก โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ไปตั้งแต่ 22 ก.ค. 2557 ที่ผ่านมา

ยังคงเหลือลูกค้า “โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น” ซึ่งไม่ได้ย้ายไปยัง “ดีแทค ไตรเน็ต” มาตั้งแต่ต้น ซึ่ง กสทช. ระบุว่า มีลูกค้าอยู่ในระบบ 4.7 แสนเลขหมาย หรือคิดเป็น 2% เท่านั้น

ลูกค้ากลุ่มนี้ ส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้งานมือถือระบบ 2G ที่มีอยู่เดิม ที่ผ่านมาดีแทคพยายามสื่อสารกับลูกค้ากลุ่มนี้ด้วยการจัดโปรโมชั่น “มือถือเก่าแลกใหม่” มีทั้งสมาร์ทโฟนจอใหญ่ และมือถือแบบปุ่มกด ผ่านศูนย์บริการดีแทคทั่วประเทศ โดยลูกค้าที่เปลี่ยนเครื่องใหม่จะได้รับการโอนย้ายเครือข่ายไปยัง “ดีแทค ไตรเน็ต” ไปด้วย

แต่ก็ยังมีลูกค้าที่พอใจใช้บริการ 2G แบบเดิม ยังไม่มาเปลี่ยนมือถือ และที่ผ่านมาอาจเรียกได้ว่าเป็นลูกค้าที่ซื่อสัตย์ ไม่เคยย้ายค่าย ยอมใช้บริการตลอดสัญญาสัมปทาน 27 ปี คาดว่าจะได้รับผลกระทบ หากสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน และ กสทช. ใช้มาตรการซิมดับในที่สุด

การที่ดีแทคออกมาร้องให้ กสทช. เยียวยาลูกค้าคลื่น 1800 MHz. อีก 4.7 แสนรายที่เหลือ จะว่าเป็นการจับลูกค้าเป็นตัวประกันก็คงไม่ผิดนัก แต่สิ่งหนึ่งที่น่าคิดก็คือ เวลาที่ค่ายมือถือกับ กสทช. มีปัญหากันทีไร คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด กลายเป็นลูกค้าในฐานะผู้บริโภคที่ดูเหมือนว่าทางเลือกที่มีอยู่ ยังไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดสำหรับพวกเขานั่นเอง

– กิตตินันท์ นาคทอง –

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *