เปิดใจ “ชลอยกกระบัตร” กับการร่วมภารกิจช่วย 13 ชีวิตออกจากถ้ำหลวง

จากเหตุการณ์ทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี แม่สาย ประกอบด้วยนักเตะเยาวชนและผู้ฝึกสอนรวม 13 คน ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย ตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 23 มิ.ย. 2561

หลายหน่วยงาน อาทิ ทหาร ตำรวจ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ (หน่วยซีล) กู้ภัย และอื่น ๆ ร่วมปฏิบัติการช่วยเหลือจนสามารถช่วยเหลือทั้ง 13 ชีวิตออกมาจากถ้ำได้เป็นผลสำเร็จ เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2561 กลายเป็นเรื่องราวโด่งดังไปทั่วโลก

ตลอดระยะเวลา 18 วัน นอกจากเจ้าหน้าที่รัฐหลายหน่วยงานได้บูรณาการให้การช่วยเหลือทีมหมูป่า ฯ ทั้ง 13 ชีวิต ก็ยังมีจิตอาสาจากทั่วประเทศได้เดินทางไปยังถ้ำหลวง เพื่อให้การสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้สำเร็จลุล่วง

หนึ่งในนั้นคือ นายชลอ เกิดปั้น ชายวัย 50 ปี ชาว ต.ยกกระบัตร อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาครเจ้าของเต็นท์ “ชลอยกระบัตร” และเครื่องปั่นไฟ “รองชลอกระแส” ซึ่งได้นำเครื่องปั่นไฟกำลังแรงจำนวน 3 เครื่อง ไปช่วยในภารกิจพาหมูป่า ฯ ออกจากถ้ำ นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2561 เรื่อยมาจนถึงวันสุดท้าย คือวันที่ 9 ก.ค. 2561

นายชลอ เล่าว่า ตนเองมีอาชีพเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้ง และดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับเต็นท์และเครื่องปั่นไฟมานานหลายปี ซึ่งที่ผ่านมาในปี 2554 เมื่อเกิดน้ำท่วมหนัก ก็เคยส่งเครื่องสูบน้ำพญานาค และทีมงานเข้าช่วยเหลือในหลาย ๆ พื้นที่ ทั้งใน จ.สมุทรสาคร และจังหวัดใกล้เคียง เพื่อสูบน้ำออกจากพื้นที่วิกฤติ

กระทั่งเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2561 ได้เกิดเหตุการณ์ทีมหมูป่า 13 ชีวิตติดอยู่ในถ้ำหลวง ตนและครอบครัวได้เฝ้าติดตามข่าวนี้มาอย่างต่อเนื่อง และเห็นว่าภารกิจการค้นหาทีมหมูป่านั้นเป็นไปได้ยาก เนื่องจากปัญหาอุปสรรคนานัปการ โดยเฉพาะเรื่องไฟฟ้าภายในถ้ำ จึงได้โทรศัพท์ไปถามทางหน่วยงานที่จังหวัดเชียงราย ว่าตนพอที่จะช่วยอะไรได้บ้าง

ซึ่งทางจังหวัดเชียงรายก็ถามกลับมาว่า แล้วทางนี้มีอะไรบ้าง ตนก็บอกกลับไปว่ามีเครื่องปั่นไฟกำลังแรง ท่อสูบน้ำแบบมอเตอร์ (ใช้กำลังไฟ) และท่อสูบน้ำพญานาค (ใช้น้ำมันดีเซล)

เมื่อทางจังหวัดเชียงรายได้ยินว่ามีเครื่องปั่นไฟ ก็รีบตอบรับทันที เพราะว่าเป็นสิ่งที่กำลังต้องการที่สุดในขณะนั้น

ดังนั้นตนจึงได้จัดเครื่องปั่นไฟขนาด 150 กิโลวัตต์ 2 เครื่อง เครื่องปั่นไฟขนาด 250 กิโลวัตต์ 1 เครื่อง ท่อสูบน้ำแบบมอเตอร์ 1 เครื่อง และ ท่อสูบน้ำแบบพญานาคอีก 1 เครื่อง พร้อมกับทีมงาน 5 คน ขึ้นรถบรรทุก 3 คัน มุ่งตรงไปยัง จ.เชียงรายทันที

เมื่อไปถึง ก็ได้รับการจัดสรรให้เข้าปฏิบัติหน้าที่บริเวณปากทางเข้าถ้ำ กับ ด้านหลังถ้ำ ซึ่งตนและทีมงานได้ปฏิบัติภารกิจแบบ 24 ชม. ทุกวัน จนถึงวันที่ 9 ก.ค. วันที่พาทีมหมูป่าออกมาจากถ้ำได้แล้วบางส่วนนั้น ก็ได้ถอนกำลังกลับมาที่ อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร เนื่องจากเครื่องปั่นไฟที่ทาง กฟภ.เชียงรายมีอยู่เดิมนั้น เพียงพอต่อการปฏิบัติภารกิจในหน้าที่ที่เหลืออยู่

นายชลอ เล่าอีกว่า ในวันที่รู้ว่าทีมหมูป่าติดถ้ำนั้น ตนเองก็รู้สึกใจหายและอยากจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือภารกิจสำคัญครั้งนี้ จนถึงวันนี้ที่สามารถพาทีมหมูป่าออกจากถ้ำได้แล้วนั้น ตนรู้สึกดีใจเป็นอย่างมาก เหมือนกับชาวไทยและคนทั่วโลกที่เฝ้าดูการช่วยเหลือทั้ง 13 ชีวิต

รวมถึงได้เห็นพลังอันสำคัญจากทุกหน่วยงาน จากคนไทยทั่วทั้งประเทศ และน้ำใจจากทั่วโลกที่หลั่งไหลมารวมกันที่ถ้ำหลวง เพื่อให้ภารกิจพาทีมหมูป่า 13 ชีวิตออกจากถ้ำ และกลับบ้านได้อย่างปลอดภัยนั้นสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

แม้ว่าพวกตนจะเป็นแค่ผู้ปิดทองหลังพระ แต่ก็รู้สึกดีใจที่ได้มีส่วนร่วมในภารกิจสำคัญที่ยิ่งใหญ่ครั้งนี้

– กองบรรณาธิการสาครออนไลน์ เรียบเรียง –

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *