รพ.มหาชัย เปิดเวทีบรรยายพิเศษ “รู้ก่อนตัดสินใจ คลอดธรรมชาติ VS ผ่าตัดคลอด”

ศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง โรงพยาบาลมหาชัย จัดกิจกรรมคุณแม่ตั้งครรภ์คุณภาพ 2018 บรรยายพิเศษในหัวข้อ “รู้ก่อนตัดสินใจ คลอดธรรมชาติ VS ผ่าตัดคลอด” จากสูตินรีแพทย์ รพ.มหาชัย และเวิร์คช็อปสอนอาบน้ำลูกรัก โดยพยาบาลเนอสเซอรี่

เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2561 ศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง โรงพยาบาลมหาชัย จัดกิจกรรม “คุณแม่ตั้งครรภ์คุณภาพ 2018” ภายในงานมีการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “รู้ก่อนตัดสินใจ คลอดธรรมชาติ VS ผ่าตัดคลอด” โดย นพ.สง่า พินิจพิชิตกุล สูตินรีแพทย์ รพ.มหาชัย พร้อมกิจกรรมเวิร์คช็อปสอนอาบน้ำลูกรัก โดยพยาบาลเนอสเซอรี่ แนะนำวิธีการดูแลสุขภาพ และการเตรียมตัวก่อนคลอด นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมตรวจสุขภาพเบื้องต้น ตรวจวัดความดันโลหิต และโปรโมชั่นพิเศษภายในงาน โดยมีคุณพ่อ-คุณแม่ผู้สนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก ณ บริเวณชั้น 2 ศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง รพ.มหาชัย

นพ.สง่า กล่าวถึงเรื่องของการคลอดบุตร ทั้งแบบคลอดธรรมชาติและผ่าตัดคลอด โดยมีปัจจัยอยู่ 3 อย่าง คือ ตัวเด็ก ตัวคุณแม่ และแรงเบ่งของคุณแม่ ซึ่งช่วงใกล้คลอดสูตินารีแพทย์จะทำการอัลตร้าซาวด์ช่วงใกล้คลอด วัดน้ำหนักของเด็กเทียบกับส่วนสูงของคุณแม่ หากมีส่วนสูงที่เหมาะสมและเชิงกรานกว้างก็สามารถคลอดเองได้ แต่ถ้าคุณแม่ตัวเล็กและน้ำหนักของเด็กขึ้นไปเยอะมาก การคลอดโดยธรรมชาติจะลำบาก

โดยปกติน้ำหนักของคุณแม่ตั้งครรภ์ แพทย์จะให้ขึ้นได้ทั้งหมดประมาณ 11-12 กก. ในสามเดือนแรกน้ำหนักขึ้นได้ 1-2 กก. เดือนที่ 4-6 น้ำหนักขึ้นได้ 5 กก. และ6-9 เดือนน้ำหนักขึ้นได้อีก 5 กก. ซึ่งหากน้ำหนักเกินเกณฑ์เด็กตัวจะใหญ่ ทำให้คลอดยาก ดังนั้นถ้าคุณแม่ต้องการคลอดเองต้องควบคุมน้ำหนัก อย่าทานของหวานเยอะ

ในการคลอดธรรมชาติ เมื่อครบกำหนดการตั้งครรภ์ สัญญาณที่บอกว่าคุณแม่พร้อมคลอด ได้แก่ ทารกกลับหัวไปทางด้านล่าง มีอาการเจ็บครรภ์ทุก 3-5 นาที บางรายมีอาการถุงน้ำคร่ำแตก หากพบสัญญาณดังกล่าวจะต้องไปโรงพยาบาล ส่วนการผ่าตัดคลอด สามารถนัดวัน-เวลาในการผ่าตัดได้ เมื่ออายุครรภ์ สุขภาพของคุณแม่และทารกพร้อม โดยก่อนผ่าตัดต้องงดอาหาร-น้ำอย่างน้อย 6-8 ชม. และคุณแม่จะได้รับการบล็อกหลัง หรือการดมยาสลบเพื่อป้องกันการเจ็บปวดขณะผ่าตัด

ซึ่งการคลอดธรรมชาติ และผ่าตัดคลอด มีทั้งข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป โดยการคลอดธรรมชาติจะเสียเลือดน้อยกว่า ฟื้นตัวได้เร็ว มีน้ำนมทันทีหลังคลอด 1-2 วัน แต่มีความเสี่ยง คือ มักเกิดภาวะฉุกเฉินไม่คาดคิด เช่น ภาวะตกเลือด ทารกไม่กลับหัวทำให้อยู่ในท่าที่คลอดยาก หรือปากมดลูกไม่เปิดทำคลอดเป็นไปอย่างลำบาก กรณีคลอดยากต้องใช้เครื่องมือช่วย เช่น คีม หรือเครื่องสุญญากาศ ทารกอาจได้รับบาดเจ็บ รวมทั้งถ้าคุณแม่มีลูกหลายคน ส่วนใหญ่มักจะมีปัญหากระบังลมหย่อน ช่องคลอดหลวม ไอ-จาม ปัสสาวะเล็ดเมื่ออายุมากขึ้น

ส่วนการผ่าตัดคลอด คุณแม่จะรู้สึกเจ็บบริเวณแผลผ่าตัด ใช้เวลาพักฟื้นนานหลายเดือนจนกว่าแผลจะหายสนิท มีแนวโน้มที่จะยังไม่มีน้ำนมหลังคลอดทันที มีแผลเป็นที่หน้าท้อง รวมถึงแผลในช่องท้องที่มองไม่เห็น มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เสียเลือดมากระหว่างผ่าตัด เกิดการอักเสบติดเชื้อที่แผลผ่าตัด เช่นเดียวกับแผลผ่าตัดทั่วไป และมีแนวโน้มที่จะเกิดพังผืดในช่องท้องไปรัดลำไส้ ทำให้ปวดท้อง แต่ปัจจุบันมียาที่จะป้องกันไม่ให้เกิดพังผืดได้

นพ.สง่า กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาที่ทำให้ไม่สามารถคลอดธรรมชาติได้ เช่น มีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ปากมดลูกไม่เปิด มีเนื้องอกขัดขวางการคลอด รกเกาะต่ำ เด็กอยู่ในท่าก้นหรือท่าขวาง และเด็กหัวใจเต้นช้าลงกะทันหัน ซึ่งกรณีต่าง ๆ เหล่านี้ อาจทำให้แพทย์ต้องทำการผ่าตัดฉุกเฉินในที่สุด ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่สุดในการตัดสินใจระหว่างคลอดธรรมชาติ หรือผ่าตัดคลอด คือ ปัจจัยความพร้อมทางด้านสุขภาพร่างกายของแม่และเด็ก ไม่มีภาวะเสี่ยง และการตัดสินใจที่เหมาะสมของสูตินารีแพทย์เพื่อความปลอดภัยสูงสุด

ติดตามข่าวสาร โปรโมชั่น และกิจกรรมอื่น ๆ ของศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง รพ.มหาชัย ได้ที่เว็บไซต์ www.mahachaihospital.com หรือ Facebook Fanpage “Mahachai Hospital”

สาครออนไลน์ โดย กองบรรณาธิการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *