“โครงการตำบลละ 5 ล้านบาท” เสียดายที่หลายตำบลมองไม่เห็น

ตีพิมพ์ครั้งแรก หนังสือพิมพ์เสียงสาคร ฉบับประจำเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2558

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล เรียกเป็นภาษาชาวบ้านว่า โครงการตำบลละ 5 ล้านบาท โดยให้กระทรวงมหาดไทยจัดสรรงบประมาณให้ในระดับตำบล จำนวน 7,255 ตำบล คิดเป็นเงิน 36,275 ล้านบาท โดยต้องเร่งรัดการใช้จ่ายเงินตามโครงการให้เสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 เพื่อดำเนินโครงการที่มีการจ้างแรงงานหรือก่อให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างสินค้า และบริการในจังหวัด

โดยโครงการที่จัดสรรงบประมาณแบ่งออกเป็น โครงการซ่อมแซมหรือบูรณะทรัพย์สินที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ โครงการส่งเสริมการพัฒนาชุมชนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง และโครงการด้านเศรษฐกิจและสังคม เป้าหมายสำคัญ คือ ช่วยให้เกิดการจ้างงาน การบริโถค และการลงทุนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากการจัดสรรงบประมาณลงในระดับตำบล โดยแต่ละตำบลสามารถส่งโครงการได้ไม่จำกัดจำนวน แต่ต้องอยู่ในวงเงิน 5 ล้านบาท

ข้อมูลจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า ที่ผ่านมา จ.สมุทรสาคร ได้รับการอนุมัติงบประมาณระดับจังหวัด รวม 243 โครงการ แบ่งออกเป็น โครงการเกี่ยวกับการซ่อมแซมหรือบูรณะทรัพย์สินที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ 222 โครงการ และโครงการส่งเสริมการพัฒนาชุมชนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง 21 โครงการ เมื่อจำแนกตามอำเภอพบว่า อำเภอบ้านแพ้วได้รับการอนุมัติงบประมาณมากที่สุดถึง 186 โครงการ

ส่วนอำเภอกระทุ่มแบน มีเพียงแค่โครงการเกี่ยวกับการซ่อมแซมหรือบูรณะทรัพย์สินที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ 57 โครงการ เบ็ดเสร็จ 7 ตำบลรวมกัน 34,518,400 บาท แต่พบว่ามี 3 ตำบลที่ไม่มีข้อมูลว่ามีโครงการที่ผ่านการอนุมัติระดับจังหวัด ได้แก่ ตำบลท่าเสา สวนหลวง และแคราย ขณะที่อำเภอเมืองสมุทรสาคร ไม่มีข้อมูลว่ามีโครงการที่ผ่านการอนุมัติระดับจังหวัดแต่อย่างใด จึงเป็นเรื่องน่าสงสัยว่า เพราะเหตุใดถึงไม่ได้รับการอนุมัติงบประมาณระดับจังหวัดแบบยกอำเภอ

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในหลายตำบลต่างประสบปัญหาต้องการซ่อมแซมหรือบูรณะทรัพย์สินที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เช่น ถนน สะพาน ท่อระบายน้ำ แม้กระทั่งสถานีอนามัย และศาลาเอนกประสงค์ ส่วนโครงการส่งเสริมการพัฒนาชุมชนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เป็นเรื่องของเกษตรกรเป็นหลัก แต่เห็นบางตำบลไม่ได้รับการอนุมัติงบประมาณ ผมสงสัยว่าเพราะเหตุใด เพราะจังหวัดไม่อนุมัติ หรือเพราะแต่ละตำบลไม่อยากส่งโครงการให้ทางจังหวัดพิจารณากันแน่

ยกตัวอย่าง เทศบาลตำบลนาดี ในยุคที่ปลัดเทศบาลรักษาการ เนื่องจากการเลือกตั้งที่ผ่านมามีปัญหาซื้อเสียงเลือกตั้ง และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งงดเลือกตั้งท้องถิ่น ถนนเลียบคลองตาแก๊ป ทางเข้าบ้านที่สัญจรผ่านไปมาเป็นประจำทุกวัน มีสภาพชำรุดทรุดโทรม ถนนทรุดเป็นหลุมเป็นบ่อ แต่เทศบาลก็ไม่คิดที่จะทำอะไรนอกจากเอาหินคลุกมาโรยถนนแบบลูบหน้าปะจมูก ทุกวันนี้ยังคิดอยู่เลยว่าทำไมถึงไม่เอางบประมาณตำบลละ 5 ล้านมาทำตรงนี้

แม้จะอ้างว่าการเสนอโครงการจะต้องไม่ซ้ำซ้อนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ดำเนินการในพื้นที่ แต่ปัญหาคือที่ผ่านมาได้ทำอะไรเป็นรูปธรรมหรือไม่ ครั้นจะรองบประมาณอย่างเดียวเมื่อไหร่จะมา รอชาติหน้าไปเลยดีไหม ที่ยกตัวอย่างก็ไม่ต้องการใช้พื้นที่ตรงนี้ร้องเรียนใดๆ อยากให้เป็นเรื่องของน้ำยาและจิตสำนึกของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากกว่า ไม่ชอบวิธีการที่ต้องไปร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด หรือออกข่าวผ่านสื่อมวลชนถึงจะลงมาแก้ปัญหา

ส่วนตำบลที่ได้รับงบประมาณตำบลละ 5 ล้านบาทไปแล้ว ก็ขอฝากให้ดำเนินการด้วยความเป็นธรรม โปร่งใส ตรงกับวัตถุประสงค์ อย่าให้กลายเป็นการทุจริตคอร์รัปชั่นตามที่ประชาชนครหาอย่างเด็ดขาด.



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง