ถนนกัลปพฤกษ์-พุทธสาคร

ตีพิมพ์ครั้งแรก หนังสือพิมพ์เสียงสาคร ฉบับประจำเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559

เมื่อวันก่อน กรมทางหลวงชนบท จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการศึกษาความเหมาะสมของโครงการส่วนต่อขยาย ถนนกัลปพฤกษ์ – ถนนพุทธสาคร เชื่อมต่อระหว่างถนนกัลปพฤกษ์ บริเวณทางแยกต่างระดับบางโคลัด ถนนกาญจนาภิเษก เขตบางแค ถึงทางแยกต่างระดับกระทุ่มแบน (หัวคู้) ถนนเศรษฐกิจ 1 และถนนพุทธสาคร อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร เพื่อแบ่งเบาภาระการจราจรบนถนนเพชรเกษม และถนนพระราม 2

ลักษณะโครงการจะเป็นถนนตัดใหม่ ขนาด 4 ช่องจราจร ผิวจราจรลาดยาง โดยผ่านพื้นที่ว่าง สวนผลไม้ บ้านเรือนประชาชน แขวงและเขตบางบอน, แขวงหลักสอง เขตบางแค และแขวงหนองค้างพลู เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร และ ต.สวนหลวง, ต.คลองมะเดื่อ และ ต.แคราย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร มีจุดตัดกับถนนจำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วยถนนบางบอน 3 (เพชรเกษม 69) ถนนบางบอน 4 และถนนมาเจริญ หรือบางบอน 5 (เพชรเกษม 81)

โครงการนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นแผนที่กรมทางหลวงชนบทได้วางแผนไว้แต่เดิม สังเกตได้จากทางแยกต่างระดับบางโคลัด จะมีสะพานที่รองรับรถทางตรงไปยังถนนเส้นใหม่ รวมไปถึงทางแยกต่างระดับกระทุ่มแบน ที่มีพื้นที่กว้างบริเวณเกาะกลางถนนไว้รองรับสะพานข้ามไปยังถนนเส้นใหม่อีกด้วย แต่ในตอนนั้นกรมทางหลวงชนบทให้ความสำคัญกับโครงข่ายถนนราชพฤกษ์ และถนนชัยพฤกษ์ รวมทั้งสะพานพระราม 4 และสะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี

อันที่จริงผมสนับสนุนให้มีถนนสายนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนกระทุ่มแบน เพราะถนนเพชรเกษม รวมทั้งถนนบรมราชชนนี และถนนพุทธมณฑลสาย 4 ในปัจจุบันการจราจรหนาแน่นในชั่วโมงเร่งด่วน ถนนสายรองมีเพียงถนนเลียบคลองภาษีเจริญฝั่งเหนือ และถนนสายกระทุ่มแบน-หนองแขม ซึ่งเป็นถนนสายเล็ก ไม่รองรับการทำความเร็วของยานพาหนะ การตัดถนนเส้นใหม่นอกจากจะช่วยประหยัดเวลาแล้ว ยังช่วยนำความเจริญมาสู่พื้นที่กระทุ่มแบนอีกด้วย

แต่ที่ผมสงสัยก็คือ ทำไมทุกวันนี้ถนนกัลปพฤกษ์ยังคงเป็น 4 ช่องจราจร โดยไม่มีการขยายถนนซึ่งสามารถขยายได้อีกเป็น 6 ช่องจราจร การที่โครงการถนนเส้นใหม่ทำเป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจรย่อมไม่สามารถรองรับการจราจรที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตหากถนนแล้วเสร็จ และเมืองขยายขึ้นมาแทนที่สวนผลไม้และที่ดินว่างเปล่า เพราะมันสามารถเชื่อมต่อไปยังย่านธุรกิจใจกลางกรุงเทพฯ โดยเฉพาะย่านสาทรและสีลม รวมทั้งรองรับรถไฟฟ้าบีทีเอส ส่วนต่อขยายวงเวียนใหญ่

ผมเห็นกรุงเทพมหานคร เวลาตัดถนนเส้นใหม่ เช่น ถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 เค้าไม่ได้ทำแค่ 2 ช่องจราจรสวนทาง หรือ 4 ช่องจราจร แต่ยังเป็นถนนคอนกรีตอย่างดี กว้าง 6-8 ช่องจราจร เพราะเขารู้ว่าต่อไปเมืองมันก็ขยาย มีโครงการบ้านจัดสรรเกิดใหม่จำนวนมาก จะทำถนนแค่ 4 ช่องจราจร แล้วพอรถติดก็เสียเวลาขยายถนน เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับถนนราชพฤกษ์ ในพื้นที่นนทบุรี ที่เดี๋ยวนี้ต้องขยายถนนเป็น 8-10 ช่องจราจรในภายหลังไปทำไมก็ไม่รู้

อีกประการหนึ่ง คือ หลังถนนเส้นนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จ ซึ่งน่าจะไม่เกิน 5 ปี องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ น่าจะเปิดโอกาสให้มีเส้นทางรถประจำทางสายใหม่ บนถนนเส้นใหม่ที่จะเกิดขึ้นอีกด้วย เพราะอย่างถนนราชพฤกษ์ กว่าจะมีเส้นทางรถเมล์สายใหม่ หรือผู้ประกอบการรายเดิมขยายเส้นทางก็ใช้เวลายาวนาน เพราะส่วนตัวเชื่อว่า นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เล็งที่จะตั้งโครงการบ้านจัดสรรบนถนนเส้นใหม่ ทันทีที่ถนนสร้างแล้วเสร็จ และชุมชนเมืองก็จะขยายเพิ่มขึ้นด้วย

ขอฝากให้สำนักงานทางหลวงชนบทสมุทรสาครพิจารณา เพื่อรองรับอนาคตของอำเภอกระทุ่มแบนที่จะกลายเป็นเมืองบริวาร (Metropolitan Sub center) จากการตัดถนนเส้นใหม่ เช่นเดียวกับปากเกร็ด หรือบางบัวทองในอนาคตอันใกล้



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง