การมีรถไฟฟ้าเป็นความเจริญหรือทุกขลาภ

ตีพิมพ์ครั้งแรก หนังสือพิมพ์เสียงสาคร ฉบับประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2559

ในขณะที่โครงการรถไฟสายสีแดง ช่วงหัวลำโพง-มหาชัย ต้องถูกพับโครงการ เนื่องจากติดปัญหาต่อต้านจากคนในพื้นที่ (ที่ไม่ใช่พื้นที่สมุทรสาคร) ซึ่งก็ต้องรอลุ้นแผนแม่บทโครงข่ายรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ และปริมณฑล (M-Map) ระยะที่ 2 จากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ที่จะเสนอต่อรัฐบาลในปี 2561 ว่าจะปรับแนวเส้นทางอย่างไร และบรรจุเป็นสายสีอะไร อาจจะเป็นรถไฟฟ้าสายสีแดงเหมือนเดิม หรือกลายเป็นสายสีอื่นก็ไม่อาจทราบได้

จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดปริมณฑลที่เป็นแหล่งชุมชนที่อยู่อาศัยเช่นเดียวกับจังหวัดสมุทรสาคร ขณะนี้มีรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม ช่วง บางใหญ่-เตาปูน หรือเรียกกันว่า รถไฟฟ้าสายสีม่วง เพิ่งเปิดให้บริการไปเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา มีระยะทาง 23 กิโลเมตร มีสถานีตามรายทาง 16 สถานี เริ่มต้นจากสถานีเตาปูน เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ ผ่านถนนติวานนท์ ถนนรัตนาธิเบศร์ ถนนกาญจนาภิเษก สิ้นสุดที่สถานีคลองบางไผ่ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี

แม้ในช่วงแรกๆ ผู้คนจะตื่นเต้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ กลับกลายเป็นว่า มีปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ย 2 หมื่นคนต่อวัน ยังต่ำกว่าประมาณการที่คาดว่าจะมีผู้โดยสารที่ 6-7 หมื่นคนต่อวันในปีที่เปิดให้บริการ สาเหตุสำคัญมาจากปัญหาการเชื่อมต่อ 1 สถานี (เตาปูน-บางซื่อ) ที่ไม่สามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (บางซื่อ-หัวลำโพง) หรือรถไฟใต้ดิน ต้องใช้วิธีจัดหารถโดยสาร (Shuttle Bus) หรือรถไฟ ทำให้บางส่วนยังไม่เลือกใช้รถไฟฟ้าเดินทาง

เท่าที่ฟังเสียงของชาวนนทบุรี รถไฟฟ้าสายนี้นอกจากจะมีปัญหาไม่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าที่มีอยู่แล้ว ยังมีปัญหาจิปาถะ ได้แก่ ค่าโดยสารที่แพงเกินไปเมื่อเทียบกับรถตู้ หากพ่วงกับรถไฟฟ้าใต้ดินเพื่อเข้าเมืองก็เสียค่าเดินทางราว 200-300 บาทต่อวัน เมื่อเทียบกับรถส่วนตัวในช่วงที่ราคาน้ำมันถูกกว่าปีก่อนๆ รวมทั้งรถไฟฟ้าสายนี้ทำความเร็วได้สูงสุดเพียง 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น ไม่เหมือนกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ไปท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อันนี้ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ไม่ได้ว่าจะคัดค้านรถไฟฟ้าหรือปฏิเสธความเจริญ โดยส่วนตัวอยากได้เป็นทางเลือกใจจะขาด แต่ด้วยความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่เป็นเช่นนี้ น่าคิดว่าหากในอนาคต สมุทรสาครจะมีรถไฟฟ้าสายที่สอง (สายแรกต้องยกให้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 ที่จะสร้างต่อจากสถานีหลักสอง) ก็คงจะมีชะตากรรมไม่แพ้กัน เพราะลักษณะเมืองสมุทรสาครก็ใกล้เคียงกับบางใหญ่ บางบัวทอง จ.นนทบุรี คือกลายเป็นเมืองบริวาร แหล่งที่อยู่อาศัย

รุ่นพี่ที่อยู่ย่านบางบัวทองก็อธิบายให้ฟังว่า โครงการนี้คงมีความประสงค์ไว้ใช้ขนถ่ายคนตามหมู่บ้านต่าง ๆ จากชานเมืองเข้าสู่เมืองเป็นหลัก มากกว่าจะเน้นไว้ใช้เดินทางกันเองภายในจังหวัดนนทบุรี จะมีผู้โดยสารหลักเพียงแค่ช่วงเช้า และเย็นวันธรรมดาเท่านั้น ส่วนช่วงกลางวันจะซบเซา เมื่อมองถึงความคุ้มค่าในการใช้ของคนพื้นที่ละแวกนนทบุรีกันเอง ถ้าไม่รีบจริงก็ไม่มีใครขึ้น เพราะรถตู้โดยสารถูกกว่า และทำเวลาไม่ห่างกันมาก รวมทั้งยังไปถึงสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส หมอชิตได้อีกด้วย

เมื่อเทียบกับสมุทรสาคร แม้ว่าจะมีรถไฟสายมหาชัย-วงเวียนใหญ่ แต่ก็มีผู้ใช้บริการราว 5,000 – 6,000 คนต่อวันเท่านั้น เนื่องจากสภาพทางไม่ดี รถไฟไม่ค่อยสะอาด ห้องน้ำเสีย ถึงขนาดมีรัฐมนตรีคมนาคมมาตำหนิ ทุกวันนี้รถตู้อนุสาวรีย์ชัย หมอชิตใหม่ พาต้าปิ่นเกล้า บางปะแก้ว ฯลฯ ยังคงได้รับความนิยมจากคนสมุทรสาครอยู่เรื่อยๆ จนกลายเป็นความเคยชิน

หากมีรถไฟฟ้าแล้วไม่สามารถจูงใจให้คนเปลี่ยนพฤติกรรม ที่สุดแล้วก็จะมองว่า รถไฟฟ้าเป็นเพียงแค่บ่งบอกความเจริญ มองว่าเป็นของตาย แล้วขึ้นรถตู้ รถเมล์ หรือขับรถส่วนตัวไปทำงานเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นต้องถามใจคนสมุทรสาครแล้วว่า นอกจากอยากมีรถไฟฟ้าแล้ว อยากจะใช้รถไฟฟ้าอย่างจริงจังหรือไม่ ให้คุ้มกับภาษีที่ต้องใช้ก่อสร้างนับหมื่นล้านบาท



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง