เตรียมรับความเปลี่ยนแปลงกับทีวีดิจิทัล

ตีพิมพ์ครั้งแรก หนังสือพิมพ์เสียงสาคร ฉบับประจำเดือนเมษายน พ.ศ. 2557

เมื่อสองเดือนที่แล้วผมเคยเขียนถึงทีวีดิจิทัล (คราวก่อนใช้คำว่าดิจิทัล แต่คุณพรทิพย์ เดชทิพย์ประภาพ นักวรรณศิลป์ 5 ราชบัณฑิตยสถาน บอกว่าตามหลักการทับศัพท์ต้องใช้คำนี้… ขออภัยเป็นอย่างสูง) ซึ่งในขณะนี้เรากำลังมีฟรีทีวีเพิ่มมากขึ้นถึง 24 ช่องรายการ ทั้งจากฟรีทีวีเดิมที่ปรับปรุงระบบการออกอากาศมาเป็นระบบความคมชัดสูง (เอชดี : HD) มากขึ้น หรือจะเป็นช่องทีวีน้องใหม่ทั้งมาจากทีวีดาวเทียมเดิม หรือกลายเป็นสถานีน้องใหม่ไปเลย

ยกตัวอย่างช่อง 5 และไทยพีบีเอส ขณะนี้ได้ออกอากาศทีวีดิจิทัลระบบเอชดีสมบูรณ์แบบแล้ว ด้านช่อง 3 ที่ได้รับใบอนุญาตมา 3 ใบ ช่อง 3 ที่มีอยู่เดิมจะออกอากาศระบบเอชดีช่อง 33 แต่จะมีรายการข่าวใหม่ๆ ความคมชัดปกติ ช่อง 3 เอสดี (ช่องหมายเลข 28) และบางรายการอย่าง ผู้หญิงถึงผู้หญิง และรายการแจ๋ว จะย้ายไปที่ช่อง 3 แฟมิลี่ (ช่องหมายเลข 13) ขณะที่ช่อง 7 สีก็กำลังทดลองออกอากาศที่ช่องหมายเลข 35

ส่วนช่อง 9 อสมท. ตอนนี้หลังประมูลได้ใบอนุญาตช่องรายการวาไรตี้ เอชดี จาก กสทช. เป็นเวลา 15 ปีเรียบร้อยแล้ว ก็หันมาออกอากาศในระบบเอชดี ช่องหมายเลข 30 ใช้ชื่อ เอ็มคอท เอชดี (MCOT HD) พร้อมกับช่อง 9 ความคมชัดปกติในปัจจุบัน ขณะเดียวกันยังออกมาจำหน่ายกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัลใช้ชื่อว่า เอ็มคอท เอชดี บอกซ์ (MCOT HD BOX) ตามช่องทางร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น และเทสโก้ โลตัส ราคาเริ่มต้นที่ 1,299 บาทไปด้วย

สำหรับช่องข่าว เราจะได้เห็นสถานีข่าวจากทีวีดาวเทียมเดิม ออกอากาศทางทีวีดิจิทัลพร้อมกันด้วย คือ ทีเอ็นเอ็น สปริงนิวส์ เนชั่น วอยซ์ทีวี เพียงแค่มีเสาอากาศและกล่องรับสัญญาณก็ดูได้แล้ว แต่ที่น่าตื่นเต้น คือช่องไทยรัฐทีวี เพราะใครจะเชื่อว่าหนังสือพิมพ์ที่อยู่คู่ชาวบ้านอายุยืนยาวกว่า 60 ปีจะมีสถานีโทรทัศน์เป็นของตัวเอง และน่าตื่นเต้นตรงที่ในช่วงค่ำจะเอาความเป็นนิวส์ โชว์ มาชนกับละคร เน้นลีลาการนำเสนอของผู้ประกาศข่าว และกราฟฟิกสุดอลังการ

สำหรับชาวสมุทรสาคร เคยบอกกับคุณผู้อ่านไว้แล้วว่าได้ดูแน่นอน เพราะอยู่ในรัศมี 100 กิโลเมตรจากเสาส่งสัญญาณอาคารใบหยก 2 ตึกที่สูงที่สุดในกรุงเทพฯ แต่สำหรับใครที่ดูทีวีผ่านจานดาวเทียม ขณะนี้ได้ทำการเรียงช่องใหม่แล้ว รวมทั้งสมาชิกทรูวิชั่นส์ ที่เพิ่งจะเรียงลำดับช่องรายการใหม่ไปเมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา แต่คนที่ดูผ่านจานดาวเทียม ความคมชัดจะสู้การชมผ่านกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัลไม่ได้ เพราะยังใช้วิธีส่งสัญญาณความคมชัดปกติอยู่

ส่วนเคเบิ้ลทีวีบ้านเราอย่างเพิ่งจะเรียงช่องรายการใหม่เมื่อไม่นานมานี้จาก 95 ช่องรายการเป็น 80 ช่องรายการ แต่พบว่าไม่ได้เรียงลำดับช่องทีวีดิจิทัล 24 ช่องตามที่ กสทช. กำหนดเอาไว้ ขณะเดียวกันทราบว่าขณะนี้ได้ทยอยปรับเปลี่ยนระบบดิจิทัลไปทีละโซน และเปิดให้ผู้สนใจลงทะเบียนไปแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งสมาชิกเดิมอยู่ในพื้นที่ให้บริการระบบดิจิทัลจะเสียค่ามัดจำกล่องเซ็ทท็อปบ็อกซ์ 600 บาท (จากราคาปกติ 2,500 บาท) กับค่าบริการเดือนละ 350 บาท

แต่สำหรับใครที่อยากดูเฉพาะฟรีทีวี 24 ช่อง โดยไม่ประสงค์จะจ่ายค่าบริการรายเดือน ขณะนี้ กสทช. เตรียมที่จะแจกคูปองทีวีดิจิทัล แก่ประชาชน 22 ล้านคนที่เป็นเจ้าบ้าน เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระให้ประชาชนที่อยากชมทีวีดิจิทัล นำไปเป็นส่วนลดซื้อโทรทัศน์ที่รองรับทีวีดิจิทัล หรือกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัล เบื้องต้นจะส่งทางไปรษณีย์แต่ละบ้านในเดือนมิถุนายนนี้ แต่ในเรื่องมูลค่าคูปองยังไม่ได้ข้อสรุปว่าเท่าไหร่ เบื้องต้นน่าจะไม่ต่ำกว่า 690 บาท

การแจกคูปองทีวีดิจิทัลทางไปรษณีย์ให้แก่เฉพาะเจ้าบ้านถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะเพิ่มความสะดวกโดยไม่ต้องไปลงทะเบียนยังสถานที่ราชการ เปิดช่องให้ทุจริตง่ายๆ แต่กลัวว่าการตั้งเงื่อนไขการใช้คูปองจะเกิดความสับสน ย้อนกลับไปเมื่อต้นปี 2555 ก็เกิดเรื่องวุ่นวายจากคูปองโครงการมหกรรมสินค้าเบอร์ 5 ช่วยเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย ของกระทรวงพลังงาน พบว่ามีบางร้านค้าให้ส่วนลดไม่ตรงกัน เกิดความไม่เข้าใจกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวถึงขั้นปิดถนนพระราม 2

ไม่อยากให้เจตนาที่จะให้ทีวีดิจิทัลเข้าถึงทุกครัวเรือน กลายเป็นเรื่องบานปลายถึงขนาดนั้นจริงๆ ครับ.



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง