ศูนย์ดำรงธรรม-วันสต็อปเซอร์วิส ที่ไม่ใช่ผักชีโรยหน้า?

ตีพิมพ์ครั้งแรก หนังสือพิมพ์เสียงสาคร ฉบับประจำเดือนกันยายน พ.ศ. 2557

หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าควบคุมอำนาจการปกครอง ได้มีการออกประกาศฉบับที่ 96/2557 ให้จังหวัดจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมขึ้น เพื่อทำหน้าที่ในการรับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร ให้คำปรึกษา รับเรื่องปัญหาความต้องการและข้อเสนอแนะของประชาชน โดยให้ทุกกระทรวง กรม ส่วนราชการ และหน่วยงานของรัฐสนับสนุน และให้กระทรวงมหาดไทยกำกับดูแลอำนวยการ

จังหวัดสมุทรสาครได้จัดตั้งศูนย์ดำรงธรรม โดยใช้ห้องชั้นล่างอาคารศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร (หลังใหม่) เป็นสถานที่ตั้ง โดยมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานประจำศูนย์ 9 คน ซึ่งจ่าจังหวัดสมุทรสาครเป็นหัวหน้าสำนักงาน พร้อมเปิดช่องทางแจ้งเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ ปัญหาความต้องการ และข้อเสนอแนะของประชาชน ทั้งทางสำนักงาน โทรศัพท์หมายเลข 0-3441-1251 หรือส่งทางไปรษณีย์ เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก หรือผ่านส่วนราชการและหน่วยงานในจังหวัด

ย้อนกลับไปในช่วงที่ผ่านมา ประชาชนในจังหวัดได้รับความเดือดร้อนบ่อยครั้ง แต่ไม่รู้จะไปร้องเรียนได้ที่ไหน มีบ้างที่อาศัยขอความช่วยเหลือจากสื่อมวลชน เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ แต่กระบวนการหลังตีแผ่เรื่องร้องเรียนยังเป็นไปโดยไม่มีระบบ กำหนดไม่ได้ว่าเรื่องร้องเรียนจะได้รับคำตอบเมื่อไหร่ จะแก้ไขปัญหาอย่างไร ซึ่งดูจากการรายงานผลเบื้องต้นภายใน 3 วัน ก่อนติดตามผลและสรุปส่งไปทั้งในจังหวัดและส่วนกลาง ซึ่งถือว่าดูดีในระดับหนึ่ง

อย่างกรณีที่โรงงานผลิตปลากระป๋องแห่งหนึ่งย้านถนนเศรษฐกิจ 1 – บางปลา ถมที่ดินและสร้างหลังคาเพื่อทำเป็นที่จอดรถรุกล้ำที่ดินทางหลวง โดยมีเจ้าหน้าที่ รปภ. คอยอำนวยความสะดวก และขับไล่รถที่สัญจรไปมาไม่ให้จอดบนไหล่ทาง เสมือนเป็นเจ้าของที่ดินส่วนบุคคล ทีแรกก็คิดว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่โต ร้องเรียนไปคงไม่เป็นผล แต่เมื่อร้องเรียนศูนย์ดำรงธรรมไปแล้วปรากฎว่าให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปตรวจสอบ ในที่สุดโรงงานยอมรื้อถอนหลังคาออกไป

แต่บางเรื่องก็ใช่ว่าประชาชนจะไว้วางใจ อย่างกรณีที่ชาวสวนพุทรา และมะขามเทศในพื้นที่หมู่ 8 ต.บางกระเจ้า ร้องเรียนว่าถูกโรงงานฟอกย้อมที่อยู่ข้างเคียงปล่อยน้ำเสีย รั่วซึมเข้ามาในสวน ทำให้พุทราและมะขามเทศล้มตาย เสียหายนับแสนบาท ปรากฏว่าการดำเนินการตรวจสอบของทางราชการในจังหวัด 3 หน่วยงาน ล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น

สุดท้ายเจ้าของสวนตัดสินใจจ้างเอกชนตรวจวัดคุณภาพน้ำเพื่อนำผลไปยืนยันว่าเดือดร้อนจริงๆ กลายเป็นการตบหน้าศูนย์ดำรงธรรมฉาดใหญ่ พอสื่อมวลชนติดตามไม่ปล่อย ร้อนไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องสั่งเกษตรจังหวัดลงพื้นที่ แต่ก็ได้รับคำชี้แจงว่า ตรวจธาตุโลหะหนักใช้เวลาวิเคราะห์ 2 เดือน ตรวจธาตุเค็มใช้เวลา 1 เดือน จึงจะทราบว่าเกินกว่าที่กำหนดหรือไม่ ล่าสุดเห็นว่านัดไกล่เกลี่ยไปแล้ว หลังวันที่เขียนต้นฉบับ

อาจมีคนสงสัยว่า ศูนย์ดำรงธรรมจัดตั้งขึ้นมาแล้วจะอยู่แบบถาวรหรือไม่ หรือจะเป็นเพียงแค่ผักชีโรยหน้า เปลี่ยนรัฐบาลแล้วก็ไม่แคล้วถูกยุบเพราะสิ้นเปลืองงบประมาณ แต่พอเอาเข้าจริงเรื่องที่น่าสนใจยิ่งกว่าศูนย์ดำรงธรรม คือ มีกฎหมายฉบับหนึ่งที่กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นั่นก็คือ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. …

สาระสำคัญ จะกำหนดขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาตของหน่วยราชการให้ชัดเจน รวมทั้งอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการขออนุญาตให้มากขึ้น กำหนดจัดตั้งศูนย์บริการร่วมเพื่อรับคำร้องและศูนย์รับคำขออนุญาต ณ จุดเดียว (วันสต็อปเซอร์วิส) เพราะที่ผ่านมามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตจำนวนมาก บางฉบับไม่ได้กำหนดระยะเวลา เอกสาร หลักฐานและขั้นตอนที่ชัดเจนทำให้เป็นอุปสรรคในการยื่นคำขออนุญาตดำเนินการต่างๆ

หากกฎหมายฉบับนี้ผ่าน มีการเชื่อกันว่าลดความยุ่งยากซับซ้อนและลดระยะเวลาในการติดต่อราชการ ซึ่งเป็นการลดเงื่อนไขที่นำไปสู่การเรียกรับสินบน ของข้าราชการ จากประชาชน พ่อค้า นักธุรกิจ ซึ่งได้ต่อสู้เรียกร้องมานาน.



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง