ผู้ว่าฯ อาทิตย์สัญจร

ตีพิมพ์ครั้งแรก หนังสือพิมพ์เสียงสาคร ฉบับประจำเดือนตุลาคม พ.ศ. 2557

ในบรรดาผู้ว่าราชการจังหวัดที่เข้ามาแล้วก็ผ่านไปในจังหวัดสมุทรสาคร สิ่งที่ผมรู้สึกชอบอย่างหนึ่งของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครคนปัจจุบัน ร.ต.ท.อาทิตย์ บุญญะโสภัต คือการจัดกิจกรรมสัญจรต่างๆ โดยเริ่มจาก ผู้ว่าฯ สัญจรเยี่ยมเยียนตำบล ที่ได้ดำเนินการไปกระทั่งครั้งสุดท้ายที่องค์การบริหารส่วนตำบลท่าทราย เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2557 ที่ผ่านมา และโครงการเยี่ยมเยียนสถานประกอบการ ที่ไปเยี่ยมชมโรงงานต่างๆ

ล่าสุด ได้ดำเนินโครงการผู้ว่าฯ สัญจรเยี่ยมกลุ่มอาชีพและผลิตภัณฑ์ชุมชน จังหวัดสมุทรสาคร โดยเริ่มต้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2557 โดยเยี่ยมกลุ่มแปรรูปปลาสลิด (ผู้ใหญ่เจ้ย ปลาสลิดแดดเดียว) ต.ยกกระบัตร อ.บ้านแพ้ว ซึ่งวัตถุประสงค์ก็เป็นไปตามเดิม คือ เพื่อรับรู้ข้อมูล รับฟังปัญหาความเดือดร้อน ตลอดถึงความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะได้ดำเนินการแก้ไขและให้ความช่วยเหลือได้อย่างถูกต้องตรงปัญหา

เริ่มจากกลุ่มผู้ใหญ่เจ้ย ปลาสลิดแดดเดียว ได้รายงานปัญหา อุปสรรค ได้แก่ ทุนดำเนินการมีน้อย ไม่สามารถซื้อปลาสลิดมาแปรูปทีละมากๆ ได้ ต้องการสนับสนุนงบประมาณ, ปลาที่นำมาแปรรูปเป็นปลาสด เก็บรักษาอยู่ได้ไม่นาน ต้องการตู้แช่ที่ได้มาตรฐาน, ไม่มีเครื่องบรรจุภัณฑ์ระบบสุญญากาศ ที่รักษาคุณภาพและยืดอายุการเก็บรักษาได้นานขึ้น, ไม่มีช่องทางตลาดรองรับสินค้า และ ผู้เลี้ยงเมื่อจับปลาขายให้พ่อค้าคนกลางต้องรอประมาณ 2 เดือนจึงจะนำเงินมาจ่าย

ต่อมาได้ลงพื้นที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านกระช้าขาว หมู่ 9 ต.บ้านบ่อ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านชายทะเลบางกระเจ้าและสหกรณ์ผู้ผลิตกะปิสมุทรสาคร หมู่ 1 ต.บางกระเจ้า อ.เมืองฯ ซึ่งรายงานปัญหาว่า ช่องทางในการจำหน่ายสินค้ามีน้อยทำให้ระบายสินค้าไม่ทัน ต้องการขยายช่องทางการตลาด, สถานที่ผลิตกะปิไม่ได้มาตรฐาน ต้องการปรับปรุงสถานที่ให้ได้มาตรฐาน, ไม่มีสถานที่จัดเก็บสินค้าที่ดี โดนเฉพาะสินค้าที่บรรจุหีบห่อแล้ว ต้องการตู้แช่หรือห้องเย็น, ประชาชนยังไม่เห็นความสำคัญของการรวมกลุ่ม และต้องการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ในการบรรจุกะปิแบบต่างๆ

เมื่อมองเห็นกลุ่มอาชีพและผลิตภัณฑ์ชุมชนรายงานมาอย่างนี้ ผมเชื่อว่าปัญหา 2-3 ประการที่พวกเขากำลังประสบ เหมือนกับที่กลุ่มอาชีพและผลิตภัณฑ์ชุมชนอื่นๆ จะประสบปัญหาเช่นกัน คือ ความต้องการเรื่องเงินทุนหมุนเวียนสำหรับประกอบกิจการ รองลงมาคือแหล่งจัดเก็บสินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่ต้องการใช้ความเย็นเพื่อให้สินค้าคงอยู่ได้นาน และสุดท้าย คือเรื่องของช่องทางตลาดรองรับสินค้า ที่ผลิตภัณฑ์ชุมชนกลับมีที่ยืนทางการตลาดน้อยมาก

ผมรู้สึกชอบโครงการของผู้ว่าฯ ไม่ใช่เพราะเรื่องสร้างภาพ แต่ชอบที่ได้รับฟังปัญหาจากชาวบ้านโดยตรง ซึ่งสื่อมวลชนอย่างประชาสัมพันธ์จังหวัดสมุทรสาครก็ทำหน้ารายงานข่าวตลอด เชื่อว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจและน่าขบคิดเพื่อหาทางออกของคนในจังหวัดร่วมกัน มากกว่างานตัดริบบิ้นหรือการปาฐกถาเปิดงาน ซึ่งจะได้เพียงแค่ภาพลักษณ์ แต่ไม่ได้เข้าถึงปัญหาและความต้องการประชาชนว่าพวกเขาอยากได้อะไร

โครงการนี้จะติดปัญหาอยู่อย่างเดียวก็คือ ในเมื่อเวทียังเป็นไปในลักษณะของทางราชการ การที่ชาวบ้านจะแสดงความคิดเห็นหรือข้อเรียกร้องให้ทางจังหวัดช่วยเหลือ อาจมีบางเรื่องที่มีความรู้สึกว่าชาวบ้านพูดไม่ได้ เช่น เรื่องที่กระทบต่ออำนาจรัฐ แต่ถึงกระนั้นยังมีกลไกที่เกิดขึ้นมาใหม่อย่างศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสมุทรสาครรองรับ ซึ่งจะช่วยในเรื่องของการรับฟังปัญหาและรับเรื่องร้องเรียนอย่างเป็นระบบ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะแก้ปัญหาสัมฤทธิ์ผลหรือไม่

เอาเป็นว่า จากที่ได้อ่านรายงานข่าวตลอด ก็ต้องขอบคุณผู้ว่าฯ สมุทรสาครคนนี้ที่สร้างปรากฏการณ์เข้าถึงประชาชนชนิดที่ว่าฉีกแนวไปจากผู้ว่าฯ คนก่อนๆ ที่จะเห็นเฉพาะเป็นประธานตัดริบบิ้นเปิดงานเท่านั้น หากนักการเมืองท้องถิ่นเปิดใจให้ได้อย่างผู้ว่าฯ คนนี้ อย่างเท่าเทียมโดยไม่แบ่งเขาแบ่งเรา ไม่แบ่งชาวบ้านว่าเป็นพวกเดียวกับหัวคะแนนหรือไม่ เชื่อแน่ว่าคนในท้องถิ่นจะได้ความรักความสามัคคี และส่งผลดีต่อคะแนนนิยมอย่างไม่รู้ตัวก็เป็นได้



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง