อย่าปล่อยให้ “พุทธสาคร” เป็นถนนโลกพระจันทร์

ตีพิมพ์ครั้งแรก หนังสือพิมพ์เสียงสาคร ฉบับประจำเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ในขณะนี้กรมทางหลวงชนบทกำลังก่อสร้างขยายถนนพุทธสาคร เชื่อมระหว่าง ถ.เพชรเกษม กับ ถ.เศรษฐกิจ 1 โดยการรื้อถนนเดิม ปรับยกระดับคันทางและก่อสร้างใหม่เป็นถนนขนาด 8 ช่องจราจร พร้อมระบบท่อระบายน้ำและไฟฟ้าแสงสว่าง ใช้งบประมาณ 706.8 ล้านบาท ซึ่งได้เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2555 แต่ได้มีการแก้ไขสัญญาโดยยืดระยะเวลาการก่อสร้างออกไปอีก 150 วัน คาดว่าแล้วเสร็จประมาณต้นเดือนเมษายน 2558

เป็นที่น่าสังเกตว่าทางผู้รับเหมาได้มีการปูผิวจราจรด้วยแอสฟัลค์คอนกรีตไว้ แต่เนื่องจากราดไว้บางมาก ประกอบกับเส้นทางนี้มียานพาหนะทุกชนิด โดยเฉพาะรถบรรทุกขนส่งสินค้า จึงทำให้ผิวยางมะตอยที่ปูไว้อยู่เดิมค่อยๆ ร่อนออกมา ส่งผลให้ผู้ใช้ทางเดือดร้อนกันถ้วนหน้า ขณะที่ในยามค่ำคืนพบว่าไม่มีไฟฟ้าส่องสว่าง และไม่มีป้ายเตือน

ในส่วนของผู้รับเหมาพบว่าได้ขึ้นป้ายชี้แจงกรณีดังกล่าวประมาณ 2-3 จุด พาดหัวว่า “ประกาศ ขออภัยผู้ใช้เส้นทางผ่าน” ระบุว่า “เนื่องจากผิวจราจรที่เสียหาย ลาดยางเพียงชั้นแรกเท่านั้น ยังคงเหลืออีก 1 ชั้น โครงการฯ กำลังตรวจสอบและวิเคราะห์ความมั่นคงแข็งแรง โดยเร่งรัดให้แก้ไขจุดที่เสียหายให้แล้วเสร็จ ก่อนการลาดยางชั้นที่ 2 ถนนต่างระดับ โปรดลดความเร็ว ขับขี่ด้วยความระมัดระวัง” พร้อมกับให้หมายเลขโทรศัพท์สำหรับแจ้งปัญหาและข้อแนะนำ

วันหนึ่งระหว่างที่นั่งรถแท็กซี่ โชเฟอร์รายหนึ่งที่เคยผ่านประสบการณ์โครงการก่อสร้างมาก่อน เล่าให้ผมฟังโดยตั้งข้อสังเกตว่า การที่ผู้รับเหมาปูทางชั้นแรกแล้วปล่อยไปก่อนนั้น เป็นกระบวนการก่อสร้างถนนอย่างหนึ่ง สำหรับในพื้นที่ซึ่งเดิมเป็นดินเหนียว หรือดินร่วนปนทราย ซึ่งมีคุณสมบัติอุ้มน้ำ เนื่องจากจะได้รู้ว่าถนนมีการทรุดตัวตรงจุดไหน จะได้ทำการเทดินปรับระดับอีกชั้นในจุดที่ชำรุด ก่อนราดยางทับชั้นที่ 2 เป็นอันเสร็จสิ้น

ซึ่งการก่อสร้างถนนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลแตกต่างจากต่างจังหวัด เนื่องจากพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลส่วนใหญ่เป็นดินอ่อน หากเทดินลูกรังเพื่อยกระดับเป็นถนนแล้วจะต้องทำการบดให้ดินยุบตัวไปเรื่อยๆ จนกว่าจะไม่ยุบตัวเพิ่มจึงจะเทคอนกรีตหรือราดยางได้ แตกต่างจากถนนในต่างจังหวัดที่เป็นดินลูกรัง หากก่อสร้างในหน้าฝนยางจะไม่จับตัวซึ่งทำให้ยางหลุดร่อนออกมาได้ จึงไม่นิยมก่อสร้างในช่วงฤดูฝน แต่จะลงมือกันในช่วงฤดูแล้งแทน

สิ่งที่ผมฟังมาจากโชเฟอร์แท็กซี่อาจเป็นเพียงแค่ประสบการณ์ส่วนหนึ่งเท่านั้น ท่านใดที่เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างจะให้ความรู้แก่ข้าพเจ้าเพิ่มเติมก็ยินดี จะได้เป็นความรู้ เผื่อจะสังเกตการก่อสร้างถนนหนทางว่าที่ใดได้คุณภาพกันบ้าง

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม การที่ผู้รับเหมาแนะนำให้ไปใช้เส้นทางอื่นดูจะไม่สะดวกมากนัก เนื่องจากถนนพุทธสาครแห่งนี้กลายเป็นถนนสายหลักที่มาแทนถนนเศรษฐกิจ 1 ด้วยความเจริญที่ทยอยเข้ามา จึงควรที่จะเร่งบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ใช้เส้นทางนี้โดยเร็วที่สุด ก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุจนสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินไปมากกว่านี้

ข่าวดีอีกอย่างหนึ่งที่ขอนำมาฝากชาว ต.สวนหลวง อ.กระทุ่มแบน เมื่อเร็วๆ นี้ สภากรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบปรับปรุงก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ข้ามคลองศรีสำราญ บริเวณถนนเลียบคลองภาษีเจริญฝั่งเหนือ กับถนนสวนหลวงร่วมใจ รอยต่อระหว่างเขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร และ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร เรียบร้อยแล้ว ต่อไปก็จะส่งต่อให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารดำเนินการต่อไป

เดิมถนนเส้นนี้ได้พัฒนาให้เป็นถนนสายหลักที่เชื่อมระหว่างซอยเพชรเกษม 69 และซอยเพชรเกษม 81 ไปยัง อ.กระทุ่มแบน แต่สะพานนี้เป็นคอขวด เทศบาลตำบลสวนหลวงชี้แจงว่าอยู่ในความรับผิดชอบของกรมโยธาธิการ ที่ผ่านมาได้ประสานไปยังจังหวัดสมุทรสาคร และสำนักงานเขตหนองแขม ในการดำเนินการของบประมาณก่อสร้างสะพานแล้ว

อย่างเร็วที่สุดโครงการนี้น่าจะก่อสร้างได้ในปี 2558-2559 แล้วเสร็จในปี 2560 เชื่อว่าจะช่วยลดความแออัดของถนนเพชรเกษม ซึ่งในอนาคตจะมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายไปถึงถนนพุทธมณฑล สาย 4 ได้มากขึ้น



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง