ค่าแรงขั้นต่ำ 310 บาท พอยาไส้ไหม?

ตีพิมพ์ครั้งแรก หนังสือพิมพ์เสียงสาคร ฉบับประจำเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2559 มีมติรับทราบการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของคณะกรรมการค่าจ้าง ประจำปี 2560 รวม 69 จังหวัด ซึ่งถือเป็นการปรับค่าจ้างขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่ปี 2556 ที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผลักดันนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท

เที่ยวนี้มีจังหวัดที่ได้ปรับค่าแรงขั้นต่ำ รวม 69 จังหวัด ส่วนอีก 8 จังหวัด ไม่ได้เสนอขึ้นค่าจ้างแรงงานภายในจังหวัดเอง ส่วนใหญ่เป็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ สิงห์บุรี จังหวัดที่ได้รับการปรับขึ้นวันละ 5 บาท เป็น 305 บาท มี 49 จังหวัด ปรับขึ้นวันละ 8 บาท เป็น 308 บาท มี 13 จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นจังหวัดที่เป็นแหล่งอุตสาหกรรมและย่านนักท่องเที่ยว

ส่วนจังหวัดที่ปรับขึ้นวันละ 10 บาท เป็น 310 บาท มี 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งจังหวัดที่อยู่ติดกับกรุงเทพฯ อย่าง นครปฐม และ สมุทรสาคร ก็ได้รับอานิสงส์ไปด้วย นอกนั้นก็เป็นภูเก็ต ซึ่งเป็นจังหวัดท่องเที่ยว และถ้าใครเคยไปที่นั่นจะเห็นได้ว่าค่าครองชีพแพงมาก จึงเป็นพื้นที่ห่างไกลเพียงจังหวัดเดียวที่ได้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

คำถามคือ ที่ผ่านมานับตั้งแต่ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ตามที่นักการเมืองหาเสียง กระทั่ง 4 ปีมาแล้ว ไม่รู้ว่าผู้ใช้แรงงานมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นมาบ้างไหม เพราะสิ่งที่ตามมาหลังจากขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท รวมทั้งขึ้นเงินเดือนปริญญาตรีเริ่มต้นที่ 15,000 บาทต่อเดือน ค่าครองชีพ และราคาสินค้าก็กระชากสูงขึ้นตามไปด้วย

เมื่อไม่นานมานี้ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย หรือ คสรท. เสนอให้คณะกรรมการค่าจ้างปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 300 บาท เป็น 360 บาทต่อวัน เท่ากันทั่วประเทศ โดยยกเลิกระบบค่าจ้างแบบลอยตัว อ้างว่าเพื่อขจัดปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งขอให้เปิดโอกาสแรงงานรวมตัวเจรจาต่อรองตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ

แต่ก็มีผู้ประกอบการหลายรายออกมาคัดค้าน เพราะเห็นว่าสูงเกินไป ผลักดันให้แรงงานต่างด้าวลักลอบมาค้าแรงงานในไทยมากขึ้น กระทบหนักที่ธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) อาจทำให้ขาดทุนจนปิดกิจการ เพราะที่ผ่านมาขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศ ก็มีตัวอย่างโรงงานเจ๊งให้เห็นแล้วในต่างจังหวัด

ที่ผ่านมา โรงงานขนาดใหญ่ที่เน้นใช้แรงงานมีทักษะปัจจุบัน ก็จ่ายสูงกว่า 300 บาทต่อวันอยู่แล้ว แต่หากขึ้นเป็น 360 บาทต่อวันเท่ากัน เมื่อขึ้นระดับล่าง กลาง บนก็ต้องปรับขึ้นเป็นระนาด ที่สุดก็จะผลักไปสู่การปรับขึ้นราคาสินค้าตามมา และยังผลักดันไม่ให้เกิดโรงงานในต่างจังหวัดเพราะค่าแรงเท่ากัน ทุกวันนี้ก็เลยไม่มีโรงงานอยากไปลงทุนในต่างจังหวัด

ที่ผ่านมา มีการทำสำรวจค่าครองชีพแรงงาน ปี 2558 เขาระบุเฉลี่ยต่อวันว่า ค่าอาหารและเครื่องดื่ม เช้า 44 บาท กลางวัน 42 บาท เย็น 67.50 บาท ค่าเดินทางหรือค่าน้ำมัน 65.50 บาท ค่าน้ำประปา 10 บาท ค่าเสื้อผ้าและรองเท้า 36.87 บาท ค่าไฟฟ้า 36.56 บาท ค่าโทรศัพท์ 30.13 บาท ค่าผงซักฟอก สบู่ ยาสีฟัน 28.16 บาท รวม 360.72 บาท

ไม่รู้ว่าตัวเลขบางตัวเกินจริงหรือไม่ เพราะค่าใช้จ่ายหลายอย่าง เช่น ค่าอาหาร หากปรับพฤติกรรมการบริโภคก็ไม่ถึง อีกทั้งเสื้อผ้าและรองเท้าเป็นสินค้าที่ไม่ได้ซื้อประจำทุกวัน ส่วนค่าเดินทาง แรงงานส่วนใหญ่เลือกที่จะพักอาศัยใกล้โรงงานอยู่แล้ว ยกเว้นคนที่ขี่รถจักรยานยนต์ไปทำงานในต่างจังหวัดอาจจะต้องเติมน้ำมันอยู่บ้าง

สิ่งหนึ่งที่มักจะมองข้าม คือ การปรับพฤติกรรมการบริโภคของแรงงาน ผมคงไม่อยากจะตำหนิว่า บางสิ่งบางอย่างที่สร้างความสุขให้กับผู้ใช้แรงงานบางคนจนเงินไม่พอใช้ น่าจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาบ้างก็ดี โดยอาจจะน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ ไม่อย่างนั้นเราก็ยังคงพายเรือวนในอ่างแต่เรื่องขึ้นค่าแรงแบบนี้ไม่รู้จบ



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง