ลงขันแก้วิกฤตพระราม 2 ขาดแคลนจุดกลับรถ

ตีพิมพ์ครั้งแรก หนังสือพิมพ์เสียงสาคร ฉบับประจำเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ในที่สุดสำนักก่อสร้างสะพาน กรมทางหลวง ก็ได้ลงมือก่อสร้างสะพานลอยกลับรถ บนทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) กิโลเมตรที่ 17+600 ขาเข้า ไปทางกรุงเทพมหานคร ในพื้นที่ ต.บางน้ำจืด อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร ซึ่งมี บริษัท กรีนไลท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นผู้รับเหมา โดยได้เริ่มต้นสัญญาเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2557 สิ้นสุดสัญญา 17 ตุลาคม 2559 ระยะเวลาก่อสร้าง 600 วัน ค่าก่อสร้าง 99,489,403 บาท

อันที่จริงสะพานกลับรถแห่งนี้ ชาวบ้านในซอยพันท้ายนรสิงห์ และซอยแสมดำ กรุงเทพฯ เรียกร้องกันมานานกว่า 3 ปี เนื่องจากจุดกลับรถใต้สะพานข้ามทางรถไฟสายมหาชัย-วงเวียนใหญ่ กิโลเมตรที่ 18-19 มีสภาพคับแคบ และมักจะมีการจราจรติดขัดในชั่วโมงเร่งด่วน แม้จะเปิดจุดกลับรถเกาะกลางถนนที่หลักกิโลเมตรที่ 21 หน้ามหาชัยเมืองใหม่ แต่ก็มองว่าไกลเกินไป หลังจากวนรถมุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเทพฯ มีระยะทางรวมกัน 5-10 กิโลเมตรเลยทีเดียว

ลักษณะทางกายภาพบนถนนพระราม 2 ตั้งแต่สามแยกบางปะแก้ว ถึงนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร กิโลเมตรที่ 34 จะเป็นถนนขนาด 4-10 ช่องจราจร แต่หลังจากนั้นจะเป็นถนนขนาด 6-8 ช่องจราจร ซึ่งได้มีการกั้นแท่นแบริเออร์เพื่อกั้นไม่ให้คนหรือสัตว์ข้ามถนน และให้รถยนต์สามารถทำความเร็วได้โดยไม่มีอุปสรรคกีดขวาง เช่นเดียวกับถนนสายเอเชีย บางปะอิน-นครสวรรค์ และล่าสุดกับถนนกาญจนาภิเษก ช่วงบางขุนเทียน-บางใหญ่

แต่บ่อยครั้งที่การกั้นแท่นแบริเออร์มักจะทำให้เกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะบริเวณจุดกลับรถ รถเลนขวาสุดที่เป็นรถวิ่งด้วยความเร็วสูง ชนกับรถที่กำลังจะกลับรถพอดี และในบางช่วงไม่มีสะพานกลับรถรองรับ ก็ต้องไปกลับรถไกล เช่น บริเวณ ต.บางกระเจ้า ปิดจุดกลับรถเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ ทำให้ต้องเสียเวลาไปกลับรถที่สามแยกบ้านแพ้ว ซึ่งเป็นจุดกลับรถใต้สะพานข้ามคลองขุดบ้านบ่อ ชาวบ้านมักจะเรียกร้องให้สร้างสะพานกลับรถ แต่กรมทางหลวงอ้างว่าไม่มีงบประมาณ

โดยส่วนตัวผมสนับสนุนให้มีการสร้างสะพานกลับรถ แทนการใช้จุดกลับรถบริเวณเกาะกลางถนน เพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัดเป็นระยะบริเวณจุดกลับรถเกาะกลางถนน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาถนนพระราม 2 มักประสบปัญหาการจราจรติดขัด รถมากเคลื่อนตัวช้า โดยเฉพาะวันหยุดสุดสัปดาห์หรือช่วงเทศกาล ที่ผู้คนกลับจากการไปเที่ยวภาคตะวันตก และภาคใต้ มักจะต้องชะลอตัวบริเวณจุดกลับรถบ่อยครั้ง ครั้นจะไปปิดจุดกลับรถ คนในชุมชนก็เดือดร้อนต้องไปกลับรถไกล

ที่ผ่านมากรมทางหลวงมักจะประสบปัญหาในเรื่องงบประมาณก่อสร้างสะพานกลับรถ เนื่องจากต้องใช้งบประมาณที่สูง แต่ในระยะหลังๆ จะพบว่าภาคเอกชนทำซีเอสอาร์ด้วยการก่อสร้างสะพานกลับรถ อย่างถนนพหลโยธิน จ.พระนครศรีอยุธยา บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ก็ลงทุนก่อสร้างสะพานกลับรถรูปแบบใหม่แห่งแรกในประเทศไทย โดยใช้งบประมาณ 97.7 ล้านบาท ออกแบบให้ลดจำนวนตอม่อลงจาก 25 เหลือเพียง 9 ตอม่อ เพิ่มทัศนวิสัยที่ดีให้ผู้ขับขี่

หรือจะเป็นถนนมิตรภาพ จ.นครราชสีมา กรมทางหลวงได้ร่วมกับบริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตอุปกรณ์ฮาร์ดดิสก์คอมพิวเตอร์ ก่อสร้างสะพานกลับรถที่ อ.สูงเนิน โดยมอบเงินบริจาค 80 ล้านบาท แก่กรมทางหลวง สนับสนุนการสร้างสะพานกลับรถ ลดปัญหาการจราจรและอุบัติเหตุบนถนนมิตรภาพ และเพิ่งเปิดใช้งานไปเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งค่าก่อสร้างสะพานกลับรถนั้นหากให้ภาคเอกชนก่อสร้าง อย่างมากที่สุดก็ไม่เกิน 100 ล้านบาทเท่านั้นเอง

เพราะฉะนั้น เรื่องบางเรื่องไม่จำเป็นต้องให้กรมทางหลวงเป็นเจ้าภาพก่อสร้าง โดยการเอาเงินภาษีของประชาชนมาก่อสร้างเพียงอย่างเดียวก็ได้ ภาคเอกชนและภาคธุรกิจในสมุทรสาครที่มีกำไรนับร้อยนับพันล้านบาท น่าจะมีส่วนร่วมในการก่อสร้าง เช่นสะพานกลับรถเพื่อสาธารณะประโยชน์ เพราะดูแล้วกว่าจะผลักดันโครงการขึ้นมาได้เป็นรูปเป็นร่าง ก็ใช้เวลาอย่างน้อยๆ 3 ปี ไม่นับรวมโครงการขนาดใหญ่ อย่างสะพานข้ามแยกทางต่างระดับมหาชัย ที่จะก่อสร้างเพิ่มตามแนวถนนเศรษฐกิจ 1 เดิมในทิศทางตรง ถึงวันนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าว่าจะก่อสร้างได้ตอนไหน.



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง