ลอยแพ’ศูนย์บริการท่องเที่ยวบ้านแพ้ว’

688-1

ศูนย์บริการท่องเที่ยวอำเภอบ้านแพ้ว ริมถนนสายบ้านแพ้ว-พระประโทน จ.สมุทรสาคร ที่สร้างขึ้นด้วยงบประมาณ 16 ล้านบาท โดยหวังที่จะให้เป็นจุดพักรถสำหรับนักเดินทาง วันนี้ถูกปล่อยทิ้งร้างในสภาพทรุดโทรม ไร้การดูแลรักษา พร้อมกับการบริหารงานที่ล้มเหลวไม่เป็นท่า นำมาซึ่งคำถามที่ว่า ทำไมงบประมาณของจังหวัดถูกผลาญอย่างสูญเปล่าซ้ำแล้วซ้ำเล่า

“สาครออนไลน์” ลงพื้นที่ศูนย์บริการท่องเที่ยว (Rest Area) อำเภอบ้านแพ้ว ตั้งอยู่บนถนนบ้านแพ้ว-พระประโทน หลักกิโลเมตรที่ 9 ทิศทางมุ่งหน้าไป จ.สมุทรสาคร ในพื้นที่หมู่ 7 ต.หลักสาม อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร หลังได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านใน อ.บ้านแพ้ว ว่าอาคารนี้ถูกปล่อยทิ้งร้างไปนานแล้ว โดยไม่มีการปรับปรุง ทำให้มีสภาพทรุดโทรม และเป็นแหล่งมั่วสุมของกลุ่มวัยรุ่น

688-7

688-8

เมื่อสังเกตจากป้ายด้านหน้าทางเข้าอาคาร พบว่าถนนลาดยางขนาด 4 ช่องจราจรมีสภาพทรุดโทรม มีการทิ้งขยะจำพวกเศษกะลามะพร้าวลงข้างทาง ต้นปาล์มที่ปลูกประดับถนนเพื่อความสวยงามก็แห้งตายทั้งหมด ส่วนเสาไฟฟ้าส่องสว่างมีสภาพชำรุดเสียหาย ถึงขนาดมีนกเข้ามาทำรังบนหลอดไฟ เพิงขายสินค้าที่มุงด้วยหลังคาจากก็พังเสียหายเช่นกัน ที่สำคัญคือ ไม่มีผู้ค้าเข้ามาทำการค้าขายตรงจุดนั้นเลย

688-9

688-10

688-11

เมื่อเข้ามาถึงด้านในศูนย์บริการท่องเที่ยว ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 อาคาร คือ ศูนย์จำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์โอทอป เป็นอาคารสูง 2 ชั้น ปรากฎว่าถูกปิดตายด้วยประตูม้วนอลูมิเนียม ส่วนอาคารเอนกประสงค์ชั้นเดียว 2 อาคารที่มีลักษณะเปิดโล่ง ปูด้วยกระเบื้องหินอ่อน เพื่อใช้เป็นอาคารวิสาหกิจชุมชน แผงจำหน่ายสินค้า กลับถูกปล่อยทิ้งร้าง ไร้ผู้คนเข้ามาใช้ประโยชน์ ที่สำคัญยังเกิดการทรุดตัว โดยไม่มีใครเข้ามาดูแลรักษา

688-12

688-13

688-14

688-15

688-16

เมื่อเข้าไปในห้องน้ำก็พบว่าทรุดโทรมไม่แพ้กัน ปล่อยให้หยากไย่ขึ้นเต็มผนังที่มืดมิด น้ำประปาไม่ไหล และสุขาในบางห้องถูกใส่กุญแจล็อคไว้ ที่สำคัญคือมีมิจฉาชีพเข้ามาขโมยทรัพย์สิน ลอบตัดสายไฟเพื่อปอกเอาลวดทองแดงด้านในไปขาย เหลือเพียงร่องรอยของเศษพลาสติกที่หุ้มทิ้งไว้ให้ดูต่างหน้า รวมทั้งยังพบกองเสื้อผ้าที่อาจเรียกได้ว่าที่นี่เคยถูกใช้เป็นแหล่งมั่วสุมอีกด้วย

– ผลาญงบฯ 16 ล้าน เจ๊งไม่เป็นท่า ผลประโยชน์เพื่อใคร?

688-2

ภาพ : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสมุทรสาคร ถ่ายเมื่อ 24 กันยายน 2556

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2556 ศูนย์บริการท่องเที่ยวอำเภอบ้านแพ้ว เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนและจุดพักรถ (Rest Area) สำหรับผู้เดินทาง เป็นศูนย์จำหน่ายสินค้าโอทอป และสินค้าการเกษตรให้กับนักท่องเที่ยวโดยทั่วไป รวมทั้งเป็นศูนย์อาหารเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว รวมทั้งจะเป็นสถานที่ประชุมในระดับอำเภอ และสถานที่จัดงานมหกรรมสินค้าหรือมหรสพต่างๆ

มีนายจุลภัทร แสงจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร (ในขณะนั้น) เป็นประธานเปิดงาน โดยนายอมรฤทธิ์ เอมะปาน นายอำเภอบ้านแพ้ว (ในขณะนั้น) ระบุว่า ได้ขอรับบริจาคที่ดินจากนางศรีศักดิ์ อิ่มสุวรรณ ซึ่งได้กรุณาบริจาคที่ดินให้ ซึ่งการก่อสร้างอาคารใช้เนื้อที่จำนวน 1 ไร่ และสร้างถนนสาธารณประโยชน์จำนวน 3 ไร่ 75 ตารางวา ใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 16 ล้านบาท

688-3

ภาพ : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสมุทรสาคร ถ่ายเมื่อ 24 กันยายน 2556

ในปีงบประมาณ 2555 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณเป็นเงิน 10 ล้านบาท จากกระทรวงคมนาคม ก่อสร้างถนน และงบประมาณจำนวน 3 ล้านบาทจากกระทรวงมหาดไทย ก่อสร้างอาคารเอนกประสงค์จำนวน 2 หลัง ส่วนปีงบประมาณ 2556 ได้รับงบประมาณจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จำนวน 2 ล้านบาท ก่อสร้างศูนย์จำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์โอทอป

รวมทั้งงบประมาณบูรณาการของกรมการปกครองปี 2555-2556 จำนวน 1 ล้านบาท ในการปรับปรุงจัดระบบสาธารณูปโภค และปรับปรุงภูมิทัศน์ โดยได้รับความร่วมมือจากนายนิติรัฐ สุนทรวร ส.ส.สมุทรสาคร พรรคประชาธิปัตย์ (ในขณะนั้น), นายนพพร พิสุทธิมาน ผู้อำนวยการแขวงการทางนครปฐม และนายสุนทร วัฒนาพร นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดสมุทรสาคร

สำหรับการบริหารศูนย์ฯ ได้มอบหมายให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชน รับผิดชอบนำสินค้าเกษตรเข้ามาจำหน่ายในอาคารวิสาหกิจชุมชน ซึ่งมีเกษตรกร 12 ราย จำหน่ายผลิตผลทางการเกษตรของอำเภอบ้านแพ้ว และจำหน่ายมะพร้าวน้ำหอม ในซุ้มมะพร้าวน้ำหอม จำนวน 10 ซุ้ม สำหรับศูนย์อาหารได้มอบหมายให้ อบต.หลักสามนำกลุ่มแม่บ้านมาจำหน่ายอาหาร ส่วนศูนย์โอทอปมอบหมายให้กลุ่มเบญจรงค์สวนส้มรับผิดชอบ

688-5

– “สัญญาทาส” อัปยศ! จับที่ดินตาบอดใส่ตะกร้าล้างน้ำ

สิ่งที่น่าสังเกตอย่างหนึ่ง คือ “บันทึก การอุทิศที่ดินให้อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร” ที่สลักไว้บนแผ่นหินอ่อน ติดอยู่ภายในอาคารวิสาหกิจชุมชน เขียนที่บ้านของนางศรีศักดิ์ เลขที่ 118/7 หมู่ 5 ต.สวนใหญ่ อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2554 โดยมีลายมือชื่อของนางศรีศักดิ์ ในฐานะผู้อุทิศให้, นายอมรฤทธิ์ ในฐานะผู้รับให้ และมีนายอายุวัชญ์ วิทูรวัชรเวธน์ และนายนพพร มีสติ เป็นพยาน

เนื้อหาในบันทึกระบุดังนี้

ข้าพเจ้า นางศรีศักดิ์ อิ่มสุวรรณ อยู่บ้านเลขที่ 118/7 หมู่ 5 ต.สวนใหญ่ อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี เจ้าของโฉนดที่ดิน เลขที่ 4284 เล่มที่ 23 หน้า 84 อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ขออุทิศที่ดินจำนวน 1 ไร่ พร้อมทางเข้า – ออก ติดถนนบ้านแพ้ว – นครปฐม จนถึงที่ดิน ที่อุทิศให้เป็นทางสาธารณะประมาณ 2-3 ไร่ หรือตามที่รังวัดทำถนนที่แท้จริง ตามแผนผังโฉนดที่ดินที่อุทิศให้ การอุทิศที่ดินให้อำเภอบ้านแพ้ว โดยกรมการปกครองมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

1. สร้างศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อำเภอบ้านแพ้ว

2. ในการบริหารศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อำเภอบ้านแพ้ว โดยกลุ่มเกษตรกรที่จะจัดตั้งขึ้นจะต้องมีทายาทของผู้อุทิศ 1 คน เป็นคณะกรรมการบริหารศูนย์ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์

3. หากมีการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ในการบริหารศูนย์จะต้องได้รับความยินยอมจากทายาทผู้อุทิศให้เป็น ลายลักษณ์อักษรเท่านั้น

4. ถนนทางเข้าศูนย์บริการนักท่องเที่ยวซึ่งผู้อุทิศให้ยกเป็นถนนสาธารณะ ห้ามมิให้มีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อให้ถนนสาธารณะเป็นทางเข้า – ออก ของที่ดินในโฉนดแปลงเดิมที่แบ่งแยก สามารถเข้า-ออก ได้โดยสะดวก และห้ามมิให้มีการก่อสร้างปิดทางเข้า – ออก ที่ติดที่ดินโฉนดของผู้อุทิศที่ดิน

688-6

เมื่ออ่านข้อความในบันทึกซึ่งเป็นสัญญาที่มีลายลักษณ์อักษรแล้ว สิ่งที่ขีดเส้นใต้เอาไว้ก็ระบุชัดเจนอยู่แล้วว่า การก่อสร้างศูนย์บริการท่องเที่ยวอำเภอบ้านแพ้วนั้น ทำขึ้นเพื่อประโยชน์ของใคร? เพราะมันเป็นการเอา “ที่ดินตาบอด” มาใส่ตะกร้าล้างน้ำ ใช้งบประมาณแผ่นดินจากภาษีประชาชนมาก่อสร้างทั้งถนนหนทาง และอาคารอีก 2-3 หลังใจกลางสวนมะพร้าวของชาวบ้าน

มิหนำซ้ำ ในสัญญาก็ระบุอีกว่า แม้จะอุทิศที่ดินไปแล้ว แต่ก็ยังต้องมี “ทายาทของผู้อุทิศ” ให้เป็นคณะกรรมการศูนย์ ถ้าหากการบริหารศูนย์บริการท่องเที่ยวนั้นประสบความสำเร็จขึ้นมา ผลประโยชน์ก็จะตกอยู่กับทายาทของผู้อุทิศนั้นด้วย อย่างกับเสือนอนกิน แต่ถ้าหากบริหารแล้วเจ๊งอย่างที่เป็นอยู่ อำเภอบ้านแพ้วจะเอาไปทำประโยชน์อย่างอื่นก็ไม่ได้ เพราะในสัญญาระบุชัดเจนว่า ต้องได้รับความยินยอมจากทายาทผู้อุทิศให้เท่านั้น

ที่สุดแล้วถนนลาดยางเข้าศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเส้นละ 10 ล้านบาท อาคารเอนกประสงค์หลังละ 3 ล้านบาท และอาคารศูนย์จำหน่ายสินค้าโอทอปอีก 2 ล้านบาท บนที่ดินที่อาจเรียกได้ว่า “ไม่ใช่ที่ดินสาธารณะ” อย่างแท้จริง เพราะต้องให้ “ทายาทของผู้อุทิศ” มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่สุดแล้วกลายเป็นโครงการอัปยศ ที่สร้างจากภาษีประชาชนเพื่อประโยชน์ของเจ้าของที่ดินอย่างนั้นใช่หรือไม่

อาจจะเรียกได้ว่า จังหวัดสมุทรสาครต้องนำภาษีจากประชาชนมา “จ่ายค่าโง่” ให้กับโครงการศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอำเภอบ้านแพ้ว ซึ่งผลที่สุดแล้วก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า เหลือทิ้งไว้แต่เศษซากของความอัปยศ ที่เวลาแขกไปใครมา เมื่อสัญจรผ่านแล้วได้พบเห็นเป็นต้องอับอายขายหน้าจังหวัดอย่างยิ่ง แทนที่งบประมาณหลักสิบล้านบาทจะได้นำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของจังหวัด โดยเฉพาะ อ.บ้านแพ้วให้ดีขึ้น

688-4

ภาพ : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสมุทรสาคร ถ่ายเมื่อ 24 กันยายน 2556

– เจ้าของที่ดิน “ศรีศักดิ์ อิ่มสุวรรณ” คือใคร?

เมื่อพิจารณาจากตัวละครในบันทึก การอุทิศที่ดินให้อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ชื่อของ “นางศรีศักดิ์ อิ่มสุวรรณ” หากเป็นชาวบ้านธรรมดาคงไม่มีใครรู้จัก แต่หากเป็นคนเก่าคนแก่ของสมุทรสาคร จะทราบกันดีว่าเป็นภรรยาของ “นายพิเชียร อิ่มสุวรรณ” อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเสียชีวิตลงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2547

ส่วนตัวละครอีก 2 คนในฐานะพยาน คนหนึ่งเป็น นายอายุวัชญ์ วิทูรวัชรเวธน์ เป็นชาว ต.บางกร่าง อ.เมืองฯ จ.นนทบุรี ปัจจุบันเป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ส่วนอีกคนหนึ่งเป็น นายนพพร มีสติ ปัจจุบันเป็นนิติกรชำนาญการ ที่ทำการปกครองจังหวัดชุมพร และยังเป็นเจ้าหน้าที่ส่วนรับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ ของศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชุมพรอีกด้วย

คำถามที่น่าคิดคือ “ตัวละคร” ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอำเภอบ้านแพ้ว ไล่เรียงไปตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครในขณะนั้นอย่าง นายจุลภัทร แสงจันทร์, นายอำเภอบ้านแพ้วในขณะนั้น นายอมรฤทธิ์ เอมะปาน, ผู้อำนวยการแขวงการทางนครปฐม นายนพพร พิสุทธิมาน, อดีต ส.ส.สมุทรสาคร พรรคประชาธิปัตย์ นายนิติรัฐ สุนทรวร ข้าราชการ และบุคคลอีกจำนวนมาก

คนเหล่านี้ลอยหน้าลอยตาในสังคมไปไหนกันหมด กับโครงการอัปยศมูลค่า 16 ล้านบาท ราวกับเห็นจังหวัดสมุทรสาครเป็น “ของเล่น” เห็นศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเหมือนจังหวัดอื่นๆ เขามีกัน ก็อยากมีบ้าง โดยการผลาญงบประมาณแผ่นดิน ทั้งๆ ที่ถนนสายนี้ก็ไม่ได้มีความสำคัญถึงขั้นเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคเหมือนถนนพระราม 2 พอสร้างไปแล้วไม่มีคนเข้ามาใช้บริการก็เจ๊งลงไม่เป็นท่า

จนถึงขณะนี้ พื้นที่ในศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอำเภอบ้านแพ้วก็ยังเข้าทำประโยชน์อะไรไม่ได้ ปล่อยให้อาคารทรุดโทรมไปตามกาลเวลา โดยเฉพาะจากน้ำมือมนุษย์ที่เป็นมิจฉาชีพลักทรัพย์สินออกไป หากปล่อยไว้แล้วไม่มีการจัดการก็จะกลายเป็นว่า พื้นที่ตรงนี้เป็นแหล่งมั่วสุมของกลุ่มวัยรุ่น สร้างปัญหาให้กับคนในอำเภอบ้านแพ้ว และผู้ใช้รถใช้ถนนหนักขึ้นไปอีก

ขอฝากโครงการอัปยศนี้ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร “ร.ต.ท.อาทิตย์ บุญญะโสภัต” รวมไปถึงนายอำเภอบ้านแพ้ว “สุรศักดิ์ ผลยังส่ง” ได้เข้ามาสะสางปัญหานี้ พร้อมกับสางปมทุจริตให้เด็ดขาดว่าใครมีส่วนเกี่ยวข้องในการผลักดันงบประมาณลง “ที่ดินตาบอด” เหล่านี้ ก่อนที่นักการเมืองและข้าราชการจะเห็นงบประมาณแผ่นดินเป็น “ของเล่น” สร้างภาระและความอับอายไม่รู้จักจบสิ้น

อ่านประกอบ : เปิด “ศูนย์บริการท่องเที่ยวบ้านแพ้ว” รับเปลี่ยนถนนสาย 375 เชื่อมภาคเหนือ



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง