โรงพยาบาลเอกชนสมุทรสาครแข่งดุ

811-1

เมืองเศรษฐกิจที่มีศักยภาพทั้งทางด้านการอุตสาหกรรม การประมงและเกษตรกรรม กระทั่งติด 1 ใน 10 ของประเทศที่มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดต่อหัวสูง สมุทรสาครนับเป็นจังหวัดที่มีจำนวนแรงงานสูงขึ้นเช่นเดียวกัน ด้วยจำนวนผู้อยู่ในกำลังแรงงาน 367,520 คน (ณ เดือนพฤศจิกายน 2558)

แน่นอนว่า ระบบประกันสุขภาพที่สำคัญสำหรับแรงงาน และผู้ประกอบอาชีพรับจ้างก็คือ “กองทุนประกันสังคม” ซึ่งเป็นระบบประกันสุขภาพหนึ่งในสามเสาหลัก นอกจากกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) และกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ

798-4

ข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคม (ณ เดือนธันวาคม 2558) พบว่ามีสถานประกอบการที่เข้าร่วมประกันสังคม รวม 9,211 แห่ง มีจำนวนผู้ประกันตนภาคบังคับ (มาตรา 33) 381,708 คน, ผู้ประกันตนภาคสมัครใจ (มาตรา 39) 27,429 คน และผู้ประกันตนภาคสมัครใจ (มาตรา 40) 32,397 คน

เบ็ดเสร็จทั้งจังหวัดสมุทรสาคร มีผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมรวมทั้งสิ้น 441,534 คน

ถือเป็นตัวเลขที่จูงใจให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนแต่ละแห่ง เข้าร่วมโครงการประกันสังคมในแต่ละปี เพื่อช่วงชิงงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวจากการให้บริการประกันสังคม ที่ได้รับจากสำนักงานประกันสังคมเป็นประจำทุกปี ต่อผู้ประกันตน 1 ราย จะได้รับ 1,460 บาท

ไม่นับรวมค่าบริการทางการแพทย์เพิ่มขึ้นจากค่าเหมาจ่ายรายหัว สำหรับสถานพยาบาลที่ต้องรับภาระกรณีโรคที่มีความเสี่ยงตามอัตราใช้บริการทางการแพทย์ของผู้ประกันตน 432 บาท สถานพยาบาลที่ผ่านการรับรองคุณภาพจะได้รับเพิ่ม 66 บาท รวมถึงจะจ่ายให้แก่โรคที่มีภาวะความเสี่ยงสูง 560 บาท

เมื่อรวมแล้ว สำนักงานประกันสังคม จัดงบรองรับผู้ประกันตนเฉลี่ยรายละ 2,518 บาท

ยิ่งมีผู้ประกันตนในมือมากเท่าไหร่ยิ่งดี เพราะจะได้รับเงินงบประมาณรายหัวสูงถึงหลักร้อยล้านบาท ซึ่งหากแต่ละปีมีการใช้จ่ายแก่ผู้ประกันตนที่เข้ารับการรักษาน้อยเพียงใด ส่วนที่เหลือจึงตกเป็นกำไรของโรงพยาบาลเอกชนแห่งนั้น แม้จะไม่หวือหวาเทียบเท่ากลุ่มลูกค้าเงินสดในยามที่เศรษฐกิจเฟื่องฟู

โรงพยาบาลหลายแห่งถึงกับเน้นกลุ่มลูกค้าประกันสังคม โดยเชิญชวนเข้าร่วมเป็นผู้ประกันตน เพื่อเป็นรายได้เสริมแบบ “กระเป๋าขวา” ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจซบเซา นอกจากกลุ่มลูกค้าเงินสดที่โรงพยาบาลเอกชนแต่ละแห่งต่างพึ่งพาจากผู้ที่มีกำลังซื้อสูง และชนชั้นกลางที่จ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง

ความเคลื่อนไหวของโรงพยาบาลเอกชนในช่วงที่ผ่านมา หากไม่นับโรงพยาบาลเอกชัย ที่ออกจากโครงการประกันสังคมเมื่อปี 2554 จะเห็นได้ว่าโรงพยาบาลเอกชนแต่ละแห่งต่างก็มีกลยุทธ์ในการทำการตลาด ด้วยการชูความเป็นศูนย์การแพย์เฉพาะทางกับกลุ่มลูกค้าเงินสด

สลับกับการเชิญชวนเปลี่ยนสถานพยาบาล และเข้าร่วมเป็นผู้ประกันตนโรงพยาบาลนั้นๆ โดยชูว่ามีสถานพยาบาล คลีนิคต่างๆ ในเครือข่ายมากมาย เพื่อรองรับผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ สามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลใกล้บ้าน โดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล

โรงพยาบาลบางแห่ง ถึงกับแยกโรงพยาบาลสำหรับลูกค้าประกันสังคมต่างหาก

เช่น โรงพยาบาลมหาชัย 3 เปิดเมื่อปี 2551 ให้บริการตรวจรักษาผู้ประกันตนด้านอายุรกรรม ศัลยกรรม และนรีเวชกรรม ระบบทุติยภูมิ หากเกี่ยวข้องกับหัตถการการผ่าตัด การรักษาเฉพาะทาง หรือกลุ่มผู้ป่วยหนักที่มีความเสี่ยงสูง จะส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลมหาชัยที่อยู่ติดกัน

ขณะที่โรงพยาบาลศรีวิชัย 2, 3 และ 5 แม้หลังรีแบรนด์ดิ้งใหม่เป็น “วิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล” ในส่วนของหนองแขมจะเหลือเฉพาะกลุ่มลูกค้าทั่วไป โดยไม่ได้บริการกลุ่มลูกค้าประกันสังคมแล้ว แต่ที่อ้อมน้อยและสมุทรสาครยังคงรองรับกลุ่มผู้ประกันตนได้อีกมาก

ในปี 2559 การแข่งขันของโรงพยาบาลเอกชนในสมุทรสาครจะหนักหน่วงยิ่งขึ้น ทั้งการปรับปรุงโรงพยาบาล ที่สร้างอาคารใหม่ขึ้นเพื่อขยับขยาย และชูความเป็นศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง โดยที่มีลูกค้าผู้ประกันตนเดิมเหนียวแน่น และการแจ้งเกิดของโรงพยาบาลน้องใหม่ในพื้นที่ มีแนวโน้มว่าจะเข้ามาช่วงชิงผู้ประกันตน

811-2

โรงพยาบาลมหาชัย 2 ย่านอ้อมน้อย ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2535 หลังต่อสัญญาใหม่กับเจ้าของที่ดิน ได้ที่ดิน 7 ไร่ และเพิ่มอีก 2 ไร่ติดถนนใหญ่ รวมเป็น 9 ไร่ ทุ่มงบประมาณ 800 ล้านบาทก่อสร้างอาคารใหม่ สูง 11 ชั้น คาดว่าแล้วเสร็จในปี 2559 ยกระดับเป็นศูนย์การแพทย์เฉพาะทางบนถนนเพชรเกษม

อาคารใหม่ สูง 11 ชั้น จะมีเนื้อที่ใช้สอย 22,134 ตารางวา มีทั้งศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง คลีนิคแพทย์ทางเลือก เหมือนโรงพยาบาลมหาชัย และแผนกผู้ป่วยใน ชั้นละ 24 เตียง บนชั้น 7-11 รวมเป็น 124 เตียง แถมชั้นดาดฟ้าเป็นลานจอดเฮลิคอปเตอร์อีกด้วย เป็นที่จับตามองและดึงดูดคนอ้อมน้อยยิ่งนัก

ปัจจุบันทำเลย่านอ้อมน้อย ซึ่งเป็นย่านอุตสาหกรรมและชุมชนหนาแน่น โรงพยาบาลที่ยังเหลือโควตารองรับผู้ประกันตนนั้น โรงพยาบาลมหาชัย 2 เหลือโควตาเพียงแค่ 3,241 คน ขณะที่โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล อ้อมน้อย ที่อยู่ใกล้กัน เหลือโควตาผู้ประกันตนรองรับได้อีก 26,340 คน

มาที่อำเภอเมืองสมุทรสาคร ที่มีผู้ประกันตนมากถึง 2.8 แสนคน ปัจจุบันมีโรงพยาบาลเอกชนที่รองรับกลุ่มลูกค้าประกันสังคมอยู่ 2 แห่ง โรงพยาบาลมหาชัย 3 มีโควตาผู้ประกันตนคงเหลือ 38,656 คน และโรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล สมุทรสาคร มีโควตาคงเหลือ 50,940 คน

811-3

ที่น่าจับตามองที่สุด คือ เครือโรงพยาบาลวิภาวดี ที่มีโรงพยาบาลในเครือทั้งโรงพยาบาลรามคำแหง และโรงพยาบาลวิภาราม ที่เจาะกลุ่มลูกค้าประกันสังคมเป็นหลัก เตรียมที่จะเปิด “โรงพยาบาลวิภาราม สมุทรสาคร” บนถนนพระราม 2 ตรงข้ามนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร ในเดือนมีนาคมนี้

โดยเป็นอาคารสูง 9 ชั้น จำนวน 1 อาคาร บนพื้นที่ 9 ไร่ 1 งาน 98 ตารางวา ใช้เวลาก่อสร้างมานาน 3 ปี มูลค่าการลงทุน 800-1,000 ล้านบาท เบื้องต้นจะเปิดให้บริการก่อน 100 เตียง รองรับกลุ่มลูกค้าประกันสังคม ในย่านนิคมอุตสาหกรรม โดยจะมีการเพิ่มเป็น 200 เตียงในอนาคต

ถือเป็นคู่แข่งโดยตรงของโรงพยาบาลมหาชัย 3 เครือโรงพยาบาลมหาชัย และโรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล สมุทรสาคร เครือศรีวิชัยเวชวิวัฒน์ ที่เจาะกลุ่มลูกค้าประกันสังคม และผู้ใช้แรงงานโดยตรง จะต้องรับมือกับโรงพยาบาลน้องใหม่ที่กำลังจะเข้ามาในเร็ววันนี้ แม้จะยังไม่เกิดภาวะผู้ประกันตนไหลไปโรงพยาบาลแห่งใหม่ก็ตาม

ทราบมาว่า การเปิดโรงพยาบาลวิภาราม สมุทรสาคร จะยังคงเปิดรักษาลูกค้าทั่วไป ไม่ได้เข้าร่วมโครงการประกันสังคมในปีนี้ ในช่วงที่สำนักงานประกันสังคม ประกาศแจ้งเปลี่ยนสถานพยาบาลประจำปี 2559 โรงพยาบาลเอกชนเดิมทั้ง 2 แห่งก็ยังคงเปิดรับผู้ประกันตนอยู่เรื่อยๆ โดยอาจจะชูด้านสถานพยาบาลในเครือข่าย และคุณภาพการรักษา

เมื่อโรงพยาบาลวิภารามสมุทรสาครเข้าร่วมโครงการประกันสังคม ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2560 จะเกิดสงคราม Red Ocean ที่ทั้ง 3 โรงพยาบาลจะต้องยื้อยุดช่วงชิงผู้ประกันตนให้มาอยู่ในมือให้ได้ ท่ามกลางสถานการณ์ควบรวมกิจการของโรงพยาบาลเอกชนทุนใหญ่เทคโอเวอร์ทุนเล็ก ในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

เพราะนอกจากผู้ประกันตนในสมุทรสาครที่มีมากถึง 2.8 แสนรายแล้ว ยังมีจังหวัดติดกันอย่างสมุทรสงคราม ที่มีผู้ประกันคน 31,978 คน (ภาคบังคับ 15,644 คน ภาคสมัครใจมาตรา 39 จำนวน 3,863 คน และมาตรา 40 จำนวน 12,471 คน) จากจำนวนสถานประกอบการ 1,173 แห่ง ไม่มีโรงพยาบาลเอกชนเข้าร่วมโครงการและส่วนหนึ่งเป็นผู้ประกันตนโรงพยาบาลเอกชนในสมุทรสาคร

แม้จะไม่ถึงขั้นล้มหายตายจาก แต่ก็ดุเดือดไม่แพ้กัน.



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง