วอนรัฐเปิด’สิงขร’จุดผ่านแดนถาวร

856

ภาคเอกชนและหอการค้าภาคกลาง เสนอรัฐบาลเปิดด่านสิงขร เป็นจุดผ่านแดนถาวร เพิ่มโอกาสทางการค้า ประตูสู่อาเซียน-อินเดีย ประธานหอการค้าสมุทรสาครแนะ “ใช้พื้นที่ร่วมกัน” แก้ปัญหากรณีปักปันเขตแดน เผย “มะริด” ต้องการเชื่อมโยงการค้า “สมุทรสาคร-สมุทรสงคราม” ชูจุดเด่นวัตถุดิบป้อนอุตสาหกรรมประมง ขนส่งรวดเร็ว-สดใหม่ แนะสร้างสัมพันธไมตรีช่วยพัฒนาประเทศ

หลังจากที่ด่านสิงขร ที่ขนานนามว่าแคบสุดในสยาม ถูกผลักดันให้เป็นช่องทางสำคัญทางการค้า เชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียน ในยุคที่ นายวีระ ศรีวัฒนตระกูล เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในขณะนั้น ชื่อของ มะริด (Myeik) เมืองชายฝั่งทะเลอันดามัน ในภูมิภาคตะนาวศรี ทางตอนใต้ของสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า ก็ถูกหยิบยกเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง

มะริดในวันนี้ ถูกพลิกโฉมจากเมืองชายฝั่งทะเลเล็กๆ ที่รายล้อมไปด้วยเกาะประมาณ 800 เกาะ กลายมาเป็นเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจ ที่เจริญเติบโตแบบก้าวกระโดด เป็นที่ตั้งฟาร์มปูนิ่มของคนไทยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ และอู่ต่อเรือ ที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่การท่องเที่ยว คนไทยสามารถเดินทางไปยังมะริดได้ โดยใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียว ทำบัตรผ่านแดนชั่วคราว สามารถพำนักได้นานถึง 7 วัน มีรถตู้โดยสารจากบ้านมูด่อง ฝั่งตรงข้ามด่านสิงขร ไปยังมะริดโดยใช้เวลาเดินทางเพียง 4 ชั่วโมง ซึ่งเมืองมะริดมีทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และทางวัฒนธรรม รวมทั้งมีโรงแรมระดับ 4 ดาวและศูนย์การค้าทันสมัยให้บริการ

แม้สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานจะยังคงอยู่ในระหว่างการพัฒนา ถนนจากด่านสิงขรไปยังมะริด 180 กิโลเมตร บางช่วงเป็นถนนคอนกรีต และถนนลาดยาง บางช่วงที่เป็นลูกรังก็มีโครงการปรับปรุงเป็นถนนลาดยางแล้วเสร็จภายในปี 2560 ส่วนเรื่องไฟฟ้าที่มีไม่เพียงพอ พม่าเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนโรงไฟฟ้าแล้ว คาดว่าสาธารณูปโภคพื้นฐานจะสมบูรณ์แบบภายใน 3 ปี

นับเป็นโอกาสทองของนักลงทุนทั่วเอเชีย โดยเฉพาะไทยที่มองเห็นลู่ทางการลงทุน จากระยะทางจากประจวบคีรีขันธ์ไปยังเมืองมะริดไม่ถึง 200 กิโลเมตรเท่านั้น และด้วยทรัพยากรทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์ กลายเป็นแหล่งวัตถุดิบชั้นดี ที่สามารถป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมประมง โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ได้ในเวลาไม่ถึงครึ่งวันเท่านั้น

856-8

แต่ปัญหาที่สำคัญที่เกิดขึ้นก็คือ ด่านสิงขรยังเป็นเพียงแค่จุดผ่อนปรนพิเศษ ยังไม่ได้เป็นจุดผ่านแดนถาวร ทำให้เศรษฐกิจยังขยายตัวไม่ได้มากเท่าที่ควร แม้ทางพม่าอนุญาตให้ชาวไทยเดินทางไปพักที่มะริดได้ 7-14 วัน แต่ฝ่ายไทยอนุญาตให้เข้ามาได้ถึงอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ ส่วนการขนถ่ายสินค้าฝ่ายพม่าให้รถเข้าไปได้ถึงศูนย์ราชการของบ้านมูด่องเท่านั้น

เนื่องจากทั้งไทยและพม่า ยึดแผนที่คนละฉบับ ไทยยึดแผนที่สันปันน้ำ พม่ายึดแผนที่สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ซึ่งทำให้ล้ำเขตแดนไทยเข้ามาประมาณ 600 เมตร ไม่สามารถตกลงเรื่องเขตแดนได้ ทำให้ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะเปิดจุดผ่านแดนถาวร นอกจากนี้ ยังมีข้อกังวลถึงประโยชน์ที่ฝ่ายไทยจะได้รับ เมื่อเทียบกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น อาทิ ปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด และการค้ามนุษย์

856-2

– ยังไม่อัพเกรด “จุดผ่านแดนถาวร” อุปสรรคทางการค้าด่านสิงขร-มะริด

นายอู้ หล่ะ ตั้น ประธานหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมจังหวัดมะริด กล่าวกับหนังสือพิมพ์เดลินิวส์เมื่อเร็วๆ นี้ว่า พม่าเปิดด่านถาวรบ้านบูด่อง ฝั่งตรงข้ามด่านสิงขรของไทยมานานกว่า 2 ปี แต่ฝั่งไทยเปิดเป็นจุดผ่อนปรนพิเศษเท่านั้น ทำให้การค้าการขายไม่ขยายตัวเท่าที่ควร ที่ผ่านมาตนเสนอรัฐบาลพม่าขอให้ประสานฝ่ายไทยยกระดับด่านสิงขรเป็นด่านถาวร

ส่วนถนนช่วงเป็นลูกรัง ทางการพม่ามีโครงการปรับปรุงเป็นถนนลาดยางให้แล้วเสร็จภายในปี 2560 ขณะนี้ภาคเอกชนสร้างสะพานเสร็จแล้ว 9 จุด รถปิกอัพและรถบรรทุกสามารถวิ่งได้ แต่หากปรับปรุงถนนเสร็จแล้ว แต่ฝั่งไทยยังไม่เปิดด่านถาวร ก็ยังไม่มีความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจเพราะถูกกีดกันผลผลิตของชาวพม่า

ทั้งนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ จ.ประจวบคีรีขันธ์ กับมะริด ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) เป็นบ้านพี่เมืองน้อง แต่ไทยยังกีดกันทางการค้าค่อนข้างสูง เช่น สินค้าของไทยเข้าพม่าได้โดยอิสระ อีกทั้งคนไทยยังได้รับอนุญาตให้พักในพม่าครั้งละ 14 วัน 13 คืน ขณะที่สินค้าพม่าไม่สามารถเข้าไทยได้ รวมทั้งคนพม่าก็เข้าไทยได้เพียงแค่ อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ และให้พักได้แค่ 3 วัน 2 คืนเท่านั้น

ขณะที่ นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสงคราม เปิดเผยว่า มะริดมีสินค้าทะเลจำนวนมาก แต่ไม่สามารถนำเข้าไทยได้เนื่องจากด่านสิงขร ยังเป็นเพียงแค่จุดผ่อนปรนชั่วคราว ทางกลุ่มหอการค้าจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับรัฐบาลแก้ไขปัญหาการค้าระหว่างชายแดนในจุดนี้ เพราะหากเปิดเป็นด่านถาวรจะสามารถเชื่อมโยงธุรกิจหลายด้าน

856-3

– จุดเด่น “มะริด” ทำประมงครบวงจร-ชัดเจน-รวดเร็ว

ปรีชา ศิริแสงอารำพี ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวกับ “สาครออนไลน์” ถึงการเดินทางไปเมืองมะริดร่วมกับคณะกรรมการหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 ว่า มะริดเปลี่ยนไปเยอะมาก อนาคตการประมงอาจจะแซงบ้านเรา เพราะคนของพม่ามีนายท้าย ไต๋เรืออินเดีย และแรงงานเป็นของเขาหมด ต่างจากบ้านเราที่แรงงานหมุนเวียนกันเข้าออก ไต๋เรือและนายท้ายก็หายาก การค้ามนุษย์ก็ไม่มี

ส่วนการออกเรือของที่นั่นมีความชัดเจน การออกเอกสาร โดยเฉพาะใบกํากับการซื้อขายสัตว์น้ำ หรือ MCPD รวดเร็ว ต่างจากประเทศไทยที่ 5 วันยังไม่แล้วเสร็จ พม่าใช้รูปแบบเดียวกับเราแต่เขาทำได้เร็ว องค์ประกอบครบกว่าบ้านเรา ขณะที่การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ นอกจากปูนิ่มแล้ว การเพาะเลี้ยงกุ้งก็มีมากขึ้น เริ่มจะเห็นนักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนที่นั่นเยอะขึ้น

“มะริดเริ่มเป็นเมืองที่คล้ายๆ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และสมุทรปราการ เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ของเขามีตั้ง 800 กว่าเกาะ และทรัพยากรยังอุดมสมบูรณ์ แม้เรื่องไฟฟ้ายังไม่สะดวก แต่อีก 2 ปีเขาจะเอาก๊าซมาปั่นไฟเอง ถนนหนทางเดิมที ด่านสิงขรเข้าไปประมาณ 180 กิโลเมตร เดินทางครั้งแรก 7 ชั่วโมงกว่า ครั้งที่สอง 5 ชั่วโมง ครั้งที่สาม 3 ชั่วโมงกว่า ถนนหนทางเริ่มดีขึ้น”

856-4

– เล็ง “มะริด” เชื่อมโยง “สมุทรสาคร-สมุทรสงคราม” ทางการค้า

เมื่อถามถึงลู่ทางการลงทุนสำหรับชาวไทย โดยเฉพาะวัตถุดิบอาหารทะเลที่จะนำมาป้อนในอุตสาหกรรม เฉกเช่นสมุทรสาคร ปรีชา กล่าวว่า ตอนนี้มีประเทศจีนเข้ามาตั้งโรงงาน 21 แห่ง ผลิตหมึกกล้วย ปั่นได ต้มเกลือ แล้วก็ตาก ส่งกลับไปยังประเทศจีน และจีนก็ส่งขายทั่วโลก คนไทยที่จะเข้าไปก็ต้องเข้าไปแข่งขันกัน

ที่ผ่านมา นายอู้ หล่ะ ตั้น ประธานหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมจังหวัดมะริด ได้มาดูงานที่ตลาดทะเลไทย และเราได้พบปะกับเขาสอง-สามครั้ง เที่ยวนี้ก็ได้มาเจอเขา ซึ่งเขาอยากให้เชื่อมโยงทางการค้าระหว่างประเทศ และระหว่างจังหวัดกับจังหวัด เช่น จังหวัดมะริด กับสมุทรสาครและสมุทรสงครามให้เชื่อมโยงกัน เขามีสินค้าแล้วอยากจะขนมาให้เรา

เขาอธิบายว่า จากเดิมวัตถุดิบจากพม่าจะต้องเข้ามาผ่านเกาะสองไปทาง จ.ระนอง มันเดินทางไกล แต่ตรงนี้สามารถออกไปได้เลย ไม่ต้องย้อนไปย้อนมา จากด่านสิงขรมาถึงสมุทรสาครใช้เวลาเพียงแค่ 8 ชั่วโมงเท่านั้น สินค้าก็จะสดขึ้น เมื่อถามว่าเมื่อมีวัตถุดิบป้อนเข้ามา อุตสาหกรรมประมงก็จะเดินหน้า จากเดิมที่บ้านเราติดปัญหาเรื่องประมง เขาตอบว่า ถูก

“ของเขาเอกสารครบ ทำมาหากินได้ง่าย ของเรามันไม่เปิดด่านถาวร แต่เขาพร้อมด่านถาวรแล้ว ประเทศไทยของเรายังไม่พร้อม เที่ยวนี้ก็ได้มาคุยกับรัฐบาล รัฐบาลก็กำลังดูเรื่องความมั่นคง คือ ใช้สิทธิ์ร่วมกัน ยังไม่ว่าเรื่องแบ่งปันเขตแดน ด่านถาวรเกิด มันก็จะทำให้เกิดหลายอย่าง สินค้าแทนที่จะอ้อมไปทางระนอง เกาะสอง แต่เจาะนี่เลย (ด่านสิงขร) ใกล้ด้วย ดีด้วย สะดวกด้วย ประหยัดด้วย”

856-5

– เสนอทางออก “ใช้พื้นที่ร่วมกัน” เปิดด่านถาวร แก้ปัญหาปักปันเขตแดน

เราถามถึงปัญหาด่านสิงขร ที่ยังเป็นเพียงแค่จุดผ่อนปรนพิเศษ เขากล่าวว่า “ทางเขา บอกว่าพร้อม เป็นด่านที่ถาวร แต่ก็มาเกี่ยงกันเรื่องจุดผ่านแดน ทีนี้มันต้องปันเขต เราไม่ต้องมานั่งปันหรอก เราใช้ร่วมกันเลย จบ ไม่ต้องมีข้อพิพาท อันนี้ก็ต้องฝากกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐบาลดูแลเรื่องความมั่นคง ถ้าเปิดประตูนี้ได้ถือว่าสุดยอด ทั้งเรื่องการท่องเที่ยว และประโยชน์ร่วมกัน เราก็ไม่ได้เอาเปรียบเขา เขาก็ไม่ได้เอาเปรียบเรา แต่อยู่ที่ชั้นเชิงการค้าของใครมีตลาดมากกว่า”

เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า ทางพม่าเราจะสามารถผลิตสินค้าเข้าอินเดียได้ เพราะพม่าติดกับอินเดีย มูลค่าการลงทุนกว่า 1 พันล้านบาท สินค้าของไทยทั้งอุปโภคบริโภคเข้าอินเดียได้หมด วัสดุครัวเรือน หลายสิ่งหลายอย่าง โดยเห็นว่าถ้ารัฐบาลชุดนี้สามารถทำงานได้เร็ว วันนี้พรุ่งนี้บอกเปิดด่านผ่อนปรนก็ทำได้ ติดขัดเรื่องแบ่งปันเขตแดนแค่นั้นเอง

“ต่อไปทั้งประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ก็จะเกิดความเจริญรุ่งเรืองมากมายมหาศาล สมุทรสาครน่าจะเป็นหน้าด่านที่จะเปิดประตูสู่อาเซียน จากมะริดเข้าภาคใต้ จากภาคใต้เข้ามะริด จากภาคใต้เข้ากรุงเทพฯ จากมาเลเซีย ก็จะโยงกันเยอะแยะไปหมด”

ส่วนปัญหาเรื่องชนกลุ่มน้อย ปรีชา อธิบายว่า ตอนนี้หันมาทำการค้ากันหมด มีธุรกิจและประมง และความชัดเจนคิดว่ารัฐบาลใหม่ที่มาจากฝ่ายของนางอองซาน ซูจี เป็นรัฐมนตรี 4 กระทรวง แต่ก็ดูด้านต่างประเทศ ดีสำหรับประเทศไทย เขาเห็นว่าพม่ากับไทยเป็นประเทศที่คล้ายคลึงกัน มีความกลมเกลียวและในอนาคตจะผนึกกำลังกัน ได้กับได้ด้วยกัน

856-6

– ฝากรัฐบาลกระชับสัมพันธ์พม่า เจาะตลาดสินค้าไทย

เมื่อถามถึงความได้เปรียบของมะริด เมื่อเปิดด่านสิงขร ปรีชา กล่าวว่า จากมะริดเข้าถึงย่างกุ้ง เข้าถึงทวาย เข้าถึงทั้งประเทศ เกิดความสะดวก จากเดิมไทยต้องออกไปทางเหนือซึ่งอยู่ไกล แต่เข้ามาทางด่านสิงขรนั้นนิดเดียว เป็นจุดที่ทะลุทลวงง่ายที่สุด ไปถึงอินเดียได้

“ถ้าไทยสามารถเปิดด่านถาวรที่ด่านสิงขร ก็ได้ทั้งสองประเทศ เราต้องชิงตลาด เพราะพม่าชอบสินค้าไทย เราก็ต้องไปผลิตเครื่องใช้ของประเทศไทยเข้าไปให้มากที่สุด ทุกอย่าง พวกถังพลาสติก กาละมัง เครื่องใช้ในครัวเรือน วัสดุก่อสร้าง”

ทิ้งท้าย ปรีชาแสดงความเชื่อมั่นถึงรัฐบาลชุดนี้ ที่สามารถทำงานได้รวดเร็ว และฝากให้พิจารณาเปิดด่านสิงขรเป็นจุดผ่านแดนถาวร เพื่อเปิดประตูให้ไทยสามารถเข้าไปลงทุนและเชื่อมโยงการค้าระหว่างประเทศให้มากขึ้น

“ที่ผ่านมาพม่ามองว่าไทยเอาเปรียบเขา รัฐบาลชุดนี้อาจจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเขา รัฐบาลชุดนี้กับรัฐบาลพม่าจะต้องเป็นพี่น้องกันให้แน่นขึ้น และฝากให้รัฐบาลกระชับสัมพันธไมตรีกับพม่า เพราะพม่ารักคนไทย มาช่วยพัฒนาประเทศไทย แล้วเราไปช่วยพัฒนาประเทศเขา ทรัพยากรด้วยกัน ไม่มีอะไรที่จะมาเอาเปรียบกัน คุยกัน ทำการค้าร่วมกัน มีการพูดค่อกันที่ดี ประชาชนทั้งสองประเทศแฮปปี้”

856-7



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง