“พระราม 2-เศรษฐกิจ1” จุดเสี่ยงนักเรียนตีกัน

621-1

เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ประชุมร่วมกับ 21 วิทยาลัยกลุ่มเสี่ยงในสังกัด สอศ. พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้แก่ นครปฐม ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ อยุธยา และสมุทรสาคร เพื่อหามาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทในหมู่นักเรียนสายอาชีพ

โดย สอศ. ได้ออก 7 มาตรการพิเศษ เพื่อควบคุมและป้องปราม ไม่ให้นักเรียนกลุ่มเสี่ยงก่อเหตุซ้ำซาก ได้แก่ มาตรการดูแลความปลอดภัยในการเดินทางไปกลับของนักเรียน 21 วิทยาลัยในสังกัด สอศ.

โดยจะให้วิทยาลัยประสานกับตำรวจ ส่ง เจ้าหน้าที่ไปประจำ 12 ถนนสายหลัก 2 ช่วงเวลา คือ 07.00-09.00 น. และ 15.00-18.00 น. บนถนนสายหลัก 12 เส้นทาง ได้แก่

เส้นทางที่ 1 ถนนสุวินทวงศ์ ตั้งแต่มีนบุรีถึงหนองจอก ซึ่งมีวิทยาลัยตั้งอยู่ 3 แห่ง

เส้นทางที่ 2 ถนนเพชรเกษม ตั้งแต่แยกนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ถึงตัวเมืองนครปฐม

เส้นทางที่ 3 พระนครศรีอยุธยา เริ่มตั้งแต่แยกบริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา เขตเกาะเมือง ถึงวังน้อย ตามเส้นทางนิคมอุตสาหกรรมโรจนะซึ่งเกิดเหตุบ่อย

เส้นทางที่ 4 ถนนบางนา-ตราด ตั้งแต่กิโลเมตร 21-25

เส้นทางที่ 5 ตั้งแต่วิทยาลัยเทคนิคราชสิทธาราม ถึงถนนเอกชัย บางบอน

เส้นทางที่ 6 ถนนพระรามที่ 2 ถึงมหาชัยเมืองใหม่

เส้นทางที่ 7 ถนนพหลโยธิน ตั้งแต่ห้าแยกลาดพร้าว ถึงถนนวิภาวดีรังสิต

เส้นทางที่ 8 ถนนวิภาวดีรังสิต ตั้งแต่ห้าแยกลาดพร้าว ถึงรังสิต

เส้นทางที่ 9 ถนนติวานนท์ ตั้งแต่แยกแคราย ถึงตลาดพูนทรัพย์

เส้นทางที่ 10 ถนนรังสิต-องครักษ์ ตั้งแต่แยกรังสิตถึงองครักษ์

เส้นทางที่ 11 ถนนเศรษฐกิจ จังหวัดสมุทรสาคร ตั้งแต่แยกกระทุ่มแบน ถึงอ้อมน้อย

และ เส้นทางที่ 12 ถนนพิบูลย์สงคราม ตั้งแต่แยกบางโพ ถึงท่าน้ำนนท์ จังหวัดนนทบุรี

621-2

มาตรการต่อมา สั่งการให้วิทยาลัยทั้ง 21 แห่ง ติดตั้งกล้องความเร็วสูงรอบบริเวณวิทยาลัยเพื่อใช้เป็นหลักฐานมัดตัวผู้ก่อเหตุ ต่อด้วยห้ามไม่ให้นักศึกษาของ 21 วิทยาลัยออกนอกสถานศึกษาในเวลาเรียนเด็ดขาด

อีกมาตรการหนึ่ง คือการปรับเปลี่ยนการจัดการเรียนการสอน หลังพบว่ามีเวลาว่างระหว่างวันมากเกินไปสาเหตุเพราะไม่มีห้องปฏิบัติการและครูไม่เพียงพอ

ตามมาด้วย บังคับใช้กฎหมายและระเบียบอย่างจริงจัง, ตรวจสอบประวัติก่อนรับเข้าเรียนว่าเกี่ยวข้อง กับการทะเลาะวิวาท และยาเสพติดหรือไม่ และระดมทุกภาคส่วนมาช่วยแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

ซึ่งที่ผ่านมา หากพื้นที่ใดมีทหารเข้าไปจัดการปัญหา การก่อเหตุในพื้นที่นั้นจะลดลงอย่างมาก

นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า สอศ. จะให้วิทยาลัยที่อยู่ใกล้กันนำเด็กนักเรียนสาขาเดียวกันมาเรียนรวมกัน ให้เด็กที่เคยอยู่ต่างวิทยาลัยและเป็นคู่อริกันมาเรียนด้วยกัน จะได้เลิกทะเลาะกัน

โดยในปีการศึกษา 2558 สอศ. จะเข้าไปดูแผนการรับนักเรียนของทั้ง 21 วิทยาลัยอย่างใกล้ชิด หากตั้งอยู่ในจังหวัดเดียวกันหรือพื้นที่ใกล้เคียงกัน จะไม่ให้เปิดสอนในสาขาเดียวกัน

ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวจะให้ทั้ง 21 วิทยาลัยเป็นสถานศึกษากลุ่มพิเศษ จำกัดจำนวนนักเรียน และจะดูแลคุณภาพการเรียนการสอนเพื่อยกระดับวิทยาลัย

อย่างไรก็ตาม สถิติการก่อเหตุวิวาทในปีการศึกษา 2557 ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับปีการศึกษา 2556 ความรุนแรงของเหตุการณ์ก็ลดลง แต่ที่ สอศ.ต้องออกมาตรการแรง เพราะปัญหาดังกล่าวเกิดมาซ้ำซากเป็น 10 ปี อีกทั้ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีนโยบายให้ดูแลปัญหานี้อย่างจริงจัง

โดย พล.ท.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รองเสนาธิการทหารบกและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศึกษาธิการ) ได้โทรศัพท์มาสอบถามกรณีนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ และวิทยาลัยการอาชีพสมุทรปราการ ก่อเหตุวิวาท

ขณะที่ผู้ปกครองและวิทยาลัยก็กังวลใจเกี่ยวกับความปลอดภัยของนักศึกษา สอศ. จึงตัดสินใจเรียก 21 วิทยาลัยมาประชุมด่วนเพื่อทบทวนมากตรการแก้ปัญหาทะเลาะวิวาทที่ใช้ออยู่จนนำมาสู่การออกมาตรการคุมเข้มดังกล่าว

สำหรับ 21 วิทยาลัยกลุ่มเสี่ยง ประกอบด้วย วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี วิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกมหานคร วิทยาลัยเทคนิคปทุมธานี วิทยาลัยการอาชีพกาญจนาภิเษกหนอกจอก วิทยาลัยการอาชีพนวมินทราชินูทิศ วิทยาลัยเทคนิคดุสิต

วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกสมุทรปราการ วิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ วิทยาลัยสารพัดช่างสมุทรปราการ วิทยาลัยเทคนิคราชสิทธาราม วิทยาลัยสารพัดช่างนครหลวง วิทยาลัยการอาชีพพระสมุทรเจดีย์ วิทยาลัยเทคนิคนครปฐม

วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมต่อเรือพระนครศรีอยุธยา วิทยาลัยเทคนิคจุฬาภรณ์ (ลาดขวาง) วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสาคร วิทยาลัยเทคนิคนนทบุรี และวิทยาลัยธัญบุรี

ปัญหานักเรียนสายอาชีวะศึกษาทะเลาะกันในช่วงเปิดเทอม ยังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง โดยมีทั้งสถาบันที่อยู่ในสังกัดของ สอศ. และสถาบันเอกชน นอกสังกัด สอศ.

แม้หลายหน่วยงานทั้งด้านการศึกษามีมาตรการแก้ไขปัญหา และหน่วยงานอย่างตำรวจจะวางมาตรการอย่างเข้มข้น แต่ก็ยังไม่อาจที่จะสกัดกั้นความอยากรู้อยากลอง ความคึกคะนอง และความท้าทายของวัยรุ่นได้

ส่งผลให้ยังคงมีเหตุทะเลาะวิวาทระหว่างคู่อริต่างสถาบันอยู่บ้าง ไม่เว้นแม้แต่ในช่วงที่ทหารซึ่งเป็นฝ่ายความมั่นคงประกาศใช้กฎอัยการศึก ก็ยังลงมือก่อเหตุอย่างไม่เกรางกลัวกฎหมาย เพื่อเอาชนะคะคานกัน

หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าควบคุมอำนาจการปกครอง และประกาศใช้กฎอัยการศึก พบว่ามีเหตุนักเรียนทะเลาะวิวาทมากนับสิบคดี ส่วนมากเหตุจูงใจมาจากการถูกท้าทายกัน หรือไม่ก็เพราะโกธรแค้นกัน

อีกด้านหนึ่ง นักเรียน “รุ่นพี่” ที่ถูกไล่ออกไปแล้ว มาชักชวนนักศึกษาในสถาบันออกไปก่อเหตุ และในยุคที่สมาร์ทโฟนราคาถูก ก็หันมาใช้โปรแกรมสนทนาอย่างไลน์กลุ่มเรียกกันมาก่อเหตุ รวมทั้งใช้เฟซบุ๊กโพสต์ข้อความท้าทายกันอีกด้วย

เหตุที่เกิดขึ้นนอกจากจะทำให้นักเรียนแต่ละฝ่ายเลือดตกยางออก บาดเจ็บ เสียชีวิตแล้ว ประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ โดยไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ก็กลับถูกลูกหลงได้รับผลกระทบ ถึงขั้นพิการหรือเสียชีวิต

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัยที่เป็นหัวหน้า คสช. เปิดเผยผ่านรายการคืนความสุขให้คนในชาติ เมื่อวันที่18 ก.ค. ที่ผ่านมา ว่า ขอเตือนเด็กแว้นและกลุ่มนักเรียนที่ตีกันให้รีบปรับปรุงตัวโดยเร็ว เพราะถือเป็นผู้บ่อนทำลายประเทศชาติอย่างร้ายแรง

โดยในเร็วๆ นี้จะเรียกรุ่นพี่ที่คอยแนะนำรุ่นน้องในทางผิดมาทำความเข้าใจ ส่วนผู้ที่ก่อเหตุจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดและจะต้องถูกดำเนินคดีโดยไม่ละเว้น

“ท่านอยากจะเป็นบุคคลที่ถูกสังคมรังเกียจไปอีกหรืออย่างไร ให้รีบปรับปรุงโดยเร็ว ไปหางานหาการทำ ไปประกอบสัมมาอาชีพเหมือนคนอื่นๆหรือศึกษาเล่าเรียนให้สำเร็จอย่าให้มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ปัญหานักเรียนตีกัน คงเป็นอีกหนึ่งปัญหาในสังคมที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องจัดการสะสางอย่างแท้จริงกันต่อไป.

000

“รถเมล์ร้อน-สองแถว” สายนี้มีเสี่ยง

การทะเลาะวิวาทในหมู่นักเรียนสายอาชีพ ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นบนรถประจำทาง โดยเฉพาะรถประจำทางธรรมดา หรือรถเมล์ร้อน เนื่องจากผู้ใช้บริการทุกเพศทุกวัย ค่าโดยสารถูก อีกทั้งมีหน้าต่างที่สามารถส่งเสียงหรือชูไม้ชูมือไปยังด้านนอกได้

“สาครออนไลน์” สังเกตถนนสายหลักใน จ.สมุทรสาครที่เป็นจุดเสี่ยง พบว่ามีสายรถเมล์ที่มักจะเจอกับนักเรียนต่างสถาบัน เสี่ยงต่อการปะทะ ได้แก่ สาย 105 มหาชัยเมืองใหม่-คลองสาน กับสาย 68 แสมดำ-บางลำภู ที่ใช้เส้นทางถนนพระราม 2

สาย 120 สมุทรสาคร-คลองสาน, สาย 43 ศึกษานารี-เทเวศร์ และรถสองแถวสายสมุทรสาคร-ปิ่นทอง ที่ใช้เส้นทางถนนเอกชัย ซึ่งระหว่างทางจะผ่านวิทยาลัยเทคนิคราชสิทธาราม หนึ่งในสถานศึกษาที่เป็นกลุ่มเสี่ยง

สาย 402 นครปฐม-สมุทรสาคร ซึ่งเป็นรถประจำทางสายยาว มีทั้งนักเรียนวิทยาลัยเทคนิคสมุทรสาครที่เดินทางไป-กลับ และสถาบันเอกชน นอกสังกัด สอศ. แถบถนนเพชรเกษมในเขตหนองแขม เขตบางแค อ.สามพราน และ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม

โดยจุดต่อรถที่สำคัญจะอยู่บริเวณแยกอ้อมน้อย หน้าตลาดเก้าแสน ซึ่งละแวกดังกล่าวก็เคยมีปัญหานักเรียนตีกันระหว่างสถาบันมาแล้ว

621-3



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง