‘กองทุนคนพิการ’ อุตสาหกรรมอ่วม

หลังจากที่ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 ต.ค. 2554 ที่ผ่านมา โดยบังคับให้เอกชน รวมหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรอิสระ ต้องรับคนพิการเข้าทำงานในอัตรา 100 คน ต่อคนพิการ 1 คน แลกกับการที่สถานประกอบการต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ทำให้ผู้ประกอบการในจังหวัดสมุทรสาครต่างประสบปัญหาไม่สามารถจ้างคนพิการได้ตามจำนวนที่กำหนด เนื่องจากคนพิการในจังหวัดสมุทรสาครที่สามารถปฏิบัติงานได้มีไม่เพียงพอกับความต้องการของสถานประกอบการ ทำให้ในแต่ละปีสถานประกอบการต้องนำเงินส่งเข้ากองทุนฯ จำนวนมาก

คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัดสมุทรสาคร (กรอ.สค.) ในการประชุมครั้งที่ 4/2555 เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2555 ได้มีมติให้สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสมุทรสาคร ดำเนินการหารือกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในเรื่องปัญหาการจ้างงานคนพิการตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ในประเด็นเรื่องนิยามของคนพิการซึ่งเป็นข้อจำกัดในการจดทะเบียนคนพิการเพื่อจ้างงาน และการผ่อนปรนการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (พก.) ได้มีหนังสือแจ้งว่าตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ได้กำหนดนิยาม “คนพิการ” ไว้ว่า หมายถึง บุคคลซึ่งมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคม เนื่องจากมีความบกพร่องทางการเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว การสื่อสาร จิตใจ อารมณ์ พฤติกรรม สติปัญญา กรเรียนรู้ หรือความบกพร่องอื่นใด ประกอบกับมีอุปสรรคในด้านต่างๆ และมีความจำเป็นเป็นพิเศษที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือด้านหนึ่งด้านใด เพื่อให้สามารถปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวัน หรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคมได้อย่างบุคคลทั่วไป

ทั้งนี้ เป็นการกำหนดโดยกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ และตามข้อ 6 ของประกาศกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เรื่อง ประเภทและหลักเกณฑ์ความพิการได้กำหนดหลักเกณฑ์ความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย ได้แก่ 1. ความพิการทางการเคลื่อนไหว หมายถึง การที่บุคคลมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวัน หรือเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งมีผลมาจากการมีความบกพร่องหรือการสูญเสียความสามารถของอวัยวะในการเคลื่อนไหว ได้แก่ มือ เท้า แขน ขา อาจมาจากสาเหตุอัมพาต แขนขาอ่อนแรง แขนขาขาด หรือภาวะเจ็บป่วยเรื้อรังจนมีผลกระทบต่อการทำงานมือ เท้า แขน ขา

2. ความพิการทางร่างกาย หมายถึง การที่บุคคลมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวัน หรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากการมีความบกพร่องหรือความผิดปกติของศีรษะ ใบหน้า ลำตัว และภาพลักษณ์ภายนอกของร่างกายที่เห็นได้อย่างชัดเจน ดังนั้น กรณีลูกจ้างที่มีนิ้วขาดบางนิ้ว หากไม่ใช่นิ้วที่มีความสำคัญจนเป็นข้อจำกัดต่อการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทงสังคม ก็ไม่ถือว่าเป็นคนพิการตามกฎหมายและไม่สามารถจดทะเบียนคนพิการได้

ส่วนกรณีปัญหาการไม่สามารถหาคนพิการเข้าทำงานเป็นลูกจ้างของสถานประกอบการได้ เนื่องจากในพิ้นที่จังหวัดสมุทรสาครมีคนพิการที่สามารถทำงานได้จำนวนน้อยนั้น สถานประกอบการอาจใช้มาตรการจัดสัมปทาน จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงาน ฝึกงาน หรือให้การช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ ตามมาตรา 35 แทนการจ้างงานคนพิการตามมาตรา 33 ก็ได้ ซึ่งไม่ต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแต่อย่างใด

ก่อนหน้านี้ นายอภิชิต ประสพรัตน์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร ได้เสนอปัญหาการจ้างงานคนพิการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนคุณภาพชีวิตคนพิการ ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เมื่อเดือน เม.ย. 2555 ระบุว่า สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาครได้รับข้อร้องเรียนจากสมาชิกมาโดยตลอดว่า ไม่สามารถจ้างคนพิการเข้าทำงานในสถานประกอบการ เนื่องจากไม่มีผู้มาสมัครเข้าทำงาน และได้ทำการสอบถามข้อมูลคนพิการในจังหวัดสมุทรสาคร จากสำนักงานพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) แล้ว รับทราบว่าปัจจุบันคนพิการในจังหวัดสมุทรสาคร มีประมาณ 6,000 คน ซึ่งร้อยละ 80 เป็นคนพิการที่นอนป่วยติดเตียง ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ ส่วนคนพิการที่มีงานทำแล้ว และ คนกลุ่มที่ไม่สามารถตอบได้ว่าจะทำงานหรือไม่ และไม่มีการยื่นความประสงค์จะทำงานแต่อย่างใด พบว่ามีอย่างละร้อยละ 10 ตามลำดับเท่ากัน

ทั้งนี้ อ้างอิงจากตัวเลขผู้ประกันตนของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสมุทรสาคร มีประมาณ 350,000 คน ความต้องการคนพิการเข้ามาทำงานในจังหวัดมีสูงประมาณ 3,500 คน จากข้อมูลคนพิการในจังหวัด ทำให้ผู้ประกอบการยังมีความต้องการจ้างคนพิการเข้าทำงานอีกอย่างน้อย 2,300 คน ซึ่งหากไม่สามารถจ้างได้ ผู้ประกอบการจะต้องนำส่งเงินสมทบตามมาตรา 34 ประมาณ 141 ล้านบาท ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก และทำให้เสียบรรยากาศการลงทุน การกระตุ้นเศรษฐกิจได้รับการกระทบกระเทือน

ซึ่งตามอัตราส่วนของคนพิการต่อความต้องการมีน้อยมาก ไม่เพียงพอต่อความต้องการของสถานประกอบการในปัจจุบัน จึงมีข้อเสนอแนะ 3 ประการ ได้แก่ ขอให้แก้นิยามเรื่องคุณสมบัติคนพิการ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดหาคนพิการให้แก่สถานประกอบการ และขอให้มีการผ่อนปรน การส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพราะในปัจจุบันมีคนพิการที่รับจ้างทำงานน้อย และภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่สามารถจัดหาคนพิการมาให้สถานประกอบการจ้างงานได้ตามความต้องการ ไม่เป็นไปตามที่บัญญัติกำหนด

แม้ข้อเรียกร้องจากผู้ประกอบการในจังหวัดสมุทรสาคร ทางจังหวัดจะให้สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสมุทรสาครทำหนังสือรายงานไปยังกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการประชุมคณะกรรมการ กรอ. จังหวัดสมุทรสาคร ครั้งที่ 5/2555 เมื่อวันที่ 27 ส.ค.2555 ที่ผ่านมา เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือแก่สถานประกอบการ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปออกมาอย่างชัดเจน แน่นอนว่าจากสารพันปัญหาทั้งมาตรการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ซึ่งจังหวัดสมุทรสาครเป็น 1 ใน 7 จังหวัดนำร่อง ตามนโยบายประชานิยมของรัฐบาล และการนำส่งเงินกองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร ที่บังคับใช้สำหรับสถานประกอบการที่มีแรงงานต่างด้าว ซึ่งจังหวัดสมุทรสาครมีแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่ามากที่สุดในประเทศไทย

ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังสามวันดีสี่วันไข้ และวิกฤตมหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 ที่ภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรสาครส่วนหนึ่งยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ เพราะต้องกู้หนี้ยืมสินมาใช้ในการฟื้นฟูกิจการที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม แม้รัฐบาลชุดนี้จะลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% ในปีภาษี 2555 และจะลดเหลือ 20% ในปี 2556 รวมทั้งในปีนี้สำนักงานประกันสังคมจะออกมาตรการลดอัตราเงินสมทบก็ตาม แต่ในเมื่อภาระดังกล่าวข้างต้น ที่ผู้ประกอบการยังต้องแบกรับ โดยไม่มีใครยื่นมือเข้ามาช่วย

หากเป็นเช่นนั้นก็น่าเป็นห่วงว่า ในที่สุดผู้ประกอบการในจังหวัดสมุทรสาครอาจอยู่ไม่ได้ ความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมอาจต้องถดถอย แบบไม่ต้องคาดหวังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปี 2558 เพราะสารพันปัญหาและภาระรุมเร้าจนยากที่จะแข่งขันได้



8 ความคิดเห็น เรื่อง “‘กองทุนคนพิการ’ อุตสาหกรรมอ่วม”

  1. น.ส.ขวัญใจ อินยะบุตร กล่าวว่า:

    ก.พ. 11, 13 at 5:15 am

    อยากร้องสมัครงานทำงานบริษัทอื่นๆโทรsmsข้อคาวมเบอร์0907940218

  2. น.ส.ขวัญใจ อินยะบุตร กล่าวว่า:

    ก.พ. 11, 13 at 5:17 am

    ตอนนี้บ้านเฉยฯทำงานบริษัทเร็วๆด่วนๆ

  3. นาย เอกนรินทร์ กล่าวว่า:

    พ.ค. 21, 13 at 3:17 am

    เป็นคนพิเศษอยากหางานทำบริษัทไหนสนใจ 0846753318

  4. นางสาวธัญญาภรณ์ กลัดแสง กล่าวว่า:

    ก.ย. 04, 13 at 2:31 pm

    อยากได้งานทำบริษัทค่ะ

  5. นางสาวโสุภิดา สุขแก้ว กล่าวว่า:

    ก.ย. 04, 13 at 2:34 pm

    อยากได้งานบริษัทเพราะหาเก็บเงินนะ เอาเงินใช้เรียนค่ะ

  6. นิรนาม กล่าวว่า:

    มี.ค. 08, 14 at 5:45 am

    บริษัทส่วนมากมีแต่เอกสารผู้พิการจริงเพื่อเอาเข้าประกันสังคมและยื่นให้หน่วยงานราชการเพื่อเป็นการยื่นยันว่ารับผู้พิการเข้างานแล้ว แต่ความจริงแล้วมีแต่เอกสารผู้พิการอย่างเดียวไม่มีผู้พิการจริงๆเข้ามาทำงานเลย ไม่ทราบว่าหน่วยงานราชเขาไม่รู้เรื่องนี้เลยหรือคับ เป็นเพราะอย่างนี้ผู้ที่พิการที่เข้าต้องการทำงานจริงๆถึงไม่มีโอกาศได้เข้าทำงานกัน

  7. ไต่รต้าว อยู่เย็น กล่าวว่า:

    มี.ค. 08, 14 at 5:50 am

    บริษัทส่วนมากมีแต่เอกสารผู้พิการจริงเพื่อเอาเข้าประกันสังคมและยื่นให้หน่วยงานราชการเพื่อเป็นการยื่นยันว่ารับผู้พิการเข้างานแล้ว แต่ความจริงแล้วมีแต่เอกสารผู้พิการอย่างเดียวไม่มีผู้พิการจริงๆเข้ามาทำงานเลย ไม่ทราบว่าหน่วยงานราชเขาไม่รู้เรื่องนี้เลยหรือคับ เป็นเพราะอย่างนี้ผู้ที่พิการที่เข้าต้องการทำงานจริงๆถึงไม่มีโอกาศได้เข้าทำงานกัน

  8. วิเชียร กล่าวว่า:

    ก.ย. 16, 14 at 1:09 pm

    โกหกทั้งนั้น ไม่อยากรับคนพิการมากกว่า


แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง