รถไฟฟ้ามาหา’อ้อมน้อย’

645-1

แม้โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ กำลังดำเนินการก่อสร้าง และคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2560 นั้น ก็เริ่มมีความเคลื่อนไหวในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางแค-พุทธมณฑล สาย 4 ออกมาแล้ว

โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ประกาศเชิญชวนบริษัทที่ปรึกษายื่นข้อเสนอเป็นที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสม ออกแบบรายละเอียดและจัดทำเอกสารประกวดราคา ซึ่งคาดว่าจะมีการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นประชาชนในปี 2558

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางแค-พุทธมณฑล สาย 4 เริ่มตั้งแต่โครงสร้างยกระดับเดิม บริเวณสถานีหลักสอง มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก สิ้นสุดโครงการที่ทางแยกต่างระดับสาครเกษม ถนนพุทธมณฑลสาย 4 และถนนพุทธสาคร รวมระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร

โดยโครงสร้างเป็นโครงสร้างยกระดับตามแนวเกาะกลางถนนเพชรเกษม ต่อเนื่องจากเส้นทางช่วงแรกที่ทางแยกต่างระดับบางแค มีสถานีรถไฟฟ้าเบื้องต้น 4 สถานี ได้แก่ สถานีพุทธมณฑล สาย 2, สถานีทวีวัฒนา, สถานีพุทธมณฑล สาย 3 และสถานีพุทธมณฑล สาย 4

ผู้บริหาร รฟม. เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 จัดอยู่ในส่วนของแผนแม่บทเร่งด่วนช่วงระยะ 20 ปี (ปี 2572) ซึ่งสมัยรัฐบาลสมัยนายสมัคร สุนทรเวช ได้เคยอนุมัติให้มีการศึกษาความเหมาะสมเอาไว้เรียบร้อยแล้ว

645-2

ประกาศการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เชิญชวนบริษัทที่ปรึกษายื่นข้อเสนอเป็นที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสม ออกแบบรายละเอียดและจัดทำเอกสารประกวดราคา โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางแค – พุทธมณฑล สาย 4 ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ธุรกิจฉบับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน อาจมีแต่ละชุมชนที่เส้นทางรถไฟฟ้าพาดผ่าน เสนอให้จัดตั้งสถานีรถไฟฟ้าขึ้นมาเพิ่มเติมก็ได้ โดยเฉพาะในย่านชุมชนที่สำคัญ เช่น ย่านหมู่บ้านเศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ ปากซอยเพชรเกษม 81 เป็นต้น

เพราะเมื่อวัดระยะห่างจะเห็นว่า ช่วงแยกถนนพุทธมณฑล สาย 2 ถึงสะพานข้ามคลองทวีวัฒนา จะมีระยะห่างกัน 2.5 กิโลเมตร, จากสะพานข้ามคลองทวีวัฒนา ถึงถนนพุทธมณฑล สาย 3 ห่างกัน 1 กิโลเมตร และจากถนนพุทธมณฑล สาย 3 ถึงแยกสาครเกษม ห่างกัน 3.5 กิโลเมตร

ถึงกระนั้น หาก รฟม. เห็นว่าการตั้งสถานีรถไฟฟ้าเหลือเพียงแค่ 4 สถานีจะทำให้ลดเวลาการก่อสร้างเร็วขึ้น ก็ถือเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ เพราะปัจจุบันถนนเพชรเกษมมีรถประจำทางประมาณ 15 สายที่รองรับสถานีรถไฟฟ้าตามรายทางอยู่แล้ว

หากคำนวณโรดแมป จะเห็นว่า ก่อนจะเป็นรถไฟฟ้าสายหนึ่งขึ้นมาไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเริ่มจากการศึกษาความเหมาะสม ซึ่งจะมีการรับฟังความคิดเห็น ออกแบบรายละเอียด จัดทำเอกสารประกวดราคา ซึ่งใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือนถึง 1 ปี

เมื่อมีการเซ็นสัญญาก่อสร้างแล้ว ก็จะเริ่มต้นงานโยธา ซึ่งเป็นทางยกระดับ เมื่อพิจารณาจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงท่าพระ-หลักสอง ประกอบด้วยสถานียกระดับ 7 สถานี และอาคารจอดรถ 2 อาคาร พบว่ามีระยะเวลาตามสัญญาการก่อสร้าง 1,640 วัน หรือประมาณ 4 ปี 3 เดือน

แต่สำหรับการก่อสร้างทางยกระดับ และสถานีรถไฟฟ้าเพียง 4 สถานีนั้น คาดว่าอาจใช้เวลาไม่ถึง 4 ปี ซึ่งต่อจากนั้นจะเป็นงานออกแบบระบบราง จัดซื้อ ทดสอบและประกอบราง ก่อนที่จะทดสอบระบบการเดินรถ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ปี ก่อนเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ

645-3

โดยสรุปแล้ว หากได้รับงบประมาณในการก่อสร้าง และเซ็นสัญญาผู้รับเหมา ก็เตรียมนับถอยหลังได้เลย ไม่เกิน 5 ปี คนหนองแขม อ้อมน้อย พุทธมณฑลสาย 4 กระทุ่มแบน และสมุทรสาคร จะได้ใช้บริการรถไฟฟ้าแน่นอน

หากการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะถือเป็นรถไฟฟ้าสายแรกที่เข้ามายังพื้นที่ชายขอบของจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งพื้นที่อ้อมน้อยจัดได้ว่าเป็นแหล่งชุมชนอุตสาหกรรม และมีโครงการอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบทาวน์โฮม และบ้านเดี่ยว เข้ามาลงทุนในพื้นที่ถนนสายหลักจำนวนมาก

นอกจากนี้ ยังมีโครงการคอนโดมิเนียมและคอมมูนิตี้มอลล์เข้ามาในพื้นที่ โดยเมื่อเดือนมีนาคม 2557 บริษัท เจ.เอส.พี. พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) เจ้าของโครงการสำเพ็ง 2 ได้ลงทุน “ทิวลิป สแควร์ อ้อมน้อย” คอนโดมิเนียมโลว์ไรส์ พร้อมคอมมูนิตี้มอลล์ มูลค่า 1,800 ล้านบาท

คาดว่าเมื่อ รฟม. เริ่มลงทุนตอกเสาเข็มเมื่อไหร่ โครงการอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่อ้อมน้อยจะเริ่มลั่นกลองรบอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะทำเลถนนพุทธสาคร ที่ยังมีที่ดินเปล่าหลงเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก แต่คาดว่านายทุนได้มีการกว้านซื้อและครอบครองที่ดินไว้อยู่แล้ว

แม้ดูเหมือนว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางแค-พุทธมณฑล สาย 4 จะเริ่มมีความหวังขึ้นมาบ้าง แต่ รฟม. ยังมีโครงการรถไฟฟ้าที่รับผิดชอบอีก 5 เส้นทางที่จ่อคิวพัฒนาต่อไป นอกเหนือจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่กำลังก่อสร้าง

ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต คาดว่าได้ผู้รับเหมาในปลายปี 2557 ตามมาด้วยรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี, สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-บางกะปิ-สำโรง และสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี จะเริ่มก่อสร้างในปี 2559

แม้ความหวังที่คนสมุทรสาครจะได้เห็นรถไฟฟ้าจากกรุงเทพฯ เข้ามาในพื้นที่อ้อมน้อยนั้นยังดูห่างไกลก็ตาม แต่โครงการของ รฟม. นั้น ยังดำเนินไปอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่ถึงขณะนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง หัวลำโพง-มหาชัย ยังคงไร้อนาคต

อย่างน้อยๆ รฟม. ก็ได้จุดประกายความหวังที่คนสมุทรสาคร โดยเฉพาะชาว อ.กระทุ่มแบน และเทศบาลตำบลอ้อมน้อย จะได้ใช้ระบบขนส่งมวลชนอย่างดี ที่ให้บริการอย่างเป็นระบบ ตอบสนองวิถีชีวิตของคนปริมณฑลชายขอบเพิ่มมากขึ้น

– แยกสาครเกษม อนาคตสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน –

645-4

แยกสาครเกษม เป็นทางแยกต่างระดับเชื่อมต่อระหว่างถนนพุทธสาคร กับถนนพุทธมณฑลสาย 4 โดยมีสะพานข้ามถนนเพรเกษม ซึ่งก่อสร้างโดยกรมทางหลวงชนบท เมื่อปี 2549 เดิมบริเวณดังกล่าวเป็นทางแยกที่มีสัญญาณไฟ แต่ภายหลังได้พัฒนาสะพานข้ามแยกก่อนยกเลิกสัญญาณไฟ

จากจุดดังกล่าวมีรถประจำทาง 5 เส้นทางมุ่งหน้าไปทางถนนพุทธมณฑล สาย 4 ประกอบด้วย สาย 84ก, 163, 170, 539, 547 และรถสองแถวไปศาลายา ส่วนเส้นทางมุ่งหน้าไปทางถนนพุทธสาคร จะมีสาย 189 ไปกระทุ่มแบน ส่วนรถสองแถวสมุทรสาคร – สาย 4 มีให้บริการบางเวลา

จากถนนเพชรเกษม หากเดินทางต่อด้วยรถแท็กซี่ วัดจากป้ายรถประจำทางหมู่บ้านศรีเพชร ซึ่งเป็นป้ายสุดท้ายก่อนถึงแยกสาครเกษม ไปยังตัวเมืองสมุทรสาคร ตามถนนพุทธสาคร และถนนเศรษฐกิจ 1 พบว่ามีระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร ค่าโดยสารจะอยู่ที่ประมาณ 135-140 บาท

จากการสังเกตพบว่าหากสถานีใดเป็นสถานีปลายทาง เช่น สถานีหมอชิต สถานีบางหว้า สถานีวงเวียนใหญ่ (ปัจจุบันยังคงมีอยู่ รองรับประชาชนแถวจอมทอง สุขสวัสดิ์ พระประแดง และถนนพระราม 2) จะมีรถแท็กซี่ต่อคิวให้บริการในยามค่ำคืนเป็นจำนวนมาก

หากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจากหัวลำโพง มุ่งหน้าบางแค ต่อเนื่องมาถึงถนนพุทธมณฑล สาย 4 ระยะทางประมาณ 24 กิโลเมตรแล้วเสร็จ การเดินทางอาจเทียบกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท ช่วงหมอชิต-แบริ่ง ระยะทาง 22 กิโลเมตร ที่ใช้เวลาเดินทางเพียง 40 นาที

แม้ในขณะนี้โครงการรถไฟฟ้าจะยังไม่เกิดขึ้น แต่เนื่องจากถนนเพชรเกษมมีรถประจำทางให้บริการตลอดคืน อาทิ สาย 84 จากท่าน้ำคลองสาน, สาย 80 จากสนามหลวง (ลงป้ายสุดท้ายก่อนถึงไฟแดงปากซอยเพชรเกษม 81)

ถือเป็นอีกตัวเลือก ในยามที่รถประจำทางไปสมุทรสาครหมดตั้งแต่สอง-สามทุ่ม และหารถไปต่อในยามวิกาลได้ลำบาก สำหรับคนที่ทำงานและเลิกงานในยามค่ำคืน หรือคนที่มีไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ที่ต้องเผื่อเวลาไปถึงช่วงสี่-ห้าทุ่ม ซึ่งหารถเข้าเมืองสมุทรสาครได้ลำบาก

ไม่อยากนั่งแท็กซี่ยาวๆ จะนำวิธีนี้ไปใช้เพื่อประหยัดเงินในกระเป๋าก็ไม่เสียหาย.



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง