‘สะพานสมุทรสาคร’จริงหรือฝัน?

670-1

คืบหน้าไปอีกขั้นสำหรับโครงการถนนสายสมุทรปราการ-สมุทรสาคร ความยาว 60 กิโลเมตร พร้อมสะพานสมุทรปราการ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่ อ.พระสมุทรเจดีย์ และสะพานสมุทรสาคร ข้ามแม่น้ำท่าจีน เมื่อกรมทางหลวงชนบทได้ว่าจ้างเอกชนออกแบบรายละเอียดและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ภายในเดือนธันวาคม 2559 โดยใช้ระยะเวลา 26 เดือน

โดยโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการดำเนินงานในระยะ 10 ปีแรก (ปัจจุบัน – พ.ศ. 2564) ของแผนแม่บทสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เขตกรุงเทพและปริมณฑล กระทรวงคมนาคม ที่มีโครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 9 แห่ง เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร และรองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการเดินทางข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นสะพานข้ามแม่น้ำ 2 แห่ง และถนนยกระดับขนานคลองสรรพสามิต และคลองพิทยาลงกรณ์ ความยาวรวม 60 กิโลเมตร เริ่มตั้งแต่ถนนเทพารักษ์ จ.สมุทรปราการ สิ้นสุดที่ถนนพระราม 2 บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 38-39 ก่อนถึงปากทางบ้านแพ้ว มูลค่าก่อสร้างประมาณ 5 หมื่นล้านบาท หากดำเนินการก่อสร้างจะใช้เวลาเวนคืนที่ดินประมาณ 2-3 ปี และใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 4-5 ปี

ที่สำคัญ โครงการนี้มีทางเชื่อมต่างระดับรวม 9 จุด ได้แก่ ทางแยกต่างระดับถนนพระราม 2, ทางขึ้น-ลงท่าฉลอม และทางแยกต่างระดับมหาชัย, ทางแยกต่างระดับ บางขุนเทียน-ชายทะเล, ทางแยกต่างระดับวัดคู่สร้าง, ทางแยกต่างระดับสุขุมวิท, ทางแยกต่างระดับแพรกษา, แนวเชื่อมต่อวงแหวนด้านใต้ (สุขสวัสดิ์-บางพลี) และทางแยกต่างระดับถนนเทพารักษ์

น่าสังเกตว่า โครงการนี้จะใช้แนวเส้นทางใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะช่วงตั้งแต่สะพานสมุทรสาคร ถึงสะพานสมุทรปราการ จะไม่ใช้แนวถนนสหกรณ์-โคกขามแล้ว แต่จะตัดถนนใหม่ขนานไปกับคลองพิยาลงกรณ์ และคลองสรรพสามิต โดยมีระยะห่างจากคลอง 350 เมตร พร้อมถนนบริการชุมชน จึงคาดว่าเพื่อแบ่งการจราจรระหว่างรถที่สัญจรระยะใกล้ กับรถที่สัญจรระยะยาว

670-2

– ความเจริญขานรับ “สหกรณ์-โคกขาม” ส้มหล่นราคาที่ดินพุ่ง!

ในการประชุมแนะนำโครงการที่ จ.สมุทรสาคร ประชาชนที่เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นพอใจในโครงการถนนสายดังกล่าว เนื่องจากถนนสายหลักในสมุทรสาครมีน้อย สวนทางกับการจราจรและความหนาแน่นของชุมชนมีมากขึ้น แม้จะมีบางความเห็นที่เสนอแนะเพิ่มเติม เช่น ให้ถนนยกระดับสูงมากกว่า 2.5 เมตร ให้รูปแบบสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีนมีความสวยงามเหมือนแม่น้ำเจ้าพระยา ฯลฯ

หากย้อนกลับไปในช่วงที่ผ่านมา ถนนสหกรณ์-โคกขาม ในพื้นที่ ต.บางหญ้าแพรก และ ต.โคกขาม นั้น มีโครงการอสังหาริมทรัพย์เกิดขึ้นจำนวนหนึ่ง โดยส่วนมากเป็นผู้ประกอบการท้องถิ่น อาทิ หมู่บ้านรินรดา, หมู่บ้านสาครธานี, หมู่บ้านมหาชัยเมืองทอง, หมู่บ้านสวนปาล์มลากูน, หมู่บ้าน ณ ชเล เพลส, หมู่บ้านมหาชัยธานี, หมู่บ้านสวนมหาชัย, หมู่บ้านอิฐสวย ฯลฯ

670-3

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2556 บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ได้เปิดตัวโครงการพฤกษ์ลดา มหาชัย บริเวณถนนสหกรณ์-โคกขาม เป็นบ้านเดี่ยวขนาดที่ดินตั้งแต่ 50 ตารางวา จำนวน 293 แปลง มีพื้นที่โครงการรวม 65.2 ไร่ ราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 3-5 ล้านบาท พร้อมสโมสร สระว่ายน้ำ เจาะกลุ่มลูกค้าระดับบนขึ้นไป

ถือเป็นโครงการแรกบนถนนสหกรณ์-โคกขาม ที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เข้ามาปักธงในพื้นที่แห่งนี้ และเป็นที่น่าสังเกตว่า ที่ตั้งโครงการอยู่ใกล้กับโค้งยายขาว ซึ่งเป็นจุดเชื่อมโยงกับทางแยกต่างระดับมหาชัย หากโครงการนี้เกิดขึ้นจริงจะมีผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่เข้ามาเปิดโครงการเพิ่มเติมในพื้นที่แห่งนี้แน่นอน

ข้อมูลจากกรมธนารักษ์ระบุถึงราคาประเมินที่ดินในรอบบัญชีปี 2555-2558 พบว่าหมู่บ้านมหาชัยเมืองทอง ต.บางหญ้าแพรก ราคาประเมินที่ดินอยู่ที่ 15,000 บาทต่อตารางวา แต่จากการสำรวจการประกาศขายที่ดินบนถนนสหกรณ์ พบว่าได้มีการประกาศขายตั้งแต่ไร่ละ 1-3 ล้านบาท คาดว่าหากมีโครงการสะพานสมุทรสาครเกิดขึ้น ราคาที่ดินจะพุ่งสูงขึ้นกว่านี้

นอกจากนี้ ยังเป็นที่น่าสังเกตว่า โครงการนี้มีทางแยกต่างระดับท่าฉลอม บริเวณริมฝั่งแม่น้ำท่าจีนฝั่งตะวันตก เชื่อมโยงกับถนนเทศบาลตำบลบางหญ้าแพรก ที่ผ่านมาบริเวณดังกล่าวเป็นเพียงชุมชนชาวประมงเล็กๆ ห่างจากตัวเมืองสมุทรสาครทางรถยนต์ประมาณ 10 กิโลเมตร แต่เมื่อมีทางแยกต่างระดับตัดผ่าน นอกจากจะลดระยะเวลาข้ามฟากแล้วยังส่งผลไปถึงโครงการอสังหาริมทรัพย์จะปักธงจุดนี้ด้วย

670-4

– ถนนสหกรณ์-โคกขามยังไม่เป็น 4 ช่องจราจรตลอดสาย

สำหรับโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นบนโครงการถนนสายสมุทรปราการ-สมุทรสาครนั้น จะกระจุกตัวอยู่ในละแวกทางแยกต่างระดับมหาชัย และท่าฉลอมเป็นหลัก แม้จะมีทางบริการชุมชนแต่ก็ขึ้นอยู่กับทำเลว่าจะเข้า-ออกถนนสายหลักได้สะดวกหรือไม่ ส่วนถนนสหกรณ์-โคกขามนั้นแม้จะอยู่คนละส่วน เพราะแนวเส้นทางใหม่อยู่ทางทิศใต้ของคลองพิทยาลงกรณ์ และคลองสรรพสามิต แต่ก็ยังมีเส้นทางเชื่อมต่อไปยังถนนพันท้ายนรสิงห์ และถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล

สภาพเส้นทางถนนสหกรณ์-โคกขาม ตั้งแต่สุดเขตเทศบาลนครสมุทรสาคร ถึงวัดสหกรณ์โฆษิตารามนั้น พบว่าส่วนใหญ่มีเพียง 2 ช่องจราจรสวนทางเท่านั้น จะมี 4 ช่องจราจรเป็นบางช่วง โดยสะพานข้ามคลองสหกรณ์ ที่ก่อสร้างเป็น 2 สะพานคู่กัน ความกว้างรวม 4 ช่องจราจร ซึ่งเป็นที่กังขาว่าถนนมีเพียงแค่ 2 ช่องจราจร ยังไม่ขยายถนนมาถึงจุดนี้ แล้วจะสร้างสะพานคู่ไปทำไม

ที่ผ่านมากรมทางหลวงมีอุปสรรคในเรื่องของงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด ต้องนำไปพัฒนาแก้ไขปัญหาภาพรวมทั้งประเทศ ทำได้เพียงแค่ใช้วิธีการซ่อมบำรุงมาโดยตลอด ไม่ได้มีการพัฒนาถนนเพื่อรองรับยานพาหนะที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี อีกทั้งถนนสหกรณ์ไม่ถือว่าเป็นโครงข่ายหลัก นโยบายกรมทางหลวงส่วนใหญ่จึงยกถ่ายโอนให้กับหน่วยงานท้องถิ่นที่มีศักยภาพมากพอในการพัฒนาดูแล

ข้อมูลจากสำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวง พบว่าถนนสหกรณ์-โคกขาม เมื่อปี 2551 มีปริมาณการจราจรโดยเฉลี่ย 1.1 หมื่นคันต่อวัน ก่อนที่จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นในปี 2554 เฉลี่ย 1.4 หมื่นคัน หรือเพิ่มขึ้น 27% แต่ในปี 2557 ที่ผ่านมา พบว่ามีปริมาณการจราจรโดยเฉลี่ยแบบก้าวกระโดด สูงถึง 1.8 หมื่นคัน เพิ่มขึ้นสูงถึง 63%

หากมีความเจริญเข้ามามากขึ้น คาดว่าจะมีปริมาณการจราจรสูงถึง 2 หมื่นคัน เทียบเท่าถนนเอกชัยที่มีปริมาณการจราจรโดยเฉลี่ย 2.2 หมื่นคันต่อวันในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า สภาพถนนเพียงแค่ 2 ช่องจราจรสวนทางนั้นไม่เพียงพอต่อความแออัดของถนนที่ถูกบีบจากสะพานมหาชัยลงมาแน่นอน เพื่อให้สอดรับกับโครงการถนนสายสมุทรปราการ-สมุทรสาคร ก็จะต้องขยายถนนสหกรณ์-โคกขามเป็น 4-6 ช่องจราจร เพื่อรับรถเข้าสู่ตัวเมืองสมุทรสาคร

แม้ว่าถนนสหกรณ์-โคกขาม จะสมควรพัฒนาโดยการขยายถนน แต่พบว่าในช่วงที่ผ่านมาไม่มีการนำเสนอเรื่องนี้เข้าที่ประชุมระดับจังหวัด โดยที่ผ่านมาต่างมุ่งเน้นให้ความสนใจไปที่ถนนพระราม 2 ซึ่งเป็นเส้นทางสายหลักจากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่ภาคใต้ ซึ่งมีปัญหาด้านการจราจรติดขัดในช่วงเทศกาล และปัญหาขาดแคลนจุดกลับรถ แต่ขึ้นอยู่กับการผลักดันงบประมาณลงมายังจังหวัดว่าจะสัมฤทธิ์ผลหรือไม่

670-5

– “ผลกระทบสิ่งแวดล้อม” เรื่องที่ไม่ควรมองข้าม

แม้ว่าในพื้นที่สมุทรสาครจะมีการขานรับโครงการถนนสมุทรปราการ-สมุทรสาคร พร้อมสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา และสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน ที่ถือเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของจังหวัดสมุทรสาคร แต่ในสายตาของนักอนุรักษ์ ยังตั้งข้อสงสัยว่า เพราะเหตุใดจึงต้องการสร้างทางยกระดับดังกล่าว ขนานไปกับแนวชายฝั่งทะเลของกรุงเทพฯ สมุทรปราการ และสมุทรสาคร

เว็บไซต์โอเคเนชั่น โดยบล็อกเกอร์ BlueHill เคยเขียนบทความในหัวข้อ “วิถีชุมชน ชีวิตนกน้ำ และโครงการสะพานข้ามเจ้าพระยา 5 หมื่นล้าน” เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2556 แสดงความคิดเห็นถึงเรื่องนี้ว่า บริเวณเวณดังกล่าวแม้ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกร แต่ก็มีพื้นที่จำนวนไม่น้อยเป็น พื้นที่ชุ่มน้ำนานาชาติ มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรชีวภาพ เป็นแหล่งอาหารแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำที่สำคัญ ทั้งยังเป็นแนวป้องกันคลื่นลมและการพังทลายของชายฝั่งทะเล

โดยเฉพาะทางยกระดับพาดผ่านบริเวณ พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติตามอนุสัญญาแรมซาร์ ไซต์ ใน ต.โคกขาม อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร พื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่ง ทำนาเกลือ ซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมของคนไทยที่สืบทอดกันมายาวนาน และเป็นจุดอาศัยของ นกชายเลนหายากระดับโลก ในช่วงที่อพยพมาเมืองไทย

นาเกลือโคกขาม เป็นแหล่งดูนกชายเลนที่มีชื่อเสียงระดับโลก แต่ละปีมีชาวต่างประเทศบินมาดูนกหายากระดับโลกที่นี่กันเป็นจำนวนมาก สร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยว ในช่วงฤดูหนาวจะพบนกได้ไม่ต่ำกว่า 40 ชนิด ในช่วงต้นปีของทุกปีจะมีการจัดงาน “เทศกาลอนุรักษ์นกชายเลน” ขึ้นมา เพื่ออนุรักษ์นกชายเลนที่สวยงามและหาดูได้ยาก รวมถึงยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดสมุทรสาครด้วย

“ดูเหมือนว่าบริษัทที่รับทำอีไอเอ ให้กับโครงการทางยกระดับของกรมทางหลวง คงต้องทำการบ้านอย่าง หนักหน่วง เพื่อที่จะอธิบายให้เห็นภาพว่า ทางยกระดับความยาวร่วม 60 กิโลเมตร พร้อมงบเกือบ 50,000 ล้านบาท ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชุมชนและไม่ได้สร้างความเสียหายให้แก่สิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด” ในบทความ ระบุ

บล็อกเกอร์รายดังกล่าวได้ระบุอีกว่า กรมทางหลวงชนบท มีเจตนาหรือจงใจ “ละเมิด” อนุสัญญาแรมซาร์ ไซต์ หรือไม่ เพราะในปี 2540 ครม. เห็นชอบในหลักการการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาพื้นที่ชุ่มน้ำ และให้กระทรวงต่างประเทศลงนามการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา ต่อมาประเทศไทยได้มอบสัตยาบันสารต่อผู้แทนยูเนสโก้เมื่อปี 2541 ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศภาคีสมาชิกอนุสัญญาแรมซาร์ลำดับที่ 110

นอกจากนี้ ในปี 2553 ครม. มีมติรับรองข้อตกลงการเป็นพันธมิตรสำหรับการอนุรักษ์นกอพยพและการใช้ประโยชน์ถิ่นที่อยู่อาศัยของนกอพยพอย่างยั่งยืนในเส้นทางการบินเอเชียตะวันออก – ออสเตรเลีย หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “Flyway Site” รวม 15 พื้นที่ แน่นอนว่า พื้นที่ “นาเกลือโคกขาม” ได้รับการเสนอชื่อให้อยู่ในข้อตกลงนี้ด้วย

“ด้วยเหตุและผลมาทั้งหมดทั้งปวงนั้น มิได้คัดค้านหรือต่อต้านโครงการนี้แต่ประการใด หากว่ามันคุ้มค่าและสามารถแก้ปัญหาจราจรให้แก่ประชาชนได้จริง เพียงแต่ต้องการชี้ให้เจ้าภาพโครงการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เห็นถึงผลกระทบเชิงลบที่จะเกิดขึ้นกับ วิถีชุมชน และ พื้นที่อาศัยของนกน้ำ ตลอดจนความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับ ประเทศชาติ จากผลพวงการ”ฉีกทิ้ง”อนุสัญญาแรมซาร์ ไซต์” ในบทความ ระบุ

อ่านเพิ่มเติม : วิถีชุมชน ชีวิตนกน้ำ และโครงการสะพานข้ามเจ้าพระยา 5 หมื่นล้าน

http://www.oknation.net/blog/charlee/2013/05/28/entry-2

แม้โครงการขนาดยักษ์มูลค่า 5 หมื่นล้านบาทของกรมทางหลวงชนบทที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ยังไม่มีบทสรุปที่แน่ชัดออกมาว่าจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ แต่ความเจริญที่คนสมุทรสาครวาดฝันในวันข้างหน้า กับกระแสคัดค้านที่ส่งผผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนและสิ่งแวดล้อม จากการทำทางยกระดับตลอด 60 กิโลเมตร ยังเป็นหนังม้วนยาวที่ต้องรอดูว่า โครงการนี้จะเกิดหรือจะแท้งก่อนเวลาอันควร.

(ล้อมกรอบ)

“ถนนสหกรณ์” ไปไม่ถึงสมุทรปราการ

670-6

ย้อนกลับไปในอดีต ถนนสายสมุทรปราการ-สมุทรสาคร ทางเดิมเป็นทางของ 3 จังหวัด ต้นทางจาก จ.สมุทรปราการ ช่วงกลางของ จ.ธนบุรีเดิม (ปัจจุบันเป็นกรุงเทพมหานคร) และช่วงปลายเป็นของ จ.สมุทรสาคร ระยะทาง 37.873 กิโลเมตร กรมทางหลวงรับมอบมาดูแลตั้งแต่ปี 2513 สภาพทางก่อนรับมอบ เป็นทางผิวลูกรังบางๆ บางช่วงเป็นคันดิน การจราจรผ่านไม่ได้

ต่อมาเปลี่ยนบัญชีสายทางเป็นถนนสายสมุทรสาคร-โคกขาม ระยะทาง 6.873 กิโลเมตร ได้ทำการบูรณะและปรับปรุงเป็นทางลาดยางตลอดสาย เปลี่ยนสะพานไม้ก่อสร้างเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหมด 5 แห่ง มีท่อเหลี่ยมคอนกรีตเสริมเหล็ก 10 แห่ง มีท่อคอนกรีตเสริมเหล็ก 14 แห่ง มีประชาชนใช้ในการสัญจรมากขึ้น ประกอบกับมีปริมาณการจราจรเพิ่มขึ้น ทำให้สภาพถนนชำรุดและเสียหายมาก

ในปี 2539 กรมทางหลวงจึงได้มีนโยบายที่จะก่อสร้างทางสายนี้ขึ้นใหม่ โดยก่อสร้างเป็นผิวทางแบบแอสฟัลต์ติกคอนกรีต กว้าง 7 เมตร ไหล่ทางกว้างข้างละ 1 เมตร จากกิโลเมตรที่ 0 ถึงกิโลเมตรที่ 7.130.420 ซึ่งทางบริษัท มหกิจแทรคเตอร์บริการ จำกัด เป็นผู้ประมูลได้ในวงเงินค่าก่อสร้าง 63,915,400 บาท เริ่มต้นสัญญา 12 กุมภาพันธ์ 2539 สิ้นสุดสัญญา 5 มิถุนายน 2540 แล้วเสร็จตามสัญญา

ในปี 2546 ได้โอนมอบถนนสหกรณ์โคกขาม ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปบำรุงรักษา จำนวน 3 ช่วง ได้แก่ เทศบาลนครสมุทรสาคร องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บางหญ้าแพรก และ อบต.โคกขาม แต่ในปี 2550 อบต.บางหญ้าแพรก และ อบต.โคกขาม ได้โอนมอบคืนถนนสหกรณ์ให้กรมทางหลวง เนื่องจากไม่มีความพร้อมเรื่องงบประมาณ โดยมีแขวงการทางสมุทรสาครรับมอบ

สำหรับถนนช่วงวัดสหกรณ์โฆสิตารามถึงนิคมบ้านไร่ เป็นทางหลวงชนบท สค.4008 ระยะทาง 8.475 กิโลเมตร โดยมีลักษณะผิวจราจรลาดยางตลอดสาย ก่อนเข้าสู่เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ มีทางแยกถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล ผ่านวัดธรรมคุณาราม ข้ามสะพานคลองขุนราชพินิจใจที่กรมทางหลวงชนบทสร้างไว้ เข้าสู่พื้นที่ จ.สมุทรปราการ ต่อด้วยถนนคอนกรีตยาว 900 เมตรกระทั่งเป็นทางคันดิน

อย่างไรก็ตาม จากอดีตถึงปัจจุบันแนวถนนไม่ได้เชื่อมต่อกัน เนื่องจากติดปัญหาที่ดินของชาวบ้าน และต้องก่อสร้างสะพานข้ามคลองอีก 4 แห่ง ถึงจะเชื่อมต่อกับถนนเลียบคลองสรรพสามิต ซึ่งกรมทางหลวงโอนให้เป็นทางหลวงชนบท สป.3010 ระยะทางรวม 14.520 กิโลเมตร แต่ระยะทางจริงจากถนนสุขสวัสดิ์เพียงแค่ 8 กิโลเมตรเศษ และจากสะพานข้ามคลองขุนราชพินิจใจเพียง 900 เท่านั้น

ปัจจุบันทางหลวงชนบท สป.3010 อยู่ระหว่างขั้นตอนยกถ่ายโอนให้กับเทศบาลตำบลแหลมฟ้าผ่า อ.พระสมุทรเจดีย์ นำไปรับผิดชอบบริหารปรับปรุงต่อไป ปลายถนนเชื่อมต่อตรงไปยังถนนคลองสวน-บ้านล่าง มุ่งหน้าออกไปถนนประชาอุทิศ บริเวณซอยประชาอุทิศ 90 แต่ไม่ได้เชื่อมต่อกับสะพานคลองขุนราชพินิจใจที่สร้างไว้แต่อย่างใด.



8 ความคิดเห็น เรื่อง “‘สะพานสมุทรสาคร’จริงหรือฝัน?”

  1. นิรนาม กล่าวว่า:

    พ.ย. 16, 15 at 5:01 am

    ถูกต้องนะครับ กรมทางหลวงพยายามละเมิดอนุสัญญาแรมซาร์ไซด์/ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรงกับท้องถิ่นนั้นๆ เราไม่เห็นด้วยครับบบบบ

  2. นิรนาม กล่าวว่า:

    ม.ค. 21, 16 at 6:44 am

    เราไม่เห็นด้วยครับ

  3. 8jt กล่าวว่า:

    ก.พ. 27, 16 at 6:07 pm

    เห็นด้วยค่ะ เกิดประโยชน์มากกว่าค่ะ

  4. 8jt กล่าวว่า:

    ก.พ. 27, 16 at 6:07 pm

    ดด

  5. 8jt กล่าวว่า:

    ก.พ. 27, 16 at 6:08 pm

    เห็นด้วยค่ะ

  6. กด กล่าวว่า:

    ก.พ. 27, 16 at 6:09 pm

    ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

    บลาๆ

  7. วันนี้ กล่าวว่า:

    ก.ย. 25, 16 at 1:56 am

    ดีครับ
    ช่วยพระราม2ได้มาก

  8. อนันต์ กล่าวว่า:

    ก.พ. 09, 17 at 10:35 pm

    ย้ายที่รถติด รถก็จะไปคั่งที่บ้านแพ้ว-แม่กลองแทน


แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง