ผุดถนนใหม่’กัลปพฤกษ์-พุทธสาคร’

875

กรมทางหลวงชนบท ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการศึกษาความเหมาะสมของโครงการส่วนต่อขยาย ถนนกัลปพฤกษ์ – ถนนพุทธสาคร เพื่อแบ่งเบาภาระการจราจรบนถนนเพชรเกษม และถนนพระราม 2 ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณจราจรหนาแน่น เมื่อเดือนมิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา

พื้นที่ปริมณฑลของกรุงเทพมหานครด้านทิศใต้ ประกอบด้วย นครปฐม และสมุทรสาคร เป็นพื้นที่ซึ่งมีศักยภาพเพียงพอในการพัฒนาเป็นศูนย์กลางในลักษณะเมืองบริวาร (Metropolitan Sub center)

โดยมีถนนกาญจนาภิเษก เป็นทางหลวงสายหลักในการเชื่อมโยงเมืองบริวารเข้ากับโครงข่ายคมนาคมของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

พื้นที่ดังกล่าวยังเกิดการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจและสังคม การขยายตัวของปริมาณการจราจร มีชุมชน อาคารพาณิชย์ และโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นมากมาย ส่งผลให้ความต้องการการเดินทางมีอัตราเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

เหตุผลดังกล่าว กรมทางหลวงชนบท จึงป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านการจราจรในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการพัฒนาและเสริมสร้างโครงข่ายเส้นทางคมนาคมในพื้นที่ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

รวมทั้งป้องกันไม่ให้พื้นที่ระหว่างถนนกัลปพฤกษ์กับถนนพุทธสาคร เกิดสภาพเป็นพื้นที่ถูกปิดล้อมขนาดใหญ่ (Super Block) จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาเส้นทางแนวใหม่เชื่อมโยง เพื่อช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพด้านการคมนาคมขนส่งและเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่มากยิ่งขึ้น

โครงการดังกล่าวเป็นถนนใหม่ จุดเริ่มต้นบริเวณเชื่อมต่อกับถนนกัลปพฤกษ์ ตัดกับถนนกาญจนาภิเษก (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 9) ไปทางทิศตะวันตก โดยมีจุดตัดกับถนนจำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วยถนนบางบอน 3, ถนนบางบอน 4 และถนนบางบอน 5 ตามลำดับ

ถนนดังกล่าวมีขนาด 4 ช่องจราจร ผิวจราจรลาดยางอยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร จุดสิ้นสุดโครงการบรรจบกับถนนพุทธสาคร (ถนนพุทธมณฑลสาย 4) ตัดกับถนนเศรษฐกิจ ระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร

6-3

– เชื่อมต่อคมนาคม – รับขยายตัวของเมือง

สำหรับถนนกัลปพฤกษ์ เดิมคือชื่อของถนนสายตากสิน-เพชรเกษม เป็นเส้นทางคมนาคมในพื้นที่ฝั่งธนบุรี กรุงเทพมหานคร โดยเป็นถนนคอนกรีตขนาด 4 ช่องจราจร เชื่อมต่อระหว่างถนนราชพฤกษ์กับถนนกาญจนาภิเษก เปิดก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดการจราจรในปี 2545

ถนนสายนี้ช่วยแบ่งเบาภาระการจราจร บนถนนเพชรเกษม ถนนพระราม 2 และถนนเอกชัย โดยเชื่อมต่อจากถนนกาญจนาภิเษก ไปยังถนนราชพฤกษ์ มุ่งหน้าไปยังสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน เพื่อเข้าสู่ใจกลางย่านธุรกิจสาทรและสีลม

ขณะเดียวกัน กรุงเทพมหานครยังได้ดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้าบีทีเอส ส่วนต่อขยาย ให้บริการเริ่มจากสถานีกรุงธนบุรีและสถานีวงเวียนใหญ่ในปี 2552 สถานีโพธิ์นิมิตร สถานีตลาดพลู และสถานีบางหว้าในปี 2556 ยิ่งทำให้ถนนกัลปพฤกษ์กลายเป็นเส้นเลือดหลักมุ่งสู่รถไฟฟ้าบีทีเอส

แม้วัดจากระยะทางแล้ว การตัดถนนเส้นใหม่จะไม่ได้ช่วยย่นระยะทางจากจังหวัดสมุทรสาคร ไปยังสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมากนัก เป็นเพียงทางเลือกใหม่ในการเดินทางที่แบ่งเบาภาระการจราจรบนถนนพระรามที่ 2 และถนนกาญจนาภิเษก ที่การจราจรหนาแน่นในชั่วโมงเร่งด่วน

แต่จะส่งผลดียิ่งกว่าให้กับอำเภอกระทุ่มแบน จากเดิมจะต้องใช้ถนนเพชรเกษมเพื่อมุ่งหน้าเข้าสู่ใจกลางย่านธุรกิจของกรุงเทพฯ เป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันในชั่วโมงเร่งด่วน การจราจรติดขัดอย่างมาก แต่หากตัดถนนสำเร็จจะช่วยให้เดินทางไปยังย่านธุรกิจสาทรและสีลมได้โดยตรง

การตัดถนนเส้นใหม่ นอกจากจะแบ่งเบาภาระการจราจรแล้ว ยังรองรับการขยายตัวของชุมชนเมือง จะเห็นได้จากเมื่อถนนพุทธสาคร ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2547 ปัจจุบันจากทุ่งนาและสวนผลไม้ ก็มีบ้านจัดสรรทั้งทุนท้องถิ่นและทุนจากตลาดหลักทรัพย์เปิดโครงการจำนวนมาก

เช่น แลนด์แอนด์เฮ้าส์ ในช่วงที่ถนนพุทธสาครก่อสร้างเสร็จใหม่ๆ ได้เปิดโครงการบ้านเดี่ยว พฤกษ์ลดา พุทธมณฑลสาย 4 ประสบความสำเร็จจนปิดโครงการได้ กระทั่งเมื่อปี 2558 ได้เปิดโครงการ พฤกษ์ลดา เพชรเกษม สาย4 บนพื้นที่ 98.3 ไร่ ก่อนถึงทางแยกต่างระดับกระทุ่มแบน

หรือจะเป็นถนนกัลปพฤกษ์ โครงการบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมแบบโลว์ไรซ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการเมโทรพาร์ค สาทร, โครงการซิตี้คอนเนกซ์ รวมไปถึงโครงการแกรนด์บางกอกบูเลอวาร์ด และที่ใหญ่ที่สุดคงจะเป็นโครงการสำเพ็ง 2 บริเวณตอนปลายของถนนกัลปพฤกษ์

ส่วนอำเภอกระทุ่มแบน การตัดถนนจากทางแยกต่างระดับกระทุ่มแบน มุ่งหน้าไปยังถนนกัลปพฤกษ์ จะเป็นการเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมในท้องถิ่น เช่น ถนนบ้านแพ้ว-กระทุ่มแบน แยกจากถนนสายบ้านแพ้ว-พระประโทน ให้สามารถเชื่อมต่อไปยังกรุงเทพมหานครได้

โดยที่การเดินทางจะไม่ต้องผูกขาดอยู่กับถนนเพชรเกษมและถนนพระรามที่ 2 อีกต่อไป

แนวคิดของกรมทางหลวงชนบท ที่ป้องกันไม่ให้พื้นที่ถูกปิดล้อมขนาดใหญ่ กลายเป็นโอกาสทองที่นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อาจเล็งทำเลเอาไว้แล้ว รอวันที่ถนนก่อสร้างเมื่อไหร่ ก็จะมีโครงการบ้านจัดสรร และอาคารพาณิชย์ตามมาอีกมากมาย

จะเห็นได้จาก ที่ผ่านมาเคยประสบความสำเร็จในการพัฒนาถนนในพื้นที่ จ.นนทบุรีเพิ่มขึ้นอีกหลายสาย เช่น ถนนราชพฤกษ์ ที่มีส่วนต่อขยายไปถึง จ.ปทุมธานี ถนนชัยพฤกษ์ สะพานพระราม 4 สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์ ก็เกิดชุมชนเมืองขนาดย่อมตามมาเป็นเงาตามตัว

875-2

– ราคาที่ดินเตรียมพุ่ง

จากการสำรวจราคาประเมินที่ดินแนวโครงการถนนกัลปพฤกษ์-พุทธสาคร จากกรมธนารักษ์ พบว่าในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ถนนเศรษฐกิจ 1 อ.กระทุ่มแบน จะอยู่ที่ 30,000-35,000 บาทต่อตารางวา ขณะที่ถนนพุทธสาคร อ.กระทุ่มแบน จะอยู่ที่ 30,000 บาทต่อตารางวา

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่า ถนนกัลปพฤกษ์ ในพื้นที่เขตบางแค และเขตภาษีเจริญ จะอยู่ที่ 45,000-57,000 บาทต่อตารางวา และถนนกาญจนาภิเษก เขตบางแค 45,000-57,000 บาทต่อตารางวา

ส่วนต่างของราคาประเมินที่ดิน ฝั่งถนนพุทธสาคร กับฝั่งถนนกัลปพฤกษ์ มีอยู่อย่างน้อยๆ 15,000 บาทต่อตารางวา

เมื่อสำรวจทำเลย่านบางบอน และหนองแขม ซึ่งเป็นพื้นที่ศึกษาโครงการ พบว่าถนนบางบอน 3 เชื่อมต่อระหว่างซอยเพชรเกษม 69 กับถนนเอกชัย เขตหนองแขมจะอยู่ที่ 30,000-50,000 บาทต่อตารางวา เมื่อเข้าถนนบางบอน 3 เขตบางบอน 30,000 บาทต่อตารางวา

ถนนบางบอน 4 เชื่อมระหว่างถนนเลียบคลองภาษีเจริญฝั่งใต้ กับถนนเอกชัย 20,000-22,000 บาทต่อตารางวา ถนนบางบอน 5 เชื่อมต่อเขตหนองแขม กับถนนเอกชัย 30,000 บาทต่อตารางวา และหากลึกเข้าไปยังถนนหนองแขม-วัดศรีนวลธรรมวิมล เขตหนองแขม 16,000 บาทต่อตารางวา

นั่นแสดงให้เห็นว่า หากโครงการถนนกับปพฤกษ์-พุทธสาครเกิดขึ้นจริง โอกาสที่ราคาประเมินที่ดินจะสูงขึ้นย่อมมีมากขึ้นไปอีก ไม่นับรวมโครงการบ้านจัดสรรที่ต่างมาลงโครงการบริเวณถนนบางบอน 3 และถนนบางบอน 5 อยู่ก่อนหน้านั้นแล้วหลายโครงการ

875-3

– ขยายถนนกัลปพฤกษ์ 6 ช่องจราจรรองรับ

แม้โครงการถนนกัลปพฤกษ์-พุทธสาคร จะส่งผลดีต่อประชาชนในพื้นที่สองจังหวัด แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ปริมาณการจราจรบนถนนกัลปพฤกษ์ โดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วน เกินกว่าขีดความสามารถที่ถนนเดิมจะรับได้ ซึ่งมีเพียง 4 ช่องจราจรไป-กลับเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม กรมทางหลวงชนบทคงไม่ปล่อยให้ปัญหานี้เรื้อรังยาวนานแน่ๆ

จากการเปิดเผยของ นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท ก็เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2560 วงเงิน 46,572 ล้านบาท ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะพิจารณาในวันที่ 23 มิถุนายน 2559 กรมทางหลวงชนบทมีโครงการลงทุนที่สำคัญในปี 2560-2562 ได้แก่

1. โครงการขยายถนนกัลปพฤกษ์จาก 4 ช่องจราจรเป็น 6 ช่องจราจร พร้อมทางระบายน้ำและทางเท้าเต็มพื้นที่ ระยะทาง 7 กิโลเมตร วงเงิน 800 ล้านบาท

2. โครงการขยายถนนราชพฤกษ์ จาก 6 ช่องจราจรเป็น 10 ช่องจราจร ระยะทาง 8.3 กิโลเมตร วงเงิน 1,236 ล้านบาท

3. โครงการขยายถนน ทางหลวงชนบท ปท. 3004 แยกทางหลวงหมายเลข 305 (รังสิต-นครนายก) ไปบ้านลำลูกกา จ.ปทุมธานี จาก 2 ช่องจราจรเป็น 4 ช่องจราจร ระยะทาง 10.4 กิโลเมตร วงเงิน 725 ล้านบาท

4. โครงการขยายถนน ทางหลวงชนบท นย. 3007 แยกทางหลวงหมายเลข 305 ไปบ้านคลอง 33 อ.องครักษ์ จ.นครนายก ระยะทาง 18.3 กิโลเมตร วงเงิน 876 ล้านบาท

5. โครงการส่งเสริมพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นถนนตัดใหม่ 4 ช่องจราจร ระยะทาง 13.9 กิโลเมตร วงเงิน 725 ล้านบาท

และ 6. โครงการก่อสร้างสะพานและอุโมงค์ข้ามทางรถไฟ 6 จังหวัด 9 แห่ง เช่น จ.อุตรดิตถ์ จ.ศรีสะเกษ จ.นครปฐม วงเงิน 2,326 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในส่วนของ กทม. ยังมีโครงการก่อสร้างทางหลวงท้องถิ่น สายเชื่อมถนนเพชรเกษม-ถนนหนองใหญ่-ถนนกัลปพฤกษ์ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ระยะที่ 3 ก่อนเสนอผู้บริหาร กทม. เห็นชอบเวนคืนต่อไป

แม้ถนนจะยังไม่เริ่มลงมือสร้าง แต่ในอนาคตอันใกล้ เส้นทางสายใหม่จากถนนพุทธสาคร มุ่งหน้าถนนกัลปพฤกษ์ ความสะดวกสบายในการเดินทางจะมาพร้อมกับความเจริญ ขึ้นอยู่กับท้องถิ่นเองจะรับมืออย่างไรไม่ให้ชุมชนเมืองเจริญเติบโตแบบไร้ทิศทาง



11 ความคิดเห็น เรื่อง “ผุดถนนใหม่’กัลปพฤกษ์-พุทธสาคร’”

  1. สนธยา เหนี่ยวรั้งใจ กล่าวว่า:

    มิ.ย. 20, 16 at 4:19 am

    อยากทราบพิกัด ที่จะตัดกับ ถ.บางบอน 5และหลายๆจุด แบบชัดเจนครับ

  2. นิรนาม กล่าวว่า:

    ก.ค. 02, 16 at 3:32 pm

    ถ้ามีแต่ตึกกับบ้านจัดสรรค์แล้วท่านจะกินอะไรกัน เพราะบางพื้นที่ยังปลูกผักปลูกข้าว ทำไมคิดถึงแต่อสังหาริมทรัพย์ ทั้งๆที่เมืองไทยเป็นอุตสาหกรรมการเกษตร ต่อให้ตัดอีก 100 เส้นก็ไม่พอให้รถวิ่งหลอกเพราะกระทรวง กรม โรงงานต่างก็มาอัดอยู่ในกรุงเทพแล้วอะไรมันจะไม่ติด ลองสังเกตุช่วงปีใหม่ ถนนโล่ง คนหาย อ้าวเขากลับบ้านกันแสดงว่าคนต่างจังหวัดเข้ามาทำงานในกรุงเทพ น่าจะไปทำถนนขค้นป่าขึ้นดอยดีกว่ามันย่าจะเวิต หรือลองย้ายกระทรวงออกไปต่างจังหวัด แต่าจะทำแล้วประชาชนจะค้านำด้กเหรอ อยากขอแผนที่โครงการแบบลังะเอียด

  3. ศุทธิวัชร์ อรุณแสง กล่าวว่า:

    ส.ค. 22, 16 at 6:00 am

    ไม่เห็นด้วย ประชาชนเดือดร้อน เสียที่ทำกิน เสียโอกาสในการสร้างฐานะ ควรส่งเสริม พัตนาด้านการคมนาคม ขนส่งมวลชน อย่างประเทศที่พัตนาแล้ว เราไม่ไป อย่ามายุ่งกับเรา อย่ามาปล้นที่ดินของประชาชน

  4. น้ำทิพย์ หลงมณี กล่าวว่า:

    ส.ค. 29, 16 at 4:04 am

    อยากทราบตำแหน่งที่ตัดผ่านถนนบางบอน3
    มากกว่านี้ค่ะ

  5. ประชาชนที่เดือดร้อน กล่าวว่า:

    ส.ค. 30, 16 at 3:50 am

    ไม่เห็นด้วย….

    ควรขยายถนนเดิม ดีกว่า ที่จะมาสร้างถนนใหม่ ที่ไม่มีแนวถนนเดิมหรือเปล่าคะ
    เข้าใจค่ะ การจราจร ติดขัด แต่ ทางแก้ มีตั้งหลายทางหรือเปล่าคะ ควรเลือกทางที่ประชาชนเดือดร้อน น้อยที่สุดหรือเปล่าคะ
    และ การคัดเลือกเส้นทางที่เหมาะสม มาจาก เหตุผล ของคนทำงานไม่กี่คน ความยุติธรรม ในการเลือกเส้นทาง อยู่ตรงไหน ไม่มีใครทราบ
    ในชีวิต คน 1 คน ใช่ว่า จะมี บ้านและที่ดิน คนละหลายหลัง บางคน ผ่อนยังไม่ทันหมด ก็ต้องเป็นหนี้ใหม่
    คนที่ ไม่โดนเวนคืน ย่อมเห็น ด้วยกับการสร้างถนน เพราะ ตัวเองไม่เดือดร้อน และ อย่ามาอ้าง คำว่า ทำเพื่อ ส่วนรวม
    ลองถามใจลึกลึก ของตัวเอง ว่า หาก เป็น บ้านหรือที่ดิน ของตัวเอง มีหลังเดียว ทั้งชีวิตสร้างมา ยังผ่อนไม่หมด จะมีความรุ้สึก
    อย่างไร

  6. ประชาชนที่เดือดร้อน กล่าวว่า:

    ส.ค. 30, 16 at 3:51 am

    ควรขยายถนนเดิม ดีกว่า ที่จะมาสร้างถนนใหม่ ที่ไม่มีแนวถนนเดิมหรือเปล่าคะ
    เข้าใจค่ะ การจราจร ติดขัด แต่ ทางแก้ มีตั้งหลายทางหรือเปล่าคะ ควรเลือกทางที่ประชาชนเดือดร้อน น้อยที่สุดหรือเปล่าคะ
    และ การคัดเลือกเส้นทางที่เหมาะสม มาจาก เหตุผล ของคนทำงานไม่กี่คน ความยุติธรรม ในการเลือกเส้นทาง อยู่ตรงไหน ไม่มีใครทราบ
    ในชีวิต คน 1 คน ใช่ว่า จะมี บ้านและที่ดิน คนละหลายหลัง บางคน ผ่อนยังไม่ทันหมด ก็ต้องเป็นหนี้ใหม่
    คนที่ ไม่โดนเวนคืน ย่อมเห็น ด้วยกับการสร้างถนน เพราะ ตัวเองไม่เดือดร้อน และ อย่ามาอ้าง คำว่า ทำเพื่อ ส่วนรวม
    ลองถามใจลึกลึก ของตัวเอง ว่า หาก เป็น บ้านหรือที่ดิน ของตัวเอง มีหลังเดียว ทั้งชีวิตสร้างมา ยังผ่อนไม่หมด จะมีความรุ้สึก
    อย่างไร

  7. ประชาชน กล่าวว่า:

    ส.ค. 30, 16 at 5:28 am

    ไม่เห็นด้วย

    ควรขยาย ถนนเดิม มากกว่า ที่จะตัดถนน เส้นใหม่ ประชาชนเดือดร้อนมาก

  8. ศิริวิมล อัชชะ กล่าวว่า:

    ก.ย. 13, 16 at 7:39 am

    ขอทราบพิกัดที่ชัดเจนบริเวณหลังวัดศรีนวลธรรมวิมล
    ช่วงบริเวณ บ้านเลขที่ 121 หมู่ 1 ต.แคราย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร

  9. นพดล กล่าวว่า:

    พ.ย. 15, 16 at 12:59 pm

    จะเวนคืนเมื่อไรและทราบอย่างไงว่าที่ดินจะโดนถนนรือป่าว ผมกำลังจะสร้างบ้าน เช็คได้ที่ไหนครับ ค

  10. วรวัฒน์ นกแก้ว กล่าวว่า:

    ม.ค. 20, 17 at 3:51 pm

    กำลังจะซื้อบ้านแถวบางบอน 5 แล้วจะรูได้ยัไงว่าซื้อแล้วจะไมโดนเวนคืน

  11. ประชาชนผู็เดือนร้อน กล่าวว่า:

    ก.พ. 16, 17 at 5:00 am

    ขยายถนนเดิมดีกว่ามัย้ ถนนบางแค จะตัดถนนใหม่เพื่ออะไร ในเมือ่ของเดิมมีแต่มันแคบ ขยาบง่านกว่ามั้ยครับ


แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง