น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ “โครงการแก้มลิงคลองมหาชัย”

903_560

กองบรรณาธิการสาครออนไลน์ ด็อท คอม ขอนำเสนอรายงานพิเศษ “โครงการแก้มลิงคลองมหาชัย” ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงห่วงใยในพสกนิกรชาวไทยหาที่สุดมิได้

__________

“ลิงโดยทั่วไปที่เราส่งกล้วยให้ ลิงก็จะรีบปอกเปลือก เอาเข้าปากเคี้ยวๆ แล้วเอาไปเก็บที่แก้ม จะกินกล้วยเข้าไปไว้ที่กระพุ้งแก้มได้เกือบทั้งหวี แล้วนำออกมาเคี้ยวและกลืนกินเข้าไปภายหลัง การนำเอากล้วยหรืออาหารมาสะสมไว้ที่กระพุ้งแก้มก่อนการกลืนนี้ เป็นพฤติกรรมตัวอย่างที่จะนำมาใช้ในการระบายน้ำท่วมออกจากพื้นที่น้ำท่วมขัง บริเวณทิศตะวันออกและทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา”

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระราชทานแก่คณะเจ้าหน้าที่ที่ดูแลปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพและ ปริมณฑล เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2538

__________

ในปีพุทธศักราช 2538 ประเทศไทยได้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ อันเนื่องมาจากพายุหลายลูกพัดกระหน่ำเข้าสู่ประเทศไทย โดยเฉพาะพายุโอลิส ทำให้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมในส่วนภูมิภาคของประเทศ ตั้งแต่ ภาคใต้, ภาคเหนือ, ภาคตะวันออก, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก รวม 68 จังหวัด 585 อำเภอ

มีผู้ได้รับความเดือดร้อนประมาณ 1.16 ล้านครอบครัว 4.5 ล้านคน เสียชีวิต 260 คน มูลค่าความเสียหายไม่รวมสิ่งสาธารณูปโภคกว่า 6 พันล้านบาท นับเป็นอุทกภัยที่มีความร้ายแรงมากที่สุดในประเทศไทยที่เกิดขึ้นในรอบ 40 ปี

จากนั้นน้ำเหนือได้ไหลลงสู่ภาคกลาง รวมถึงพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม น้ำท่วมขังเป็นเวลาหลายวันติดต่อกัน โดยเฉพาะพื้นที่เขตที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น เขตพระนคร, เขตบางกอกใหญ่, เขตคลองสาน, เขตบางกอกน้อย, เขตบางพลัด เป็นต้น

ส่งผลให้สถานศึกษาต่าง ๆ ต้องเลื่อนการเปิดภาคเรียนออกไป ซึ่งน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับสูง โดยวัดที่สะพานพระพุทธยอดฟ้า เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2538 มีค่าระดับสูงถึง 2.27 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ก่อนที่จะค่อย ๆ คลี่คลายเมื่อน้ำได้ลดระดับลงในเดือนพฤศจิกายน รวมระยะเวลากว่า 3 เดือน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้พระราชทานพระราชดำริการแก้ไขปัญหาต่อนายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2538 โดยเฉพาะการเร่งระบายน้ำออกทะเลได้มากขึ้น, การจัดหาเครื่องสูบน้ำให้เพียงพอ, การขุดลอกคลองที่ตื้นเขินให้ระบายน้ำได้เร็วขึ้น เป็นต้น

โดยพระองค์ทรงตระหนักถึงความรุนแรงของอุทกภัยที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร จึงมีพระราชดำริ “โครงการแก้มลิง” ขึ้น เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538 โดยให้จัดหาสถานที่เก็บกักน้ำตามจุดต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับน้ำฝนไว้ชั่วคราว เมื่อถึงเวลาที่คลองพอจะระบายน้ำได้ จึงค่อยระบายน้ำจากส่วนที่กักเก็บไว้ออกไป จึงสามารถลดปัญหาน้ำท่วมได้

โครงการแก้มลิง นอกจากจะช่วยระบายน้ำ ลดความรุนแรงของปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานครและบริเวณใกล้เคียงแล้ว ยังเป็นการช่วยอนุรักษ์น้ำและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย โดยน้ำที่ถูกกักเก็บไว้ เมื่อถูกระบายสู่คูคลองจะไปบำบัดน้ำเน่าเสียให้เจือจางลง และน้ำเหล่านี้จะผลักดันน้ำเสียให้ระบายออกไปได้

__________

903_1

คลองสนามชัย หรือ คลองมหาชัย เป็นคลองที่ขุดขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระสรรเพชญที่ 8แห่งกรุงศรีอยุธยา แทนที่คลองโคกขามเดิม ซึ่งมีความคดเคี้ยวอย่างมาก เรียกคลองที่ขุดขึ้นใหม่นี้ว่า คลองพระพุทธเจ้าหลวง ต่อมาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระได้โปรดเกล้าให้พระราชสงครามเป็นนายกอง เกณฑ์คนจากหัวเมืองปักษ์ใต้มาขุดต่อ ใช้เวลาขุดสองเดือนจึงแล้วเสร็จ

คลองมหาชัย เป็นคลองเชื่อมคลองบางกอกน้อยกับจังหวัดสมุทรสาคร และมีคลองซอยเชื่อมออกทะเลอยู่มาก แต่น้ำที่ไหลมาจากคลองบางกอกน้อยมาปะทะกับน้ำเค็มที่หนุนขึ้นมาทางจังหวัดสมุทรสาคร ทำให้น้ำนิ่งไม่ไหล น้ำบริเวณนี้จึงเน่าเสีย

จึงมีพระราชดำริ โครงการแก้มลิงคลองมหาชัย – คลองสนามชัย เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พุทธศักราช 2539 โดยมีสถานที่ตั้ง ต.โคกขาม อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร

วัตถุประสงค์ของโครงการ เพื่อช่วยระบายน้ำท่วมขังในพื้นที่ตอนบน ออกสู่ทะเลโดยเร็วที่สุดตามจังหวะการ ขึ้น-ลง ของน้ำทะเล เพื่อช่วยบรรเทาอุทกภัยและปัญหาน้ำท่วมขังฝั่งตะวันตก ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำเสียในคลองต่างๆ โดยการหมุนเวียนน้ำ โดยมีปริมาตรความจุ 6 ล้านลูกบาศก์เมตร

ขอบเขตโครงการ ทิศเหนือ ติดเขต อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม และเขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร โดยอาศัยคลองมหาสวัสดิ์ เป็นแนวรับน้ำ ทิศตะวันออกติดต่อแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ใต้สะพานพระราม 7 ลงไปจดเขตราษฎร์บูรณะ เขตพระประแดง กิ่งอำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ มีคลองขุนราชพินิจใจ เป็นแนวแบ่งเขต

ทิศใต้ จดชายทะเลในเขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร และเขตอำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ทิศตะวันตก จดแม่น้ำท่าจีนในเขตอำเภอกระทุ่มแบน และอำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร

903_2

โครงการแก้มลิง “คลองมหาชัย – คลองสนามชัย” ประกอบด้วย

– คลองที่ใช้เป็นแก้มลิง อยู่บริเวณคลองมหาชัย
– ประตูระบายน้ำ ปิดกั้น หัว – ท้าย คลองที่ใช้เป็นแก้มลิงและลำน้ำสาขา เพื่อป้องกันมิให้น้ำทะเลไหลเข้ามาในบริเวณแก้มลิง
– สถานีสูบน้ำ เพื่อสูบน้ำออกจากแก้มลิงผ่านคลองระบายน้ำออกสู่ทะเล
– คลองที่รับน้ำลงสู่แก้มลิง
– คลองที่ระบายน้ำออกจากแก้มลิง เพื่อระบายน้ำออกสู่ทะเลในช่วงเวลาที่น้ำทะเลลง

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้ทรงร่างสิ่งที่เรียกว่า Thematic Map เพื่อใช้อธิบายความคิดรวบยอด (Concept) หรือหลักการ และได้กำหนดจุดที่จะทำประตูน้ำและพื้นที่แก้มลิงโดยประมาณขึ้นมา

และให้นำน้ำเค็มผันมาเก็บไว้ในแก้มลิงเมื่อน้ำทะเลหนุน หนุนขึ้นสูงต่างกันโดยประมาณ 50 เซนติเมตร ดังนั้น เมื่อน้ำทะเลลงก็จะทำหน้าที่เหมือนลูกสูบรถยนต์สูบเอาน้ำที่ไหลจากคลองบางกอกน้อยไปด้วย ทำอย่างนี้น้ำก็จะไหลเวียน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงรับสั่งให้สำรวจทำแผนที่ เพื่อกำหนดพื้นที่แก้มลิงตามหลักข้างต้น โดยให้เลือกบริเวณน้ำขัง ที่ปัจจุบันน้ำเน่าเสียแล้ว ทำการเกษตรไม่ได้ มาใช้ทำแก้มลิง ทำเป็นแหล่งบำบัดน้ำเสียแบบเดียวกับที่แหลมผักเบี้ย

เมื่อทำเสร็จน้ำดีขึ้น ใช้ทำการเกษตรได้ ราษฎรก็จะได้มีรายได้ มีผลตอบแทน มีอาชีพกลับมา แต่ต้องบริหารระดับน้ำให้ดี อย่างระมัดระวัง มีการบันทึกข้อมูลโดยตลอด

หากทำสำเร็จก็ให้พิจารณาเชื่อมต่อทางทิศตะวันตกไปถึงจังหวัดสมุทรสงคราม ทางทิศตะวันออกก็ขยายต่อมาที่บางขุนเทียน บางกระเจ้า สำโรง จังหวัดสมุทรปราการ ให้เป็นชุดเป็นกลุ่ม เหมือนกับโครงการในพระราชดำริที่จังหวัดนราธิวาส

และได้ทรงย้ำว่าในการทำโครงการนั้น สิ่งที่จำเป็นต้องทำ คือ การรวบรวมข้อมูล จัดทำแผนที่ จัดทำ Thematic Map นำข้อมูลมาประกอบเข้ากับ Thematic Map แล้วสรุปความคิดรวบยอด (Concept) ให้ได้ ก็จะได้โครงงานที่จะใช้ดำเนินงานพัฒนา

903_3

พื้นที่คลองมหาชัย-สนามชัย บริเวณพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา จรดแม่น้ำท่าจีน มีคลองสายสำคัญหลัก คือ คลองมหาชัย (สนามชัย) คลองสรรพสามิต คลองขุนราชพินิจใจ และคลองหลวง (พระราม) มีประตูระบายน้ำในโครงการแก้มลิงคลองสนามชัย-มหาชัย ที่ดำเนินการก่อสร้างแล้ว 10 แห่ง ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน พื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร

จากการสำรวจสภาพคลองสนามชัยช่วงต่อจากคลองบางกอกน้อย ถึงคลองขุนราชพินิจใจ พบสภาพน้ำเน่า ดำ มีกลิ่นเหม็น และมีขยะเป็นปริมาณมาก ในช่วงน้ำขึ้นบริเวณแยกคลองสนามชัย และคลองขุนราชพิจนิจใจ มีสภาพน้ำนิ่งไม่ใหล เอ่อล้นในบริเวณ

เมื่อปี พ.ศ. 2538 กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำชั่วคราว ปิดกั้นคลองต่าง ๆ จำนวน 10 แห่ง แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2539 เพื่อบริหารจัดการน้ำในคลองชายทะเลร่วมกับคลองมหาชัย ให้สอดคล้องกับระดับขึ้น-ลงของน้ำทะเล

ต่อมาได้รื้อถอนประตูดังกล่าวเพื่อก่อสร้างประตูถาวรแล้วเสร็จแล้ว และปัจจุบันยังติดตั้งระบบอัตโนมัติที่ประตูเพื่อบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด

โครงการแก้มลิงคลองสนามชัย-คลองมหาชัยครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 76.42 ตารางกิโลเมตร ใช้คลองต่าง ๆ เป็นแก้มลิงในการกักเก็บน้ำมีความจุประมาณ 6 ล้านลูกบาศก์เมตร มีสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำ จำนวน 25 แห่ง โดยประตูระบายน้ำที่อยู่ในความรับผิดชอบของจังหวัดสมุทรสาคร ได้แก่

1. ประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำคลองมหาชัย มีช่องระบายน้ำขนาดกว้าง 12.50 เมตร จำนวน 6 ช่อง ประตูเรือสัญจรขนาดกว้าง 12.50 เมตร จำนวน 1 ช่อง และติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 3 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จำนวน 12 เครื่อง

2. ประตูระบายน้ำคลองพระราม (คลองหลวง) มีช่องระบายน้ำขนาดกว้าง 6.00 เมตร จำนวน 2 ช่อง พร้อมประตูเรือสัญจรขนาดกว้าง 6.00 เมตร จำนวน 1 ช่อง พร้อมอาคารประกอบ

3. ประตูระบายน้ำคลองสหกรณ์สายสาม มีช่องระบายน้ำขนาดกว้าง 4 เมตร จำนวน 2 ช่อง พร้อมอุปกรณ์ไฟฟ้าแรงสูง

4. ประตูระบายน้ำคลองเจ๊ก มีช่องระบายน้ำขนาดกว้าง 4 เมตร จำนวน 2 ช่อง พร้อมอุปกรณ์ไฟฟ้าแรงสูง

5. ประตูระบายน้ำคลองโคกขามเก่า มีช่องระบายน้ำขนาดกว้าง 4 เมตร จำนวน 1 ช่อง พร้อมอุปกรณ์ไฟฟ้าแรงสูง

6. ประตูระบายน้ำโคกขาม มีช่องระบายน้ำขนาดกว้าง 6.00 เมตร จำนวน 2 ช่อง พร้อมประตูเรือสัญจรขนาดกว้าง 6.00 เมตร จำนวน 1 ช่อง พร้อมอุปกรณ์ไฟฟ้าแรงสูง

7. ประตูระบายน้ำคลองสหกรณ์สายสี่ มีช่องระบายน้ำขนาดกว้าง 4 เมตร จำนวน 1 ช่อง พร้อมอุปกรณ์ไฟฟ้าแรงสูง

8. ประตูระบายน้ำคลองสหกรณ์สายห้า มีช่องระบายน้ำขนาดกว้าง 4 เมตร จำนวน 1 ช่อง พร้อมอุปกรณ์ไฟฟ้าแรงสูง

9. ประตูระบายน้ำคลองลัดตะเคียน มีช่องระบายน้ำขนาดกว้าง 4 เมตร จำนวน 2 ช่อง พร้อมอุปกรณ์ไฟฟ้าแรงสูง

10. ประตูระบายน้ำคลองแสมดำ มีช่องระบายน้ำขนาดกว้าง 6.00 เมตร จำนวน 2 ช่อง พร้อมประตูเรือสัญจรขนาดกว้าง 6.00 เมตร จำนวน 1 ช่อง พร้อมอาคารประกอบ

สถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ สถานีสูบน้ำคลองขุนราชพินิจใจ กำลังสูบ 30 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สถานีสูบน้ำคลองลูกวัว กำลังสูบ 6 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สถานีสูบน้ำคลองเชิงตาแพ กำลังสูบ 2 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

และประตูระบายน้ำจำนวน 8 แห่ง ได้แก่ ปตร.คลองหัวกระบือ ปตร.คลองรางยายคง ปตร.คลองรางยายเพียร ปตร.คลองแยกคลองเชิงตาแพ ปตร.คลองรางโพธิ์ ปตร.คลองบุญสุข ปตร.คลองรางสะแก ปตร.คลองนา

นอกจากนี้ ยังมีประตูระบายน้ำที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดสมุทรปราการจำนวน 3 แห่ง

ทั้งนี้ โครงการแก้มลิงดังกล่าวมีคณะกรรมการ ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำ และประชาชนในพื้นที่ เป็นกรรมการซึ่งเป็นการบริหารรูปแบบใหม่ ของสำนักการระบายน้ำ ที่ให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการกำหนดแผนต่างๆ การประเมินสถานการณ์น้ำ ตลอดจนการแจ้งเตือนภัย ประโยชน์ทั้งหมดจะเกิดแก่ประชาชนโดยรวม

903_4

__________

สำหรับการบริหารจัดการน้ำในโครงการแก้มลิงนั้น โครงการชลประทานสมุทรสาคร ได้ดำเนินการบริหารจัดการน้ำโครงการแก้มลิง คลองมหาชัย-คลองสนามชัย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดังนี้

1. ช่วงน้ำปกติ จะปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ โดยการเปิดประตูระบายน้ำทั้ง 10 แห่ง เพื่อรับน้ำคุณภาพดีจากทะเลเข้ามาหมุนเวียนในระบบแก้มลิง ส่วนประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำคลองมหาชัยจะมีหน้าที่บริหารจัดการน้ำเป็นหลัก ส่วนใหญ่จะเปิดประตูระบายน้ำตลอด

ยกเว้นกรณีเมื่อน้ำทะเลหนุนสูงจะทำการปิดประตูระบายน้ำลง เมื่อน้ำทะเลไหลลงจะเปิดประตูระบายน้ำเพื่อระบายน้ำในคลองมหาชัยออกสู่ทะเล เป็นการหมุนเวียนน้ำให้มีคุณภาพดีขึ้น เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย ให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน

2. ช่วงน้ำหลาก จะมีการปิดประตูระบายน้ำทั้ง 10 แห่ง ในระบบแก้มลิงของกรมชลประทานในเขตจังหวัดสมุทรสาครทั้งหมด โดยมีการบริหารจัดการน้ำที่ประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำคลองมหาชัยเป็นหลัก เมื่อระดับน้ำทะเลลดลง จะเปิดประตูระบายน้ำเพื่อระบายน้ำในคลองมหาชัยออกสู่ทะเล โดยระบบแรงโน้มถ่วงของโลก (Gravity Flow) ตามธรรมชาติ

เมื่อระดับน้ำทะเลสูงกว่าระดับน้ำในลำคลองให้ทำการปิดประตูระบายน้ำ และใช้เครื่องสูบน้ำพลังงานไฟฟ้าขนาดกำลังสูบเครื่องละ 3 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จำนวน 12 เครื่อง รวมทั้งสิ้น 36 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สูบน้ำออกจากคลองมหาชัย เป็นการพร่องน้ำภายในระบบแก้มลิง เพื่อจะได้ทำให้น้ำตอนบนค่อย ๆ ไหลมาเติมตลอดเวลา ส่งผลให้ปริมาณน้ำท่วมพื้นที่ลดน้อยลง

903_5

โครงการแก้มลิง นับเป็นนิมิตรหมายอันเป็นสิ่งที่ชาวไทยทั้งหลายได้รอดพ้นจากทุกข์ภัยที่นำความเดือดร้อนแสนลำเค็ญมาสู่ชีวิตที่อบอุ่นปลอดภัย ซึ่งแนวพระราชดำริอันเป็นทฤษฎีเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านน้ำท่วมนี้ มีพระราชดำริเพิ่มเติมว่า “…ได้ดำเนินการในแนวทางที่ถูกต้องแล้ว ขอให้รีบเร่งหาวิธีปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพต่อไป เพราะโครงการแก้มลิงในอนาคตจะสามารถช่วยพื้นที่ได้หลายพื้นที่…”

แม้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 นำมาซึ่งความโศกเศร้าของพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า โครงการแก้มลิงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นอีกหนึ่งโครงการพระราชดำริที่สำคัญ นำมาเพื่อประโยชน์สุขแก่พสกนิกรชาวจังหวัดสมุทรสาคร และพื้นที่ใกล้เคียง

โดยเฉพาะพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ ได้รอดพ้นและบรรเทาความเสียหายอันเนื่องมาจากวิกฤตมหาอุทกภัย เฉกเช่นปี พ.ศ. 2554 พื้นที่ตัวเมืองชั้นในของจังหวัดสมุทรสาครได้รอดพ้นจากน้ำท่วมไปได้

ปวงข้าพระพุทธเจ้า ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้.

__________

แหล่งที่มาข้อมูล (สืบค้นเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2559)

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%81%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2_%E0%B8%9E.%E0%B8%A8._2538

http://www.rid.go.th/royalproject/index.php?option=com_content&view=article&id=479:2009-11-04-03-30-11&catid=57:2009-05-04-07-27-55&Itemid=7

http://km.rdpb.go.th/Project/View/6634

http://www.samutsakhon.go.th/2014-01-04-19-08-26/2014-01-05-07-47-34



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง