ค่าแรง 310 บาท พอยาไส้ไหม?

2955

1 มกราคม 2560 เป็นวันที่คณะกรรมการค่าจ้าง บังคับใช้ประกาศอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งขึ้นค่าจ้างจากเดิม 300 บาททั่วประเทศ เป็น 305-310 บาท ใน 69 จังหวัด หลังจากไม่ได้ปรับขึ้นมา 4 ปี

โดย จ.สมุทรสาคร จะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ จากเดิม 300 บาท เป็น 310 บาท เช่นเดียวกับ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ นครปฐม และ ภูเก็ต

ค่าจ้างขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้น อาจเรียกได้ว่า เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ใช้แรงงาน โดยเฉพาะ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เสนอปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 360 บาทเท่ากันทั่วประเทศ

ที่ผ่านมา คสรท. สำรวจข้อมูล พบว่า ค่าครองชีพในชีวิตประจำวัน ทั้งค่าสาธารณูปโภค บริโภคของแรงงานทุกจังหวัด รวมกันแล้วสูงกว่า 360 บาทต่อวัน

ไม่ว่าจะเป็น ค่าอาหาร และเครื่องดื่ม มื้อเช้าเฉลี่ย 44 บาทต่อวัน มื้อกลางวันเฉลี่ย 42 บาทต่อวัน และมื้อเย็นเฉลี่ย 67.50 บาทต่อวัน ค่าเดินทาง หรือค่าน้ำมันเฉลี่ย 65.50 บาทต่อวัน

ค่าเสื้อผ้า รองเท้าเฉลี่ย 36.87 บาทต่อวัน ค่าน้ำประปาเฉลี่ย 10 บาทต่อวัน ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 36.56 บาทต่อวัน ค่าโทรศัพท์เฉลี่ย 30.13 บาทต่อวัน ค่าผงซักฟอก สบู่ ยาสีฟัน เฉลี่ย 28.16 บาท

เบ็ดเสร็จรวมกันแล้วตกอยู่ที่ 360.72 บาทต่อวัน

ในปัจจุบัน แรงงานส่วนใหญ่มักจะมีรายได้จากการทำงาน เพียงวันละ 300 บาท และรับจ้างทั่วไปในบางวัน รวมประมาณ 9,000 บาทต่อเดือน จึงแทบจะไม่พอใช้จ่ายในครอบครัว

กลับมาที่ฝ่ายของนายจ้าง ทันทีที่ผู้ใช้แรงงานออกมาเรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำสูงถึง 60 บาทต่อวัน ทำให้เกิดปฏิกิริยาคัดค้านจากสภาองค์กรนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทยทันที

อ้างว่าจะผลักดันแรงงานต่างด้าวเกือบ 3 ล้านคนลักลอบมาค้าแรงงานในไทยมากขึ้น ขณะเดียวกัน ธุรกิจเอสเอ็มอี ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำมากที่สุด เพราะธุรกิจขาดทุนจนต้องปิดกิจการเพิ่มขึ้น

การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ควรยึด 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจ ภาวะเงินเฟ้อ และ ความสามารถในการจ่ายค่าจ้างในแต่ละพื้นที่ ซึ่งในปีนี้การส่งออกติดลบ และปีหน้ายังคาดเดาไม่ได้

ด้านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เห็นควรว่า ควรปรับขึ้นตามทักษะฝีมือและในแต่ละพื้นที่ ที่ผ่านมานโยบายค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ ทำให้นักลงทุนต่างจังหวัดปิดกิจการ และย้ายมาส่วนกลางเกือบทั้งหมด

2955-2

ขณะที่คณะกรรมการค่าจ้าง ได้เห็นชอบอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน อีก 12 สาขา ในอัตราตั้งแต่ 385-550 บาทต่อวัน ในมาตรฐานฝีมือ 2 ระดับ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ประมาณต้นเดือนมีนาคม 2560

ส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ อุตสาหกรรมจักรกลและโลหะการ เริ่มต้นที่ ช่างเทคนิคเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ ระดับ 1 จำนวน 385 บาทต่อวัน อัตราสูงสุด คือ ช่างเทคนิคไฮโดรลิกระดับ 2 จำนวน 550 บาท (ระดับ 1 จำนวน 460 บาท)

อีกด้านหนึ่ง ยังมีมติเห็นชอบให้กำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ปี 2560 เพิ่มอีก 16 สาขา ใน 4 กลุ่ม ได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และอุตสาหกรรมรองเท้า

ต้องดูกันต่อไปว่าจะกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำไว้อย่างไร

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นตามมาหลังการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ คือ ราคาสินค้าที่จะเพิ่มสูงขึ้น แม้ทางภาครัฐจะพยายามอ้างว่า การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำกระทบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

แต่เอาเข้าจริง ราคาสินค้าจะค่อยๆ ขึ้นอย่างแนบเนียน โดยเฉพาะสินค้าที่ไม่ได้มีการบังคับให้ขายในราคาที่ตายตัว เช่น อาหารตามสั่ง ข้าวราดแกง หลังผ่านไปสักระยะ ราคาก็จะปรับสูงขึ้น

แม้ค่าแรงเที่ยวนี้จะปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดแค่สัปดาห์ละ 60 บาท หรือเดือนละไม่กี่ร้อยบาทก็ตาม



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง