อวสาน บขส.มหาชัย หนึ่งในซากป่าช้า ‘ทะเลไทย’

ในที่สุดสถานีขนส่งผู้โดยสารสมุทรสาครแห่งใหม่ ด้านหลังตลาดทะเลไทย ถนนพระราม 2 กม.29 ก็มีทีท่าว่าจะปิดฉากลงในเร็วๆ นี้ หลังจากที่ผ่านมาเปิดให้บริการมานานกว่า 3 ปี แต่มีรถประจำทางเข้าเทียบชานชาลาเพียงแค่ 2 สายเท่านั้น ท่ามกลางปัญหาการจราจรติดขัดในตัวเมืองมหาชัย และรถตู้เถื่อนมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ ยังเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก

เรื่องนี้ถูกเปิดเผยออกมาจาก “ปรีชา ศิริแสงอารำพี” ประธานสหกรณ์ประมงมหาชัย ในฐานะผู้ดูแลสถานีขนส่งสมุทรสาคร ระบุว่าเตรียมปรึกษาทนายความเข้าเจรจากับทางสำนักงานขนส่งจังหวัดสมุทรสาคร และกระทรวงคมนาคม เพื่อยกเลิกสถานีขนส่งผู้โดยสารสมุทรสาคร

“ผมยอมรับน่าเสียดายที่ร่วมลงทุนกับหุ้นส่วนทั้งเงินและที่ดิน 40-50 ล้านบาท แต่มาประสบปัญหาการละเลยละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ปล่อยให้มีรถเถื่อนวิ่งเกลื่อนเมือง ทำให้ถนนมหาชัยแออัดไร้ระเบียบ ผมเสียใจไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ชาวสมุทรสาครได้”

ก่อนหน้านี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร “วัลลภ พริ้งพงษ์” มอบหมายให้รองผู้ว่าฯ สมุทรสาคร “สุริยะ ประสาทบัณฑิตย์” เรียกประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งจัดระบบรถสองแถวจำนวน 30 เส้นทาง รถตู้ป้ายดำ 10 ท่ารถ โดยคณะทำงานกำหนดจุดจอดหรือศาลาพักผู้โดยสาร 29 จุด เพื่อหมุนเวียนลดปัญหาแออัด และสร้างระเบียบจราจร

ถึงกระนั้น “สุริยะ” ยังออกมายอมรับว่า เกิดความล่าช้าในหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งปัญหาจราจรติดขัดเป็นหนึ่งในนโยบายพัฒนาจังหวัดอยู่แล้ว เรื่องร้องเรียนที่เข้ามาก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ต่อไปนี้จะจัดระเบียบรถประจำทางบูรณาการ โดยจัดวางระบบก่อนเดินหน้าผลักดันเข้าระบบสถานีขนส่งมหาชัย

ขณะเดียวกัน ยังมีเสียงสะท้อนจาก “ปรีชา” กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ได้เกิดปัญหาปล่อยรถเถื่อนวิ่งเกลื่อนมหาชัย ทำให้แออัดไร้ระเบียบ และก็ไม่มีรถโดยสารวิ่งเข้าจอดในสถานีขนส่ง ตนเสียความรู้สึกมาก จังหวัดเองก็มีสถานีขนส่งนานแล้ว ซึ่งได้ยืนยันสำหรับรถโดยสาร หรือรถตู้ให้เข้าจอดในสถานีขนส่งได้ฟรีโดยไม่มีการเก็บเงินค่าหัวคิวแต่อย่างใด

เสียงที่ออกมาราวกับถอดใจของปรีชา กับปัญหารถโดยสารที่สร้างภาระให้กับเมืองมหาชัย อะไรคือสาเหตุที่แท้จริง และอะไรคือทางออกต่อปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าแนวทางในการยกเลิกสถานีขนส่งผู้โดยสารสมุทรสาคร ย่อมเป็นแนวทางที่หลายฝ่ายไม่อยากให้เกิดขึ้น

• • •

ในอดีต รถโดยสารประจำทางทั้งจากกรุงเทพมหานคร รวมทั้งอำเภอและจังหวัดใกล้เคียง เช่น อ.บ้านแพ้ว, จ.นครปฐม, จ.สมุทรสงคราม ต่างมาจอดรวมกันที่สถานีขนส่งผู้โดยสารสมุทรสาคร ซึ่งได้เช่าที่ดินบริเวณฝั่งตรงข้ามโรงพยาบาลมหาชัย และภัตตาคารนิวรสทิพย์ มาอย่างเนิ่นนาน

ขณะเดียวกัน หลังรถประจำทางออกจากท่ารถแล้ว ส่วนใหญ่จะเข้ามาแวะรับ-ส่งผู้โดยสารบริเวณใจกลางเมืองสมุทรสาคร โดยเฉพาะบริเวณท่าเรือเทศบาล จะเป็นจุดจอดรถประจำทางที่สำคัญ ก่อนเดินทางไปสู่จุดหมายปลายทางในที่ต่างๆ

ที่ผ่านมา จังหวัดสมุทรสาครเคยมีรถประจำทางเส้นทางที่สำคัญ ได้แก่ รถประจำทางสาย 85 กรุงเทพฯ (สายใต้เก่า)-สมุทรสาคร, สาย 402 นครปฐม-สมุทรสาคร ทั้งสองเส้นทางเข้าเมืองกระทุ่มแบน ก่อนไปออกถนนเพชรเกษมที่สามแยกอ้อมน้อย

สาย 980 กรุงเทพฯ (สายใต้เก่า)-สมุทรสาคร ใช้เส้นทางถนนพระราม 2 ไปออกบางปะแก้ว, สาย 481 สมุทรสาคร-สมุทรสงคราม ใช้เส้นทางถนนพระราม 2 ไปจังหวัดสมุทรสงคราม

ส่วนรถประจำทางที่แวะรับ-ส่งผู้โดยสารในตัวเมืองสมุทรสาคร ก่อนไปยังจุดหมายปลายทาง ได้แก่ รถประจำทางสาย 972 กรุงเทพฯ (หมอชิต)-สมุทรสงคราม ใช้เส้นทางถนนเศรษฐกิจ ไปออกถนนเพชรเกษมที่สามแยกอ้อมน้อย เข้าถนนพุทธมณฑลสาย 4 ถนนบรมราชชนนี ถนนกาญจนาภิเษก และถนนรัตนาธิเบศร์ ส่วนสาย 976 กรุงเทพฯ (สายใต้เก่า)-สมุทรสงคราม ใช้เส้นทางถนนพระราม 2 เช่นเดียวกับสาย 980

อย่างไรก็ตาม ผลพวงจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งรถตู้บริการที่เกิดขึ้น เริ่มจากสายฟิวเจอร์พาร์ค บางแค ก่อนที่จะมีเส้นทางอื่นๆ เช่น อนุสาวรีย์ชัย พาต้าปิ่นเกล้า หมอชิตใหม่ ฯลฯ ทำให้เกิดการแย่งผู้โดยสาร

จนในที่สุดผู้ประกอบการรถประจำทางหลายแห่งจำต้องถอดใจขอหยุดการเดินรถ เฉกเช่นรถประจำทางสาย 85 ที่ปัจจุบันเปลี่ยนเส้นทางชีวิตกลายเป็นกลุ่มรถตู้ 85 ประกอบการเดินรถตู้โดยสารระหว่างกระทุ่มแบน-พุทธมณฑลสาย 4-พาต้าปิ่นเกล้า จนถึงปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน รถประจำทางเส้นทางที่ทับซ้อนกัน เฉกเช่นสาย 980 ที่ใช้เส้นทางเดียวกับสาย 976 จำต้องโบกมือลาเช่นกัน แทนที่ด้วยรถประจำทาง ขสมก. สาย ปอ.68 จากบางลำภูขยายเส้นทางไปยังตัวเมืองสมุทรสาคร เกิดขึ้นเมื่อปี 2548 จากเดิมหมดระยะเพียงแค่มหาชัยเมืองใหม่ รวมทั้งรถประจำทางสาย 120 ที่เกิดขึ้นตามมาติดๆ

และภายหลังสาย 976 จากแม่กลอง แปลงสภาพมาเป็นรถตู้ บขส.อย่างถูกกฎหมายเข้ามาแทน ส่วนสาย 972 ปัจจุบันให้เอกชนนำรถโดยสารประจำทางขนาดเล็กเข้ามาวิ่ง แทนรถประจำทางปรับอากาศขนาดใหญ่ แต่ได้ลดเที่ยววิ่งน้อยลง

ปัจจุบันมีจุดขึ้นรถประจำทางที่นิยมประกอบด้วย จุดกลับรถหน้าท่าเรือเทศบาล, หน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร โดยส่วนมากจะขึ้นรถสองแถวที่มีหลายสิบสาย รถประจำทางสาย 972 และ 402 ส่วนถนนเอกชัย บริเวณสี่แยกไฟแดงมหาชัย จะรอขึ้นรถสองแถวสายตลาดปิ่นทอง สาย ปอ.68 ไปบางลำภู สาย ปอ.7 ไปหัวลำโพง และสาย 120 ไปท่าน้ำคลองสาน

ส่วนท่ารถตู้ในปัจจุบันได้แก่ สายห้างพาต้าปิ่นเกล้า สายอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และสายหมอชิตใหม่ บริเวณปากซอยบ้านเช่า, สายบางนา-แม่กลอง บริเวณถนนสรศักดิ์ ข้างสถานีตำรวจภูธรเมืองสมุทรสาคร, สายบางปะแก้ว สายนครปฐม สาย ม.กรุงเทพ (รังสิต) บริเวณข้างวิทยาลัยเทคนิคสมุทรสาคร, สายบางแค บริเวณถนนราษฏร์บรรจบ หน้าศาลจังหวัดสมุทรสาคร และรถตู้ บขส.สายแม่กลอง-สายใต้ใหม่ และแม่กลอง-อนุสาวรีย์ชัย บริเวณท่าเรือเทศบาล

• • •

สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดสมุทรสาครแห่งใหม่ เป็นโครงการที่เกิดขึ้น หลังการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของตลาดทะเลไทย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2545 ใช้งบประมาณก่อสร้างกว่า 10 ล้านบาท ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือนตุลาคม 2550 และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2551 ก่อนที่สถานีขนส่งเดิมบริเวณหน้าโรงพยาบาลมหาชัย ที่ บขส.ได้เช่าที่ดินเอาไว้จะถูกยกเลิก

การเกิดขึ้นของสถานีขนส่งแห่งใหม่ คนในพื้นที่ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอยู่ไกลจากตัวเมืองเกินไป ไม่มีรถประจำทางเข้าเมืองรองรับ ต้องออกไปโบกรถข้างนอกเอาเอง

นอกจากนี้ ความน่าสงสัยของสถานีขนส่งแห่งใหม่อีกประการหนึ่งก็คือ สหกรณ์การประมงมหาชัยซึ่งเป็นเจ้าของตลาดทะเลไทย ต้องการที่จะดึงดูดผู้คนให้เข้ามายังตลาดทะเลไทยมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อราคาที่ดินในย่านนั้น มากกว่าที่จะคำนึงถึงความสะดวกสบายในการเดินทาง ทั้งต่อตัวผู้โดยสารเอง และต่อผู้ประกอบการเดินรถ

ถึงกระนั้นหากมองกันในความเป็นจริง นอกเสียจากเป็นพื้นที่ซื้อ-ขายสัตว์น้ำเหมือนสะพานปลาทั่วไปแล้ว จะพบว่าการค้าขายในตลาดทะเลไทยไม่คึกคัก สภาพเงียบราวกับป่าช้า

โดยเฉพาะอาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ปิดเงียบ ร้านค้ารายย่อยเป็นไปอย่างเงียบเหงา จะคึกคักขึ้นมาบ้างก็ต่อเมื่อทางจังหวัดจัดอีเวนท์ต่างกรรมต่างวาระ เช่น งานสมุทรสาครเอ็กซ์โป งานมหาชัยซีฟู้ดส์ ฯลฯ เท่านั้น

เมื่อสถานีขนส่งแห่งใหม่อยู่ห่างไกลจากตัวเมืองมากเกินไป ประกอบกับวิถีชีวิตของผู้คนในจังหวัด นิยมมาขึ้นรถโดยสารเข้ากรุงเทพฯ โดยเฉพาะรถตู้ป้ายดำในตัวเมืองสมุทรสาครเป็นหลัก ไม่นับรวมจังหวัดภาคใต้ที่มีร้านอารีย์สาคร บริเวณสี่แยกไฟแดงก่อนถึงโรงพักเป็นจุดจองตั๋วโดยสารและขึ้นรถในช่วงเย็นของทุกวัน

ทำให้สภาพปัจจุบันของสถานีขนส่งแห่งนี้ เป็นเพียงแค่จุดพักรถประจำทางสายสมุทรสาคร-บ้านแพ้ว และรถสองแถวสายสมุทรสาคร-ปิ่นทอง ก่อนจะเข้ามาแวะรับ-ส่งผู้โดยสารในตลาดเท่านั้น

ที่ผ่านมา สถานีขนส่งผู้โดยสารสมุทรสาคร ประสบปัญหาขาดทุน ต้องเสียค่าโสหุ้ยสูง ปัจจุบันเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลเดือนละ 75,000 บาท โดย “ปรีชา” ยอมรับว่า น่าเสียดายที่ร่วมลงทุนกับหุ้นส่วนทั้งเงินและที่ดิน 40-50 ล้านบาท

แม้จะอ้างว่าประสบปัญหาการละเลยละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ปล่อยให้มีรถเถื่อนวิ่งเกลื่อนเมือง แต่ปัญหาสถานีขนส่งแห่งใหม่ที่จะปิดตัวลงในเร็ววันนี้ แท้ที่จริงยังมีแนวทางปฏิบัติกลับพบว่าผิดพลาดนับตั้งแต่สถานที่ตั้ง

หากมองแบบผิวเผินจะเห็นว่าไม่ไกลจากตัวเมืองมากนัก แต่เมื่อลองขับรถจากหน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร จะเห็นว่าต้องเสียเวลาไปกลับรถ รวมกันแล้วห่างจากตัวเมืองสมุทรสาครกว่า 4 กิโลเมตร

นอกจากนี้ในกรณีที่เป็นรถใหญ่ ซึ่งกลับรถที่ใต้สะพานท่าจีนลำบาก ต้องไปกลับรถไกลถึงนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร เบ็ดเสร็จแล้วเฉพาะขาไปใช้ระยะทางมากถึง 11 กิโลเมตรเลยทีเดียว

ไม่นับรวมเที่ยวกลับเข้าตัวเมืองสมุทรสาคร เมื่อวัดระยะทางถึงเพียงแค่สี่แยกไฟแดงหน้าโรงพัก กินระยะทางกว่า 4 กิโลเมตร ที่ผ่านมาเคยมีรถปรับอากาศทั้ง ปอ.68 และ ปอ.7 เคยวิ่งรับ-ส่งผู้โดยสารเข้าไปในตลาดทะเลไทย

แต่กลับพบว่านอกจากต้องย้อนไปตั้งไกลแล้ว เที่ยวกลับยังต้องย้อนไปอีก 5 กิโลเมตร เพื่อเข้ามาที่ต้นถนนเอกชัยอีกรอบ ก่อนจะรับ-ส่งผู้โดยสารจนถึงสี่แยกไฟแดง เบ็ดเสร็จกินระยะทางราว 7 กิโลเมตร  เรียกง่ายๆ เฉพาะค่าแก๊สนับว่าไม่คุ้มแล้ว ถ้าเป็นค่าน้ำมันดีเซลบอกได้คำเดียวว่ากระอักเลือด

สถานีขนส่งแห่งใหม่ในตลาดทะเลไทย ที่จะกลายเป็นตำนานในเร็ววันนี้ ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า การพัฒนาโดยปราศจากการรองรับอย่างรอบด้าน เพียงเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนเท่านั้น มักจะมีบทเรียนให้เห็นอยู่เสมอในช่วงวิกฤตฟองสบู่แตกเมื่อปี 2540

หากแต่ปัญหาที่แท้จริงไม่ใช่เพราะภาวะเศรษฐกิจ แต่ปัญหาเกิดขึ้นจากการจัดการที่ล้มเหลว และคาดหวังในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ผลที่สุดคงกลายเป็นเพียงแค่ซากของอาคารร้างมูลค่า 40-50 ล้านบาทที่ไม่มีประโยชน์อันใดเท่านั้น



2 ความคิดเห็น เรื่อง “อวสาน บขส.มหาชัย หนึ่งในซากป่าช้า ‘ทะเลไทย’”

  1. จากิ กล่าวว่า:

    ก.ย. 28, 11 at 10:56 am

    เดียวนี้ 972 ไม่วิ่งแล้วเปลี่ยนมาเปนรถตู้แล้ว แบบว่าเดือดร้อน ไม่พอกับผู้โดยสาร ทามไมถึงทำอย่างนั้น อยากรู้

  2. ช.ชัยมงคล กล่าวว่า:

    ต.ค. 24, 11 at 3:15 pm

    จุดกลับรถถนนพระราม2 ตรงปั๊มเจ๊ทและตรงเดอะปาร์คกลับรถยากมาก


แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง