เทคโอเวอร์ยักษ์ยุโรป บทเรียนยูนิคอร์ด-บทพิสูจน์’ไทยยูเนี่ยน’วันนี้

กรณีที่ บริษัท ไทยยูเนียน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ทียูเอฟ เตรียมทุ่มเงินลงทุนกว่า 680 ล้านยูโร หรือประมาณ 2.85 หมื่นล้านบาท ซื้อกิจการ MW Brands ผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารทะเลบรรจุกระป๋องแบบครบวงจรในยุโรป กลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์ธุรกิจหลายฉบับ สร้างความตกตะลึงให้กับธุรกิจแปรรูปอาหารทะเลเป็นอย่างยิ่ง

ขณะเดียวกัน หุ้นทียูเอฟที่มีราคาคงเส้นคงวาเพิ่มขึ้น จากเดิมยืนอยู่ที่ระดับ 46.75 บาท ลดลง 1 บาท หรือ 2% มูลค่าการซื้อขาย 245 ล้านบาท พุ่งสูงขึ้นจนกระทั่งปิดตลาดมาอยู่ที่ 50 บาท เพิ่มขึ้น 3.25 บาท หรือ 6.97% มูลค่าซื้อขาย 841.43 ล้านบาท สูงกว่าที่เคยมีอยู่เดิมอีกเท่าตัว

สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนต่างรู้สึกหวือหวาไปกับข่าวที่เกิดขึ้น และรอลุ้นถึงการเทคโอเวอร์ยักษ์ใหญ่จากยุโรปในครั้งนี้

แต่เมื่อ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศเครดิตพินิจ (Credit Alert) ซึ่งเป็นขั้นตอนการทบทวนอันดับเครดิตที่ทริสเรตติ้งประกาศผลต่อสาธารณะไปแล้ว ในกรณีเมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญที่อาจจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจหรือการเงินของหน่วยงานที่ทริสเรตติ้งจัดอันดับ

ซึ่งกับข่าวการดีลยักษ์ยุโรปของไทยยูเนียนฯ มีแนวโน้ม “ยังไม่ชัดเจน” (Developing) ให้แก่อันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกัน ทำเอาราคาหุ้นทียูเอฟในวันศุกร์สุดสัปดาห์มีราคาลดลงมาเป็น 49.25 บาท ลดลง 0.75 บาท หรือ 1.50% มูลค่าการซื้อขาย 312.368 ล้านบาท

MW Brands เป็นผู้ผลิตอาหารทะเลบรรจุกระป๋อง ซึ่งประกอบธุรกิจอาหารทะเลแบบครบวงจร โดยมีทั้งกองเรือจับปลา โรงงานผลิต และช่องทางจัดจำหน่ายในตลาดยุโรป เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าชั้นนำ ได้แก่ Petit Navire, John West, Mareblu และ Hyacinthe Parmentier ยอดขายจากผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องคิดเป็น 73% ของยอดขายรวม

มีโรงงานหลักอยู่ที่ประเทศเซเชลส์และกานา มีตลาดหลักในประเทศฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี ไอร์แลนด์ และเนเธอร์แลนด์ ผู้ถือหุ้นของบริษัท คือ Triatlantic Capital Partners ซึ่งเป็นกองทุนเอกชน ณ สิ้นปีบัญชีเดือนมี.ค.2553 บริษัทมียอดขายรวม 448.2 ล้านยูโร ในขณะที่สินทรัพย์รวมมีมูลค่า 559.4 ล้านยูโร

ดูเหมือนว่าการออกประกาศของทริส จะเป็นการส่งสัญญาณเตือนแบบ “เบาะๆ” ถึงการลงทุนครั้งใหม่ และใหญ่ในรอบปีของไทยยูเนี่ยนฯ เนื่องจากการใช้แหล่งเงินทุนในการซื้อกิจการจาก “เงินกู้ยืม” เป็นหลัก ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างทำสัญญาเงินกู้ต่างกัน

ด้านหนึ่งไทยยูเนี่ยนฯ จะกู้เงินจำนวน 358 ล้านยูโรฯ กับธนาคารในประเทศไทย และ MW Brands จะทำสัญญาเงินกู้อีก 340 ล้านยูโรกับธนาคารในต่างประเทศ เพื่อซื้อกิจการมูลค่ารวม 658 ล้านยูโร

ในส่วนของแหล่งเงินทุนจากหุ้นสามัญ บริษัทจะออกหุ้นกู้แปลงสภาพมูลค่า 60 ล้านยูโรและจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนอีกจำนวน 65 ล้านหุ้น ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมและบุคคลอื่นในวงจำกัด เงินที่ได้จากหุ้นกู้แปลงสภาพและหุ้นสามัญจะนำไปใช้ลดหนี้เงินกู้เพื่อให้เงินทุนที่จัดหาได้รวมอยู่ที่ประมาณ 700 ล้านยูโร

อย่างไรก็ตาม ทริสยังมองในแง่ดีว่า หากไทยยูเนี่ยนฯ แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการรักษากระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ และลดภาระหนี้ได้ในระยะปานกลาง อันดับเครดิตอาจไม่เปลี่ยนแปลง โดยทริสเรทติ้งจะระงับเครดิตพินิจ พร้อมทั้งประกาศทบทวนผลอันดับเครดิตของบริษัท เมื่อเงื่อนไขในการซื้อกิจการเสร็จสมบูรณ์ และทริสเรทติ้งได้ทำการวิเคราะห์อย่างละเอียดถึงผลกระทบจากการลงทุนดังกล่าวแล้ว

ในทางตรงกันข้าม หากสถานะทางการเงินของไทยยูเนี่ยนฯ หลังการซื้อกิจการ MW Brands อ่อนแอกว่าที่ได้คาดไว้ และต้องใช้ระยะเวลานานเพื่อปรับโครงสร้างทางการเงินให้กลับมาแข็งแกร่งดังเดิม อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลง

สะท้อนให้เห็นถึงความน่าเป็นห่วงในการทุ่มเงินมหาศาล เพื่อซื้อกิจการผู้ผลิตอาหารทะเลบรรจุกระป๋องครบวงจรในยูโรป โดยมุ่งหวังที่จะเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายปลาทูน่ากระป๋องเบอร์หนึ่งของโลก ด้วยกำลังผลิต 5 แสนตันต่อปี และหากทำกำไรมหาศาล จะกลายเป็นบริษัทผลิตอาหารทะเลรายใหญ่ที่สุดของโลก

อาจเปรียบได้ว่า เมื่อคิดการใหญ่ ก็ต้องมีความเสี่ยงตามมา…

• • •

ก่อนจะมาเป็นไทยยูเนียน โฟร์เซ่น โปรดักส์ หากเริ่มจากก้าวแรก ก็ต้องเกิดขึ้นมาจาก ไกรสร จันศิริ

ในปี 2508 เขาก่อตั้งบริษัทนำเข้าสีพ่นรถยนต์ ยาขัดเงารถจากต่างประเทศ และเปิดอู่ซ่อมรถยนต์ เป็นกิจการแรกในชีวิต ต่อมาได้เปิดร้านขายผ้าที่สำเพ็ง กทม. เมื่อปี 2516 จวบจนกระทั่งตัดสินใจประกอบกิจการแพกุ้งและแพปลาส่งออกต่างประเทศ หลังลงทุนศึกษาธุรกิจส่งออกกุ้งเมื่อคราวที่เพื่อนของไกรสรเขียนจดหมายวานให้ช่วยหากุ้งแช่แข็งส่งไปให้ที่ฮ่องกง

เมื่อมีเพื่อนๆ ชักชวนให้ไปซื้อโรงงานปลาทูน่าที่มหาชัย จึงได้ก่อตั้ง บริษัท ไทยรวมสินพัฒนาอุตสาหกรรม จำกัด เมื่อปี 2520 โดยมีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท ซึ่งได้มาจากการรวบรวมเงินของเพื่อน โดยธุรกิจหลักคือผลิตอาหารทะเลบรรจุกระป๋องมี กุ้ง ปูและปลาทูน่า ส่งออกไปอเมริกา ในช่วงแรกบริษัทเริ่มต้นด้วยจำนวนพนักงาน 120 คน โดยมีกำลังการผลิต 6 เมตริกตันต่อวัน โดยใช้วัตถุดิบจากในประเทศ

ไกรสรได้ให้ “ธีรพงษ์ จันศิริ” ทายาทคนแรกของเขาสืบทอดกิจการ โดยเริ่มจากผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปของไทยรวมสิน กระทั่งได้ก่อตั้งบริษัท ‘ไทยยูเนี่ยน โฟร์เซ่น โปรดักส์’ เมื่อปี 2531 เพื่อขยายไลน์การผลิตจากอาหารทะเลบรรจุกระป๋องให้คลุมถึงการผลิตอาหาร ทะเลแช่แข็ง รวมทั้งธุรกิจนำเข้าส่งออกและแปรสภาพผลิตภัณฑ์อาหาร กระทั่งแปรสภาพผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อการส่งออก และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปลายปี 2537

นอกจากนี้ ไทยยูเนี่ยนฯ ยังสร้างความฮือฮาแก่วงการธุรกิจแปรรูปอาหารทะเล ด้วยการเข้าไปลงทุนในสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งบริษัท ไทร-ยูเนี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล ด้วยการร่วมทุนกับ ไทร-มารีน อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้ค้าปลาทูน่าอันดับหนึ่งของโลก และ เดอะ แกนน แฟมิลี่ ทรัสต์ เจ้าของกองเรือจับปลาในน่านน้ำแปซิฟิก เข้าซื้อโรงงานผลิตปลาทูน่ากระป๋องในรัฐแคลิฟอร์เนีย

ฮือฮามากที่สุดก็คงจะเป็นอีกปีให้หลัง ไทยยูเนี่ยนฯ ร่วมกับพันธมิตรรายเดิมเข้าซื้อกิจการบริษัท แวน แคมป์ ซีฟู้ด ผู้ผลิตปลาทูน่าและแซลมอนบรรจุกระป๋องภายใต้แบรนด์ Chicken of the Sea ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 3 ในสหรัฐอเมริกา

ปัจจุบัน ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป มีบริษัทลูกที่ทำธุรกิจครบวงจร นอกเหนือจากธุรกิจแปรรูปอาหารทะเล ที่มีโรงงานตั้งอยู่ในสมุทรสาครและสงขลาเป็นหลักแล้ว ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ให้กับโรงงานกระป๋องที่ชื่อ “เอเชียน แปชิฟิค แคน” ซึ่งโรงงานอยู่ละแวกใกล้เคียงในพื้นที่มหาชัย มีโรงพิมพ์ สำหรับพิมพ์บรรจุภัณฑ์เป็นของตัวเอง

รวมทั้งยังเข้าไปลงทุนผลิตอาหารทะเลบรรจุกระป๋องในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น อินโดนิเชีย และเวียดนาม

ส่วนไทยรวมสินพัฒนาอุตสาหกรรม ที่บิดาเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัทรุ่นลูกอย่างไทยยูเนี่ยนฯ ก็เข้าไปซื้อกิจการให้มารวมศูนย์เมื่อปี 2542 ซึ่งโรงงานยังนับว่าอยู่ใกล้กันเพียงไม่กี่ก้าว ปัจจุบันไทยรวมสินฯ มีโรงงานอยู่สองฝั่งละแวกถนนเศรษฐกิจ เชิงสะพานคลองครุ

ซึ่งหากข้ามไปยังอีกฝั่งคลอง ที่ตั้งของโรงงานไทยยูเนี่ยนฯ ก็เข้าไปในซอยเพียงไม่กี่เมตรเท่านั้น รวมทั้งโรงงานกระป๋อง เอเชียน แปซิฟิก แคน ก็อยู่เหนือขึ้นไปจากไทยรวมสินเพียงไม่กี่กิโลเมตรเท่านั้น

• • •

เมื่อกล่าวถึงการซื้อยักษ์ใหญ่ในยุโรปเพื่อหวังก้าวสู่ความเป็นหนึ่งในธุรกิจอาหารทะเลของไทยยูเนี่ยนฯ ก็คงต้องย้อนไปถึงสมัยที่ “ยูนิคอร์ด” โรงงานคู่แข่งที่อยู่ในละแวกเดียวกัน เคยสร้างตำนานอันยิ่งใหญ่ แต่ผลที่สุดก็ไปไม่ถึงฝัน พร้อมกับความสูญเสียที่ไม่น่าจดจำ

ยูนิคอร์ดก่อตั้งโดยสองพี่น้อง กมล และ เกียรติ เอี่ยมสกุลรัตน์ ซึ่งภายหลัง กิจจา ก่อนันทเกียรติ เพื่อนเก่าของตระกูลเอี่ยมสกุลรัตน์เข้ามาร่วมลงทุนด้วย โรงงานที่มหาชัยเปิดกิจการเมื่อปี 2521 แรกเริ่มเดิมทีเป็นโรงงานผลิตสับปะรดกระป๋อง ตามความถนัดของตระกูลเอี่ยมสกุลรัตน์ ที่มีโรงงานอยู่แล้วใน อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี

ต่อมา ดำริห์ ก่อนันทเกียรติ บุตรชายของกิจจา เข้ามาดูแลกิจการของยูนิคอร์ดในด้านโรงงานและการตลาด

เมื่อโรงงานยูนิคอร์ดที่ตั้งอยู่มหาชัยห่างไกลจากแหล่งวัตถุดิบ ซึ่งต้องใช้สับปะรดคราวละมากๆ ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งสูง อีกทั้งตลาดสับปะรดกระป๋องไม่ค่อยตอบรับเท่าที่ควร ทำให้ต้องเปลี่ยนมาเป็นโรงงานอาหารทะเลบรรจุกระป๋องเมื่อปี 2527 ซึ่งมหาชัยนับเป็นตลาดอาหารทะเลแหล่งใหญ่ โดยใช้ปลาซาร์ดีนเป็นวัตถุดิบหลัก รวมทั้งผักและผลไม้กระป๋อง

แต่เมื่อประสบปัญหาการบริหารจัดการ และอยู่ในภาวะขาดทุน ทำให้ตระกูลเอี่ยมสกุลรัตน์จำต้องขายหุ้นทั้งหมดให้กับดำริห์เมื่อปี 2530 หลังจากนั้น ยูนิคอร์ดก็เพิ่มทุนครั้งใหญ่จาก 200 ล้านบาทเป็น 400 ล้านบาท

ดำริห์เล็งเห็นความสำคัญของธุรกิจปลาทูน่ากระป๋อง อันเกิดจากผลพวงที่การบริโภคปลาทูน่าในสหรัฐอเมริกามีการขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่ผู้ผลิตลดน้อยลงเพราะไม่สามารถสู้ผู้ผลิตจากประเทศที่มีค่าแรงต่ำ

จึงทำให้ไทยกลายเป็นแหล่งผลิตที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมียูนิคอร์ดเป็นหนึ่งในผู้ผลิตรายใหญ่ แต่เมื่อยูนิคอร์ดเป็นเพียงแค่ผู้ส่งออกที่ไม่มีสินค้าและตลาดของตนเองอย่างแท้จริง เขาจึงต้องคิดการใหญ่ขึ้น

ในที่สุด ยูนิคอร์ดตัดสินใจใช้เงิน 7,300 ล้านบาทซื้อ “บัมเบิ้ล บี ซีฟู้ดส์” บริษัทปลาทูน่ากระป๋องที่ใหญ่และมียอดขายเป็นอันดับสามในอเมริกา เมื่อปี 2532 ต่อมาส่วนแบ่งทางการตลาดในสหรัฐอเมริกาก็เพิ่มขึ้น

แต่เมื่อกลยุทธ์สงครามราคาที่เริ่มต้นจากการตัดราคาของบัมเบิ้ล บี ทำให้คู่แข่งหันมาตอบโต้ กระทั่งบัมเบิ้ล บี ขาดทุน ฉุดงบการเงินยูนิคอร์ดขาดทุนตามมา ยูนิคอร์ดต้องตัดใจขายทรัพย์สินบางส่วนของบับเบิ้ลบี ซีฟู้ด เพื่อนำมาชำระหนี้สินและเพื่อกอบกู้กิจการยูนิคอร์ด

และแล้ว บ่ายวันอังคารที่ 13 มิถุนายน 2538 ดำริห์ ก่อนันทเกียรติ ตัดสินใจยิงตัวตายภายในห้องทำงาน บนชั้น 5 อาคารยูนิคอร์ด ย่านสะพานหัวช้าง กรุงเทพฯ ทิ้งไว้แต่หนี้สิน 7,114,586,601 บาท ให้กับภรรยาอย่าง พรพรรณ ก่อนันทเกียรติ ต้องแบกรับภาระ

ส่วนโรงงานยูนิคอร์ดที่มหาชัยกลายสภาพเป็นความวังเวง กำลังการผลิตจากเดิมที่ทำได้มากถึง 700 ตันต่อวัน ลดลงเหลือวันละ 30 ตัน อย่างไรก็ตาม ด้วยความอดทนของผู้เป็นภรรยา ที่จะต้องสานต่อกิจการที่เต็มไปด้วยหนี้สินนับพันล้านของสามีผู้ล่วงลับ

จากจุดเริ่มต้นที่ศาลล้มละลายอนุมัติให้มีการฟื้นฟูกิจการยูนิคอร์ด เธอพยายามประคับประคองยูนิคอร์ดให้สามารถทำกำไรโดยมุ่งหวังที่จะปลดพันธนาการหนี้สิน ทิ้งไว้เพียงความเจ็บปวดในอดีตที่ต้องสูญเสียคู่ชีวิต จากความผิดพลาดที่เป็นผลมาจากคิดการใหญ่นั่นเอง

• • •

เมื่อหยิบยกกรณีศึกษาจากยูนิคอร์ด กับการเข้าซื้อกิจการ MW Brands ที่จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ แม้มองอย่างผิวเผิน ความเสี่ยงที่จะกู้เงินซื้อกิจการ อาจทำให้นักลงทุนนอกจากต้องลุ้นอย่างใจจดใจจ่อแล้ว ยังต้องหวาดเสียวว่า ที่สุดการตัดสินใจของธีรพงษ์ จะสามารถยืนหยัดความเป็นที่หนึ่งในธุรกิจอาหารทะเลได้อย่างใจหวัง หรือจะต้องม้วนเสื่อกลับบ้านกันแน่

ธีรพงษ์จัดเป็นนักเทคโอเวอร์คนหนึ่งที่ผ่านประสบการณ์ในการซื้อกิจการ ฮือฮามากที่สุดคงจะเป็นแบรนด์ที่ชื่อ ชิคเก้น ออฟ เดอะ ซี ซึ่งอาศัยช่วงเวลาที่บริษัทเหล่านี้ประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจ

ธีรพงษ์เคยกล่าวเอาไว้ว่า ตนใช้ข้อมูลสนับสนุนในการตัดสินใจมากกว่าอารมณ์ และแน่นอนว่าการตัดสินใจเพียงฉาบฉวยย่อมไม่เป็นผลดี ซึ่งที่ผ่านมาไทยยูเนี่ยนฯ ต้องใช้เวลาสร้างฐานไม่ต่ำกว่า 10 ปี

นอกจากนี้ การลงทุนของไทยยูเนี่ยนฯ ในช่วงที่ผ่านมา เป็นไปอย่างระมัดระวังและใช้เวลานานมาก อันเนื่องมาจากธุรกิจที่นี่เป็นระบบครอบครัว จึงต้องพิถีพิถันในการใช้เงินเป็นพิเศษ

โดยเฉพาะกรณีของชิคเก้น ออฟ เดอะ ซี ต้องใช้เวลาตัดสินใจยาวนานถึงหนึ่งปี และธุรกิจปลาทูน่าไม่ได้หวือหวาอย่างรวดเร็วนัก ถึงกระนั้นนักลงทุนก็เชื่อว่า เมื่อผู้บริหารบริหารงานอย่างแข็งแกร่ง คงไม่เกิดปัญหาเฉกเช่นกรณียูนิคอร์ดกับบัมเบิ้ล บี เฉกเช่นในอดีต

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงในการเข้าซื้อหุ้น MW Brands ด้วยเงินกู้ ไทยยูเนี่ยนฯ ต้องแบกรับความเสี่ยงตรงที่หนี้ของกิจการจะเพิ่มขึ้น ราคาหุ้นทั้งทางบัญชีและในตลาดจะลดลง ส่งผลถึงกำไรต่อหุ้นที่ลดลงในระยะสั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก

ไม่นับรวมปัจจัยภายนอกจากภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอตัวลงมา แม้การเข้าซื้อกิจการของ MW Brands จะได้ราคาที่ถูกมาก และกิจการเดิมขาดทุนไม่มากก็ตาม

แต่ถึงกระนั้น หากความฝันในการเทคโอเวอร์ยักษ์ยุโรป เพื่อครองตำแหน่งผู้ผลิตอาหารทะเลรายใหญ่ที่สุดในโลกของธีรพงษ์ ประสบความสำเร็จ จะกลายเป็นความภาคภูมิใจที่ธุรกิจไทยยืนหยัดบนเวทีโลก ซึ่งหากไม่นับรวมกระทิงแดงของเฉลียว อยู่วิทยา ก็จะเห็นว่ามีธุรกิจไทยน้อยรายนักที่ก้าวไปถึงตรงจุดนี้ได้

รวมทั้งยังสามารถนำไปเป็นกรณีศึกษา ที่เรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีตของยูนิคอร์ด กับแนวโน้มที่คาดว่าจะประสบความสำเร็จของไทยยูเนี่ยนฯ ว่าจะผสมผสานบทเรียนเหล่านี้แก่นักธุรกิจรุ่นใหม่ๆ กันอย่างไร



6 ความคิดเห็น เรื่อง “เทคโอเวอร์ยักษ์ยุโรป บทเรียนยูนิคอร์ด-บทพิสูจน์’ไทยยูเนี่ยน’วันนี้”

  1. จดทะเบียนบริษัท กล่าวว่า:

    ม.ค. 07, 11 at 6:55 am

    บทความโดนใจมากค่ะ ขอบคุณนะคะ
    กำลังหาอยู่พอดี

  2. a กล่าวว่า:

    เม.ย. 20, 11 at 10:44 am

    ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ และมีความรู้มากๆ ค่ะ

  3. นาถนารี กล่าวว่า:

    ก.ค. 15, 11 at 8:14 am

    กำลังหาข้อมูลเกี่ยวกับบริษัททูน่า เนื่องจากทำโรงงานทูน่าอยู่ แอบอิจฉาพนักงานของไทยรวมสินตลอด อยากเป็นส่วนหนึ่งของทีมงาน แต่คงเป็นไปได้ยากเราไม่มีความรู้สูง มีแต่ประสบการณ์30 ปี
    สมัยนี้วัดกันที่ปริญญาซะด้วย เคยอ่านบทสัมภาษณ์คุณธี แนวคิดและการจัดการโดนใจมากเลย ไม่แปลกใจที่บริษัทรุ่งเรืองตลอด

  4. พัชราพร กล่าวว่า:

    ก.ค. 29, 12 at 9:41 pm

    ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆค่ะ

  5. เสก บางปลา กล่าวว่า:

    ม.ค. 12, 13 at 3:49 pm

    ผมเคยทำงานเป็นช่างไทยรวมสิน เสียได้นะครับที่ผมตัดสิ้นใจลาออกตอนนั้น

  6. มหาชัย กล่าวว่า:

    ก.พ. 11, 13 at 2:53 am

    อยากให้โรงงานลดแรงงานพม่าลงจะดีมากคุณทำได้หรือเปล่า…


แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง