9 โครงการ 106 ล้าน

ในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ หรือ ครม.สัญจร ระหว่างวันที่ 19-20 พ.ค. ที่จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดสมุทรสาครได้เสนอโครงการเร่งด่วน 9 โครงการจาก 4 หน่วยงาน รวม 106 ล้านบาท และยังเสนอโครงการอื่นๆ เพื่อการพัฒนาจังหวัดอีก 29 โครงการ งบประมาณกว่า 5,200 ล้านบาท

สำหรับโครงการเร่งด่วนที่ทางจังหวัดจะเสนอในการประชุม ครม. ประกอบด้วย สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรสาคร เสนอโครงการศูนย์จัดการขยะมูลฝอยชุมชนแบบผสมผสานต้นแบบ งบประมาณ 30 ล้านบาท และโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อป้องกันการกัดเซาะ ฟื้นฟู และรักษาระบบนิเวศน์ชายทะเล จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเดิมเคยเสนองบประมาณสูงถึง 6.4 ล้านบาท ก่อนการประชุม กรอ.จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งภายหลังได้ลดงบประมาณลงเหลือแค่ 1 ล้านบาทเท่านั้น

สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดสมุทรสาคร เสนอโครงการจัดตั้งนิคมการผลิตกล้วยไม้เพื่อการส่งออกสมุทรสาคร งบประมาณ 25 ล้านบาท โครงการส่งเสริมการผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออกจังหวัดสมุทรสาคร งบประมาณ 6.5 ล้านบาท และโครงการล่องเรือประมงชมอ่าวมหาชัย งบประมาณ 5 ล้านบาท ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร เสนอโครงการยกระดับศักยภาพแรงงานไทยในจังหวัดสมุทรสาครให้มีศักยภาพสูงขึ้น งบประมาณ 5 ล้านบาท

ส่วนสำนักงานทางหลวงชนบทจังหวัดสมุทรสาคร เสนอโครงการปรับปรุงถนนลาดยางแอสฟัลติกคอนกรีต สายบ้านสวนส้ม-บ้านคลองตัน ต.คลองตัน อ.บ้านแพ้ว งบประมาณ 20 ล้านบาท โครงการก่อสร้างถนนลาดยางแอสฟัลติกคอนกรีต สายวัดราษฎรศรัทธากะยาราม หมู่ 3 ต.หลักสอง อ.บ้านแพ้ว ผิวจรจรกว้าง 6 เมตร หนา 0.05 เมร ระยะทาง 1.730 กิโลเมตร งบประมณ 8.5 ล้านบาท และโครงการปรับปรุงถนน สย สค.4008 แยกทางหลวงหมายเลข 3423-นิคมบ้านไร่ ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมืองฯ งบประมาณ 5 ล้านบาท

หากพิจารณาการจัดลำดับความสำคัญทั้ง 9 โครงการ พบว่าโครงการเมกะโปรเจ็กต์ขนาดย่อมของจังหวัดก็คือ โครงการศูนย์จัดการขยะมูลฝอยชุมชนแบบผสมผสานต้นแบบ ซึ่งเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากปัญหาขยะล้นเมืองในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร แต่ถึงกระนั้นโครงการใหม่ ที่เป็นไฮไลท์ของจังหวัดที่จะนำเสนอต่อ ครม.คือ โครงการจัดตั้งนิคมการผลิตกล้วยไม้เพื่อการส่งออกสมุทรสาคร งบประมาณ 25 ล้านบาท

โครงการดังกล่าว เกิดจากแนวคิดการจัดตั้งนิคมการผลิตกล้วยไม้เพื่อการส่งออกสมุทรสาคร เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกล้วยไม้รายย่อย ซึ่งจำเป็นต้องพึ่งพาผู้ค้าส่งหรือผู้เพาะเลี้ยงกล้วยไม้รายใหญ่ที่มีกลไกด้านการตลาดเป็นของตนเอง ทำให้เกิดการผูกขาดด้านราคา ประกอบกับการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ต้องใช้เงินลงทุนสูง ส่งผลให้ขาดการพัฒนาผลผลิตให้ได้มาตรฐานการส่งออก และขาดการวางแผนด้านการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

ดังนั้น การจัดตั้งนิคมการผลิตกล้วยไม้เพื่อการส่งออกสมุทรสาครจะช่วยเหลือให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกล้วยไม้รายย่อย ให้เกิดความมั่นคงในอาชีพมีความเชื่อมั่นในด้านการลงทุนและการตลาด และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้อย่างยั่งยืน โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 1 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555-2556 โดยมีพื้นที่โครงการ ต.หลักสอง และ ต.บ้านแพ้ว อ.บ้านแพ้ว ซึ่งจะต้องสำรวจและจัดหาที่ดิน 100 ไร่ เพื่อจัดทำโรงเรือนกล้วยไม้

โดยโรงเรือนกล้วยไม้ที่ว่านี้จะแบ่งเป็นแปลงย่อยๆ ประมาณ 5 ไร่ พร้อมทั้งจัดสร้างโรงเรือนกล้วยไม้สำหรับเพาะเลี้ยงกล้วยไม้ให้เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 20 ราย เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์สำหรับการเพาะเลี้ยงกล้วยไม้ ต่อจากนั้นจะมีการวางระบบให้น้ำกล้วยไม้ การจัดทำบ่อเก็บน้ำและคันกั้นน้ำรอบบริเวณพื้นที่ดำเนินการและวางระบบสาธารณูปโภค เช่น ถนน ระบบระบายน้ำ และระบบไฟฟ้า และการบริหารจัดการโครงการ

โครงการจัดตั้งนิคมการผลิตกล้วยไม้เพื่อการส่งออกสมุทรสาคร ทางจังหวัดคาดว่าจะสร้างความมั่นคงในอาชีพ และรายได้ ให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกล้วยไม้รายย่อย ทำให้จังหวัดสมุทรสาครมีผลผลิตกล้วยไม้ตัดดอกที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน สามารถส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้มากขึ้น เป็นแหล่งรายได้ให้กับจังหวัด รวมทั้งยังชูความเป็นแหล่งอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าทางการเกษตรที่ครบวงจรที่สุดแห่งแรกของประเทศ

ไฮไลท์ลำดับถัดมา คือ โครงการซ่อมสร้างถนนลาดยางแอสฟัลติกคอนกรีตสายบ้านสวนส้ม-บ้านคลองตัน ต.คลองตัน อ.บ้านแพ้ว งบประมาณ 20 ล้านบาท โดยถนนดังกล่าวเป็นถนนเส้นทางหลักเข้าหมู่บ้าน และเป็นเส้นทางเชื่อมต่อกับตำบลใกล้เคียง เกิดการชำรุดเสียหาย และเป็นหลุมเป็นบ่อ เกิดน้ำท่วมขังเวลาฝนตก ทำให้การสัญจรไปมาและการขนส่งพืชผลการเกษตรเป็นไปด้วยความยากลำบาก เกษตรกรสูญเสียโอกาสในการจำหน่ายผลผลิต

จึงเห็นสมควรซ่อมสร้างถนนลาดยางแอสฟัลติกคอนกรีตระยะทาง 4.650 กิโลเมตร เพื่อให้ประชาชนสัญจรได้อย่างสะดวก ระยะเวลาดำเนินโครงการ 1 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555-2556 ดำเนินการโดยจ้างเหมาเอกชนดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งคาดหวังว่าการสัญจรไปมามีความสะดวกปลอดภัย และเป็นเส้นทางขนส่งผลผลิตทางการเกษตร

อีกโครงการหนึ่งที่ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข ลงพื้นที่ด้วยตัวเอง คือ โครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อป้องกันการกัดเซาะ ฟื้นฟู และรักษาระบบนิเวศชายฝั่งทะเล จังหวัดสมุทรสาคร งบประมาณ 1 ล้านบาท ในพื้นที่ ต.พันท้ายนรสิงห์ โคกขาม บางหญ้าแพรก บางกระเจ้า บ้านบ่อ บางโทรัด กาหลง และนาโคก อ.เมืองฯ ซึ่งเป็นการสำรวจเตรียมพื้นที่ปลูกป่าชายเลน จัดหากล้าไม้ และจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ ระยะเวลาดำเนินโครงการ 1 ปี

จากการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม พบว่าชายฝั่งจังหวัดสมุทรสาครมีพื้นที่ถูกกัดเซาะเฉลี่ย 23,824 ตารางเมตรต่อปี ซึ่งการปลูกป่าชายเลนตามแนวชายฝั่งทะเล เป็นการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งโดยวิธีทางธรรมชาติ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวลดภาวะโลกร้อน เป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ เป็นที่ประกอบอาชีพของชาวประมงพื้นบ้าน เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ต่างๆ และลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับแหล่งท่องเที่ยว เศรษฐกิจและที่อยู่อาศัยของประชาชนอีกด้วย

เมื่อวันที่ 20 พ.ค.ผลการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงการอนุมัติเห็นชอบข้อเสนอกรอบแผนงานของกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 และ 2 รวม 8 จังหวัดว่า ที่ประชุมได้อนุมัติในกรอบแผนงานจำนวน 203 โครงการ วงเงินงบประมาณ 33,111.49 ล้านบาท ซึ่งโครงการเหล่านี้เป็นเพียงการเห็นชอบกรอบแผนงาน ยังไม่ได้อนุมัติการดำเนินงานและงบประมาณแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม มีโครงการที่มีความพร้อมและสามารถดำเนินการได้ทันทีจำนวน 60 โครงการ เงินงบประมาณ 1,041.43 ล้านบาท ในส่วนนี้สามารถเบิกจากงบกลางได้ทันที เมื่อคำนวณแล้วจะพบว่าทั้ง 8 จังหวัดจะได้งบประมาณจังหวัดละราว 100 ล้านบาท ซึ่งคงต้องดูกันต่อไปว่า จังหวัดสมุทรสาครจะได้รับงบประมาณและจัดทำโครงการตามที่ได้เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีหรือไม่

• • •

มติที่ประชุมกรอ.ครั้งที่ 4/2555

(19 พ.ค. 55) เวลา 17.00 น. ณ ห้องประชุมไพลิน ชั้น 3 อาคาร 9 สานักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในภูมิภาค (กรอ.) ครั้งที่ 4/2555 เพื่อพิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ซึ่งภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องแถลงผลการประชุม สรุปสาระสำคัญดังนี้

ที่ประชุมเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ดังนี้

1. สรุปโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย โดยมีสาระสำคัญดังนี้

– รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณากลไกในการขับเคลื่อนการพัฒนาเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางให้บริการโลจิสติกส์ในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีกาญจนบุรีเป็นแกนหลัก

– ระยะที่ 1 ปี 2554-2558 ครอบคลุมท่าเรือด้านใต้ ซึ่งเป็นท่าเรือน้ำลึก ถนนเชื่อมโยงทวาย-ชายแดนไทย/พม่า 4 ช่องจราจร รวมทั้งการพัฒนาบริเวณด่านพรมแดนถนนเชื่อมโยงสนามบินทวายและพื้นที่ส่วนราชการแบบเบ็ดเสร็จและ Township

– ในระยะต่อไป เป็นการดำเนินการในระยะที่ 2 ปี ในช่วงปี 2556-2561 จะดำเนินการให้ครอบคลุมถนนในเขตนิคมฯ เพิ่มเติม เชื่อมโยงชายแดนไทย/พม่า เป็น 8 ช่องทาง รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่น รถไฟ ท่อน้ำมัน เป็นต้น ซึ่งต้องมีการศึกษาในรายละเอียด

– ทั้งนี้ การดำเนินโครงการฯ จะต้องเร่งเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน สนับสนับภาคเอกชนไทยกับพม่าร่วมกันสร้างโอกาสในการพัฒนา และการยกระดับความช่วยเหลือระหว่างไทยกับพม่า

– หน่วยงานต่างๆ จะต้องวางแผนดำเนินการให้รองรับกับการพัฒนาของโครงการทวาย เช่น โครงข่ายถนนฝั่งไทย และโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนต่างๆ ในทุกจังหวัดที่อยู่เส้นทางเชื่อมโยง รวมถึงพิจารณาแม่แบบการลงทุนที่เหมาะสมทั้งส่วนที่เป็นภาครัฐ ภาคเอกชน หรือการร่วมลงทุน

ที่ประชุมมีมติ มอบหมาย สศช. เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำแผนแม่บทพัฒนาความเชื่อมโยงของประเทศไทยกับท่าน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย โดยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

2. การเร่งรัดการพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงภาคตะวันตก ประกอบด้วย (1) เร่งรัดโครงการก่อสร้างทางมอเตอร์เวย์ หมายเลข 81 เส้นทาง อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี-บ้านห้วยตลุง อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี (2) ผลักดันโครงการก่อสร้างถนนมอเตอร์เวย์ (ช่วงที่ 2) เส้นทางบ้านห้วยตลุง อ.ท่าม่วง-บ้านพุน้ำร้อน อ.เมือง จ.กาญจนบุรี (3) ผลักดันโครงการขยายถนนเป็น 4 ช่องจราจรจากบ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี -หมายเลข 3208 บรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (เพชรเกษม) จ.ราชบุรี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและเชื่อมโยงโลจิสติกส์ลงสู่ภาคใต้

ที่ประชุมมีมติมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมรับไปพิจารณาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งเพื่อรองรับการพัฒนาท่าเรือทวายและการเปิดด่านบ้านพุน้ำร้อน พร้อมทั้งจัดลำดับความสำคัญของสายทางหลักและสายทางรอง และเสนอให้ ครม. พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

3. การเตรียมความพร้อมรองรับการพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย และการเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจ Southern Economic Corridor (SEC) ประกอบด้วย (1) ผลักดันให้มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ (หรือเขตอุตสาหกรรม) บ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี (2) เร่งรัดยกระดับด่านชั่วคราวบ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี เป็นด่านถาวร โดยในเบื้องต้นเฉพาะวันจันทร์ พุธ และศุกร์

ที่ประชุมมีมติ

1) มอบหมายกระทรวงต่างประเทศ เป็นหน่วยงานหลัก รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับด่านพรมแดนระหว่างไทย-เมียนมาร์ และร่วมกับ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อประสานงานกับทางการของเมียนมาร์ในการเร่งรัดการเปิดจุดผ่านแดนชั่วคราว และเจรจาเพื่อขอเปิดจุดผ่านแดนบ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี ถาวรต่อไป

2) มอบหมายกระทรวงการคลัง เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมเพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายคน และสินค้าข้ามแดนและผ่านแดนให้มีประสิทธิภาพ โดยพิจารณาออกแบบโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง จัดระบบบริหารจัดการและตรวจปล่อยคนและสินค้า รวมถึงบูรณาการระบบเอกสารและกระบวนการให้บริการให้สอดคล้องกับระบบ National Single Window

3) มอบหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ศึกษาขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทย เพื่อเตรียมความพร้อมในการแข่งขันกับสินค้าเกษตรเมียนมาร์

4. การส่งเสริมและอำนวยความสะดวกการค้าชายแดนและการค้าข้ามแดน ไทย-พม่า ประกอบด้วย (1)ยกระดับด่านชั่วคราวพระเจดีย์สามองค์ จ.กาญจนบุรี เป็นด่านถาวร (2) ยกระดับด่านสิงขร จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นด่านถาวร (3) เปิดจุดผ่อนปรนบ้านตะโกบน (กะลาโท่) บ้านตะโกล่าง ต.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี

ที่ประชุมมีมติ

1) รับทราบแนวทางการดำเนินงานของกองกำลังสุรสีห์ กระทรวงกลาโหม ในการแก้ไขปัญหาร่วมกับเมียนมาร์เพื่อให้มีการเปิดจุดผ่านแดนชั่วคราวพระเจดีย์สามองค์ และเมื่อทั้งสองฝ่ายมีความพร้อม เห็นควรส่งเรื่องให้ สมช. พิจารณาความเหมาะสมในการยกระดับเป็นจุดผ่านแดนถาวรต่อไป

2) มอบหมายกระทรวงการต่างประเทศ เร่งดำเนินการประสานเมียนมาร์ เพื่อร่วมดำเนินการจัดเก็บรายละเอียดสภาพภูมิประเทศ (Joint Detail Survey) ด่านสิงขร อ.เมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้แล้วเสร็จ

3) มอบหมายกระทรวงมหาดไทยร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม และสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ติดตามและประเมินสถานการณ์การพัฒนาในเมียนมาร์ ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง และหากเห็นสมควรให้มีการเปิดจุดผ่อนปรนการค้าตะโกบนให้ดำเนินการตามระเบียบและขั้นตอนต่อไป

5. โครงการลดการสูญเสียในวงจรการผลิต โดยขอการสนับสนุนงบประมาณ (ผ่านกระทรวงแรงงานและกระทรวงอุตสาหกรรม) เพื่อว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาทำโรงงานนำร่องใน 8 จังหวัดกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 และ 2 เพื่อลดการสูญเสียในกระบวนการผลิตให้ใช้ได้จริง ที่ประชุมมีมติมอบหมายกระทรวงแรงงาน ร่วมกับ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพลังงาน นำข้อเสนอของ กกร. ไปดำเนินการต่อไป

6. โครงการบริหารจัดการพลังงานแบบบูรณาการเพื่อลดต้นทุนและส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน หรือพลังงานชีวมวล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในโรงงานอุตสาหกรรม ที่ประชุมมีมติ มอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับกระทรวงพลังงาน รับไปพิจารณาดำเนินการ

7. การส่งเสริมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง ประกอบด้วย (1) โครงการปรับปรุงระบบนิเวศน์คลองดำเนินสะดวก และคลองสาขา จ.ราชบุรี-สมุทรสาคร-สมุทรสงคราม (2) โครงการนำร่องสู่อุตสาหกรรมเชิงนิเวศในพื้นที่ภาคกลาตอนล่าง (3) การพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการของแม่น้ำท่าจีนในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 ที่ประชุมมีมติมอบหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับข้อเสนอโครงการปรับปรุงระบบนิเวศและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างบูรณาการแม่น้ำท่าจีนฯ ไปพิจารณารายละเอียดแล้วนำเสนอ กบอ พิจารณาเพื่อขอรับการสนับสนุนเพื่อดำเนินการต่อไป

ที่ประชุมเห็นชอบตามข้อเสนอของสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ดังนี้

1. โครงการถนนท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลอ่าวไทย จ.สมุทรสาคร-จ.สมุทรสงคราม (Royal Coast Road) ที่ประชุมมีมติมอบหมายกระทรวงคมนาคม รับไปพิจารณาในรายละเอียดและความเหมาะสมโครงการฯ เพื่อประกอบการพิจารณาขอรับการจัดสรรงบประมาณประจำปีตามขั้นตอนต่อไป

2. การประกาศเขตพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองหัวหินและพื้นที่เชื่อมโยง (ชะอำและปราณบุรี) ที่ประชุมมีมติ มอบหมายกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รับไปพิจารณาความเหมาะสม พร้อมทั้งเตรียมการประกาศเมืองหัวหินและพื้นที่เชื่อมโยง (ชะอำ-ปราณบุรี) ภายในกลุ่มท่องเที่ยว The Royal Coast ให้เป็นเขตพื้นที่พิเศษตามขั้นตอนต่อไป

3. การปรับปรุงอุทยานประวัติศาสตร์สงคราม 9 ทัพ จังหวัดกาญจนบุรีให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวมีชีวิต ที่ประชุมมีมติมอบหมายกระทรวงกลาโหม เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณโดยหารือกับกระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อพิจารณาจัดแสดงนิทรรศการต่อไป

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้พิจารณาการปรับกลไกและกระบวนการบริหารจัดการด้าน Climate Change ของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยที่ประชุมมีมติมอบหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับไปพิจารณาดำเนินการ

ทั้งนี้ มติที่ประชุม กรอ. จะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาในวันที่ 20 พ.ค. 55 ต่อไป

ที่มา : กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก ทำเนียบรัฐบาล

• • •

ข้อมูลการประชุม ครม.สัญจร ครั้งที่ 4 จ.กาญจนบุรี

• ครม.สัญจร สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

• เกาะติด ครม.สัญจรครั้งที่ 4 โดย สำนักประชาสัมพันธ์เขต 8 กาญจนบุรี



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง