จังหวัดแห่งความสุข‘สมุทรสาคร’เกือบรั้งท้าย

ศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้เปิดเผยผลวิจัย เรื่อง “ผลการจัดอันดับจังหวัดแห่งความสุขของประเทศไทย” พบว่า จังหวัดที่ประชาชนอยู่แล้วมีความสุขมากที่สุดอันดับหนึ่งได้แก่ แม่ฮ่องสอน ส่วนกรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดที่อยู่ในอันดับสุดท้าย ขณะที่จังหวัดสมุทรสาครอยู่ในอันดับที่ 66 จากทั้งหมด 77 จังหวัด

สำหรับผลสำรวจดังกล่าว ได้ใช้กลุ่มตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 77 จังหวัดทั่วประเทศจำนวนทั้งสิ้น 12,429 ตัวอย่าง ตั้งแต่วันที่ 1-19 มี.ค. 2556 ผลการจัดอันดับค่าร้อยละของประชาชนที่อยู่อาศัยในแต่ละจังหวัด พบว่า จังหวัดที่ประชาชนอยู่แล้วมีความสุขมากที่สุดอันดับหนึ่งได้แก่ แม่ฮ่องสอน ได้ร้อยละ 60.9

อันดับสองได้แก่ พังงา ได้ร้อยละ 60.7 อันดับสามได้แก่ ชัยภูมิ ได้ร้อยละ 60.0 อันดับสี่ได้แก่ ปราจีนบุรี ได้ร้อยละ 57.0 อันดับห้าได้แก่ อุทัยธานี ได้ร้อยละ 56.6 อันดับหกมีสองจังหวัดได้แก่ จันทบุรีและสุโขทัย ได้ร้อยละ 56.3 อันดับเจ็ดมีสองจังหวัดได้แก่ พะเยาและแพร่ ได้ร้อยละ 55.6 อันดับแปดได้แก่ น่าน ได้ร้อยละ 54.8 อันดับเก้าได้แก่ หนองคาย ได้ร้อยละ 54.3 และอันดับสิบได้แก่ ลำปาง ได้ร้อยละ 53.9

โดยปัจจัยที่ทำให้ อยู่แล้วเป็นสุขมีปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติเป็นหลัก วิถีชีวิตชาวบ้านเป็นเมืองที่สงบ เป็นสังคมขนาดเล็ก มีความสัมพันธ์ที่ดีของคนในครอบครัวและชุมชน ผู้คนมีความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินสูง คดีอาชญากรรมต่ำ มีความภูมิใจในประวัติศาสตร์ของคนท้องถิ่น มีความเป็นเมืองและลักษณะวัตถุนิยมระดับน้อยถึงปานกลาง และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ คนในพื้นที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ เพื่อเสริมสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันในหมู่ประชาชน

ส่วนจังหวัดที่อยู่ในอันดับสุดท้ายคืออันดับที่ 77 ของประเทศคือ กรุงเทพมหานคร ได้เพียงร้อยละ 20.8 อันดับที่ 76 ได้แก่ สมุทรปราการ ได้ร้อยละ 22.0 และอันดับที่ 75 ได้แก่ ภูเก็ต ได้ร้อยละ 24.2 อันดับที่ 74 ได้แก่ ลพบุรี อันดับที่ 73 ได้แก่ นราธิวาส อันดับที่ 72 ได้แก่ นครศรีธรรมราช อันดับที่ 71 ได้แก่ สิงห์บุรี อันดับที่ 70 ได้แก่ ระยอง อันดับที่ 69 ได้แก่ ยะลา และอันดับที่ 68 ได้แก่ สงขลา

โดยจังหวัดสมุทรสาคร อยู่อันดับที่ 66 ได้ร้อยละ 32.9 มากกว่า อ่างทอง ที่ได้ร้อยละ 32.8 แต่น้อยกว่า บึงกาฬ ได้ร้อยละ 33.3

ปัจจัยที่ทำให้จังหวัดรั้งท้ายในเรื่องความสุขของคนในพื้นที่ มีความเป็นเมืองและมีลักษณะวัตถุนิยมระดับมากถึงมากที่สุด มีคดีอาชญากรรมสูง ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวและชุมชนอยู่ในขั้นวิกฤต มีปัญหายาเสพติด มีพฤติกรรมดื่มสุรามาก เป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งรุนแรงแตกแยก มีอคติต่อกันสูง มีอารมณ์ร้อน หงุดหงิดง่าย ผู้คนไม่สามัคคีไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังไม่มีความโปร่งใสในการพัฒนาท้องถิ่นมากเพียงพอ ไม่มีความวางใจของสาธารณชนต่อรัฐบาลและการเมืองท้องถิ่นที่มากเพียงพอ เพราะประชาชนไม่สามารถแกะรอยการใช้จ่ายงบประมาณได้ มีปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม เช่น โรงงานปล่อยมลพิษทางอากาศทางน้ำ สารพิษปนเปื้อน สุขภาพกายและสุขภาพใจของประชาชนอยู่ในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วง

“สาครออนไลน์” เห็นว่า เมื่อพิจารณาถึงเหตุผลที่ทำให้สมุทรสาคร จัดเป็นจังหวัดที่มีความสุขของคนในพื้นที่ต่ำ แม้จะยังไม่ติด 10 อันดับสุดท้าย แต่ก็ถือว่าน่าเป็นห่วงนั้น มีหลายแง่มุมที่น่าสนใจ เช่น มีความเป็นเมืองและมีลักษณะวัตถุนิยม มีคดีอาชญากรรมสูง และยาเสพติด ซึ่งในขณะนี้จังหวัดสมุทรสาครก็มีลักษณะใกล้เคียงกับกรุงเทพมหานคร มากขึ้นไปทุกขณะ

ส่วนเรื่องปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม เช่น โรงงานปล่อยมลพิษทางอากาศทางน้ำ สารพิษปนเปื้อน สุขภาพกายและสุขภาพใจของประชาชนอยู่ในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วง ซึ่งหากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ กรมควบคุมมลพิษก็เคยออกมาเปิดเผยถึงสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย 2555 พบว่าสมุทรสาครยังมีปัญหาเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็ก เนื่องจากการจราจร โรงงานอุตสาหกรรม และการก่อสร้าง

ส่วนคุณภาพน้ำ แม่น้ำท่าจีนในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ถือได้ว่าเป็นพื้นที่ที่ต้องแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน แม้ว่าจะมีแนวโน้มดีขึ้น จากการเป็นพื้นที่เป้าหมายในการแก้ไขปัญหาของกรมควบคุมมลพิษ ในส่วนของคุณภาพน้ำทะเลพบว่า จุดที่เสื่อมโทรมมากมาโดยตลอดคือ อ่าวไทยตอนใน หรือ อ่าวไทยรูปตัว ก นอกจากนี้ ปัญหาขยะมูลฝอย พบว่า สมุทรสาคร ติดอันดับจังหวัดที่น่าห่วงใยในเรื่องการจัดการขยะมูลฝอยเมื่อพิจารณาจากปริมาณมูลฝอยตกค้างและปริมาณสะสมในสถานที่กำจัดอีกด้วย

หากเปรียบเทียบถึงจังหวัดที่อยู่แล้วมีความสุขนั้น ในด้านวิถีชีวิตชาวบ้าน สังคมขนาดเล็ก มีความสัมพันธ์ที่ดีของคนในครอบครัวและชุมชน ยังพบเห็นในพื้นที่เกษตรกรรม เช่น อ.บ้านแพ้ว แม้ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ จะมีปัญหาจากมลพิษทางน้ำ และมีแนวโน้มว่จะเกิดปัญหาเพิ่มขึ้น จากหมู่บ้านจัดสรร และโรงงานอุตสาหกรรมที่คืบคลานเข้ามาในพื้นที่เกษตรกรรมอย่างต่อเนื่อง

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ อธิบายเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้กำลังมีความเสี่ยงสูงที่จะลดทอนความสุขของประชาชน แต่เพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศสามารถอยู่เป็นสุขได้ทุกสถานการณ์จึงขอเสนอ “โรดแมปความสุขประเทศไทย” ดังนี้

ประการแรก ได้แก่ ช่วยกันกระตุ้นจิตสำนึก “กตัญญูรู้คุณแผ่นดิน” ให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางเพื่อรักษา “ค่านิยมร่วม” (Common Values) ในเอกลักษณ์แห่งความเป็นคนไทยหรือ DNA ของความเป็นคนไทยเพราะเป็นคุณค่าที่หล่อหลอมคนไทยมาหลายร้อยปีในการแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ และประชาชนทุกคนที่มาอาศัยพักพิงในผืนแผ่นดินไทยต้องไม่ยอมให้ใครมาดัดแปลง DNA ของความเป็นคนไทยเพราะนี่เป็นหนทางหนึ่งในการรวมทุกคนในชาติเข้าด้วยกันบนผืนธงไตรรงค์ด้วยสันติวิธี

ประการที่สอง ได้แก่ ทำให้เกิดความวางใจของสาธารณชนต่อรัฐบาล (Trust in the Government) โดยรัฐบาลต้องเปิดเผยรายละเอียดของงบประมาณบนเว็บไซต์ของรัฐบาลที่ทำให้สาธารณชนสามารถแกะรอยตรวจสอบได้ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำของทุกเม็ดเงินที่รัฐบาลใช้จ่ายไป

ประการที่สาม ได้แก่ หนุนเสริมความวางใจของสาธารณชนต่อเจ้าหน้าที่รัฐ (Trust in the Public Officials) โดยเปิดเผยรายละเอียดในใบเสร็จรับเงินค่าปรับ ค่าธรรมเนียมต่างๆ ว่านำเงินไปใช้จ่ายด้านใดบ้างเช่น ส่งให้รัฐบาลพัฒนาประเทศ ให้การปกครองส่วนท้องถิ่นพัฒนาชุมชน ให้ห้องสมุดประชาชน ให้หน่วยงานต้นสังกัดและที่เกี่ยวข้อง

ประการที่สี่ ได้แก่ กำหนดเป้าหมายของชาติและผลประโยชน์ร่วมกัน (Common Goals) เช่น ประเทศไทยจะเป็นผู้นำของชุมชนเศรษฐกิจอาเซียน ในการกำหนดนโยบายสาธารณะและทิศทางการพัฒนาระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียนเพื่อประโยชน์ของทุกคนในชาติจึงจำเป็นที่คนไทยส่วนใหญ่ต้องสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษเพื่อทำงานร่วมกับชาวต่างชาติทั่วโลกที่มาประเทศไทยได้ดี

และการที่ประเทศไทยจะกลายเป็นผู้นำด้านการผลิตอาหารและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น ข้าว และการส่งออกจะทำให้ชาวนาเกษตรกรทุกคนและผู้ประกอบการโรงงานด้านการเกษตรทำงานหนักร่วมกันเพื่อเพิ่มคุณภาพและปริมาณ นอกจากนี้ การทำให้ประเทศไทยกลายเป็นผู้นำด้านการเงินและเทคโนโลยีจะทำให้กลุ่มคนทำงานประจำสำนักงานมีพลังทำหน้าที่ของพวกเขาให้ดีที่สุดในอุตสาหกรรมและธุรกิจของพวกเขา เป็นต้น

ข้อเสนอจากศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ที่นำเสนอมานี้ หากจะทำให้จังหวัดสมุทรสาครเป็นจังหวัดที่มีค่าแห่งความสุขเพิ่มขึ้นนั้น คงไม่ใช่หน้าที่เพียงแค่ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง หากขาดการมีส่วนร่วมที่ดีของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งมองเห็นถึงความมีจิตสาธารณะต่อจังหวัด

หากจะเริ่มต้นกันเสียแต่วันนี้ คงยังไม่สายเกินไปนัก เมื่อเทียบกับความย่ำแย่ของสิ่งสารพันรอบตัว รอบบ้านเรา และชุมชนของเรา.

• • •

• ผลการจัดอันดับ “จังหวัดแห่งความสุขของประเทศไทย” จากมากไปหาน้อย •

1. แม่ฮ่องสอน 60.9
2. พังงา 60.7
3. ชัยภูมิ 60
4. ปราจีนบุรี 57
5. อุทัยธานี 56.6
6. จันทบุรี 56.3
7. สุโขทัย 56.3
8. พะเยา 55.6
9. แพร่ 55.6
10. น่าน 54.8

11. หนองคาย 54.3
12. ลำปาง 53.9
13. พิษณุโลก 53.4
14. มหาสารคาม 53.1
15. สระแก้ว 52.6
16. เพชรบูรณ์ 52.6
17. ลำพูน 52.2
18. สุพรรณบุรี 51.4
19. ชัยนาท 50.4
20. อุตรดิตถ์ 50.3

21. ประจวบคีรีขันธ์ 50
22. เชียงราย 49.4
23. ราชบุรี 49.4
24. เลย 48.7
25. ระนอง 48.3
26. ฉะเชิงเทรา 48.2
27. สระบุรี 47.3
28. ยโสธร 47.3
29. ตราด 47
30. อำนาจเจริญ 46.7

31. บุรีรัมย์ 46.6
32. สตูล 46.3
33. นครราชสีมา 46.2
34. สุราษฎร์ธานี 46
35. นครนายก 45.8
36. กาฬสินธุ์ 45.2
37. กระบี่ 45.1
38. เพชรบุรี 44.5
39. อุดรธานี 44.4
40. นครสวรรค์ 44.2

41. กำแพงเพชร 43.7
42. ตาก 43
43. สกลนคร 41.9
44. หนองบัวลำภู 41.4
45. ชุมพร 41.3
46. มุกดาหาร 41.2
47. ขอนแก่น 40.7
48. ชลบุรี 40
49. ปัตตานี 38.5
50. ร้อยเอ็ด 38.5

51. เชียงใหม่ 38.4
52. นครพนม 37.9
53. พัทลุง 37.6
54. พิจิตร 37
55. อุบลราชธานี 36.8
56. กาญจนบุรี 36.6
57. พระนครศรีอยุธยา 35.1
58. นนทบุรี 34.7
59. ศรีสะเกษ 34.4
60. นครปฐม 34.3

61. ตรัง 34.3
62. ปทุมธานี 34.2
63. สุรินทร์ 33.9
64. สมุทรสงคราม 33.6
65. บึงกาฬ 33.3
66. สมุทรสาคร 32.9
67. อ่างทอง 32.8

68. สงขลา 32.8
69. ยะลา 32.7
70. ระยอง 32.3
71. สิงห์บุรี 32.1
72. นครศรีธรรมราช 31.1
73. นราธิวาส 26.8
74. ลพบุรี 26.4
75. ภูเก็ต 24.2
76. สมุทรปราการ 22
77. กรุงเทพมหานคร 20.8



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง