สิ้นสภาพนิคมสหกรณ์ ‘โคกขาม-บ้านไร่’

483

ในปีงบประมาณ 2556 กรมส่งเสริมสหกรณ์เตรียมการประกาศสิ้นสภาพนิคมสหกรณ์ใน จ.สมุทรสาคร 2 แห่ง ได้แก่ นิคมสหกรณ์โคกขาม ต.โคกขาม และ นิคมสหกรณ์บ้านไร่ ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมืองฯ ซึ่งจะมีผลให้งานจัดที่ดินในพื้นที่ของนิคมสหกรณ์ทั้ง 2 แห่งเสร็จสิ้นภารกิจ

โดยในขณะนี้นิคมสหกรณ์ทั้ง 2 แห่งเพิ่งผ่านขั้นตอนของการดำเนินการเกี่ยวกับการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน ซึ่งได้หมดเขตไปเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมา โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติงานในการที่จะประกาศสิ้นสภาพนิคมสหกรณ์ทั้ง 2 แห่ง

ณรงค์พล พัฒนศรี ผู้อำนวยการนิคมสหกรณ์บ้านไร่ เคยให้สัมภาษณ์ในรายการเส้นทางสหกรณ์ ซึ่งผลิตรายการโดยสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ระบุว่า นิคมสหกรณ์เป็นมาจากกฎหมายตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ ปี 2511

โดยกำหนดว่านิคมในพระราชบัญญัตินี้มีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ นิคมสร้างตนเอง ซึ่งคนส่วนใหญ่รู้จัก ซึ่งกรมประชาสงเคราะห์เดิมเป็นผู้รับผิดชอบ อีกนิคมหนึ่งคือ นิคมสหกรณ์ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับผิดชอบ คำว่านิคมสหกรณ์จึงเป็นการจัดที่ดินของรัฐรูปแบบหนึ่งตามกฎหมาย

นิคมสหกรณ์บ้านไร่ มีพื้นที่กว่า 1.4 แสนไร่ เดิมเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่ราษฎรเข้ามาถือครองอยู่แล้วบางส่วน นิคมสหกรณ์มีภารกิจดั้งเดิม 3 ด้าน ได้แก่

• การจัดที่ดินให้แก่ราษฎร เช่น การออกเอกสารสิทธิ์ เพื่อให้ราษฎรได้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นของตนเอง ด้านการพัฒนาพื้นที่ เพื่อให้ราษฎรสามารถใช้พื้นที่ประกอบอาชีพทำการเกษตรได้ เรื่องของการพัฒนาปัจจัยพื้นฐาน เช่น ถนน คูคลองต่างๆ ที่เป็นปัจจัยการผลิต

• การส่งเสริมอาชีพ เมื่อพัฒนาพื้นที่เหมาะแก่การทำการเกษตรแล้ว ก็นำราษฎรนั้นมาให้ความรู้ในเรื่องของเทคนิคและวิชาการในด้านการประกอบอาชีพทำการเกตร ในอดีตเป็นเรื่องของการทำนาเกลือ ต่อมาก็พัฒนามาเป็นการทำนากุ้ง ในอดีตเป็นการเลี้ยงกุ้งแบบพัฒนา ปัจจุบันเป็นแบบพัฒนาธรรมชาติ

• การส่งเสริมสหกรณ์ ราษฎรหรือสมาชิกผู้ได้รับการจัดสรรที่ดินนั้นจะต้องรวมตัวกันจัดตั้งสหกรณ์เป็นภารกิจที่กรมส่งเสริมสหกรณ์จะดูแล แนะนำ ส่งเสริมสหกรณ์นั้นต่อไป

“ถ้ามองในแง่ของความสำเร็จ ผมว่ามันก็เป็นความสำเร็จของนิคม ที่ได้พัฒนาพื้นที่นี้ จนทุกวันนี้จากพื้นที่การเกษตร บางส่วนก็พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปเป็นเรื่องของการท่องเที่ยว เรื่องอะไรต่างๆ ซึ่งเรามัศักยภาพพอสมควรในพื้นที่นี้” ณรงค์พล กล่าว

อย่างไรก็ตาม นิคมสหกรณ์เมื่อถึงจุดสุดท้าย กฎหมายได้ระบุว่านิคมแห่งใดได้จัดบรรลุวัตถุประสงค์แล้วก็ให้สิ้นสภาพนิคมนั้นไป แต่ว่าไม่ได้ทิ้งราษฎร ก็ยังมีส่วนราชการอื่นเข้ามาคอยดูแลราษฎรต่อไป กว่า 50 ปี ถือว่าใกล้สู่จุดสำเร็จแล้ว เพราะว่าความเจริญเข้ามามากขึ้น

วีดีโอคลิปรายการ “เส้นทางสหกรณ์” ตอน นิคมสหกรณ์บ้านไร่ โดย สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย

สำหรับการเกิดขึ้นของนิคมสหกรณ์โคกขาม และนิคมสหกรณ์บ้านไร่นั้น มีจุดเริ่มต้นที่ไม่แตกต่างกันมากนัก คือ จากที่ดินรกร้างว่างเปล่าของรัฐ ระหว่างปากแม่น้ำท่าจีน อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร ถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ ได้มีราษฎรบุกรุก แผ้วถาง เข้าอยู่อาศัยและทำกิน

รัฐบาลจึงได้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดิน อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ และอำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ปี 2481 โดยให้กระทรวงการคลังเป็นเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการหวงห้ามที่ดินตามพระราชกฤษฎีกา

ต่อมาในปี 2483 รัฐบาลได้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินในท้องที่อำเภอเมืองสมุทรสาครจังหวัดสมุทรสาคร และอำเภอบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรี ปี 2483 เพื่อประโยชน์ในการจัดตั้งนิคมเกลือ โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกานี้

ในปี 2485 ได้ออกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งนิคมเกลือในจังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดธนบุรี ปี 2485 เพื่อจัดตั้งนิคมเกลือในรูปสหกรณ์ ในเขตที่ดินที่ได้หวงห้ามไว้ รวมเนื้อที่ 200,000 ไร่ โดยให้อธิบดีกรมสหกรณ์เป็นเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจดำเนินการจัดตั้งนิคมนี้

ปี 2491 กรมสหกรณ์ที่ดิน ได้จัดตั้งหน่วยสหกรณ์นิคมสหกรณ์โคกขามขึ้นที่ ต.โคกขาม ฝั่งตะวันตกของคลองหลวงหรือคลองบ้านขอม (เดิม) ปัจจุบันคือ นิคมสหกรณ์โคกขาม เพื่อแนะนำ ส่งเสริมสหกรณ์นิคมเกลือ ไม่จำกัดสินใช้ หรือสหกรณ์กรุงเทพ จำกัด (ปัจจุบัน)

โดยมีพื้นที่ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามในท้องที่ ต.โกรกกราก และ ต.โคกขาม อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร เพื่อทัณฑ์นิคมและพื้นที่เพื่อทำนาเกลือไว้ประมาณ 100 ไร่

ต่อมาในปี 2492 ทางราชการได้ขยายการจัดสหกรณ์ออกมาทาง ต.บ้านไร่ (ปัจจุบันคือ ต.พันท้านรสิงห์) และได้ขุดคลองพิทยาลงกรณ์ เพื่อเชื่อมคลองหลวงกับคลองสรรพสามิต ที่ ต.นาเกลือ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ

ปี 2494 ได้ถอนสภาพการหวงห้ามออกบ้างส่วนเพื่อเป็นเขตราชการทหาร และราษฎรหนาแน่น ประมาณ 30,000 ไร่ คงเหลือเนื้อที่ 170,000 ไร่ นิคมสหกรณ์โคกขาม นำมาจัดสรรเป็นพื้นที่โครงการ 14,781 ไร่ อยู่ ต.โคกขาม และ ต.พันท้ายนรสิงห์

โดยจัดสรรให้ราษฎรเข้าครอบครองแล้ว 13,876 ไร่ หนังสือแสดงการทำประโยชน์ 426 ราย เนื้อที่ 13,476 ไร่ หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ 439 ราย เนื้อที่ 13,876 ไร่ สมาชิกทั้งหมด 440 ราย นำออกโฉนด 426 ราย

เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2495 ได้สร้างที่ทำการสหกรณ์ขึ้นอีกแห่งหนึ่ง คือหน่วยสหกรณ์นิคมบ้านไร่ หรือ นิคมสหกรณ์บ้านไร่ปัจจุบัน

ต่อมารัฐบาลได้ออกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งนิคมกสิกรรมและนิคมเกลือในรูปสหกรณ์ในจังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดธนบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ ปี 2500 และยกเลิกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งนิคมเกลือในจังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดธนบุรี ปี 2485

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การจัดตั้งนิคมกสิกรรมและนิคมเกลือในรูปสหกรณ์ในจังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดธนบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติได้อนุมัติให้สงวนไว้แล้ว โดยให้อธิบดีกรมสหกรณ์ที่ดินเป็นเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจดำเนินการจัดตั้งนิคมกสิกรรมและนิคมเกลือนี้

ปัจจุบันอธิบดีผู้มีอำนาจคือ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยมอบให้นิคมสหกรณ์บ้านไร่ ซึ่งเป็นหน่วยงานในพื้นที่ควบคุม ดูแลที่ดินตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา พื้นที่โครงการประมาณ 104,592 ไร่ เป็นพื้นที่รวม 3 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร และ จ.สมุทรปราการ

สำหรับการจัดสรรที่ดินในเขตจัดนิคมสหกรณ์บ้านไร่ ได้จัดที่ดินให้แก่สมาชิกนิคมสหกรณ์ครอบครัวละไม่เกิน 50 ไร่ในท้องที่ ต.โคกขาม ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร, แขวงท่าข้าม กรุงเทพมหานคร และ ต.ปากคลองบางปลากด ในคลองบางปลากด บ้านคลองสวน นาเกลือ แหลมฟ้าผ่า อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ

โดยพื้นที่จัดสรรได้ มีอยู่ 47,781 ไร่ ประกอบด้วย จ.สมุทรสาคร 23,021 ไร่ จากพื้นที่โครงการ 42,607 ไร่ กรุงเทพมหานคร 17,260 ไร่ จากพื้นที่โครงการ 28,461 ไร่ และ จ.สมุทรปราการ 7,500 ไร่ จากพื้นที่โครงการ 33,524 ไร่

ส่วนพื้นที่จัดสรรไม่ได้ ประกอบด้วย จ.สมุทรสคร 19,586 ไร่ กรุงเทพมหานคร 11,201 ไร่ และ จ.สมุทรปราการ 26,024 ไร่ รวม 56,811 ไร่ ได้แก่ ถนน, คลอง, โรงเรียน, สถานีอนามัย, วัด, สถานีตำรวจ และที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ที่ดินแล้ว เช่น โฉนดที่ดิน น.ส. 3 และ สค. 1

สำหรับงานส่งเสริมสหกรณ์ นิคมสหกรณ์โคกขาม มีสหกรณ์ในความรับผิดชอบ 1 แห่ง คือ สหกรณ์กรุงเทพ จำกัด ซึ่งเป็นสหกรณ์การเกษตร จดทะเบียนเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2491 จำนวนสมาชิก 248 คน ธุรกิจหลักคือการให้เงินกู้ การรับฝากเงิน และการจำหน่ายน้ำบาดาล

ส่วนนิคมสหกรณ์บ้านไร่ มีสหกรณ์ในความรับผิดชอบ 1 แห่ง คือ สหกรณ์นิคมสมุทรสาคร จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2516 ซึ่งได้ควบคุมสหกรณ์ขนาดเล็ก จำนวน 40 สหกรณ์ ได้แก่ สหกรณ์นิคมเกลือ 17 แห่ง สหกรณ์ประมง 6 แห่ง และสหกรณ์นิคมกสิกรรม 17 แห่ง

สหกรณ์นิคมสมุทรสาคร จำกัด มีสมาชิกแรกตั้ง จำนวน 719 คน แบ่งเป็น 15 กลุ่ม ปัจจุบันมีสมาชิก 1,592 คน แบ่งเป็น 22 กลุ่ม โดยดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการให้สินเชื่อกับสมาชิกสหกรณ์ ธุรกิจซื้อ ธุรกิจรับฝากเงิน และธุรกิจบริการ คือการจำหน่ายน้ำบาดาล

ปัจจุบัน สมาชิกประกอบอาชีพทำนาเกลือ นากุ้ง ซึ่งอัตราการทำนากุ้งไม่ค่อยได้ผลดีเท่าที่ควร เพราะปัญหาน้ำเสีย บางรายได้นำหอยแครงมาเลี้ยงควบคู่ไปกับการเลี้ยงกุ้งเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้อีกทาง บ้างก็เปลี่ยนมาเลี้ยงปลากะพง เลี้ยงปูทะเล ไปทำงานโรงงานและรับจ้างทั่วไป

โดยสรุป การประกาศสิ้นสภาพนิคมสหกรณ์โคกขาม และนิคมสหกรณ์บ้านไร่นั้น คือการเสร็จสิ้นภารกิจในการจัดสรรที่ดิน โดยการเร่งรัดออกเอกสารสิทธิ์ ที่ดิน (กสน.5) ให้เป็นสมาชิกเพื่อจะได้ไปออกโฉนดที่ดิน หรือ น.ส.3 ก ต่อไป

ส่วนการก่อสร้างปัจจัยพื้นฐาน เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ที่ดินประกอบอาชีพของสมาชิกและนำผลิตผลออกสู่ตลาด จะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ดูแล เช่น ถนน สะพาน ท่อระบายน้ำ ฯลฯ จะมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องดูแล

ขณะที่สหกรณ์การเกษตร ทั้งสหกรณ์กรุงเทพ จำกัด ที่สหกรณ์นิคมโคกขามรับผิดชอบ และสหกรณ์นิคมสมุทรสาคร จำกัด ซึ่งสหกรณ์นิคมบ้านไร่ดูแลนั้น จะมีกรมส่งเสริมสหกรณ์รับทำหน้าที่ดูแล แนะนำ และส่งเสริมสหกรณ์ต่อไป

เป็นการปิดฉากการปฏิรูปที่ดินทำกินซึ่งยาวนานกว่า 75 ปี นับตั้งแต่การกำหนดเขตหวงห้ามที่ดินระหว่างปากแม่น้ำท่าจีน ถึงแม่น้ำเจ้าพระยาของรัฐบาลในยุคนั้น ท่ามกลางความเจริญทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนผ่านไปตามกาลเวลาอย่างไม่หยุดยั้ง.



1 ความคิดเห็น เรื่อง “สิ้นสภาพนิคมสหกรณ์ ‘โคกขาม-บ้านไร่’”

  1. ชาติชาย ศิริวัฒน์ กล่าวว่า:

    ก.พ. 09, 16 at 7:18 am

    ผมและชาวบ้านในอำเภอพระสมุทรเจดีย์อาศัยอยู่ในพื้นที่ตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายมานานแล้วเป็น 100 ปีตั้งแต่สมัยให้จับจองพื้นที่จวบจนปัจจุบันเพียงหวังว่าต่อไปหากทางราชการช่วยเหลือให้พวกชาวบ้านได้ถือกรรมสิทธิในพื้นที่ได้โดยสมบรูณ์ เช่น ออกเป็น นส.3 เป็นต้นชาวบ้านทั้งหลายคงสบายใจได้ลืมตาอ้าปากได้และได้เป็นไทเสียทีและสามารถนำที่ดินไปเป็นทุนนำไปประกอบธุรกิจและทำมาหากินกันได้อย่างสบายใจไม่ต้องกลัวว่าจะถูกกลั่นแกล้งหรือไล่ที่อยู่เพื่อนำไปให้นายทุนต่อไปหวังว่าทางราชการจะเห็นใจประชาชนเก่าแก่ที่อยยู่กันมาชั่วลูกชั่วหลานยังไม่มีที่เป็นของตัวเองการส่งเสริมให้ประชาชนมีที่ดินเป็นของตนเองและมีที่ดินทำกินเป็นของตัวเองและนำไปต่อยอดเพื่อนำไปต่อยอดทำธุรกิจได้ในอนาคตจะนำมาสู่การเสียภาษีอากรที่มากขึ้นและทำให้เกิดการเจริญเติบโตทางธุรกิจประชาชนกินดีอยู่ดีและคุณภาพของชีวิตดีขึ้นกว่าเดิม


แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง