‘กากอุตสาหกรรม’ สะพัดสมุทรสาคร

495

การลงพื้นที่ซอยกองพนันพล ถนนเอกชัย หมู่ 2 ต.บางน้ำจืด อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร ของนายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม ซึ่งเป็นย่านโรงงานคลัสเตอร์หลอมอะลูมิเนียม เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมานั้น เบื้องหน้าถือเป็นการกวาดขยะที่ซุกอยู่ใต้พรมมานาน แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าเบื้องลึกของซอยกองพนันผลแห่งนี้ มีมากกว่าที่ตาเห็น

การลงพื้นที่ครั้งนี้ สืบเนื่องจากกระทรวงได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบโรงงานอะลูมิเนียมในซอยกองพนันพล ซึ่งเป็นคลัสเตอร์ด้านหลอมอะลูมิเนียม มีโรงงานรวม 74 โรง ระหว่างวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ถึง 8 มีนาคม 2556 พบมีการกระทำความผิด 3 ลักษณะ คือ ระบบบำบัดมลพิษทางอากาศชำรุด 47 แห่ง ไม่ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการจัดเก็บของเสีย 54 แห่ง และประกอบกิจการรีไซเคิลหลอมตะกรันโดยไม่ได้รับอนุญาต 13 ราย

เมื่อได้พิจารณาความผิดและแนวทางการปรับปรุงแล้ว จึงสั่งให้โรงงาน 47 แห่งปรับปรุงระบบบำบัดมลพิษทางอากาศ สั่งการตามมาตรา 37 พ.ร.บ.โรงงาน ปี 2535 ให้โรงงาน 52 แห่งที่ไม่ปฏิบัติเรื่องการจัดเก็บของเสียปรับปรุงโดยด่วน และสั่งการตามมาตรา 39 ให้โรงงาน 2 แห่ง คือ บริษัท เอส เอส อินกอต อลูมิเนียม 1999 จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทหล่อหลอมตะกรันอลูมิเนียม และบริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด (โรงงานเก่า) ปิดปรับปรุงชั่วคราว รวมทั้งสั่งให้ผู้ประกอบการที่ไม่ได้รับอนุญาต 13 รายระงับการประกอบกิจการรีไซเคิลหลอมตะกรันทันที

สำหรับบริเวณที่มีการลักลอบทิ้งกากตะกรันอะลูมิเนียมหรือโดรส ที่ไม่เข้าระบบกากของเสียอันตรายของ กรอ.มากถึง 3,400 ตัน ได้สั่งการให้บริษัท บริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) หรือเจนโก้ เข้ามารับซื้อในราคาเฉลี่ย 3,000-4,000 บาทต่อตัน จากปกติราคา 10,000 บาทต่อตัน โดยผู้ประกอบการทั้ง 74 รายจะลงขันจ้าง เจนโก้เข้ามาขนย้ายกากตะกรันดังกล่าว ให้เข้าสู่ระบบการกำจัดที่ถูกต้อง

อีกด้านหนึ่ง ได้มีคำสั่งย้ายด่วน นายไสว โลจนะศุภฤกษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นข้าราชการระดับสูงของ กรอ.ที่รับผิดชอบเรื่องกากไปยังตำแหน่งอื่นตามความเหมาะสม พร้อมกับตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย เนื่องจากพบความผิด 3 ลักษณะ คือ ออกใบอนุญาตไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะการอนุญาตให้มีการส่งออกวัตถุอันตรายบางชนิดออกนอกประเทศ

ขณะเดียวกัน ยังปล่อยให้ผู้ประกอบการเอกชนแทรกแซงการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่รัฐ และไม่สามารถดูแลควบคุมกากอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกากอันตรายให้มีประสิทธิภาพได้ ซึ่งปัจจุบันมีการขออนุญาตนำกากอุตสาหกรรมอันตรายออกจากโรงงานทั่วประเทศ 2.8 ล้านตันต่อปี แต่มีผู้ประกอบการยื่นเอกสารเข้ามาเพียง 1 ล้านราย

• • •

กรณีของซอยกองพนันพล ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2556 ชาวบ้านใน ต.บ้านพระ และ ต.ดงขี้เหล็ก อ.เมืองฯ จ.ปราจีนบุรี ร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนว่าได้รับความเดือดร้อน เพราะมีการแอบลักลอบนำกากสารพิษ น้ำยาเคมี มาทิ้งที่บ่อลูกรัง ของนางอำนวย ซื่อสัตย์ ที่บ้านหนองจอกใหม่ หมู่ 18 ต.บ้านพระ อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี เขตรอยต่อระหว่างพื้นที่ ต.บ้านพระกับ ต.ดงขี้เหล็ก

โดยมีลักษณะเป็นกากสารพิษคล้ายถ่านหินลิกไนต์มีสีดำ น้ำเงินปนเทา เป็นน้ำเคมีสีสนิม และเกล็ดสีน้ำเงิน รวมปริมาณมากกว่า 100 ตัน ส่งกลิ่นเหม็นฉุนรุนแรง และเมื่อถูกน้ำฝนจะเกิดปฏิกิริยาลุกฟู่เป็นฝุ่นควัน พวยพุ่งขึ้นบนท้องฟ้า ชาวสวนผลไม้เกรงว่าจะกระทบน้ำเพื่อการเกษตร น้ำกิน น้ำใช้ และเกิดมลพิษทางอากาศโรคระบบทางเดินหายใจ

ต่อมาวันที่ 8 พฤษภาคม 2556 พล.ต.ต.พงษ์อินทร์ อินทรขาว ผู้บัญชาการสำนักคดีความมั่นคง กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ พร้อมเจ้าหน้าที่รวม 3 คนได้ลงตรวจสอบบ่อลูกรัง ตรวจสอบพบเบื้องต้นกากสารพิษที่พบมีกลิ่นเหม็นฉุนรุนแรงมากกว่าทุกแห่งที่ไปทำคดี ลักษณะเป็นตะกรัน และน้ำยาสารเคมีแต่ถูกฝังกลบแล้ว

นางอำนวย ซื่อสัตย์ อายุ 68 ปี เจ้าของที่ดินบ่อลูกรัง ได้เข้าแจ้งความกับ ร.ต.อ.เจริญ บุญสิทธิ ร้อยเวรฯ สภ.เมืองปราจีนบุรี โดยระบุที่ดินดังกล่าวได้ขายให้กับนายทุนคนหนึ่งไปโดยรับเงินมัดจำมาจำนวน 200,000 บาทล่วงหน้า ไม่ทราบกากสารพิษ น้ำยาเคมีเป็นของผู้ใด เนื่องจากถูกขนมากลางคืนนำมาทิ้งไว้ แต่ในเบื้องต้นนี้ได้ว่าจ้างให้บริษัทปรับคุณภาพของเสียรวมคัดแยกและฝังกลบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วแห่งหนึ่ง ในการเร่งขนย้ายให้พ้นพื้นที่ต่อไปแล้ว

ต่อมาเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 10 พฤษภาคม 2556 กรมโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ และอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร ได้บุกตรวจโรงงานหลอมอะลูมิเนียม ซอยกองพนันพล อำเภอเมือง จ.สมุทรสาคร หลังต้องสงสัยว่ากากสารเคมีที่พบในจังหวัดปราจีนบุรี น่าจะมาจากกลุ่มโรงงานหลอมอะลูมิเนียมย่านนี้ เมื่อเข้าไปยังใจกลางกลุ่มโรงงานซึ่งมีมากกว่า 64 โรงงาน พบว่าด้านหลังของโรงงานเอแอล มีตะกรันอะลูมิเนียมถูกนำมาทิ้งรวมกองกันไว้เป็นภูเขานับพันตัน โดยเบื้องต้นพบว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นโรงงานร้างถูกฟ้องล้มละลาย และมีการขายที่ดินไปแล้ว

นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้สั่งให้เร่งตรวจสอบ และเอาผิดกับเจ้าของที่ดินแปลงดังกล่าวแล้ว พร้อมสั่งระงับการขออนุญาตนำเข้ากากอุตสาหกรรมเข้ามาในพื้นที่โรงงาน 12 แห่ง โดย 4 แห่งเป็นโรงงานในซอยกองพนันพล เนื่องจากพบว่าไม่มีใบอนุญาตการครอบครอง และเคลื่อนย้ายกากอุตสาหกรรม ขณะที่อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร เตรียมตั้งโต๊ะเปิดรับการขออนุญาตครั้งใหญ่ในซอยกองพันพล เพื่อจัดระเบียบโรงงาน

• • •

อีกคดีหนึ่งที่แม้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการหลอมอลูมิเนียมในซอยกองพนันพล แต่ก็เป็นปัญหาในลักษณะใกล้เคียงกัน โดยนายชัยสิทธิ์ วรคำแหง อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วย นายเรียน หงษ์คู นายกเทศมนตรีตำบลบางหญ้าแพรก อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร และเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบที่ดินรกร้างในโครงการหมู่บ้านพาราไดซ์ สปริงซ์ หลังได้รับร้องเรียนจากชาวบ้านว่า มีรถบรรทุกลักลอบนำสารพิษเข้ามาทิ้งในพื้นที่ดังกล่าว

จากการตรวจสอบพบตะกรันอลูมิเนียมทั้งสภาพเก่าและใหม่ บรรจุอยู่ในถุงบิ๊กแบ็กขนาด 1 ตัน จำนวนกว่า 150 ถุง บางถุงสภาพขาดรุ่ยจนตะกรันอลูมิเนียมออกมากองอยู่กับพื้นดินเป็นกองโต ซึ่งสารพิษในตะกรันของอลูมิเนียมเมื่อถูกน้ำฝนทำปฏิกิริยากันจะทำให้มีควันขึ้น ส่งกลิ่นเหม็น แสบจมูก และแสบตาเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังมีตะกอนของคาร์บอนแบล็กถูกลักลอบนำมาทิ้งกองรวมอยู่ด้วยจำนวนมาก

นายชัยสิทธิ์ กล่าวว่า ตะกรันอลูมิเนียมที่พบนี้ ตรวจเจอหลังจากได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่า มีรถลักลอบนำสารพิษเข้ามาทิ้งในพื้นที่ ตนและเจ้าหน้าที่จึงได้ลงมาตรวจสอบทันที ทำให้ได้พบกับคนขับรถพ่วงสิบล้อที่นำสารพิษมาทิ้ง แต่ไม่ยอมกล่าวว่าเอามาจากบริษัทไหน กล่าวเพียงแค่ว่ารับจ้างเอามาจาก จ.ชลบุรี ให้นำมาทิ้ง แต่ไม่รู้ว่าเป็นอะไร ทั้งนี้ ตนได้มีการจดเลขทะเบียนรถ หมวดอักษร และหมวดจังหวัดไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อีกจุดหนึ่ง เป็นบริเวณที่ดินรกร้างในลักษณะบ่อขุดที่มีคนเอาหน้าดินไปขาย ห่างจากจุดแรกประมาณ 500 เมตร โดยที่ปากบ่อพบตะกอนคาร์บอนแบล็คและเศษพลาสติกจำนวนมาก ซึ่งในจำนวนขยะอันตรายเหล่านี้พบสายพลาสติกที่ใช้คาดกล่องหรือผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อบริษัทแห่งหนึ่ง อักษรนำหน้าเป็นตัว V ถูกทิ้งรวมอยู่ด้วย โดยทางอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาครได้เก็บไว้เป็นหลักฐานเพื่อรอตรวจพิสูจน์ต่อไปว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับขยะอันตรายเหล่านี้หรือไม่

ขบวนการลักลอบทิ้งกากสารเคมีกำลังระบาดมากขึ้น ลามมาถึงจังหวัดสมุทรสาคร นอกจากที่ดินรกร้างในโครงการหมู่บ้านพาราไดซ์ สปริงซ์ ที่ถูกพบเจอก่อนหน้านี้แล้ว ยังพบว่ามีบางพื้นที่ที่พบกรทิ้งกากอุตสาหกรรมในที่ดินรกร้าง อาทิ ต.นาดี ซึ่งบริเวณสามแยกหน้าบ้านผู้ใหญ่สำราญ หมู่ที่ 3 พบการทิ้งกากอุตสาหกรรมจำนวนมากในพื้นที่ป่ารกชัฎ ปัจจุบันเทศบาลตำบลนาดีได้เคลียร์พื้นที่ และติดป้ายห้ามทิ้งขยะและกากอุตสาหกรรมทุกชนิดแล้ว

• • •

แม้ผู้ประกอบการในกลุ่มโรงหลอมอลูมิเนียมในซอยกองพนันพลจะเริ่มปรับตัวในการกำจัดกากของเสียอย่างเป็นระบบ โดยหนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจกำจัดกากอุตสาหกรรม อย่างบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) ก็เปิดเผยว่า เริ่มตื่นตัวหันมากำจัดกากอุตสาหกรรมตามระบบเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยมีผู้ประกอบการหลายราย แสดงความจำนงค์ขอเข้ากำจัดกากอุตสาหกรรมกับบริษัทฯ เพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน ในช่วงที่ รมว.อุตสาหกรรมลงพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงระหว่างชมรมหล่อหลอมสาครสัมพันธ์ กับกรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยมีนายเสรี อติภัทธะ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และนายสมชาย อัมพรประเสริฐ เจ้าของโรงหล่อกิจอัมพรประเสริฐ ในฐานะประธานชมรมหล่อหลอมสาครสัมพันธ์ เป็นผู้ลงนาม เพื่อมิให้มีการลักลอบทิ้งกากของเสียและให้ความร่วมมือในการรักษาสิ่งแวดล้อม

แต่ปัญหานี้ก็ยังไม่หมดไปเนื่องจากยังมีบริษัทที่รับกำจัดกากอุตสาหกรรมบางราย ที่พบว่าไม่มีใบอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม นำกากอุตสาหกรรมที่ได้รับเเอบลักลอบนำไปทิ้งในเเหล่งน้ำสาธารณะ หรือ ในที่ลับตาคน ข้อมูลจากเว็บไซต์ไทยพับลิก้าระบุว่า พบการลักลอบทิ้งขยะและกากอุตสาหกรรมมากกว่า 40 แห่งในภาคตะวันออก แต่ละแห่งมีลักษณะการเอาเข้ามาทิ้งโดยไม่ผ่านกระบวนการบำบัดอย่างถูกวิธี

ได้แก่ ทิ้งน้ำเสียและกากอุตสาหกรรมในบ่อลูกรังและพื้นที่รกร้าง โดยเจ้าของพื้นที่รับรู้และไม่รับรู้ หรือจะเป็นการทิ้งในพื้นที่โรงงาน และโรงบำบัดที่ไม่ได้คุณภาพ และการลักลอบทิ้งในพื้นที่และแหล่งน้ำสาธารณะ โดยขบวนการลักลอบทิ้งจะใช้ช่องว่างในช่วงเวลาที่ปลอดคน เช่น เวลากลางคืน ซึ้งพื้นที่เป้าหมายที่สำคัญคือพื้นที่เป็นบ่อลูกรังหรือพื้นที่ที่ตักหน้าดินไปขาย

อีกด้านหนึ่ง ยังพบว่า ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมให้บริษัทเอกชนมืออาชีพจัดการอย่างถูกวิธี จะต้องเสียค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 3,000-10,000 บาทต่อตัน ขณะที่ขบวนการลักลอบทิ้งกากของเสียจะคิดค่าใช้จ่ายถูกมาก เพียงแค่ 1,000-2,000 บาทเท่านั้น แต่ความเสียหายด้านมลพิษและอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนนั้นประเมินค่าไม่ได้ เจ้าหน้าที่รัฐถูกมองว่ามีความหย่อนยาน เพราะมีโทษปรับเพียงแค่ 200,000 บาทเท่านั้น

หากจะให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นผู้ดูแลปัญหานี้อย่างเดียว ขณะที่ขบวนการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม ยังคงอาละวาดอย่างเงียบๆ และจะกลับมาคึกคักในช่วงที่การเข้มงวดเกิดความหย่อนยาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชาวบ้านในพื้นที่ควรช่วยกันดูแล โดยเฉพาะจุดล่อแหลม พื้นที่รกร้างว่างเปล่า รวมทั้งอาจอาศัยกลไกของสื่อมวลชนในการรายงานข่าว เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องออกมาปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบและหาผู้กระทำความผิดมาลงโทษ ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด กรมควบคุมมลพิษ กรบสอบสวนคดีพิเศษ เป็นต้น.



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง