เหนือฟ้า ใต้บาดาล ฤาวันข้างหน้า ‘สมุทรสาคร’ จะจมน้ำ?

ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักตั้งแต่ค่ำวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา ยาวนานกว่า 8 ชั่วโมง ส่งผลทำให้หลายพื้นที่ในจังหวัดสมุทรสาครประสบภาวะน้ำท่วมฉับพลัน อันเนื่องมาจากปริมาณน้ำฝนที่สะสมมากกว่าที่เคย

ประกอบกับการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำท่าจีน เพื่อไหลออกสู่ทะเลไม่สามารถทำได้ เพราะภาวะน้ำทะเลหนุนสูง หลังฝนหยุดตกในคราวนั้น พื้นที่ส่วนใหญ่จำต้องจมอยู่ในโลกบาดาล คล้ายเวนิสตะวันออก ชนิดที่เรียกว่ากลืนไม่เข้า คายไม่ออกเลยทีเดียว

ภาวะน้ำท่วมในจังหวัดสมุทรสาครไม่ใช่ครั้งแรกที่เป็นปัญหาลุกลามทั้งจังหวัด ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2539 ก็เคยประสบกับปัญหาน้ำท่วมใหญ่มาแล้ว แต่มาคราวนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่ง ถึงกับพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ตั้งรับกันไม่ทัน” และไม่คาดว่าจะรุนแรงขนาดนี้

ขณะเดียวกัน ตัวเลขของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานว่าจังหวัดสมุทรสาครได้รับความเสียหายทั้ง 3 อำเภอกว่า 25 ตำบล ราษฎรเดือดร้อน 500 ครัวเรือน 2,000 คน ไม่นับพื้นที่การเกษตรเสียหายจำนวนหนึ่ง

ในทางตรงกันข้าม ดูเหมือนว่าเทศบาลนครสมุทรสาคร ซึ่งเกิดภาวะน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี อันเนื่องมาจากภาวะน้ำทะเลหนุน ในปีนี้สามารถแก้ไขสถานการณ์น้ำท่วมให้กลับมาอยู่ในสภาวะปกติได้ ซึ่งหมายความว่าจะไม่เกิดน้ำท่วมขังนาน จนสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจเหมือนเช่นทุกปี

การตั้งรับของเทศบาลนครสมุทรสาคร ได้เตรียมพร้อมในเรื่องเครื่องสูบน้ำ กำลังเจ้าหน้าที่ การตรวจสอบระบบประตูระบายน้ำ ณ จุดต่างๆ การเตรียมพร้อมในเรื่องระบบป้องกันน้ำท่วม รวมถึงเตรียมตั้งงบประมาณจัดซื้อถุงทราย เพื่อช่วยเหลือประชาชนในยามฉุกเฉิน

อย่างไรก็ตาม เทศบาลนครสมุทรสาครก็ยังไม่ไว้วางใจในสถานการณ์มากนัก อันเนื่องมาจากในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี น้ำทะเลมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จึงต้องออกมาตรการเฝ้าระวังไม่ให้เกิดภาวะน้ำท่วมที่ยาวนานได้อีก พร้อมออกเตือนประชาชนระวังระดับน้ำขึ้นสูงมากอีกด้วย

ที่ผ่านมาปัญหาที่ทำให้เกิดน้ำท่วม มีทั้งช่องทางระบายน้ำที่น้อยลง คลองสาขาถูกถมแทนที่ด้วยท่อระบายน้ำขนาดเล็ก ปัญหาน้ำเน่าเสีย น้ำทะเลหนุน และน้ำหลากจากทางภาคเหนือ ในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว รวมทั้งภาวะแผ่นดินทรุดที่สูงถึง 40 มิลลิเมตรต่อปี

สภาวะน้ำท่วมที่ลุกลามมาทั้งจังหวัดเช่นนี้ หลายคนตั้งคำถามว่า ต่อไปจังหวัดสมุทรสาครจะมีแนวโน้มน้ำท่วมใหญ่กันทุกปีหรือไม่?

• • •

การสัมมนาในหัวข้อ “กรุงเทพนครใต้น้ำ” ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ร่วมกับคลื่นข่าวเอฟเอ็ม 101 อาร์.อาร์.วัน เมื่อวันก่อน เกิดขึ้นด้วยผลสืบเนื่องมาจากผลวิจัยของสถาบันเวิลด์วอทซ์

ที่พบว่า กรุงเทพมหานครเป็น 1 ใน 21 เมืองชายฝั่งที่ได้รับการคาดการณ์ว่าจะมีประชากรสูงถึง 8  ล้านคนภายในปี 2558 ซึ่งมีความเปราะบางสูงมากที่จะถูกน้ำท่วม

โดยมี นายสมิทธ ธรรมสโรช กรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เป็นวิทยากรหลัก ร่วมกับ นายสุรจิต ชิรเวทย์ ส.ว.สมุทรปราการ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการทรัพยากรน้ำ รัฐสภา

ร่วมด้วย รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร, นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านภาวะโลกร้อน, น.ส.ปนัดดา  ทัศศิริ ที่ปรึกษาเครือข่ายรักษ์ทะเลกรุงเทพและสิ่งแวดล้อมบางขุนเทียน และนายศุภชัย ตันติคมน์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อาจเรียกได้ว่าเป็นการรวมกันทั้งนักการเมือง นักวิชาการ และภาคประชาชนเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหา

เริ่มกันด้วย รศ.เสรี ระบุว่าทุกๆ 25 ปีจะเกิดฝนตกหนัก และจะทำให้กรุงเทพฯ เกิดน้ำท่วมใหญ่ หลายสถาบันในประเทศและต่างประเทศวิจัยตรงกันว่า กรุงเทพฯจะประสบปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในปี 2563 นับจากฐานปี 2538

ทั้งนี้  ความเสี่ยงของกรุงเทพฯ ที่จะเกิดน้ำท่วมใหญ่ คือ ฝนตกหนักที่เรียกว่าฝน 10 ปี หรือ 10 ปีเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง โดยมีปริมาณน้ำฝนที่ตกและจำนวนวันที่ฝนตกเพิ่มขึ้น กลายเป็นปัจจุบันฝนรอบ 10 ปีในอดีต เกิดขึ้นทุก ๆ 2-3 ปี

ต่อมาคือ ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น 1.3 เซนติเมตรต่อปี เท่ากับทำให้ชายฝั่งหายไปไม่ต่ำกว่าปีละ 5 เมตร รวมทั้งอุณหภูมิสูงขึ้น แผ่นดินทรุด และปัญหาผังเมือง ส่งผลให้ในที่สุดแล้ว พื้นที่ริมน้ำในบริเวณ 5-10 กิโลเมตรจากชายฝั่งจะมีปัญหาแน่นอน

“พื้นที่ที่จะมีปัญหาแน่ ๆ คือ บางบอน จอมทอง แสมดำ บางขุนเทียน บางนา-ตราดบางส่วน และพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในหรือที่เรียกว่าพื้นที่กระเพาะหมู บางนา บางกะปิ ห้วยขวางและพระโขนง”

สอดคล้องกับนายสมิทธที่กล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีโอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมขัง 0.50 ถึง 1 เมตร เป็นเวลายาวนานอย่างแน่นอน  เมื่อถึงวันนั้นระบบเศรษฐกิจและแหล่งท่องเที่ยว เช่น วัดพระแก้ว พระบรมมหาราชวัง พระที่นั่งอนันตสมาคม จะได้รับผลกระทบแน่นอน

ที่สำคัญพื้นที่ที่ติดชายฝั่งทะเล อาทิ จ.สมุทรปราการ จ.สมุทรสาคร และ จ.สมุทรสงคราม ที่มีโรงงานกว่า 10,000 แห่งตั้งอยู่ จะได้รับผลกระทบมากที่สุด และอาจจะเกิดภาวะคนตกงานนับ 100,000 คน 

นอกจากนี้ การสร้างอาคารรัฐสภาใหม่ที่เกียกกาย ริมแม่น้ำเจ้าพระยา รู้สึกเจ็บใจ ไม่เข้าใจทำไมไม่เลือกสร้างที่สูงกว่านี้ มูลค่านับ 10,000 ล้านบาท สร้างเสร็จน้ำก็ท่วมพอดี

สมิทธกล่าวว่า “เรื่องน้ำท่วมที่ผมพูดไป ไม่มีใครเชื่อก็ไม่เป็นไร แต่หากผมตายผมจะเป็นผีมาหลอกพวกคุณ และที่สำคัญในอนาคตปัญหาน้ำทะเลหนุนสูงถึง จ.นนทบุรี จะเกิดขึ้นแต่หากน้ำทะเลหนุนไปถึงคลองประปา ผมเชื่อว่าวันนั้นคนกรุงเทพฯ 10 ล้านคนจะฆ่ากันตายเพราะแย่งซื้อน้ำจืด”

สำหรับการแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ต้องนำตัวอย่างในประเทศเวียดนาม และประเทศจีนมาใช้ กรณีที่สร้างเขื่อนเพื่อไม่ให้น้ำทะเลหนุน หรือ น้ำท่วมพื้นดิน ทั้งนี้ จะขอแนะนำให้กรุงเทพมหานคร ทำประตูระบายน้ำปิดปากอ่าวแม่น้ำ 4 อ่าว เช่น บางปะกง และสร้างแก้มลิงในพื้นที่กรุงเทพฯ

และเห็นว่า กรุงเทพมหานครต้องหยุดสร้างรถไฟฟ้า แล้วหันมาทำเขื่อนไม้ไผ่ให้มากๆ แทน เชื่อว่าจะแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ได้อย่างแน่นอน

นอกจากนายสมิทธแล้ว ในการเสวนากรุงเทพมหานครใต้น้ำดังกล่าว ยังมีนายศรีสุวรรณ ในฐานะสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ที่เห็นว่า ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ปัจจุบัน เกิดจากการสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ

ซึ่งเร็วๆ นี้ตนและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจะฟ้องร้องผู้บริหารสนามบินสุวรรณภูมิ แม้รู้ว่าในทางปฏิบัติจะหวังผลยาก เพราะเป็นโครงการของรัฐที่ก่อสร้างไปแล้ว แต่เพื่อต้องการให้รัฐบาลเข้ามารับผิดชอบนโยบายที่สร้างผลกระทบให้กับประชาชน

ซึ่งการป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ที่ดีที่สุด นายศรีสุวรรณเห็นว่า ต้องหยุดพัฒนากรุงเทพมหานครโดยสิ้นเชิง  และหยุดปิดล้อมกรุงเทพฯ โดยการสร้างเขื่อนเพราะเอาเปรียบจังหวัดอื่นๆ

ส่วนนายสุรจิต ส.ว.สมุทรปราการ เห็นว่า ปัญหาน้ำกัดเซาะชายฝั่งโดยเฉพาะชายฝั่งบางขุนเทียน เห็นได้ว่าที่ทำไม่สำเร็จ เป็นเพราะคนทำงานรู้จักการทุจริต คอรัปชั่น  เช่น โครงสร้างไส้กรอกทราย ตอนแรกทุจริตไม่เป็นก็ใช้ทรายได้มาตรฐาน พอทำเป็นก็เปลี่ยนจากทราย มาเป็นดินลูกรัง

อย่างไรก็ตาม มองว่าการแก้ปัญหาของกรุงเทพมหานครไม่ถูกต้อง เพราะไม่ได้สร้างเครือข่ายป้องกันน้ำท่วมในแนวนอน ด้วยการนำคลองในพื้นที่ต่างๆ มาเป็นส่วนช่วยป้องกันน้ำท่วม

ปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้สร้างประตูปิดตายตามคลองต่างๆ โดยไม่เข้าใจระบบหลักน้ำขึ้น น้ำลง ส่วนการสร้างคันกั้นน้ำเจ้าพระยา ตนมองว่าเป็นการสู้ศึกที่ไม่มีทางชนะ เพราะต่อไปนี้ระดับน้ำขึ้นจะเป็นเปลี่ยนเป็น “น้ำขึ้น 6 ชั่วโมง และน้ำลง 6 ชั่วโมง”

ดังนั้น กรุงเทพมหานครต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างยั่งยืน ไม่ใช่คิดแก้ปัญหาแบบองค์รวม ที่ต้องใช้เวลานานนับปีกว่าจะเป็นรูปเป็นร่าง ซึ่งสนับสนุนให้มีการรื้อระบบคลองที่ปิดตายหรือทำผนังคลองจนทำให้น้ำเน่าเสีย

และเครือข่ายภาคประชาชนอย่าง น.ส.ปนัดดา ที่ปรึกษาเครือข่ายรักษ์ทะเลกรุงเทพและสิ่งแวดล้อมบางขุนเทียน กล่าวว่า แผ่นดินกรุงเทพฯ ในเขตบางขุนเทียน  ล่าสุดผืนดินหายไปแล้วกว่า 3,000 ไร่ หรือ 4.6 ตารางกิโลเมตร

นอกจากผืนดินหาย เพราะน้ำทะเลกัดเซาะแล้ว ชาวบ้านในพื้นที่ยังพบปัญหาหลากหลาย เช่น น้ำท่วมบ้าน น้ำเน่าเสีย เพราะพื้นที่บางขุนเทียนเป็นพื้นที่ทิ้งน้ำเสียของกรุงเทพมหานคร จนสัตว์น้ำอยู่ไม่ได้

ส่วนการแก้ปัญหาน้ำกัดเซาะของกรุงเทพมหานคร ล่าสุดที่ใช้วิธีปักไม้ไผ่ ก็อยู่ระหว่างชะลอโครงการ เพราะไม้ไผ่ที่จัดซื้อนั้นผิดสเปกทำให้เกิดความล่าช้า ซึ่งชาวบ้านที่รวมตัวต่อสู้ด้วยวิถีชีวิตชุมชน ตอนนี้คิดไปถึงเรื่องการทำป่าเทียม เพราะป่าเทียมนั้นทนลมและคลื่นทะเลแรงๆ ได้ อย่างไรก็ตามพื้นที่บางขุนเทียนขณะนี้ประกาศงดรับการปลูกป่าแล้ว แต่หากเป็นป่าเทียมก็ยินดี

ด้านนายศุภชัย กล่าวว่า เหตุที่พื้นที่กทม.ทรุดตัว เพราะมีเอกชนลักลอบสูบน้ำบาดาล ซึ่งล่าสุดทางรัฐบาลได้ใช้มาตรการจัดการแล้ว ดังนั้นที่คาดการณ์ว่าพื้นที่กทม.จะทรุดตัวถึง 100 เซนติเมตรในระยะเวลาอันใกล้ จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน สำหรับการแก้ปัญหาน้ำท่วมมีโครงการทำระยะยาว อาทิ ปรับปรุงระบบท่อระบายน้ำ

• • •

เมื่อย้อนกลับไปเมื่อปี 2551 ที่ผ่านมา สมิทธเคยออกมาเตือนว่า จะการเกิดสตอร์มเซิร์จ ที่น้ำทะเลจะยกตัวสูงท่วมในเขตพื้นที่ จ.สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร และ จ.สมุทรสาคร ภายในเดือนสิงหาคม-กันยายน และในเดือนถัดไป

การออกมาให้ข่าวในคราวนั้น สร้างความตื่นตระหนกและกังวลของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวอย่างรุนแรง เพราะเกรงว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะเหมือนกับพายุนาร์กีส พัดถล่มในประเทศพม่าที่ผ่านมา

ขณะที่หน่วยงานราชการ เช่น ดร.วัฒนา กันบัว ผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาทางทะเล ออกมาให้สัมภาษณ์ แต่กลับมีข้อมูลไม่ตรงกันกับนายสมิทธ ว่าโอกาสจะเกิดสตอร์มเซิร์จ มีแค่ 2 เปอร์เซ็นต์

กระทั่ง นายสนธิญา สวัสดี รองโฆษกพรรคประชากรไทยในเวลานั้น ในฐานะคณะกรรมการบริหารแผนป้องกันอุทกภัยสมุทรสาคร เข้ายื่นฟ้องต่อศาลปกครองขอให้มีคำสั่งให้นายสมิทธ ยุติการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ซึ่งสร้างความสับสนและตื่นตระหนกแก่ประชาชน

ถึงอย่างไรก็ตาม นายสมิทธเห็นว่าการเตือนภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นกับคนไทยเป็นหน้าที่ และข้อมูลที่เตือนภัยไม่ได้ทำให้ใครตกใจ แต่คนที่มาฟังบรรยายการเตือนภัยจะขอบคุณเสียอีกที่มาช่วยเตือนให้ระวังภัยพิบัติ ซึ่งหลังจากนี้ไปจะหยุดเตือนภัยแล้ว

แม้ช่วงนั้นนายสมิทธเห็นว่า หากเกิดอะไรขึ้นให้คนที่ออกมาต่อต้านรับผิดชอบความต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนและประเทศชาติ ถึงกระนั้นก็ตาม ความเคลื่อนไหวของนายสมิทธก็ยังไม่หยุดลงเพียงแค่นี้ แต่ยังมีข่าวเกี่ยวกับการคาดการณ์ภัยพิบัติจากดินฟ้าอากาศออกมาอยู่บ้าง นานๆ ครั้ง

อย่างไรก็ตาม ผลจากการเสวนาในครั้งนี้ เมื่อมาดูกันถึงความคิดเห็นแต่ละฝ่ายแล้วพิจารณาสภาพในจังหวัดสมุทรสาคร จะเห็นว่าปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นก็คือ น้ำทะเลหนุนที่มีแนวโน้มสูงขึ้น แผ่นดินทรุด และปัญหาผังเมืองที่ไร้ทิศทาง

แม้ในปัจจุบันสมุทรสาครจะมีการใช้น้ำบาดาลน้อยลง อันเนื่องมาจากมีระบบน้ำประปาผิวดินให้บริการมากขึ้น แต่ในพื้นที่อุตสาหกรรมและที่อยู่อาศัยบางแห่งยังคงลักลอบสูบน้ำบาดาลมาใช้ รวมทั้งแนวโน้มการใช้ที่ดินมากขึ้นส่งผลกระทบต่อพื้นที่รับน้ำที่เป็นที่ดินเปล่าอีกด้วย

การรองรับปัญหาน้ำท่วมในจังหวัดสมุทรสาคร หลายฝ่ายต้องกำหนดยุทธศาสตร์ และวางแนวทางอย่างบูรณาการ ที่ไม่ได้จบลงเพียงแค่ตั้งเครื่องสูบน้ำหรือจัดเตรียมกระสอบทรายเพียงแค่นั้น เพราะดูเหมือนว่าปีนี้จะลุกลามไปยังตำบลตอนเหนือของจังหวัดแล้ว

ที่มาของตาราง : เทศบาลนครสมุทรสาคร



4 ความคิดเห็น เรื่อง “เหนือฟ้า ใต้บาดาล ฤาวันข้างหน้า ‘สมุทรสาคร’ จะจมน้ำ?”

  1. เก่ง เอเซีย กล่าวว่า:

    ต.ค. 09, 11 at 2:09 am

    อยู่ โคกขามอะ จะรอดมั๊ยเนียะ

  2. เก่ง เอเซีย กล่าวว่า:

    ต.ค. 09, 11 at 2:10 am

    อัพเดท ป่าวคับนี่ ปี
    54 ปะคับ

  3. เป๊ก กล่าวว่า:

    ต.ค. 31, 11 at 12:11 pm

    ถ้าน้ำทุกจังหวัดไหลผ่านกรุงเทพแล้วลงจังหวัด3สมุทรแล้วแต่น้ำทะเลยังไม่ลดแล้วน้ำจะท่วม3สมุทรนานและลึกแค่ไหนครับ

  4. เเดน ลพบุรี กล่าวว่า:

    พ.ย. 21, 11 at 9:00 am

    สมุทรสาครน้ำจะท่วมจริงอะเปล่า แล้วมีตำบลอะไรบ้างอะอยากรู้เป็นห่วงเเม่ครับ….


แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง