‘น้ำเมือกปลา’ ต้นตอจุดเสี่ยงพระราม 2

ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2556 ก่อนหน้านี้ กองบังคับการตำรวจทางหลวง (บก.ทล.) ได้จัดเก็บข้อมูลจุดเสี่ยงที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง หรือจุดที่มักเกิดอุบัติเหตุรุนแรงบนเส้นทางหลวงไว้ เพื่อวางมาตรการป้องกันและบอกกล่าวให้ผู้ใช้รถใช้ถนนพึงระวัง ซึ่งเส้นทางที่มักเกิดอุบัติเหตุช่วงปีใหม่ หนึ่งในนั้นก็คือ ถนนพระราม 2

โดยขาเข้ากรุงเทพฯ ตั้งแต่หลักกิโลเมตรที่ 35 ต.บางกระเจ้า อ.เมืองฯ ผ่านนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร สะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน ตลาดทะเลไทย ถึงตลาดกุ้งจังหวัดสมุทรสาคร หลักกิโลเมตร 28 ลักษณะมีน้ำเมือกปลาไหลจากรถบรรทุกปลาเป็นจำนวนมากทำให้ถนนลื่น ทางแก้ไข ติดตั้งไฟส่องสว่าง ติดตั้งป้ายเตือน จัดเจ้าหน้าที่ยืนให้สัญญาณการจราจร

ปัญหาน้ำเมือกปลาไหลจากรถบรรทุกปลา สำหรับจังหวัดสมุทรสาครเกิดขึ้นเป็นประจำทุกวัน ก่อให้เกิดอุบัติเหตุหลายครั้ง อันเนื่องมาจากถนนลื่น นอกจากนี้ยังสร้างความเสียหายแก่ผิวจราจร โดยเฉพาะสะพานทางแยกต่างระดับสมุทรสาคร ที่มีอายุยาวนานกว่า 17 ปี ต้องทำการรื้อพื้นสะพานและเทคอนกรีตใหม่ทั้งหมดเพราะน้ำเมือกปลากัดกร่อนผิวจราจร

อุบัติเหตุที่กลายเป็นโศกนาฎกรรมซึ่งพอจะยกตัวอย่างได้ก็คือ เมื่อ 4 เม.ย. 2554 รถสองแถวรับ-ส่งคนงานชาวพม่า จอดแวะรับคนงานบริเวณใต้สะพานหน้าตลาดกุ้งมหาชัย ปรากฎว่ามีรถบรรทุกสิบล้อพุ่งเสยท้าย ทำให้มีผู้เสียชีวิต 16 คน บาดเจ็บเกือบ 50 ราย แม้สาเหตุสำคัญจะอยู่ที่จอดรถในที่ห้ามจอด แต่ปัจจัยที่รถบรรทุกพุ่งชนท้ายรถรับ-ส่งคนงานสันนิษฐานว่าหลับใน หรือไม่ก็เบรกแตก

หรือจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ กับรถบรรทุกกรดกำมะถัน พลิกคว่ำบริเวณถนนพระราม 2 ขาเข้ากรุงเทพฯ เมื่อ 11 พ.ย. 2555 เป็นเหตุให้คนขับรถ และหญิงสาวชาวพม่าที่ขับขี่รถจักรยนยนต์เสียชีวิตรวม 2 ราย ซึ่งจากการสันนิษฐานพบว่าะคนขับน่าจะหลับใน หรือไม่ก็รถจักรยานที่คาดว่าเป็นแรงงานชาวพม่า ขับขี่ตัดหน้าอย่างกระชั้นชิด รถบรรทุกน้ำกรดเบรกไม่ทัน ก่อนเสียหลักพุ่งชนคอสะพานลอย พลิกคว่ำเสียชีวิตทั้งคู่

อุบัติเหตุสองเหตุการณ์ข้างต้น อาจจะมองข้ามความจริงบางประการ ถนนในช่วงดังกล่าวมีสภาพลื่น อันเนื่องมาจากเป็นจุดที่น้ำเมือกปลาไหลจากรถบรรทุกปลา ซึ่งขนส่งจากตลาดทะเลไทย หรือตลาดกุ้งสมุทรสาคร ไปยังตลาดมหาชัยขับผ่านมา ซึ่งผู้ที่ขับขี่ยานพาหนะด้วยความเร็วสูงเมื่อพบกับถนนที่มีความลื่นแล้ว ต่อให้ใช้เบรคก็อาจจะเสียหลักเพราะแรงเสียดทานของผิวการจราจรที่ลดลง

หากยังจำกันได้เมื่อปี 2553 สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) โดย ผศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ เปิดเผยผลการศึกษา เรื่อง “งานศึกษาค่าความเสียดทานของผิวทางที่มีผลต่อความปลอดภัยทางถนน กรณีศึกษา ผลกระทบของน้ำเมือกปลาบนถนนพระราม 2 จ.สมุทรสาคร” โดยได้วิเคราะห์การเกิดอุบัติเหตุในเชิงลึก หลังพบว่า ระหว่างปี 2544-2551 ถ.พระราม 2 ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร มีอุบัติเหตุอันตรายข้างทางหรืออุบัติเหตุรถตกข้างทางมากกว่า ถ.พระราม 2 ที่ตัดผ่าน จ.สมุทรสงครามถึง 7 เท่า

ส่วนอัตราการตายมีมากกว่าถึง 6 เท่า เพราะถนนพระราม 2 ที่ผ่านสมุทรสาคร มีรถบรรทุกขนส่งปลาและอาหารทะเลเป็นจำนวนมาก จึงสันนิษฐานว่า น้ำเมือกปลาที่ไหลลงมาบนถนนทำให้ถนนลื่น และเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย จึงได้ศึกษาค่าความเสียดทานที่ปลอดภัยของผิวทาง ทำการทดสอบภาคสนามหน้าตลาดทะเลไทย และทางเข้าตัวเมืองสมุทรสาคร

จากการใช้เครื่องมือเฉพาะในการวัดค่าความเสียดทานของผิวถนนที่ตำแหน่งใต้ร่องล้อด้านซ้าย ผลการศึกษาเปรียบเทียบพบว่า ในกรณีไม่ได้ทำความสะอาดคราบเมือกปลา ถนนจะมีค่าความเสียดทานต่ำกว่าค่ามาตรฐานถึง 20-50% หลังทำความสะอาดคราบน้ำเมือกปลาออกจากผิวถนน ค่าความเสียดทานเฉลี่ยที่ได้สูงขึ้นถึงประมาณ 1.2-1.4 เท่า

จากนั้นได้ทดลองทำความสะอาดโดยวิธีต่างๆ ทั้งกวาดและขัดด้วยน้ำเปล่า ราดด้วยน้ำยาอีเอ็ม ซึ่งพบว่าการทำความสะอาดผิวทางมีผลต่อการเพิ่มค่าความเสียดทาง ช่วยทำให้ผิวถนนลื่นน้อยลงได้

ข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะสั้น สามารถทำได้โดยการทำความสะอาดผิวทางที่มีการสะสมของคราบน้ำเมือกปลา แต่การล้างทำความสะอาดธรรมดาไม่สามารถขจัดคราบออกหมดได้ แต่ต้องใช้รถทำความสะอาดเคลื่อนที่ ที่มีการใช้อยู่ในต่างประเทศเพื่อทำความสะอาดผิวทางจากคราบสกปรกต่างๆ

ส่วนการแก้ไขปัญหาในระยะยาว จะต้องควบคุมไม่ให้น้ำเมือกปลาไหลลงสู่ผิวถนน สามารถทำได้โดยการขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อยในการหาวิธีป้องกันการขนส่งปลา ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการบางรายที่เริ่มมีการดำเนินการดังกล่าวบ้างแล้ว แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็ยังคงไม่ให้ความสำคัญของปัญหาและวิธีป้องกันปัญหาการรั่วไหลอยู่

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวของทางจังหวัดสมุทรสาคร พบว่าที่ผ่านมา แม้ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร จุลภัทร แสงจันทร์ จะสั่งการให้ดำเนินการจัดระเบียบรถบรรทุกขนส่งสัตว์น้ำที่มีการปล่อยสิ่งปฏิกูลประเภทคราบเมือกปลาลงในท้องถนน แต่ดูเหมือนว่ายังไม่เห็นผลมากนัก เนื่องจากการกวดขันมักจะหย่อนยานในช่วงกลางคืน และมักจะเลี่ยงไปใช้ถนนนรราชอุทิศแทน

ขณะเดียวกัน สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสมุทรสาคร เคยจัดสัมมนาผู้ประกอบกิจการด้านประมง เจ้าของธุรกิจอาหารทะเล ธุรกิจห้องเย็น เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกให้แก่ผู้ประกอบการ และผู้ขับขี่รถบรรทุกอาหารทะเล แต่ดูเหมือนว่ายังมีผู้ประกอบการอีกหลายรายที่เห็นแก่ตัว ปล่อยปะละเลย และไม่ใส่ใจในสิ่งที่ทางจังหวัดออกมาเรียกร้อง

จะมีก็แต่เทศบาลนครสมุทรสาคร เป็นเจ้าของพื้นที่ตลาดมหาชัย ซึ่งเป็นแหล่งค้าอาหารทะเลที่สำคัญ ได้ทำการล้างถนนประจำเดือน ตามถนนสายต่างๆ อาทิ ถนนเอกชัย ถนนสรศักดิ์ ถนนสุขาภิบาล (ตลาดแม่พ่วง) ศาลาริมคลองทหารเรือ ตลาดสดเทศบาล สะพานมหาชัย ถนนสุทธิวาตวิถี เพื่อความเป็นระเบียบและความสะอาดถูกสุขอนามัย แต่ก็ทำได้เพียงแค่ชะล้างคราบสกปรกที่มีอยู่เดิมเท่านั้น

แม้แนวทางแก้ไขปัญหาระยะสั้น ด้วยการใช้รถทำความสะอาดเคลื่อนที่ และแนวทางระยะยาวด้วยการควบคุมไม่ให้น้ำเมือกปลาไหลลงสู่ผิวถนนบ้างก็ตาม แต่ในเมื่อยังไม่เห็นผลนัก ก็น่าจะมีมาตรการที่เข้มข้นมากขึ้น อาทิ ตั้งด่านและจัดสายตรวจเคลื่อนที่กวดขันไม่ให้รถบรรทุกขนส่งปลาและอาหารทะเลเข้ามาในพื้นที่อย่างจริงจัง พร้อมยึดรถบรรทุกที่ทำผิดหรือจับปรับในอัตราขั้นสูงสุด

สำหรับถนนพระราม 2 อาจจะอาศัยช่วงเวลาในช่วงปลายเดือนธันวาคม ช่วงเทศกาลปีใหม่ และเดือนเมษายนช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี กำหนดพื้นที่เซฟตี้โร้ด (Safety Road) ทำความสะอาดถนนเพื่อรองรับในช่วง 7 วันอันตรายของแต่ละเทศกาล จากนั้นจึงออกมาตรการตั้งด่าน หากรถบรรทุกขนส่งปลาและอาหารทะเลรายใดไม่ทำตามก็สามารถบังคับไม่ให้เข้าไปในพื้นที่เซฟตี้โร้ดได้

ปัญหาน้ำเมือกปลาทำถนนลื่นยังคงเป็นปัญหาโลกแตกที่จังหวัดสมุทรสาครไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ดีขึ้นได้ เช่นเดียวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น ปัญหาน้ำเน่าเสีย ปัญหามลภาวะจากโรงงานอุตสาหกรรม ปัญหาการจราจรติดขัด ฯลฯ แต่ปัญหานี้หน่วยงานต่างๆ คงไม่สามารถลงมือได้เพียงฝ่ายเดียว หากคนในจังหวัดยังขาดจิตสำนึกสาธารณะที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้อย่างจริงจัง

• • •

7 วันอันตรายสมุทรสาคร ปีใหม่ 2556 “อุบัติเหตุ 62-ตาย 2-เจ็บ 68”

ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดสมุทรสาคร สรุปผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2556 ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2555 – 2 มกราคม 2556 ยอดรวม 7 วัน มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุ 62 ครั้ง บาดเจ็บ 68 ราย เสียชีวิต 2 ราย เมื่อเทียบกับช่วงเทศกาลปีใหม่ 2555 อุบัติเหตุเพิ่มขึ้น 4 ครั้ง บาดเจ็บลดลง 4 ราย เสียชีวิตเท่าเดิม

สำหรับผู้เสียชีวิต เป็นชาย 2 ราย โดย 1 ราย เสียชีวิตบนถนนสายรอง สาเหตุเกิดจากขับรถจักรยานยนต์ชนรถเก๋ง และไม่สวมหมวกนิรภัย อีก 1 ราย บนถนนสายหลัก เป็นคนเดินเท้าบนถนนพระราม 2 สาเหตุเกิดจากถูกรถกระบะขับด้วยความเร็วสูงชน ประกอบกับเดินตัดหน้ากระชั้นชิด

ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บ 68 ราย เป็นชาย 52 ราย หญิง 16 ราย ขณะที่การเกิดอุบัติเหตุ 62 ครั้ง แยกเป็นถนนสายหลัก 27 ครั้ง ถนนสายรอง 35 ครั้ง โดยแยกเป็นอุบัติเหตุในเขตอำเภอเมืองสมุทรสาคร 38 ครั้ง บาดเจ็บ 42 ราย เสียชีวิต 2 ราย อำเภอกระทุ่มแบน 18 ครั้ง บาดเจ็บ 19 ราย และอำเภอบ้านแพ้ว 6 ครั้ง บาดเจ็บ 7 ราย

สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่ เมาสุรา ร้อยละ 20.75 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 18.86 ประเภทยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 90.47 รถปิคอัพ ร้อยละ 4.76 ประเภทถนนที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ถนนใน อบต./หมู่บ้าน และถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 37.09 บริเวณจุดเกิดอุบัติเหตุสูงสุด ทางตรง ร้อยละ 80.64 ทางโค้ง ร้อยละ 9.67 ช่วงเวลาเกิดอุบัติเหตุสูงสุด ช่วงเวลา 16.01-20.00 น. ร้อยละ 35.48 เวลา 00.01-04.00 น. ร้อยละ 16.12 ช่วงอายุผู้ได้รับบาดเจ็บสูงสุด ช่วงอายุ 25-29 และ 30-39 ปี ร้อยละ 18.57

ผลการดำเนินงานตามมาตรการหลัก 10 มาตรการ การเรียกตรวจยานพาหนะ รวม 36,018 คัน การดำเนินคดี 10 มาตรการ รวม 7,815 คน โดยมีการตั้งจุดตรวจรวม 112 จุด ผู้ปฏิบัติงานรวม 3,792 คน



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง