เจาะยุทธศาสตร์เครือซีพีในสมุทรสาคร

628-1

เป็นที่ทราบกันดีว่าเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี กลุ่มธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยนั้น มีธุรกิจหลักคืออาหารและการเกษตร โดยมีบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เป็นหัวหอกสำคัญ ก่อนขยับขยายธุรกิจทั้งค้าปลีก เช่น ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ห้างสรรพสินค้าแม็คโคร หรือจะเป็นธุรกิจโทรคมนาคม เฉกเช่น บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ด้วยความที่สมุทรสาครเป็นจังหวัดที่มีทำเลศักยภาพ มีบริษัทชั้นนำเข้ามาลงทุนในพื้นที่มากมาย แน่นอนว่าหนึ่งในนั้นย่อมมีเครือเจริญโภคภัณฑ์ด้วย นับตั้งแต่ธุรกิจอาหารสัตว์ กระทั่งธุรกิจค้าปลีกที่มีทั้งการเปิดสาขาในรูปแบบสแตนด์อโลนแห่งแรกของเทสโก้ โลตัส ไปถึงการลงทุนครั้งใหญ่ของซีพีออลล์ ทั้งการก่อสร้างคลังสินค้าเซเว่นอีเลฟเว่น มหาชัย การตั้งสาขาแม็คโคร รวมไปถึงโรงงานคั่วกาแฟ

628-3

• “ซีพีเอฟ” ปรับโรงแปรรูปกุ้งผลิตอาหารสำเร็จรูป – บีโอไอไฟเขียวลงทุนห้องเย็น

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ได้เข้ามาลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำมหาชัยขึ้น บนเนื้อที่ 61 ไร่ ริมถนนพระราม 2 กม. 41.5 ต.บางโทรัด อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นโรงงานลำดับที่สามของซีพีเอฟ โดยเริ่มก่อสร้างเดือนกรกฎาคม 2531 ด้วยเงินลงทุนประมาณ 400 ล้านบาท

โรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำมหาชัย เริ่มผลิตสินค้าได้ในเดือนมีนาคม 2532 ก่อนขยายการผลิตในเดือนพฤษภาคม 2547 ใช้เงินลงทุนประมาณ 850 ล้านบาท มีกำลังการผลิตอาหารกุ้ง 315,000 ตันต่อปี เครื่องจักรทั้งหมด 30 ไลน์ และกำลังผลิตอาหารปลา 192,000 ตันต่อปี เครื่องจักรในการผลิตทั้งหมด 7 ไลน์ นอกจากนี้ ซีพีเอฟยังมีโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำมหาชัยอีกด้วย

ก่อนหน้านี้ซีพีเอฟได้ปิดโรงงานแปรรูปกุ้ง เนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบ แต่นายวิบูลย์ สุภัครพงษ์กุล รองกรรมการผู้จัดการ ซีพีเอฟ ชี้แจงกับหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ระบุว่า ซีพีเอฟมีแผนลงทุนปรับโรงงานแปรรูปกุ้งเป็นโรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูปแทน ซึ่งจะใช้เป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกด้วย คาดว่าจะเปิดดำเนินการเฟสแรกได้ภายในสิ้นปีนี้

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ได้อนุมัติให้ซีพีเอฟ ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการบริการรับฝากห้องเย็น โดยมีความจุประมาณ 8,500 ตันสินค้า เงินลงทุนแห่งละ 900 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา ฉะเชิงเทรา และสมุทรสาคร รวมมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 2,700 ล้านบาท

628-4

• ต้นแบบดิสเคาน์สโตร์แห่งแรก ก่อนจะเป็น “เทสโก้ โลตัส”

เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ดำเนินธุรกิจค้าปลีก เมื่อปี 2531 โดยได้รับสิทธิแต่เพียงผู้เดียวจากเซเว่น อีเลฟเว่น อิ๊งค์ สหรัฐอเมริกา ให้ประกอบธุรกิจร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น ขณะเดียวกันยังร่วมลงทุนกับ เอสเอชวี โอลดิ้ง บริษัทสัญชาติจากเนเธอร์แลนด์ ก่อตั้งบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) เริ่มดำเนินธุรกิจศูนย์จำหน่ายสินค้าระบบสมาชิก แบบชำระเงินสดและบริการตนเอง ภายใต้ชื่อ “แม็คโคร” โดยซีพีร่วมถือหุ้น 51%

จากนั้น ซีพีได้ตั้ง บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด ได้ก่อตั้งห้างสรรพสินค้าโลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สาขาแรก ที่ศูนย์สรรพสินค้าซีคอนแสควร์ ศรีนครินทร์ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2537 จากนั้นในปีต่อมา ได้เปิดห้างสรรพสินค้าโลตัส ดิสเคานต์สโตร์ สาขามหาชัย วันที่ 25 พฤศจิกายน 2538 นับเป็นดิสเคานต์สโตร์แห่งแรกของประเทศไทย โดยมุ่งเน้นให้จำหน่ายสินค้าราคาถูก

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ ในปี 2541 ซีพีขายหุ้นเกือบทั้งหมดให้กับกลุ่มเทสโก้ ประเทศอังกฤษ พร้อมกับขายหุ้นดังกล่าวทิ้งไป แต่เวลาผ่านไป 15 ปี บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีกร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น ตัดสินใจเข้าซื้อกิจการแม็คโครด้วยเม็ดเงิน 188,880 ล้านบาท เมื่อปี 2556 ที่ผ่านมา

628-5

• ซีพี ออลล์ ตั้งศูนย์กระจายสินค้ามหาชัย หลังบทเรียนมหาอุทกภัย

หลังจากวิกฤตมหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 เซเว่นอีเลฟเว่นนอกจากประสบปัญหาร้านสะดวกซื้อกว่า 700 แห่ง ถูกน้ำท่วมเสียหายทั้งสินค้าและทรัพย์สิน รวมทั้งศูนย์กระจายสินค้าบางบัวทอง จ.นนทบุรี และศูนย์กระจายสินค้าสุวรรณภูมิ ไม่สามารถกระจายสินค้าไปยังสาขาของร้านได้ จากบทเรียนครั้งนั้นในปีต่อมา จึงเร่งหาทำเลเพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์กระจายสินค้าชั่วคราว โดยได้เล็งพื้นที่ จ.ชลบุรี และมหาชัย จ.สมุทรสาคร

แต่หลังจากนั้นปี 2556 ซีพีออลล์ก็ลงมือก่อสร้างศูนย์กระจายสินค้ามหาชัย เนื้อที่ 20,000 ตารางเมตร ริมถนนพระราม 2 ต.บางโทรัด อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร รองรับกระจายสินค้าสู่สาขาเซเว่นอีเลฟเว่นในเขตกรุงเทพฯ ภาคตะวันตก และภาคใต้ตอนบน รวม 10 จังหวัด จำนวน 2,000 สาขา เงินลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยเพิ่งเปิดใช้ไปเมื่อต้นปี 2557 ที่ผ่านมา

• เตรียมเปิดแม็คโครปลายเดือนตุลาคมนี้ – ลงทุนโรงกาแฟคั่วบดปีหน้า

ด้านการก่อสร้างห้างสรรพสินค้าแม็คโคร สาขามหาชัย ของบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) บนถนนเอกชัย หมู่ 4 ต.โคกขาม อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร ซึ่งได้เริ่มก่อสร้างไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา บนพื้นที่ใช้สอยประมาณ 9,800 ตร.ม. พร้อมที่จอดรถประมาณ 12,000 ตร.ม. พบว่าความคืบหน้าใกล้จะแล้วเสร็จสมบูรณ์ โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในวันที่ 29 ตุลาคมนี้

ส่วนบริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ จำกัด บริษัทในกลุ่ม ซีพี ออลล์ ผู้นำธุรกิจการจัดจำหน่ายและให้บริการอุปกรณ์ประกอบอาหารและเครื่องดื่มสำหรับภัตตาคาร, โรงแรม, ร้านสะดวกซื้อ และอุปกรณ์เครื่องชงกาแฟ เปิดเผยว่า ได้ลงทุน 100 ล้านบาท ในการดำเนินธุรกิจโรงคั่วกาแฟ 2 แห่ง ที่ จ.สมุทรสาคร และที่ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ใกล้ศูนย์กระจายสินค้าเซเว่นอีเลฟเว่น คาดว่าจะเปิดใช้ในปี 2558

นอกจากนี้ ในการเปิดสาขามหาชัยของห้างแม็คโครนั้น ซีพี รีเทลลิงค์ ยังได้ขยายสาขาร้านกาแฟสร้างอาชีพเพื่อสังคมและชุมชน (CP Retailink Coffee) และเปิดโชว์รูมสินค้าพร้อมขายกาแฟสดและเบเกอรี่ในห้างสรรพสินค้าแม็คโคร โดยเปิดสาขาแรกไปแล้วที่แม็คโคร ศาลายา ซึ่งแม็คโคร สาขาสมุทรสาครที่กำลังจะเปิดให้บริการอยู่นี้ จะมีร้านดังกล่าวตั้งอยู่ด้านหน้าของห้างอีกด้วย

628-6

• ทรูทำตลาดไฮสปีดอินเตอร์เน็ต – ซิมการ์ดสำหรับชาวพม่า

ด้านธุรกิจโทรคมนาคม ในสมัยที่ยังเป็นเทเลคอมเอเชีย บริษัท ทีเอ ออเร้นจ์ จำกัด แบรนด์เครือข่ายมือถือสัญชาติฝรั่งเศส ได้เปิดให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ออเร้นจ์ ความถี่ 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อเดือนสิงหาคม 2545 พร้อมกับจังหวัดสมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ อย่างไรก็ตามภายหลังออเร้นจ์ เอสเอ ได้ถอนการลงทุน และได้เปลี่ยนเป็นเปลี่ยนเป็นเครือข่ายทรูมูฟ เมื่อปี 2549

เมื่อปี 2552 บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือทรู คอร์ปอเรชั่น ได้เริ่มขยายบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงสู่ต่างจังหวัด โดยในจังหวัดสมุทรสาครเริ่มจากพื้นที่หมู่บ้านสารินซิตี้ หมู่บ้านวิเศษสุขนคร ปัจจุบันได้ขยายพื้นที่ให้บริการส่วนใหญ่ในเขตเทศบาลนครสมุทรสาคร และถนนเอกชัยย่านหมู่บ้านเบญจทรัพย์นคร ในพื้นที่ ต.โคกขามบางส่วน

อีกด้านหนึ่ง ทรูมูฟได้เป็นตัวแทนขายส่งต่อบริการของ กสท. โทรคมนาคม เมื่อเดือนตุลาคม 2554 ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์มือถือระบบ 3 จี ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร และอีก 16 จังหวัด หนึ่งในนั้นคือสมุทรสาคร ซึ่งมีสัญญาณครอบคลุมเกือบทั้งจังหวัด ก่อนที่เดือนเมษายน 2556 จะให้บริการ 3 จี ที่ครอบคลุมทั่วไทยครบทั้ง 77 จังหวัด

ล่าสุดออกผลิตภัณฑ์ซิมการ์ดเอาใจชาวพม่าโดยเฉพาะ โดยผลิตภัณฑ์ที่ชื่อว่า “ซิมมิงกะลาบา” วางจำหน่ายไปเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยมีบริการหลังการขาย ทรูมูฟ เอช แคร์ ได้เปิดศูนย์บริการภาษาพม่า สามารถโทรฟรีได้ที่หมายเลข *9090 อีกด้วย ซึ่งจังหวัดสมุทรสาครถือเป็นแหล่งรวมแรงงานชาวพม่าที่ใหญ่ที่สุด ปัจจุบันทรูมูฟยังคงแข่งขันตลาดแรงงานต่างด้าวกับค่ายมือถือรายใหญ่ ที่ออกซิมการ์ดสำหรับลูกค้าชาวพม่าเหมือนกัน

และนี่ก็คือข้อมูลการลงทุนคร่าวๆ ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ในสมุทรสาคร ซึ่งจะเห็นได้ว่ากลุ่มทุนใหญ่กลุ่มนี้ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการบริโภคของจังหวัด ไม่แพ้ผู้ประกอบการที่เป็นคนท้องถิ่น และยังคงมีเม็ดเงินลงทุนอย่างไม่หยุดนิ่งในธุรกิจใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 นี้ พร้อมกับการแข่งขันด้านธุรกิจค้าปลีก และโทรคมนาคมที่มีแนวโน้มว่าจะร้อนแรงมากขึ้นหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

628-2



1 ความคิดเห็น เรื่อง “เจาะยุทธศาสตร์เครือซีพีในสมุทรสาคร”

  1. ภัทราภรณ์ กล่อมประเสริฐ กล่าวว่า:

    ม.ค. 28, 15 at 7:25 pm

    ต้องการสอบถามโครงการโรงงงานคั่วบดกาแฟที่สมุทรสาครค่ะ ว่าโครงการจะแล้วเสร็จเมื่อไหร่ และจะเปิดรับสมัครพนักงานเมื่อไหร่คะ ต้องการที่จะทำงานกับเครือ ซีพี เบอร์ติดต่อ 085-8432899 ถ้าจะกรุณา ขอบคุณค่ะ


แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง