จากต้านถ่านหินถึงม็อบคูปอง “พระราม 2” จุดยุทธศาสตร์ปิดถนนประท้วง

ไม่ใช่ครั้งแรกสำหรับการชุมนุมปิดถนนพระราม 2 บริเวณทางแยกต่างระดับสมุทรสาคร ของกลุ่มชาวบ้านซึ่งไม่พอใจนโยบายภาครัฐ กลายเป็นพฤติกรรมเลียนแบบนำมาสู่เหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันบนถนนสายเอเซียใน จ.พระนครศรีอยุธยา ปีที่แล้วการชุมนุมของกลุ่มต่อต้านผู้ประกอบการนำเข้าและจำหน่ายถ่านหินใน จ.สมุทรสาคร พิสูจน์ให้เห็นว่าต่อไปถนนพระราม 2 อาจกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการปิดถนนชุมนุมเรียกร้องต่างๆ หากไม่มีการควบคุม

ถนนพระราม 2 ถือเป็นถนนซูเปอร์ไฮเวย์ที่สำคัญสายหนึ่ง ซึ่งถือเป็นประตูสู่ภาคใต้ มีระยะทางจากหลักกิโลเมตรที่ 0 บริเวณสามแยกบางปะแก้ว ถึงทางแยกต่างระดับวังมะนาว อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ระยะทางรวม 84 กิโลเมตร ก่อสร้างขึ้นเพื่อย่นระยะทางจากกรุงเทพฯ ลงสู่ภาคใต้โดยใช้ถนนเพชรเกษมมากถึง 40 กิโลเมตร เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการในสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2516 หรือเกือบ 39 ปีที่ผ่านมา

ปัจจุบันลักษณะทางกายภาพของถนนพระราม 2 ประกอบด้วยทางหลวงขนาด 12-14 ช่องจราจร ตั้งแต่สามแยกบางปะแก้วถึงหลักกิโลเมตรที่ 34 หรือสะพานกลับรถนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร ต่อจากนั้นจะเป็นถนน 6-8 ช่องจราจร เรื่อยไปถึงจังหวัดราชบุรี ซึ่งปกติจะมีรถยนต์ใช้เส้นทางนี้เพื่อมุ่งหน้าสู่ภาคใต้อย่างไม่ขาดสาย และหากเป็นช่วงเทศกาลการจราจรจะหนาแน่น แต่เคลื่อนตัวได้เรื่อยๆ หากไม่มีอุบัติเหตุหรือโครงการก่อสร้างกีดขวางช่องจราจร

สำหรับทางแยกต่างระดับสมุทรสาคร เป็นสะพานรูปเกือกม้า 2 จุด โดยมีทางขึ้นจากถนนเศรษฐกิจลงสู่ถนนพระราม 2 ก่อสร้างขึ้นและเปิดใช้เมื่อประมาณ 17-18 ปีก่อน แทนสี่แยกไฟแดงซึ่งที่ผ่านมามีอุบัติเหตุชนประสานงาบ่อยครั้ง ผลจากการก่อสร้างแม้จะทำให้รถทางตรงบนถนนพระราม 2 ทำความเร็วได้สม่ำเสมอ แต่พบว่าบริเวณทางลงสะพานมักจะมีอุบัติเหตุบ่อยครั้ง อันเนื่องมาจากมีผู้ฝ่าฝืนไม่เลี้ยวซ้ายตามทางบังคับ ปะทะกับรถจากทางลงสะพานบ่อยครั้ง

ในประวัติศาสตร์จากการสืบค้นไม่พบว่ามีการปิดถนนพระราม 2 เพื่อชุมนุมประท้วงบริเวณทางแยกต่างระดับดังกล่าว จะมีก็แต่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ในวันที่ 15 เมษายนของทุกปีจะมีการแห่ขบวนนางสงกรานต์ จากวัดบางปิ้ง ต.นาดี อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร ไปตามถนนเศรษฐกิจ ขึ้นสะพานทางแยกต่างระดับมหาชัย ก่อนจะเข้าเมืองสมุทรสาคร ซึ่งอาจจะมีการปิดสะพานในบางช่วง แล้วให้รถยนต์ตามท้ายแถวขบวน แต่ไม่กระทบรถทางตรงของถนนพระราม 2

กระทั่งเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2554 แกนนำต่อต้านถ่านหิน อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อคุณภาพชีวิตจังหวัดสมุทรสาคร นำผู้ชุมนุมปิดถนนพระราม 2 บริเวณทางแยกต่างระดับสมุทรสาคร เพื่อเรียกร้องให้ทางจังหวัดแก้ไขปัญหาผู้ประกอบการนำเข้าและจำหน่ายถ่านหินก่อมลภาวะทั้งทางน้ำ คลังสินค้า และทางบกที่เกิดขึ้นยาวนานกว่า 5 ปี ส่งผลทำให้การจราจรติดขัดยาวนับสิบกิโลเมตร หลังเวลาผ่านไป 3 ชั่วโมงการเจรจาตกลงกันได้จึงเปิดการจราจร

ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2555 ชาวบ้านใน จ.สมุทรสาครรวมตัวกันปิดถนนพระราม 2 จุดเดียวกัน เนื่องจากไม่พอใจที่กระทรวงพลังงานแจกคูปองมูลค่า 2,000 บาท ในโครงการมหกรรมสินค้าเบอร์ 5 เยียวยาผู้ประสบอุทกภัย ไม่สามารถใช้ได้จริงตามที่ต้องการ ส่งผลทำให้การจราจรติดขัดเช่นเดียวกัน อย่างไรก้ตามตำรวจใช้กำลังกว่า 150 นาย นำตัวผู้ชุมนุมที่นั่งขวางถนนในช่องทางหลักออกไปได้ ก่อนที่จะสลายการชุมนุมหลังผ่านพ้นไปเกือบ 4 ชั่วโมง

จากเหตุการณ์ชุมนุมปิดถนนพระราม 2 ทั้งสองครั้ง ทำให้การคมนาคมสัญจรลงสู่ภาคใต้เป็นอัมพาต แน่นอนว่าผู้ใช้รถใช้ถนนย่อมไม่พอใจที่จะให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น เนื่องจากมองว่าผู้ชุมนุมนำชีวิตของผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นตัวประกัน อดีตแกนนำนักศึกษารายหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า จากเหตุการณ์ที่มหาชัย ต่อไปเวลาเกิดความไม่พอใจใดๆ บริเวณทางแยกต่างระดับพระราม 2 จะกลายเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ในการชุมนุมปิดถนนเพื่อต่อรองเรื่องต่างๆ

อย่างไรก็ตาม จากการสังเกตของผู้สื่อข่าว การชุมนุมปิดถนนพระราม 2 ที่ผ่านมานั้นผ่านพ้นมาได้ เพราะการใช้วาทะศิลป์ในการเจรจากับผู้ชุมนุมของผู้ว่าราชการจังหวัด แม้จะดูไม่อ่อนหวานนัก แต่ก็พยายามเสนอทางออก ช่วยลดความร้อนแรงของผู้ชุมนุม อีกทั้งในส่วนของตำรวจ หากการปิดถนนไม่ใช้ยานพาหนะปิดหัว-ปิดท้ายเสมือนวางแผนเอาไว้แล้ว การผลักดันผู้ชุมนุมโดยปราศจากอาวุธในครั้งล่าสุดก็ช่วยคลี่คลายสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี

บทเรียนจากการชุมนุมปิดเส้นทางคมนาคมสายหลักที่เกิดขึ้นทั้งสองครั้ง ทั้งฝ่ายปกครองจังหวัด และเจ้าหน้าที่ตำรวจอาจต้องรับมือกับความไม่พอใจที่อาจนำไปสู่การชุมนุมปิดถนนในวันข้างหน้า ถึงกระนั้นหากการเคลื่อนไหวใดๆ ถึงขั้นปิดถนนไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะทำให้สังคมยอมรับ นอกจากจะทำให้การชุมนุมไม่มีพลังแล้ว ประชาชนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมอาจประณามการกระทำเหล่านี้ และอาจก่อให้เกิดความรุนแรงในรูปแบบอื่นๆ ตามมาก็เป็นได้.



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง