โรงไฟฟ้า “กากน้ำตาล” บุกบ้านแพ้ว คำถาม-ความกังวลที่ไร้คำตอบ

ภาพจากเฟซบุ๊ก ชุมชนคนบ้านแพ้ว

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท กรีนเอิร์ธ เอ็นเนอร์จี จำกัด ได้จัดงานประชาสัมพันธ์โครงการและรับฟังความคิดเห็นต่อ “โครงการผลิตไฟฟ้าจากกากน้ำตาล” ณ ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หลักสอง อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ท่ามกลางคำถามที่ตามมาจากชาวบ้านในพื้นที่ว่า ทำไมต้องมาตั้งโรงไฟฟ้าในพื้นที่บ้านแพ้ว แล้วเมื่อก่อตั้งชาวบ้านจะได้อะไร

จากคำบอกเล่าของแฟนเพจ “ชุมชนคนบ้านแพ้ว” ในเฟซบุ๊กระบุว่า ในวันดังกล่าวทางผู้ประกอบการชี้แจงถึงข้อดีของโรงงาน เช่น การตั้งโรงงานไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชาวบ้านแพ้วจะมีไฟฟ้าใช้ โดยชาวบ้านที่มารับฟังจะต้องลงทะเบียนและถ่ายสำเนาบัตรประชาชน จากนั้นมานั่งฟังคำอธิบาย ตอบแบบสอบถามเพื่อรับเงินสด 200 บาทในซองสีชมพู จากนั้นทานโต๊ะจีนและกลับบ้าน

“ทาง อบต.และโรงงาน ไม่แจ้งอะไรแก่ชาวบ้านเลย ไม่มีการสรุปอะไรในครั้งนี้ ที่ผ่านมาพวกกลุ่มทุนก็จะนำไปเขียนรายงานว่าได้ทำประชาคมแล้ว และขออนุญาตก่อสร้างต่อไป ตามแบบที่โรงงานหลายๆ โรงงานทำกันมา ชาวบ้านก็รับกรรมไป อบต.ก็หากินไป เพราะเขาลงทุนซื้อที่แล้ว ลงทุนจัดประชาคมแล้ว เลี้ยงโต๊ะจีนแล้ว จ่ายเงินอะไรๆ ไปแล้ว ตามที่ชาวบ้านแจ้งมา” แฟนเพจ ชุมชนคนบ้านแพ้ว ระบุ

เมื่อพิจารณาถึงเอกสารที่ทางผู้ประกอบการนำมาแจกแก่กลุ่มชาวบ้าน พบว่าได้อธิบายถึงผลกระทบของก๊าซเรือนกระจก ก่อนที่จะอธิบายถึงกระบวนการผลิตพลังงานจากกากน้ำตาล เริ่มจากการย่อยสลายสารอินทรีย์จากกากน้ำตาล ในบ่อหมักจนได้ก๊าซชีวภาพออกมา ซึ่งประกอบด้วยก๊าซหลัก ได้แก่ ก๊าซมีเทน 65% เป็นก๊าซติดไฟ ให้ความร้อน 9,000 กิโลแคลอรี่ต่อลูกบาศก์เมตร ร่วมกับคาร์บอนไดออกไซด์ 35% และก๊าซอื่นๆ เช่น ก๊าซไข่เน่า ก๊าซไนโตรเจน และความชื้น ฯลฯ อีกเล็กน้อย

ส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พบว่าทางผู้ประกอบการได้อธิบายว่า จะไม่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากฟอสซิล เนื่องจกเป็นพลังงานหมุนเวียนเพื่อทดแทนการผลิตจากฟอสซีล ได้แก่ ถ่านหิน น้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติ ส่วนผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินโครงการนั้น ได้อธิบายโดยยกผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการผลิตไฟฟ้าด้วยก๊าซชีวภาพจากกองกากมันสำปะหลัง

โดยในส่วนของอากาศ ได้อธิบายว่า ลดการปล่อยก๊าซมีเทนสู่อากาศ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อน เรื่องกลิ่นจะไม่ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นรบกวน เนื่องจากเป็นการทำงานในระบบปิด เรื่องน้ำไม่มีการปล่อยน้ำเสียใดๆ จากระบบ ดังนั้นจึงไม่มีผลกระทบในด้านนี้ และเสียงรบกวน อธิบายว่า การรบกวนของเสียงต่อชุมชนอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากเครื่องผลิตไฟฟ้าติดตั้งในอาคาร

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากกองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยถึงผลกระทบและข้อเสียจากโรงไฟฟ้าชีวมวล ระบุว่า ชีวมวลมีการเก็บรักษาและการขนส่งที่ยาก และมีความเสี่ยงสูงในการจัดหาหรือรวบรวมปริมาณชีวมวลที่ต้องกรใช้ ให้คงที่ตลอดปี เพราะชีวมวลบางประเภทมีจำกัด และต้องการพื้นที่ในการเก็บรักษาขนาดใหญ่

ส่วนผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมนั้น แม้จะไม่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิงชีวมวล แต่ก็มีปัญหาสำคัญของมลพิษทางอากาศที่เกิดจากโรงไฟฟ้าชีวมวล คือ ฝุ่นละออง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกกิจกรรมภายในโรงไฟฟ้าฯ เริ่มตั้งแต่การเก็บขน การลำเลียงวัตถุดิบ ตลอดจนกระบวนการผลิต ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของคน สัตว์ พืช

“พบว่าฝุ่นขนาดเล็กในบรรยากาศจะมีความสัมพันธ์กับอัตราการเพิ่มของผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจและโรคปอด และเกี่ยวโยงกับการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร โดยเฉพาะผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคหืดหอบ และเด็กจะมีอัตราเสี่ยงสูงกว่าคนปกติอีกด้วย รวมถึงทำให้เกิดความเสียหายต่ออาคารบ้านเรือน เกิดความเดือดร้อนรำคาญต่อประชาชน บดบังทัศนวัสัย และเกิดอุปสรรคในการคมนาคมขนส่ง

ส่วนน้ำเสียและกลิ่นเหม็นนั้น แหล่งกำเนิดคือ กิจกรรมของคนงาน และกระบวนการผลิตอันตราย น้ำและกลิ่นเหม็นมักจะไม่รุนแรง แต่จะส่งผลในเรื่องของการอุปโภคบริโภค ขณะที่เสียงดังเกิดจากกิจกรรมภายในโรงไฟฟ้า ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อคนงาน รวมถึงบริเวณใกล้เคียง มักส่งผลต่อสุขภาพทั่วไปและจิตใจ ได้แก่ รบกวนการนอนหลับ รบกวนกรทำงาน ขัดขวางการได้ยินสัญญาณอันตรายต่างๆ

ทั้งนี้ มาตรการในการป้องกันและลดผลกระทบนั้น กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ มองว่า ควรนำเทคโนโลยีสะอาดไปใช้ในการผลิตไฟฟ้า เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และการลดมลพิษ สำคัญที่สุดคือ เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในทุกขั้นตอนของการดำเนินกร เพื่อสร้างความเข้าใจในอันที่จะลดผลกระทบและลดความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด

อ่านเพิ่มเติม แผ่นพับ “โรงไฟฟ้าชีวมวล” โดย กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข คลิกที่นี่

ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต : ถังก๊าซชีวภาพ (Biogas) ของบริษัท ชุมพรอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) ซึ่งนำน้ำเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ ผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ ใช้ในการผลิตไอน้ำและกระแสไฟฟ้า

จากการตรวจสอบข้อมูลที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า บริษัท กรีนเอิร์ธ เอ็นเนอร์จี จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2553 ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท มีนายสมเกียรติ ราตรีประสาทสุข เป็นกรรมการบริษัท ระบุวัตถุประสงค์การผลิตพลังงานไฟฟ้า สำนักงานเลขที่ 67/85 หมู่ที่ 8 ต.ท่าทราย อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร

ทั้งนี้ นายสมเกียรติยังเป็นกรรมการบริษัท โมเดอร์น แพค ไลน์ จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2538 ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ซึ่งเป็นโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก ร่วมกับ นางจิตติมา ราตรีประสาทสุข ซึ่งใช้ที่อยู่เดียวกันอีกด้วย

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบไปยังเว็บไซต์กระทรวงพลังงาน พบว่าในการประชุมคณะกรรมการบริหารมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2555 พบว่า ได้เห็นชอบให้ตอบรับซื้อไฟฟ้า จากบริษัท กรีนเอิร์ธ เอ็นเนอร์จี จำกัด จากประเภทเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ ในปริมาณเสนอขาย 0.990 เมกะวัตต์ มีจุดเชื่อมโยงที่ อ.บ้านแพ้ว วงจรที่ 9 โดยระบุสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้าที่ ต.เจ็ดริ้ว อ.บ้านแพ้ว กำหนดวันเริ่มประกอบกิจการตามแผน (SCOD) 31 ธ.ค. 2556

ซึ่งในเอกสารเดียวกัน พบว่าที่ประชุมได้เห็นชอบให้ลงนามสัญญาซื้อไฟฟ้า กับบริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) จากประเภทเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ ในปริมาณเสนอขาย 0.932 เมกะวัตต์ มีจุดเชื่อมโยงที่สถานีไฟฟ้าบางปลา วงจรที่ 3 โดยระบุสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้าที่ ต.ท่าทราย อ.เมืองฯ กำหนดวันเริ่มประกอบกิจการตามแผน คือ 30 มิ.ย. 2556

ส่วนบริษัท มหาชัย กรีน เพาเวอร์ จำกัด ซึ่งเสนอให้กระทรวงพลังงานตอบรับซื้อไฟฟ้า จากประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล ในปริมาณเสนอขาย 8 เมกะวัตต์ มีจุดเชื่อมโยงที่สถานีไฟฟ้าบ้านแพ้ว วงจรที่ 2 โดยระบุสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้าที่ ต.ชัยมงคล อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร ซึ่งกำหนดวันเริ่มประกอบกิจการตามแผนในเดือน พ.ย. 2556 ที่ประชุมให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ส่งเอกสารด้านเทคนิคเพิ่มเติมให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พิจารณา และพบว่าได้ผ่านความเห็นชอบในการประชุมครั้งที่ 16 เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2555

อีกด้านหนึ่ง ในการประชุมคณะกรรมการบริหารมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2554 ยังได้ให้ความเห็นชอบตอบรับซื้อไฟฟ้า กับบริษัท สมุทร กรีน เอนเนอจี จำกัด จากประเภทเชื้อเพลิงพลังงานลม ในปริมาณเสนอขาย 0.90 เมกะวัตต์ มีจุดเชื่อมโยงที่สถานีไฟฟ้าสมุทรสาคร วงจรที่ 9 โดยระบุสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้าที่ ต.บางหญ้าแพรก อ.เมืองฯ และได้เห็นชอบลงนามสัญญาในการประชุมครั้งที่ 14 เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2555 กำหนดวันเริ่มประกอบกิจการตามแผนในวันที่ 30 มิ.ย. 56

อ่านประกอบ : โครงการที่เสนอคณะกรรมการบริหารมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนพิจารณา จากเว็บไซต์ กระทรวงพลังงาน คลิกที่นี่

แม้กระแสการอนุรักษ์พลังงานด้วยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน หรือพลังงานหมุนเวียนกำลังเป็นที่พูดถึง พร้อมกับการเปิดประเด็นในเรื่องของวิกฤตพลังงาน ที่มาจากการกำหนดหยุดส่งก๊าซจากประเทศเมียนมาร์มาผลิตไฟฟ้าที่ประเทศไทยเพื่อซ่อมแซม แต่ประเด็นทางสิ่งแวดล้อมในสายตาชาวบ้านยังคงไม่คลายความสงสัยถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นหลังการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า

โดยเฉพาะพื้นที่ อ.บ้านแพ้ว ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรม นักลงทุนต่างสนใจที่จะตั้งโรงงานในพื้นที่ซึ่งเคยขึ้นชื่อว่าเป็น “ลานเกษตร” ดังคำขวัญจังหวัด ด้วยปัจจัยที่ว่า อ.เมืองฯ และ อ.กระทุ่มแบน มี พ.ร.บ.ผังเมืองบังคับใช้แล้ว และบางพื้นที่ยังเป็นเขตควบคุมอาคาร รวมทั้งที่ดินยังมีราคาถูก และบางส่วนอาจมองว่าสามารถเจรจากับผู้นำท้องถิ่นและชาวบ้านในพื้นที่ได้ ถึงขั้นซื้อได้ด้วยเงิน

จากข้อมูลของกระทรวงพลังงาน จะเห็นว่า บริษัท กรีนเอิร์ธ เอ็นเนอร์จี จำกัด ได้เคยที่จะตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ โดยกำหนดพื้นที่ ต.เจ็ดริ้ว อ.บ้านแพ้ว มาแล้ว แต่เหตุไฉนจึงต้องเปลี่ยนมาตั้งในพื้นที่ ต.หลักสอง อ.บ้านแพ้ว โดยมีกำหนดที่จะเริ่มประกอบกิจการตามแผนในวันสิ้นปี 31 ธ.ค. 2556 ที่จะถึงนี้ในอีกครึ่งปีข้างหน้า

คำถามที่ตามมาจากชาวบ้าน และนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ มองว่าการตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ จะเกิดผลกระทบเหมือนเช่นในหลายกรณีที่เกิดกับโรงงานในพื้นที่หรือไม่ อาทิ ปัญหาถ่านหินในพื้นที่ ต.สวนส้ม ปัญหาบ่อขยะในพื้นที่ ต.หลักสาม ปัญหน้ำเน่าเสียจากโรงงานกระดาษที่ ต.โรงเข้ โรงงานอลูมิเนียมที่ ต.ยกกระบัตร ฯลฯ ซึ่งทุกวันนี้บางโรงงานยังสร้างความเดือดร้อนอยู่

ต้องคอยดูว่า ในที่สุดการกำเนิดโรงงานผลิตไฟฟ้าจากกากน้ำตาล พร้อมกับความขัดแย้งระหว่างชาวบ้าน กับผู้นำชุมชนที่สนับสนุนโรงงานแห่งนี้ จะเกิดขึ้นหรือไม่ บทเรียนในอดีตเคยเกิดขึ้นมาแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายผู้ประกอบการจะแสดงความจริงใจในการป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นหรือไม่ ในเมื่อชาวบ้านที่ส่วนใหญ่ประกอบเกษตรกรรมต่างมีความกังวล

โดยที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมาไม่มีใครออกมารับผิดชอบ จนเกิดการลุกฮือของชาวบ้าน เช่น การที่กลุ่มต่อต้านถ่านหินพร้อมชาวบ้าน ชุมนุมปิดถนนพระราม 2 นำมาซึ่งการสั่งระงับการประกอบกิจการ และผู้เสียผลประโยชน์จ้างวานมือปืนฆ่าแกนนำต่อต้านถ่านหิน เกิดการสูญเสียของนักต่อสู้ในพื้นที่

บทเรียนนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายผู้ประกอบการจะมองข้ามหรือไม่.



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง