บันทึกไว้ในโลกา นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน “ทองนาค เสวกจินดา”

ชื่อของ “ทองนาค เสวกจินดา” แกนนำต่อต้านถ่านหิน ที่เสียชีวิตจากการถูกสังหารเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา ปรากฏขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้มอบรางวัลในฐานะนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่เสียชีวิต ขณะเดียวกัน องค์กรเฝ้าระวังสิทธิมนุษยชนระดับนานาชาติอย่าง “ฮิวแมนไรท์วอซ” ได้บันทึกชื่อของเขาลงในรายงานประจำปี 2012 ในฐานะนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนอีกด้วย

สาครออนไลน์ จึงขอรวบรวมบันทึกเกี่ยวกับนายทองนาค ในฐานะนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ถูกบันทึกไว้ในหนังสือสูจิบัตรในพิธีมอบรางวัล บุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2554 โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งได้มอบรางวัลไปเมื่อวันที่ 26 ม.ค.2555 ที่ผ่านมา รวมทั้งขอนำบันทึกในรายงานประจำปี 2012 ขององค์กรฮิวแมนไรท์วอซ เพื่อบันทึกไว้เป็นอนุสรณ์แห่งคุณงามความดีครั้งนี้ ให้เป็นตัวอย่างแก่สาธารณชน

นายทองนาค เสวกจินดา

• • •

นายทองนาค เสวกจินดา

“แม้ทองนาคจะตายไป

แต่ไฟแห่งการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนจะยังคงอยู่”

.

ชื่อ-นามสกุล – นายทองนาค เสวกจินดา

ประสบการณ์/ผลงานด้านสิทธิมนุษยชน – แกนนำต่อต้านการขนย้ายถ่านหิน มาขึ้นฝั่งที่ ตำบลท่าทราย จังหวัดสมุทรสาคร เนื่องจากปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบหลายด้นต่อคนในชุมชน และได้ต่อสู้เรียกร้อง กรณีดังกล่าวจนศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองให้ระงับการประกอบกิจการถ่านหินใน จังหวัดสมุทรสาคร ทั้งยังติดตาม เพื่อรักษาสิทธิและผลประโยชน์ของชุมชนในกรณีดังกล่าว จนกระทั่งถูกยิงเสียชีวิต

ทองนาค เสวกจินดา อายุ 46 ปี แกนนำต่อต้านโรงถ่านหินในพื้นที่ ตำบลท่าทราย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร และ แกนนำกลุ่มต่อต้านถ่านหินอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อคุณภาพชีวิตชาวสมุทรสาคร หลังจากที่ ทองนาคสมรสกับนางจอมขวัญ เสวกจินดา ไม่มีบุตร จึงทำให้ทองนาคอุทิศเวลาส่วนใหญ่เสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม การต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิชุมชนในพื้นที่เกิดขึ้นก็เนื่องมาจากมีนายทุนซื้อที่ดินเพื่อตั้งโรงงานและสร้างท่าเทียบเรือเพื่อขนย้ายถ่านหิน ทำให้เกิดฝุ่นควันถ่านหิน สร้างปัญหามลพิษในพื้นที่ และเกิดการกระทบกระทั่งระหว่างชาวบ้านกับโรงงาน การต่อสู้ของชาวบ้านกับนายทุนโรงงานนั้นเนิ่นนานยาวนับปี จนกระทั่งผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครในขณะนั้น มีคำสั่งระงับการดำเนินการของโรงงานถ่านหินในการขนย้ายถ่านหินมาขึ้นฝั่งที่ท่าเรือ ตำบลท่าทราย เนื่องจากโรงงานไม่ได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่าและนำไปสู่การฟ้องร้องต่อศาลปกครอง

แต่กระนั้นเองก็ยังมีการลักลอบขนย้ายถ่านหินมาขึ้นฝั่งที่ ตำบลท่าทรายอยู่เสมอ ทำให้นายทองนาคเองต้องเข้าไปขัดขวางและจับกุมผู้กระทำผิดส่งเจ้าหน้าที่ด้วยตัวเอง กระทั่งมีการปิดถนนพระราม 2 เพื่อประท้วงกลุ่มนายทุน และในขณะระหว่างเรื่องอยู่ในศาลปกครอง นายทองนาคและแกนนำท่านอื่นก็ได้ถูกข่มขู่คุกคามจากกลุ่มนายทุนอยู่เสมอ เนื่องจากเพียงเพราะพวกเขาคิดว่ามีอำนาจมากกว่า มีเงินมากกว่า ทั้งการขึ้นป้ายใส่ร้ายกลุ่มต่อต้านถ่านหินว่าเป็นพวกถ่วงความเจริญ ซึ่งตรงนี้นั้นแตกต่างจากมุมมองของเหล่านักต่อสู้ที่มองว่าหากธุรกิจนั้นดำเนินการอยู่ภายใต้หลักธรรมาภิบาลคงไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าธุรกิจดำเนินการโดยเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ไม่คำนึงถึงความเสียหายเดือดร้อนของชาวบ้านและชุมชน การดำเนินการเช่นนั้นคงไม่ใช่การทำธุรกิจที่ดีได้ ไม่ต่างจากโจรปล้นแย่งชิงอะไร และถ้าเป็นเช่นนั้นก็ไม่สมควรที่จะดำเนินกิจการต่อไป

และแม้จะต้องเผชิญกับกลุ่มอำนาจต่างๆ ทั้งจากนายทุนที่มีอำนาจมากกว่าพวกเขาอยู่แล้วยังต้องเผชิญกับกลุ่มราชการที่วางตัวไม่เป็นกลาง หลายครั้งเจ้าหน้าที่เอาหูไปนา เอาตาไปไร่ ไม่สนใจแยแสต่อเสียงเรียกร้องของประชาชนตัวเล็กๆ ผู้ได้รับความเดือดร้อน แม้จะมอบไปรอบๆ ด้าน เห็นเพียงแสงสว่างลางเลือนเนื่องจากถูกห้อมล้อมไปด้วยอำนาจมืดและเงินตรา แต่นั่นไม่ทำให้ทองนาค และเพื่อนๆ ผู้ร่วมขบวนการย่อท้อ หวั่นไหว ยังคงเรียกร้องเพื่อต่อสู้คืนธรรมชาติและวิถีชีวิตให้กับชุมชน เมื่อทองนาค เสวกจินดา จบชีวิตลง กระแสคลื่นของผู้คนยิ่งออกมาต่อต้านแรงขึ้น และสุดท้ายศาลปกครองกลางจึงมีคำสั่งคุ้มครองด้วยการห้ามขนย้าย ห้ามเก็บ และห้ามใช้งานถ่านหินในเขต ตำบลท่าทรายอีกต่อไป นั่นคือจุดจบของธุรกิจที่ไม่โปร่งใส ไม่มีธรมาภิบาล และไม่รับผิดชอบต่อสังคมนั่นเอง

วันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ที่ผ่านมา นายทองนาคไปขึ้นศาลปกครอง เพื่อเป็นพยนในการดำเนินคดีกับบริทที่นำถ่านหินเข้ามาในพื้นที่ หมู่ที่ 4ตำบลท่าทราย โดยมีคดีความกันมาตั้งแต่ประมาณเดือนกันยายน 2553 หลังกลับจากศาลก็เรียกประชุมแกนนำ โดยนายทองนาคระบุว่ามีคนข่มขู่ให้ระวังตัวให้ดี จึงแจ้งแกนนำทุกคนให้เพิ่มความระมัดระวัง แต่แล้วในวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 นายทองนาค เสวกจินดา ถูกยิงหน้าร้านก๋วยเตี๋ยวและร้านชำเล็กๆ ซึ่งเป็นร้านของตัวเองเสียชีวิต ท่ามกลางความโศกเศร้าของญาติพี่น้อง และเพื่อนผู้ร่วมต่อสู้ มีการแห่ศพนายทองนาคไปทั่วจังหวัดสมุทรสาครเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมและเร่งรัดให้ติดตามจับกุมผู้กระทำความผิด นำมาสู่การจับกุมทีมสังหารนายทองนาคได้ในวันที่ 1 สิงหาคม 2554

แต่กระนั้นเองยังไม่สามารถสืบหาความจริงในส่วนของผู้จ้างวานได้ จนครอบครัวและเพื่อนร่วมงานนายทองนาคเองเกรงว่าคดีจะเงียบไป และแม้นายทองนาคจะตายไปแต่ไฟแห่งการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนจะยังคงอยู่ และกลุ่มอนุรักษ์ของนายทองนาคจะยังเดินหน้าต่อต้านนายทุนโรงงานอยู่ต่อไปแม้หลายคนจะหวั่นเกรงต่อความไม่ปลอดภัยของตนและครอบครัว แต่เมื่อทองนาคจบชีวิตลงเช่นนี้ การต่อสู้จะยังคงดำเนินต่อไปเพื่อไม่ให้อุดมการณ์ผู้ล่วงลับต้องสูญเปล่า ตามทฤษฎี ตายสิบเกิดแสน ตราบใดก็ตามที่รัฐและนายทุนยังไม่เห็นความสำคัญ และมองความต้องการของประชาชนในพื้นที่มเป็นอันดับแรกและยังคงละเมิดสิทธิชุมชนของพวกเขาซ้ำแล้วซ้ำอีกและซ้ำอีก — จบ —

เมื่อวันที่ 26 ม.ค.2555 นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มอบโล่รางวัลแก่นางจอมขวัญ เสวกจินดา ภรรยานายทองนาค เสวกจินดา แกนนำต่อต้านถ่านหิน อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อคุณภาพชีวิตจังหวัดสมุทรสาคร ที่ถูกยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 28 ก.ค.2554 ที่ผ่านมา ในฐานะที่สามีเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่เสียชีวิต ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ กรุงเทพฯ

รายละเอียดเพิ่มเติม : http://www.sakhononline.com/news/?p=3624

• • •

รายงานประจำปี WORLD REPORT 2012 โดย องค์กรฮิวเมนไรท์วอซ
(ดาวน์โหลดได้ที่ http://www.hrw.org/sites/default/files/reports/wr2012.pdf)

Human Rights Defenders

Gunmen shot dead environmentalist Thongnak Sawekchinda in Samut Sakhon province on July 28, allegedly in retaliation for his campaign against local coal industry pollution. Since 2001 more than 20 environmentalists and human rights defenders have been killed in Thailand. Investigations into the killings have frequently suffered from inconsistent and shoddy detective work, the failure of the Justice Ministry to provide adequate protection for witnesses, and political interference in law enforcement efforts.

ที่มา : http://www.hrw.org/world-report-2012/world-report-2012-thailand

นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน

ทองนาค เสวกจินดา นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ถูกมือปืนสังหารในจังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ซึ่งเป็นผลมาจากการรณรงค์ต่อต้านการสร้างมลภาวะของอุตสาหกรรมถ่านหินในท้องที่ ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา มีนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนถูกสังหารไปแล้วมากกว่า 20 ราย การสืบสวนสอบสวนคดีฆาตกรรมเหล่านี้มักจะเผชิญอุปสรรคจากการทำงานที่ไม่คงเส้นคงวา และการสอบสวนที่ไม่มีประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมทั้งการที่กระทรวงยุติธรรมไม่สามารถให้การคุ้มครองต่อพยานได้เพียงพอ และการที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายบังคับใช้กฏหมายไม่สามารถรับมือกับอิทธิพลทางการเมืองที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าวได้

ที่มา : http://www.hrw.org/node/104222



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง