พระราม 2 ทางผ่าน ‘รถบัสหมวด 3’

กรมการขนส่งทางบกได้ขยายเส้นทางการเดินรถโดยสารประจำทางระหว่างจังหวัด หรือรถหมวด 3 ไปยังจังหวัดซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยว เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว ในการเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการค้าและการท่องเที่ยวของประเทศได้อีกทางหนึ่ง

ถนนพระราม 2 หรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 ซึ่งเป็นเส้นทางสายหลักมุ่งหน้าสู่ภาคใต้ นอกจากจะมีรถประจำทางจากสถานีขนส่งสายใต้ และสถานีขนส่งหมอชิต 2 มุ่งหน้าสู่จังหวัดและเมืองสำคัญทางภาคใต้วิ่งผ่านอยู่แล้ว ยังเป็นทางผ่านของรถประจำทางหมวด 3 ทั้งจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกมุ่งหน้าสู่ภาคใต้เช่นกัน และยังมีผู้ประกอบการเดินรถบางรายเปิดจุดจองตั๋วโดยสารอีกด้วย

บริษัท รถรุ่งเรือง (มุกดาหาร) จำกัด มีรถประจำทางหมวด 3 ที่ผ่านเส้นทางถนนพระราม 2 ได้แก่ สาย 393 ระยอง-เกาะสมุย เป็นรถประจำทางวีไอพี 24 ที่นั่ง ให้บริการวันละ 3 เที่ยว คือ จากต้นทางระยอง รถออกเวลา 14.30, 16.30 และ 18.30 น. โดยคาดว่าจะถึง จ.สมุทรสาคร เวลาประมาณ 18.40, 20.40 และ 22.40 น. และไปถึงปลายทางเกาะสมุยเวลาประมาณ 07.05, 09.05 และ 11.05 น. ของอีกวันหนึ่ง ส่วนจากต้นทางเกาะสมุย รถออกเวลา 13.30, 14.30 และ 16.30 น. คาดว่าจะถึง จ.สมุทรสาคร เวลาประมาณ 01.55, 02.55 และ 04.55 น. ของอีกวันหนึ่ง และไปถึงปลายทาง จ.ระยอง เวลาประมาณ 06.05, 07.05 และ 09.05 น.

อีกเส้นทางหนึ่ง ได้แก่ สาย 831 มุกดาหาร-หัวหิน เป็นรถประจำทางมาตรฐานชั้น 1 ให้บริการวันละ 1 เที่ยว คือ จากต้นทางมุกดาหาร ออกเดินทางเวลา 17.00 น. โดยคาดว่าจะถึง จ.สมุทรสาคร เวลาประมาณ 05.00 น. และไปถึงปลายทางหัวหิน เวลาประมาณ 06.55 น. ส่วนจากต้นทางหัวหิน รถออกเวลาประมาณ 17.30 น. ผ่าน จ.สมุทรสาคร เวลาประมาณ 19.30 น. และไปถึงปลายทาง จ.มุกดาหาร เวลาประมาณ 07.30 น. โดยทั้งสองเส้นทางนั้นมีจุดจำหน่ายตั๋วที่บริเวณตรงข้ามเคหะชุมชนท่าจีน

อีกบริษัทหนึ่ง คือ บริษัท ทีพี ชนะภัยทัวร์ จำกัด มีรถประจำทางที่วิ่งผ่านถนนพระราม 2 อยู่ 1 เส้นทาง ได้แก่ สาย830 อุบลราชธานี-หัวหิน เป็นรถประจำทางมาตรฐานชั้น 1 พิเศษ มีรถให้บริการวันละ 1 เที่ยว ออกจากต้นทางอุบลราชธานี 20.30 น.ถึงปลายทางหัวหิน 06.30 น. และจากหัวหิน 18.00 น. ถึงปลายทางอุบลราชธานี 06.00 น. ซึ่งราคาค่าโดยสารจากอุบลราชธานี-หัวหิน อยู่ที่ 690 บาท โดยมีจุดจำหน่ายตั๋วที่บริเวณหน้านิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร

นอกจากนี้ ยังมีรถประจำทางหมวด 3 ที่ผ่านเส้นทางถนนพระราม 2 อีกหลายเส้นทาง อาทิ สาย 832 อุบลราชธานี-ภูเก็ต ของบริษัท ชินเกียรติโคราช จำกัด มีรถให้บริการวันละ 2 เที่ยว เวลา 09.00 และ 15.00 น., สาย 776 ภูเก็ต-หนองคาย ของบริษัท ชาญประเสริฐทัวร์ จำกัด มีรถให้บริการวันละ 1 เที่ยว เวลา 14.00 น., สาย 777 ภูเก็ต-พัทยา ของบริษัท สวัสดีทั่วไทย จำกัด มีรถให้บริการวันละ 1 เที่ยว เวลา 18.00 น., สาย 780 ภูเก็ต-เชียงราย ของบริษัท โชครุ่งทวีทัวร์ จำกัด มีรถให้บริการวันละ 2 เที่ยว เวลา 09.00 และ 17.00 น.

สาย 782 นครราชสีมา-หาดใหญ่ ของบริษัท ปิยะรุ่งเรืองทัวร์ จำกัด มีรถให้บริการวันละ 2 เที่ยว เวลา 16.00 และ 19.00 น., สาย 783 ระยอง-พัทยา-หาดใหญ่ ของบริษัท ปิยะรุ่งเรืองทัวร์ จำกัด มีรถให้บริการวันละ 1 เที่ยว จากระยองเวลา 16.00 น. จากหาดใหญ่เวลา 18.30 น., สาย 784 ภูเก็ต-ขอนแก่น ของบริษัท สมบัติทัวร์ จำกัด มีรถให้บริการวันละ 1 เที่ยว จากภูเก็ตเวลา 16.00 น. จากขอนแก่นเวลา 15.30 น. รวมทั้งกรมการขนส่งทางบกได้เปิดให้ผู้ประกอบการยื่นสัมปทานเดินรถเพิ่มเติม ได้แก่ สาย 788 หัวหิน-บางแสน และสาย 789 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-หัวหิน อีกด้วย

แม้จังหวัดสมุทรสาครจะเป็นทางผ่านของรถประจำทางหมวด 3 เหล่านี้ แต่ก็ถือว่าเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นย่านโรงงานอุตสาหกรรม มีผู้ใช้แรงงานที่มีภูมิลำเนาอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวนมาก อีกทั้งการขยายตัวของเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร ที่มีที่พักอาศัยจำนวนมาก ทำให้พื้นที่ทางผ่านแห่งนี้มีศักยภาพพอที่จะเป็นจุดจอดรถประจำทางหมวด 3 เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางไปต่างจังหวัดโดยไม่ต้องเข้ากรุงเทพฯ

ปัญหาสำคัญก็คือ ปัจจุบันจังหวัดสมุทรสาครไม่มีสถานีขนส่งในตัวเมือง อีกทั้งรถประจำทางที่ไปจังหวัดภาคใต้มีร้านอารีย์สาคร บริเวณสี่แยกไฟแดงก่อนถึงโรงพักเป็นจุดจองตั๋วโดยสารและขึ้นรถในช่วงเย็นของทุกวัน มีแต่สถานีขนส่งผู้โดยสารสมุทรสาคร ด้านหลังตลาดทะเลไทยที่มีสภาพรกร้าง และเป็นเรื่องที่อาจเรียกได้ว่า กลัดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก เพราะอยู่ห่างไกลจากตัวเมืองสมุทรสาครมากถึง 4 กิโลเมตร การเดินทางไม่สะดวก ซึ่งก่อนหน้านี้มีกระแสว่าผู้ดูแลสถานีขนส่งสมุทรสาครเตรียมที่จะยกเลิกสถานีขนส่งดังกล่าว และดูเหมือนว่าจะไม่มีใครใช้งานอีกแล้ว

อย่างไรก็ตาม หากจะหาทำเลเพื่อก่อสร้างสถานีขนส่งผู้โดยสารสมุทรสาครอีกครั้ง คาดว่าต้องใช้พื้นที่ถนนพระราม 2 ยิ่งถ้าเป็นทำเลที่มีศักยภาพราคาที่ดินก็จะยิ่งสูงขึ้น ที่สำคัญคือการเดินทางเข้าเมืองสมุทรสาครต้องมีรถประจำทาง เช่น รถสองแถวเข้าถึง แต่ถึงกระนั้นหากจะนำสถานีขนส่งผู้โดยสารที่ตลาดทะเลไทยกลับมาปัดฝุ่นอีกครั้ง เพื่อเอื้อประโยชน์ให้รถประจำทางหมวด 3 เข้ามา ก็ต้องยอมลงทุนสร้างสะพานเข้า-ออกสำหรับรถโดยสารประจำทางโดยเฉพาะ เพราะไม่สามารถทำเกาะกลางตัดกระแสรถทางตรงขึ้นมาได้ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องกลับรถไกล แต่ข้อเสนอนี้ก็คงไม่มีใครนำพา เพราะค่าก่อสร้างสูงกว่าร้อยล้านบาท

การเปิดเส้นทางเดินรถประจำทางหมวด 3 มุ่งหน้าสู่ภาคใต้ โดยใช้จังหวัดสมุทรสาครเป็นทางผ่านนั้น อาจเป็นได้แค่ทางผ่านจริงๆ ตราบใดที่ศักยภาพของพื้นที่ยังจำกัด นอกเสียจากว่าหากมีการรวมตัวกันของผู้ประกอบการเดินรถในการทำให้จังหวัดสมุทรสาครมีจุดที่รับ-ส่งผู้โดยสารสำหรับรถประจำทางหมวด 3 และสร้างการรับรู้แก่ประชาชนได้ น่าจะมีส่วนช่วยทำให้ประชาชนในพื้นที่ไม่ต้องเดินทางไปขึ้นรถหลายต่อไกลถึงกรุงเทพฯ ทั้งที่สายใต้ใหม่ หมอชิต 2 และอนุสาวรีย์ชัยมรภูมิ

หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก thaitransport-photo.net



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง