เปลี่ยนบัญชี ‘ถนน 375’ รับมอเตอร์เวย์

534

แม้การก่อสร้างถนนสายบ้านแพ้ว-พระประโทนเป็น 4 ช่องจราจร ยังก่อสร้างไม่เสร็จ คาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในเดือนพฤศจิกายน 2556 แต่การเปลี่ยนบัญชีสายทาง จากเดิมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3097 เป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 375 (บ้านบ่อ – ลำลูกบัว) มีนัยยะสำคัญอย่างยิ่ง คือการรองรับทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางใหญ่-กาญจนบุรี มุ่งหน้าสู่ทวายและนครปฐม-ชะอำ ซึ่งอาจนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านความเจริญ ราคาที่ดินที่จะตามมาในอนาคต

ในอดีต บ้านแพ้วเป็นเพียงแค่ป่าทึบชายทะเล ชาวนครปฐมเดินทางเข้ามาจับสัตว์ป่า และแสวงหาของป่าดำรงชีวิต ได้ใช้ “แพ้วธง” ซึ่งเป็นผ้าผูกกับต้นไม้สูงหรือไม้ไผ่เป็นสัญลักษณ์กันพลัดหลง กระทั่งได้ตั้งรกรากอยู่กันที่นี่ เมื่อมีการขุดคลองดำเนินสะดวก เชื่อมแม่น้ำท่าจีนกับแม่น้ำแม่กลองในปี 2409 แล้วเสร็จปี 2411 เจ้านายผู้ใหญ่และชาวบ้านมากมายต่างจับจองที่ดินรกร้างสองฝั่งคลอง โดยศูนย์กลางทางการค้าอยู่ที่บริเวณหลักสาม ซึ่งปัจจุบันฝั่งเหนือของคลองดำเนินสะดวกเป็นที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอ

กระทั่งมีการตัดถนนเชื่อมระหว่างถนนธนบุรี-ปากท่อ กับถนนเพชรเกษม สิ้นสุดที่ ต.พระประโทน อ.เมืองฯ จ.นครปฐม โดยเกิดขึ้นในช่วงระหว่างปี 2517 ถึง 2519 หลังจากถนนสายธนบุรี-ปากท่อ เปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2516 ซึ่งพบกับอุปสรรคในการเวนคืนที่ดิน จึงออกประกาศกระทรวงคมนาคมตามมาเมื่อกลางปี 2517 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 1-2 ปี แล้วเสร็จและเปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อประมาณกลางปี 2519

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญก็คือ พระราชกฤษฎีกา กำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงจังหวัด สายพระประโทน-ดอนยายหอม-บ้านแพ้ว-บ้านบ่อ พ.ศ. 2516 ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2516 สมัยรัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงจังหวัด อยู่ในท้องที่ อ.เมืองฯ อ.สามพราน จ.นครปฐม อ.บ้านแพ้ว และ อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร มีส่วนกว้างของแนวทางหลวง 300 เมตร โดยให้อธิบดีกรมทางหลวงเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการ

ต่อมาเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2517 ได้มีประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดให้ทางหลวงจังหวัด สายพระประโทน-ดอนยายหอม-บ้านแพ้ว-บ้านบ่อ เป็นทางหลวงที่มีความจำเป็นต้องสร้างโดยเร่งด่วน ประกาศโดย พลเรือตรี ชลี สินธุโสภณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อให้เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์มีอำนาจเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์ รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ขนย้ายทรัพย์สิน และดำเนินการสร้างทางหลวงหรือดำเนินกิจการใดๆ เกี่ยวกับการสร้างทางหลวงในอสังหาริมทรัพย์นั้นๆ ได้

หลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่มีความเชื่อมโยงกัน คือ ประกาศคณะกรรมการควบคุมการขนส่ง ฉบับที่ 560 (พ.ศ. 2519) ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2519 กำหนดเส้นทางและรายละเอียดเส้นทางสำหรับการขนส่งประจำทางด้วยรถโดยสาร หมวด 3 สายที่ 478 นครปฐม-สมุทรสาคร ซึ่งพบว่าภายหลังได้ปรับปรุงรายละเอียดเส้นทางสำหรับการขนส่งประจำทางด้วยรถโดยสารหมวด 3 สายที่ 478 นครปฐม-สมุทรสาคร เป็น นครปฐม-บ้านแพ้ว ต่อมาได้มีการเพิ่มเส้นทางวัดหนองสองห้อง และวัดหนองนกไข่ แต่ได้ยกเลิกไป

อีกด้านหนึ่ง หลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าได้มีรถโดยสารจากสมุทรสาครไปยังบ้านแพ้วก่อนหน้านี้ ได้แก่ ประกาศคณะกรรมการควบคุมการขนส่ง ฉบับที่ 462 พ.ศ. 2518 ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2518 กำหนดเส้นทางและรายละเอียดเส้นทางสำหรับการขนส่งประจำทางด้วยรถโดยสาร หมวด 4 จังหวัดสมุทรสาคร สายที่ 8179 สมุทรสาคร-บ้านแพ้ว ปัจจุบันรถประจำทางที่วิ่งผ่านถนนบ้านแพ้ว-พระประโทนทั้ง 2 เส้นทางนั้นยังคงมีวิ่งให้บริการอยู่ตั้งแต่เช้าจรดเย็น

• รับความเจริญ “มหาวิทยาลัย-บ้านจัดสรร” ขยาย 4 เลนก่อนอัพเกรดทางหลวง

ในอดีต ถนนสายบ้านแพ้ว-พระประโทน เป็นเพียงถนนลาดยางเส้นเล็กๆ ขนาด 2 ช่องจราจรสวนทาง มีบางช่วงที่เป็น 4 ช่องจราจร ได้แก่ ช่วงเข้าเขตตัวอำเภอบ้านแพ้ว และเขต ต.ดอนยายหอมเท่านั้น กระทั่งในปี 2530 ได้ออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินในท้องที่ อ.บางแพ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี และ อ.บ้านแพ้ว กระทั่งมีการก่อสร้างทางหลวงจังหวัดหมายเลข 3236 เชื่อมระหว่างถนนสุทรสงคราม-บางแพ (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 325) อ.บางแพ จ.ราชบุรี กับถนนบ้านแพ้ว-พระประโทน จนแล้วเสร็จ

534-2

แม้ตลอดสองข้างทางจะเต็มไปด้วยป่าทึบชายทะเล สวนมะพร้าว และทุ่งนา แต่ความเจริญของถนนสายบ้านแพ้ว-พระประโทน เริ่มคืบคลานเข้ามาเรื่อยๆ ไล่ตั้งแต่งมหาวิทยาลัยคริสเตียน สถานศึกษาในสังกัดมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2539 หรือจะเป็นโครงการบ้านเดี่ยวสไตล์รีสอร์ท “มาย โฮม ทาวน์” ที่มีบริษัท พีเอ็ม รังษีแลนด์ จำกัด ของ “พจน์ อร่ามวัฒนานนท์” นักธุรกิจอาหารแช่เยือกแข็งส่งออกเป็นเจ้าของ เปิดตัวเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2545

นอกจากนี้ยังมีโรงงานอุตสาหกรรมตามมา โดยบริเวณตอนบนของถนนจะเป็นโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร ประกอบไปด้วย บริษัท ฟู้ดสตาร์ จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้พร้อมดื่มภายใต้แบรนด์ “ดีโด้” ก่อตั้งโรงงานเมื่อปี 2536 และบริษัท ยูนิ-เพรสซิเดนท์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์ “ยูนิฟ” ก่อตั้งโรงงานเมื่อปี 2537 หรือจะเป็นโรงงานผลิตยางรถยนต์รายใหญ่อย่าง บริษัท วีรับเบอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ก็ตั้งโรงงานอีกแห่งหนึ่งที่ ต.ชัยมงคล อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาครเช่นกัน

จากความเจริญเหล่านี้ การขยายถนนบ้านแพ้ว-พระประโทน ให้เป็นมาตรฐานทางพิเศษ 4 ช่องจราจร จึงถือกำเนิดขึ้น โดยช่วงที่ 1 เริ่มตั้งแต่หลักกิโลเมตรที่ 0+000 ถึง 22+000 จากสามแยกพระประโทน ระยะทาง 22 กิโลเมตร ก่อสร้างโดย บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด วันเริ่มต้นสัญญา 19 พฤศจิกายน 2552 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2555 ซึ่งขยายสัญญาจากเดิม 7 มกราคม 2555 (780 วัน) เป็น 21 กุมภาพันธ์ 2555 (825 วัน) งบประมาณ 719,663,200 บาท

ส่วนตอนที่ 2 ตั้งแต่กิโลเมตรที่ 22+000 ถึง 37+528.067 ระยะทาง 15.528 กิโลเมตร ก่อสร้างโดย บริษัท สระหลวงก่อสร้าง จำกัด วันเริ่มต้นสัญญา 6 เมษายน 2554 มีการขยายสัญญาจากเดิม 25 มีนาคม 2556 (720 วัน) เป็น 21 กันยายน 2556 (900 วัน) และ 1 พฤศจิกายน 2556 (941 วัน) งบประมาณ 549,654,820 บาท โดยเมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2554 มีปัญหาอุปสรรคคือติดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และมีฝนตกในช่วงลงมือก่อสร้าง

534-3

ต่อมามีการเปลี่ยนบัญชีสายทาง จากทางหลวงหมายเลข 4 หลัก หรือทางหลวงแผ่นดินที่เชื่อมระหว่างจังหวัดกับอำเภอ เป็นทางหลวงหมายเลข 3 หลัก หรือทางหลวงแผ่นดินสายรองประธาน เมื่อต้นปี 2556 โดยควบรวมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3097 กับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3036 (นครปฐม-ลำลูกบัว) นับตั้งแต่ถนนทหารบก เขตเทศบาลนครนครปฐม ผ่าน อ.ดอนตูม สิ้นสุดที่สามแยกลำลูกบัว ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 346 (บางเลน-กำแพงแสน หรือถนนพลดำริห์) ระยะทาง 26.389 กิโลเมตร

รวมระยะทางตลอดสายทั้งสิ้น 69.324 กิโลเมตร อยู่ในความดูแลของแขวงการทางนครปฐม สำนักทางหลวงที่ 13 ประจวบคีรีขันธ์ ยกเว้นกิโลเมตรที่ 37+521 ถึง 42+935 ระยะทาง 5.414 กิโลเมตร อยู่ในความดูแลของเทศบาลนครนครปฐม

การจัดระบบหมายเลขทางหลวงนั้น ทางหลวงแผ่นดินสายรองประธาน ซึ่งเป็นทางหลวงที่มีหมายเลข 3 หลัก มีลักษณะโครงข่ายเชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข 1 หลัก หรือ 2 หลัก เข้าสู่สถานที่สำคัญของจังหวัด หรืออาจจะไม่ผ่านพื้นที่สำคัญแต่มีลักษณะเชื่อมต่อเป็นโครงข่ายที่สามารถกระจายพื้นที่ให้บริการทางหลวงออกสู่พื้นที่ย่อย หรือเป็นทางลักษณะขนานกับแนวชายแดนต่อเนื่องกันเป็นระยะทางยาวเพื่อเป็นการสนับสนุนภารกิจของทหารในความมั่นคงของชาติ

• มอเตอร์เวย์ 2 เส้นล้อมนครปฐม “บางใหญ่-กาญจนบุรี” เวนคืนแล้ว

น่าสังเกตว่า การควบรวมถนนบ้านแพ้ว-พระประโทน กับทางหลวงแผ่นดินใน จ.นครปฐม กลายเป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 375 ในครั้งนี้ จะเป็นการรองรับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) 2 เส้นทาง ได้แก่ ทางหลวงพิเศษหมายเลข 81 สายบางใหญ่-บ้านโป่ง-กาญจนบุรี และทางหลวงพิเศษหมายเลข 8 สายนครปฐม-ปากท่อ-ชะอำ ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนแม่บทการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 13 เส้นทาง ระยะทาง 4,150 กิโลเมตร ซึ่ง ครม. มีมติอนุมัติเมื่อ 22 เมษายน 2540

534-4

โดยโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 81 แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ บางใหญ่-บ้านโป่ง ระยะทาง 51 กิโลเมตร ก่อสร้างเป็นถนนขนาด 6 ช่องจราจร มีจุดเริ่มต้นจากทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 (กาญจนาภิเษก) บริเวณทางแยกต่างระดับบางใหญ่ จ.นนทบุรี ถึงทางแยกต่างระดับบ้านโป่ง จ.กาญจนบุรี และ บ้านโป่ง-กาญจนบุรี ระยะทาง 47 กิโลเมตร ก่อสร้างเป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร สิ้นสุดที่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 324 (ถนนกาญจนบุรี-อู่ทอง) อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี รวมระยะทาง 98 กิโลเมตร

มีทางแยกต่างระดับ 7 แห่ง ได่แก่ ทางแยกต่างระดับบางใหญ่ ทางแยกต่างระดับแหลมบัว กิโลเมตรที่ 23+500 อ.นครชัยศรี เชื่อมต่อโครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 8 และถนนเพชรเกษม , ทางแยกต่างระดับตัดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 375 ถนนนครปฐม-ดอนตูม, ทางแยกต่างระดับตัดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 321 ถนนมาลัยแมน, ทางแยกต่างระดับบ้านโป่ง, ทางแยกต่างระดับตัดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3081 ท่าเรือ-พระแท่นดงรัง และทางแยกต่างระดับท่าม่วง

ลักษณะเป็นทางหลวงที่มีด่านเก็บค่าผ่านทางแบบปิด (คิดตามระยะทาง) มีสถานีบริการทางหลวง (Service Area) 2 แห่ง ได้แก่ สถานีบริการทางหลวงนครชัยศรี สถานีบริการทางหลวงนครปฐม และที่พักริมทางหลวง (Rest Area) 1 แห่ง บริเวณ อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี วงเงินลงทุน 55,600 ล้านบาท แผนดำเนินงานก่อสร้างในปี 2557-2559 โดยรูปแบบการลงทุนผ่านร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ 2 ล้านล้านบาท

534-5

ทั้งนี้ ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 81 สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี พ.ศ. 2556 เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2556 ซึ่งเป็น 3 โดยเวนคืนที่ดินตั้งแต่ อ.บางบัวทอง อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี, อ.พุทธมณฑล อ.นครชัยศรี อ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม, อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี และ อ.ท่ามะกา อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี รวม 4 จังหวัด 8 อำเภอ มีผู้ถูกเวนคืน 3,727 ราย คิดเป็นเนื้อที่ 6,808.5 ไร่

นอกจากนี้ กรมทางหลวงกำลังอยู่ในระหว่างสำรวจออกแบบเบื้องต้น และการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทางหลวงพิเศษเชื่อมระหว่างทางหลวงพิเศษหมายเลข 81 บริเวณกิโลเมตรที่ 49+300 เลยทางแยกต่างระดับถนนมาลัยแมน ต.โพรงมะเดื่อ อ.เมืองฯ จ.นครปฐม ข้ามทางรถไฟสายใต้ และสิ้นสุดที่ถนนเพชรเกษม กิโลเมตรที่ 64 ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงสรุปผลการศึกษาทั้งหมดของโครงการ โดยจะมีการประชุมสัมมนาในวันที่ 16 ตุลาคม 2556

อย่างไรก็ตาม กรมทางหลวงยังมีโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายกาญจนบุรี-ชายแดนไทย/เมียนมาร์ บริเวณบ้านพุน้ำร้อน ต.บ้านเก่า อ.เมืองฯ จ.กาญจนบุรี ระยะทาง 70 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 1 หมื่นล้านบาท แผนดำเนินงานก่อสร้างในปี 2559-2561 ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสม และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนการพัฒนาโครงสร้างทางถนนในฝั่งไทยเพื่อรองรับโครงการทวายอีกด้วย

• โปรเจ็กต์อนาคต “มอเตอร์เวย์สายใต้” ด่านขึ้น-ลงใกล้บ้านแพ้ว

อีกเส้นทางหนึ่ง คือ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 8 นครปฐม-ปากท่อ-ชะอำ หรือ “มอเตอร์เวย์สายใต้” เป็นทางหลวงพิเศษขนาด 4 ช่องจราจร ระยะทาง 134 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นจากทางหลวงพิเศษหมายเลข 81 บางใหญ่-กาญจนบุรี ผ่าน อ.เมืองนครปฐม, อ.บางแพ อ.ดำเนินสะดวก อ.เมืองราชบุรี อ.วัดเพลง อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี, อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม, อ.เขาย้อย อ.เมืองเพชรบุรี อ.บ้านลาด อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี สิ้นสุดที่ทางแยกต่างระดับท่ายาง ถนนเพชรเกษม ช่วงท่ายาง-ชะอำ

534-6

มีทางแยกต่างระดับและด่านเก็บค่าผ่านทาง 9 แห่ง ได้แก่ ด่านนครชัยศรี, ด่านนครปฐม ตัดกับทางหลวงพิเศษหมายเลข 375 ถนนบ้านแพ้ว-พระประโทน, ด่านบางแพ ตัดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 325 ถนนสมุทรสงคราม-บางแพ, ด่านราชบุรี ตัดกับทางหลวงชนบท รบ.1010 ถนนเลี่ยงเมืองราชบุรี, ด่านวัดเพลง ตัดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3088 ถนนราชบุรี-วัดเพลง, ด่านปากท่อ ตัดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 ถนนพระราม 2, ด่านเขาย้อย และด่านท่ายาง

นอกจากนี้ ยังมีมีศูนย์บริการทางหลวง (Rest Area) ที่ จ.ราชบุรี กิโลเมตร 51+100, สถานีบริการทางหลวงขนาดเล็ก 2 แห่ง ที่นครชัยศรี กิโลเมตรที่ 16+500 ท่ายาง กิโลเมตรที่ 112+600 และที่พักริมทาง 2 แห่ง ที่บางแพ กิโลเมตรที่ 31+600 และเขาย้อย กิโลเมตรที่ 86+300 โดยมูลค่าลงทุน 37,300 ล้านบาท ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออกหนังสือเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมไปแล้วเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2554 หรือเมื่อ 2 ปีก่อน

534-7-final

สำหรับทางแยกต่างระดับนครปฐม จะอยู่หลักกิโลเมตรที่ 19+000 ของโครงการ เป็นทางแยกต่างระดับบริเวณ ต.คลองจินดา อ.สามพราน จ.นครปฐม ก่อนเข้าสู่ด่านเก็บค่าผ่านทางนครปฐม และบรรจบกับถนนบ้านแพ้ว-พระประโทน โดยทางเข้า-ออกจะอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 14+460 เดิมของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3097 ห่างจากถนนพระราม 2 ประมาณ 23 กิโลเมตร เลยสะพานข้ามคลองจินดา ส่วนทางหลวงพิเศษจะเป็นสะพานข้ามถนนบริเวณบริเวณด้านทิศใต้ของมหาวิทยาลัยคริสเตียน

• ติดเบรกพื้นที่สีเขียว อสังหาฯ เกิดยาก

กรมธนารักษ์ได้สรุปราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน รอบบัญชี ปี พ.ศ. 2555-2558 พบว่าในจังหวัดสมุทรสาคร ถนนบ้านแพ้ว-พระประโทน ในเขต อ.บ้านแพ้ว ราคาประเมินที่ดินอยู่ที่ 5,000-16,000 บาทต่อตารางวา แต่ถึงกระนั้นจากการสำรวจประกาศขายที่ดินผ่านอินเตอร์เน็ต พบว่ามีการขายที่ดินติดถนนบ้านแพ้ว-พระประโทน อยู่ที่ประมาณตั้งแต่ไร่ละ 2.5 ถึง 5 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะขายกันจำนวนมาก ตั้งแต่ 9 ไร่ ถึง 44 ไร่

เมื่อมองถึงผังเมืองรวมนครปฐม ปี 2556 พบว่าบริเวณถนนบ้านแพ้ว-พระประโทนนั้น พื้นที่ ต.พระประโทน ต.ถนนขาด อ.เมืองฯ จ.นครปฐม กำหนดให้เป็นพื้นที่สีชมพู หรือที่ดินประเภทชุมชน ส่วน ต.ดอนยายหอมนั้นมีเพียงเขตเทศบาลตำบลดอนยายหอมเท่านั้นที่เป็นพื้นที่สีชมพู ส่วนที่เหลือ ฝั่งตะวันตกเป็นพื้นที่สีเขียว หรือที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม ฝั่งตะวันออกเป็นพื้นที่สีขาวทแยงเขียว หรือที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม ลงมาถึง ต.ตลาดจินดา อ.สามพราน

534-8

ส่วนผังเมืองรวมบ้านแพ้วนั้น ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2556 โดยมีผลบังคับใช้ 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2556 ถึงวันที่ 24 กันยายน 2561 พบว่าสองข้างทางถนนบ้านแพ้ว-พระประโทน กันรัศมีในระยะ 500 เมตร กำหนดให้เป็นพื้นที่สีเขียว ส่วนรอบนอกเป็นพื้นที่สีขาวทแยงเขียว ก่อนจะเข้าสู่ตัวอำเภอบ้านแพ้ว ซึ่งเป็นพื้นที่พาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัย จากนั้นเมื่อพ้นทางแยกถนนสาย สค 4011 (ถนนบ้านแพ้ว-กระทุ่มแบน) จะเป็นพื้นที่สีเขียวถึงสุดเขตอำเภอบ้านแพ้ว

แน่นอนว่า หากเป็นการสร้างโรงงานในพื้นที่ดังกล่าวคงเป็นการยาก ส่วนการสร้างบ้านนั้น ทำได้เพียงแค่จัดสรรที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย ประเภทบ้านเดี่ยวเท่านั้น โดยมีพื้นที่เพื่อประกอบพาณิชยกรรม ประเภทห้องแถวหรือตึกแถว (อาคารพาณิชย์) ไม่เกินร้อยละ 5 ของพื้นที่โครงการทั้งหมด โดยการใช้ประโยชน์ที่ดินริมถนนสายบ้านแพ้ว-พระประโทนนั้น ให้มีที่ว่างตามแนวขนานริมเขตทางไม่น้อยกว่า 15 เมตร ส่วนพื้นที่สีขาวทแยงเขียวนั้นห้ามจัดสรรที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย ซึ่งการก่อสร้างบ้านจัดสรรนั้นทำไม่ได้

ปัจจุบันก่อนที่จะมีการประกาศใช้ผังเมือง มีโครงการอสังหาริมทรัพย์ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการบ้าน เดอะสมาย (พระราม 2 – บ้านแพ้ว) ซึ่งเป็นบ้านเดี่ยว และบ้านแฝด ตั้งอยู่ที่หมู่ 1 ต.หลักสาม อ.บ้านแพ้ว ของบริษัท สมายแลนด์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ราคาเริ่มต้นที่ 2.35 ถึง 5 ล้านบาท และโครงการ ดี คอมเพล็กซ์ ของบริษัท ดี-แลนด์กรุ๊ป จำกัด เป็นอาคารพาณิชย์บนพื้นที่ 1 ไร่ ตรงข้ามตลาดโลตัส บ้านแพ้ว ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่สีส้ม

• กางสถิติรถสัญจรเฉลี่ยมากถึง 3 หมื่นคันต่อวัน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าจับตามองเมื่อมีการพัฒนาถนนบ้านแพ้ว-พระประโทนแล้วเสร็จสมบูรณ์ จะมียวดยานพาหนะเข้ามาใช้เส้นทางนี้มากขึ้น ซึ่งในช่วงแรกจะเป็นการสัญจรไปมาระหว่างถนนพระราม 2 กับถนนเพชรเกษม มุ่งหน้าสู่ จ.นครปฐม ก่อนที่จะตรงไปยัง จ.กาญจนบุรี และ จ.ราชบุรี หรืออาจใช้ถนนมาลัยแมน มุ่งหน้าขึ้นไปทาง จ.สุพรรณบุรี บรรจบกับถนนสุพรรณบุรี-ชัยนาท สิ้นสุดที่ถนนพหลโยธินที่ จ.ชัยนาท มุ่งหน้าสู่ภาคเหนือต่อไป จนกว่าจะเห็นมอเตอร์เวย์ทั้งสองสายแล้วเสร็จ

เมื่อเร็วๆ นี้ จังหวัดสมุทรสาครได้เปิดศูนย์บริการท่องเที่ยว (Rest Area) อำเภอบ้านแพ้ว ที่ ต.หลักสาม โดยเปิดเป็นสถานที่พักผ่อนและจุดพักรถสำหรับผู้เดินทาง เป็นศูนย์จำหน่ายสินค้าโอทอป และสินค้าการเกษตรให้กับนักท่องเที่ยวโดยทั่วไป โดยได้มอบหมายให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชน เป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารงาน ศูนย์อาหารมีองค์การบริหารส่วนตำบลหลักสามเป็นผู้รับผิดชอบ นำกลุ่มแม่บ้านมาจำหน่ายอาหาร ส่วนศูนย์โอทอปอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน 2556

534-9

ข้อมูลปริมาณการจราจรบนถนนสายบ้านแพ้ว-พระประโทน จากสำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวง จะพบว่าในปี 2550 มีปริมาณการจราจรเฉลี่ย 24,629 คันต่อวัน, ปี 2551 มีปริมาณการจราจรเฉลี่ย 25,831 คันต่อวัน, ปี 2552 มีปริมาณการจราจรเฉลี่ย 28,622 คันต่อวัน ส่วนปี 2553 มีปริมาณการจราจรเฉลี่ย 15,322 คันต่อวัน ซึ่งเป็นผลมาจากการก่อสร้างขยายถนน แต่ล่าสุดในปี 2555 พบว่ามีปริมาณการจราจรเฉลี่ยสูงถึง 31,924 คันต่อวัน

คงต้องดูกันต่อไปว่า เมื่อถนนบ้านแพ้ว-พระประโทนก่อสร้างแล้วเสร็จ จะมีปริมาณการจราจรมากมายขนาดไหน แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงตามมาก็คือ ผลกระทบทั้งปัญหาอุบัติเหตุ ซึ่งการขยายถนนเป็น 4 ช่องจราจร เป็นการเพิ่มความรวดเร็วให้กับยานพาหนะ ความเจริญโดยไร้ทิศทาง รวมทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากไม่มีการควบคุมจากหน่วยงาน หรือการมีส่วนร่วมของประชาชน ก็คงไม่อาจที่จะยับยั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้.



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง