‘เหลียวหลังแลหน้า’ สหรัฐฯ จัดอันดับค้ามนุษย์ไทย

609-1

ในที่สุด กระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ออกแถลงรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2557 อย่างเป็นทางการ ผลปรากฏว่า ไทยถูกปรับลดระดับลงไปอยู่ระดับ 3 หรือ Tier 3 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุด เช่นเดียวกับมาเลเซียและเวเนซุเอลา จากเดิมที่เคยอยู่ระดับ 2 Watch List ระดับจับตาพิเศษ โดยให้เหตุผลว่า รัฐบาลไทยไม่สามารถดำเนินการให้สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำของสหรัฐอเมริกาเพื่อการขจัดการค้ามนุษย์

ตามรายงานระบุว่า ประเทศไทยเป็นประเทศต้นทาง ปลายทาง และทางผ่านสำหรับการค้ามนุษย์เพื่อการใช้แรงงานและการค้าประเวณี โดยมีเหยื่อจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งประเทศจีน เวียดนาม รัสเซีย อุซเบกิสถาน อินเดีย และฟิจิ โดยได้รับการช่วยเหลือจากญาติ คนในชุมชน หรือแม้แต่เครือข่ายนายหน้าจัดหางานทั้งที่ถูกกฎหมายและลักลอบเข้าเมือง โดยมีแรงงานข้ามชาติประมาณ 2-3 ล้านคน ส่วนใหญ่มาจากพม่า

ทั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่ทั้งสองประเทศตามแนวชายแดน คอยอำนวยความสะดวกให้กับการเคลื่อนย้ายแรงงานที่ไม่มีเอกสารประจำตัว ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ โดยถูกบังคับให้ลงเรือประมง บางคนอยู่ในทะเลเป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน ได้รับค่าแรงน้อยนิดเมื่อเทียบกับเวลาทำงานมากกว่า 18-20 ชั่วโมงต่อวัน บางคนยังถูกข่มขู่และทุบตี มีการข่มขู่ว่าจะตัดเงิน รวมทั้งไม่จ่ายเงินค่าแรงเต็มจำนวน

แรงงานชาวพม่าในอุตสาหกรรมอาหารทะเลใน จ.สมุทรสาคร ร้อยละ 57 จากจำนวน 430 คน เคยผ่านประสบการณ์การเป็นแรงงานบังคับ โดยที่ผ่านมาลูกเรือประมงไม่มีการทำสัญญาว่าจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรกับนายจ้าง ในรอบปีนี้พบว่ารูปแบบการบังคับใช้แรงงานนี้ยังคงดำเนินต่อไป และจากการติดตามตรวจสอบของนานาชาติ ทำให้นายหน้าค้ามนุษย์หันไปใช้วิธีการใหม่ๆ ที่ทำให้ตรวจสอบได้ยากขึ้น

นอกจากแรงงานพม่าแล้ว ยังมีกรณีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาจากพม่าและบังกลาเทศถูกลักลอบขนย้ายแล้วขายเป็นแรงงานบังคับในเรือประมง เจ้าหน้าที่ตำรวจกวาดชาวโรฮิงญาขายให้กับพวกค้าของเถื่อนและนายหน้า ส่งตัวไปในในพื้นที่ภาคใต้ บังคับให้เป็นพ่อครัว เป็นยามอยู่ในค่าย หรือถูกขายไปเป็นแรงงานบังคับในสวนหรือบริษัทขนส่งทางเรือ

ขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่ภูเขาในภาคเหนือ (เช่น กะเหรี่ยง) มีความเสี่ยงที่จะถูกค้ามนุษย์เช่นกัน เพราะขาดสถานะ คือสัญชาติทางกฎหมาย เด็กบางคนถูกพ่อแม่บังคับขายให้กับนายหน้าเพื่อให้มาขายดอกไม้ เป็นขอทาน หรือทำงานบ้านในเขตเมืองใหญ่ รวมทั้งมีชาวไทยสมัครไปทำงานในต่างประเทศ และถูกหลอกลวงให้ต้องกู้หนี้จำนวนมากเพื่อจ่ายเป็นค่านายหน้าและค่าดำเนินการ บางครั้งก็ต้องใช้ที่ดินค้ำประกัน

เมื่อเดินทางถึงประเทศปลายทาง จะถูกบังคับใช้แรงงาน หรือทำงานในธุรกิจค้าประเวณีในออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ และในประเทศย่านตะวันออกกลาง อเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย แรงงานชายไทยบางรายที่เดินทางไปในต่างประเทศเพื่อทำงานที่ใช้ทักษะต่ำและงานในภาคเกษตรต้องเผชิญกับการถูกบังคับใช้แรงงานและมีสภาพเป็นแรงงานขัดหนี้

อีกด้านหนึ่ง การท่องเที่ยวเพื่อซื้อบริการทางเพศยังคงเป็นปัญหาในประเทศไทย โดยเป็นทางผ่านสำหรับเหยื่อค้ามนุษย์จากเกาหลีเหนือ จีน เวียดนาม ปากีสถาน บังคลาเทศและพม่าซึ่งจะถูกส่งไปค้าในประเทศที่สาม เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ รัสเซีย เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันตก รวมทั้งกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ยังเกณฑ์เด็กวัยรุ่นมาร่วมปฏิบัติการก่อการร้าย และทำงานสอดแนม

ในรายงานการค้ามนุษย์ปี 2555 และ 2556 รัฐบาลไทยได้เสนอแผนที่จะดำเนินการให้สามารถปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ อย่างไรก็ตามตามกฎหมายว่าด้วยการปกป้องเหยื่อการค้ามนุษย์ (TVPA) ให้ยกเว้นประเทศจากการถูกลดอันดับได้ 2 ปี มาตรการยกเว้นนี้ไม่สามารถใช้ได้กับประเทศไทยด้วยถือว่าไม่ได้มีความพยายามอย่างเพียงพอที่จะปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำในการขจัดการค้ามนุษย์

609-2

อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับนี้ นายหลุยส์ ซี ดีเบกา ผู้แทนเอกอัครราชทูตประจำสำนักงานติดตามและต่อต้านการค้ามนุษย์ กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ชี้แจงกับผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ว่า การจัดอันดับดังกล่าวได้ประเมินจากเหตุการณ์ในช่วงวันที่ 1 เมษายน 2556 ถึง 31 มีนาคม 2557 ซึ่งการรัฐประหารยังไม่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น

แต่ช่วงเวลานั้น บุคคลที่รับผิดชอบกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งมี นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าว มีนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ เป็นรัฐมนตรี ก่อนที่จะเปลี่ยนตัวเป็น ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2556 กระทั่งพ้นจากตำแหน่งตามคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2557

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2555 สถานีโทรทัศน์ PBS ของสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่รายงานข่าวในสหรัฐอเมริกา และผ่านสื่ออินเทอร์เน็ต มีเนื้อหาว่า กุ้งส่งออกจากประเทศไทยมีราคาถูก เพราะมีการจ้างแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย จ่ายค่าจ้างต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด และกล่าวหาต่อเนื่องถึงสภาวะการทำงานที่ไม่เหมาะสม รวมถึงการใช้แรงงานเด็ก ความรุนแรง การทุจริต และการค้ามนุษย์

ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครในขณะนั้น คือ นายจุลภัทร แสงจันทร์ แต่งตั้งคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์จังหวัดสมุทรสาคร คณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือแรงงานหญิงและเด็กจังหวัดสมุทรสาคร จัดทำประกาศจังหวัดสมุทรสาคร เรื่อง มาตรการกำหนดการประกอบกิจการประเภทแปรรูปและเก็บถนอมอาหารทะเล ซึ่งรวมทั้งล้งกุ้ง

โดยดำเนินมาตการต่าง ๆ ในการกำกับดูแลล้ง ที่มีอยู่ประมาณ 674 แห่ง เพื่อป้องกันปัญหาการใช้แรงงานเด็ก และแรงงานที่ผิดกฎหมายในอุตสาหกรรมแปรรูปกุ้งและอาหารทะเล โดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน กลุ่มเอ็นจีโอต่างๆ และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ และยังเปิดศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสมุทรสาคร แจ้งเบาะแสการใช้แรงงานเด็ก และแรงงานที่ผิดกฎหมาย

นอกจากนี้ ยังได้จัดทำต้นแบบของการแก้ไขปัญหาการค้าแรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายและการค้ามนุษย์ ภายใต้ชื่อ “สมุทรสาครโมเดล” โดยมี 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ การป้องกันการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย การช่วยเหลือและคุ้มครองแรงงานเด็กจากการทำงานในรูปแบบที่เลวร้าย การพัฒนาและบังคับใช้กฎหมาย การพัฒนาองค์ความรู้และสร้างเสริมศักยภาพของบุคคล และ การพัฒนากลไกและระบบการบริหารจัดการ

609-3

ต่อมาวันที่ 11 กรกฎาคม 2556 ร.ต.อ.เฉลิม ลงพื้นที่เยี่ยมผู้ประกอบการที่ตลาดทะเลไทย โดยได้เสนอแนวคิดให้ผู้ประกอบการประมงทะเล ต้องทำสัญญาจ้างแรงงานเป็นหลักฐาน และยังได้แนะนำให้นายตำรวจคนสนิท อย่าง พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ที่ปรึกษา สบ.10 นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 30 พร้อมกล่าวสรรพคุณว่า เป็นคนดำเนินการสืบสวนติดตามจับกุม 2 ปี ซึ่งจะมาช่วยดูแลปัญหาแรงงานต่างด้าว

รวมทั้งภายหลัง พ.ต.อ.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 4 สายตรงของ ร.ต.อ.เฉลิม ได้โยกย้ายมาเป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรสาคร โดยมีกระแสข่าวว่าด้วยเหตุผลเพื่อดูแลแรงงานต่างด้าว จากที่ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนเมษายน 2555 พ.ต.ท.จารึก อยู่บำรุง น้องชาย ร.ต.อ.เฉลิม ถูกเลื่อนขึ้นจากสารวัตรธุรการ สถานีตำรวจนครบาลหนองแขม กรุงเทพฯ เป็นสารวัตรจราจร สถานีตำรวจภูธรเมืองสมุทรสาคร

ในช่วงที่ผ่านมา หลายหน่วยงานในจังหวัดสมุทรสาคร ได้ออกตรวจคุ้มครองแรงงานในเรือประมง เพื่อดูสภาพการจ้าง สภาพการทำงานและการค้ามนุษย์เป็นประจำทุกเดือน ซึ่งมักจะพบแรงงานต่างด้าวชาวพม่าผิดกฎหมาย ไม่มีใบอนุญาตทำงานและหนังสือเดินทางแทบทุกครั้ง และบางครั้งยังพบว่ามีการใช้แรงงานเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี แต่ก็เป็นหนึ่งในอีกสารพัดปัญหา

สะท้อนให้เห็นว่า อาจจะมีอะไรบางอย่างที่เป็นอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์

อย่างไรก็ตาม หลังการเข้ามาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าควบคุมอำนาจการปกครอง ก็ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว และตามมาด้วยคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการประสานงานการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวทั้งระบบให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเอกภาพ และเกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมโดยเร็ว

กระทั่งต่อมา คสช. ได้ออกประกาศให้ผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าว ดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย เพื่อให้แรงงานต่างด้าวได้รับการคุ้มครองในการทำงานและไม่ถูกบังคับใช้แรงงาน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมประมงและกิจการต่อเนื่อง โดยในช่วงนี้ คสช. มีมาตรการผ่อนผันให้ผู้ประกอบการ นายจ้าง จัดทำบัญชีแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในความดูแลให้ครบถ้วน เพื่อให้ง่ายต่อการจัดระเบียบในห้วงต่อไป

รวมทั้ง ให้ผู้ประกอบการ นายจ้าง และแรงงานต่างด้าวที่อยู่อาศัยในประเทศไทยให้ความร่วมมือในการดำเนินการตามแนวทางที่ทางราชการกำหนด ทั้งนี้ เพื่อทางการไทยสามารถให้การคุ้มครองดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักมนุษยธรรม ตามมาตรการระยะที่ 1 ที่ยังมีการผ่อนผันอยู่ในปัจจุบัน แต่ต้องมีการควบคุม

609-4

ขณะที่ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ให้เร่งบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง มีประสิทธิภาพในการป้องกันปราบปรามผู้กระทำผิดด้านการค้ามนุษย์ และขบวนการลักลอบนำพาแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย หากเจ้าหน้าที่ของรัฐคนใดปล่อยปละละเลย หรือเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ จะต้องถูกดำเนินการทางวินัยและทางอาญาทันที

แม้ข่าวลือที่ว่าทหารจะกวาดล้างแรงงานต่างด้าว จะทำให้แรงงานชาวกัมพูชาแห่กันเดินทางออกจากประเทศไทยกันอย่างจ้าละหวั่น รวมทั้งมีการเผยแพร่คลิปวีดีโอชายแต่งกายคล้ายตำรวจไล่ยิงรถขนแรงงานต่างด้าวเขมรจนมีผู้บาดเจ็บล้มตาย แต่แรงงานพม่า ซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวกลุ่มก้อนใหญ่ที่สุดกลับไม่มีปัญหา เช่นเดียวกับแรงงานชาวลาว ที่ไม่ได้หนีกลับประเทศอย่างแตกตื่นแต่อย่างใด

ปฏิกิริยาหลังสหรัฐอเมริกาจัดอันดับการค้ามนุษย์ให้ไทยอยู่ในอันดับต่ำที่สุด พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ในฐานะทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ชี้แจงว่า ไทยอยู่ในระดับ 2 หรือ Tier 2 ติดต่อกันต่อเนื่อง 2 ปี ตั้งแต่ปี 2554 มาแล้ว ก่อนที่ คสช.จะเข้ามาบริหาร ไทยไม่สามารถปรับขึ้นมาอยู่ในระดับ 1 หรือ Tier 1 ก็จะตกมาอยู่ในระดับ 3 หรือ Tier 3 โดยอัตโนมัติทันทีตามกฎใหม่

โดย คสช. มีการการจัดทำนโยบายที่ชัดเจนขึ้น พร้อมทั้งได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายขึ้นมาดูแลแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังแล้ว อีกทั้งมีงานเร่งด่วนใน 2 เรื่องหลักๆ ที่เริ่มมีการขับเคลื่อนไปแล้ว คือ เรื่องการเร่งรัดจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์และสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องสิทธิประโยชน์ที่พึงได้ตามสมควร และต้องเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน

อีกประการหนึ่ง เร่งรัดให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง กับผู้ที่กระทำความผิดเกี่ยวกับกฎหมายแรงงาน เพื่อขจัดขบวนการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานเด็ก การใช้แรงงานทาสทั้งบนบกและทางน้ำในทะเล โดยจะใช้แนวทางการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ เนื่องจากเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตและต่อเนื่องมายาวนาน ซึ่งมีผลเสียต่อความเชื่อมั่นในต่างประเทศ และอาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม

หลังจากนี้ไป เชื่อว่าด้วยความตั้งใจจริงและความจริงจังต่อการแก้ปัญหา น่าจะส่งผลไปในทิศทางที่เป็นบวกขึ้นในเรื่องมุมมองต่างประเทศที่มีต่อไทยในโอกาสต่อไป ซึ่งคงต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการชี้แจงต่อสหรัฐฯ ทั้งพยายามชี้แจงทำความเข้าใจให้เห็นถึงความตั้งใจ และการปฏิบัติให้เห็นผลเปลี่ยนแปลงที่เป็นบวกขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

ขณะที่ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้า คสช. กล่าวในรายการ คืนความสุขให้คนในชาติ ว่า จะมีการจัดตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติ และจัดตั้งศูนย์รับ-ส่งคนงานที่ถูกกฎหมาย ในการนำเข้าและส่งกลับประเทศต้นทาง รวมทั้งจะมีการพิจารณาทบทวนกำหนดค่าใช้จ่ายในการเข้ามาทำงานของแรงงานในสถานประกอบการต่างๆ ให้มีความเหมาะสม ไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบแรงงาน

ปัญหาการค้ามนุษย์เป็นปัญหาที่เรื้อรังมาอย่างยาวนานจนยากที่จะแก้ไข รวมทั้งยังมีเรื่องผลประโยชน์ในกลุ่มผู้มีอิทธิพล ทั้งการลักลอบเข้าเมือง การรีดค่าหัวคิว การยัดเงินใต้โต๊ะ ฯลฯ เพราะฉะนั้นนอกจากจะมีแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมแล้ว การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด การมีส่วนร่วมของประชาชนในการแจ้งเบาะแส และการลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเฉียบขาดแบบการทหาร ก็น่าจะเป็นหนทางแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง