ดีเดย์ 1 เมษายน ทีวีดิจิตอลมาแล้ว สมุทรสาครชมพร้อมกับคนกรุงเทพฯ

1068

ในปี 2557 จะเป็นปีแรกที่วงการโทรทัศน์ไทยจะพลิกโฉมอีกครั้ง หลังจากการประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิตอลเสร็จสิ้นไปเมื่อปลายปี 2556 ที่ผ่านมา ทั้งหมด 24 ช่องรายการ และได้มีการเลือกช่องรายการเรียบร้อยแล้ว

ก่อนหน้านี้ กสทช. เปิดโอกาสให้สถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีทุกช่อง ทดลองออกอากาศระบบดิจิตอลเพื่อเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนผ่านเต็มรูปแบบ ก่อนที่ทีวีแบบอนาล็อกเดิมจะสิ้นสุดสัมปทานในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2556 สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ททบ.) ได้ทดลองออกอากาศทีวีดิจิตอลเป็นครั้งแรก หลังลงนามเอ็มโอยู่ร่วมกับ กสทช. อนุญาตให้ฟรีทีวี 6 ช่อง ทดลองออกอากาศเป็นการชั่วคราว

1068-3

ททบ. ดำเนินการติดตั้งศูนย์รวบรวมและกระจายสัญญาณ (National Head End) เพื่อนำพาสัญญาณทีวีดิจิตอล 1 ย่านความถี่ จำนวน 8 ช่องรายการ ส่งสัญญาณไปยังตึกใบหยก 2 โดยใช้พื้นที่ติดตั้งเครื่องส่ง เสา และสายอากาศ ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

ประกอบด้วย ช่องรายการฟรีทีวีแบบความคมชัดปกติ (Standard Definition) ได้แก่ ช่อง 3, ททบ. 5, ช่อง 7, โมเดิร์นไนน์ทีวี, สทท. และ ไทยพีบีเอส และช่องรายการแบบความคมชัดสูง (High Definition หรือ HD) ได้แก่ ททบ. 5 และ ไทยพีบีเอส

สำหรับเครื่องส่งของ ททบ. ดังกล่าวมีกำลังส่ง 5 กิโลวัตต์ ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ในรัศมี 100 กิโลเมตร สามารถรับชมทีวีดิจติตอลได้ผ่านอุปกรณ์ที่เรียกว่า เซต ทอป บ็อกซ์

อย่างไรก็ตาม การทดลองออกอากาศดังกล่าว เป็นการออกอากาศแบบคู่ขนานในช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี โดยช่องบริการที่เข้าข่ายบริการสาธารณะ ได้แก่ ททบ. 5, สทท. และไทยพีบีเอสที่มีอยู่ 2 ช่อง

ขณะที่ช่อง 3, ช่อง 7 และโมเดิร์นไนน์ทีวีนั้น ออกอากาศบนคลื่นช่องบริการชุมชนเป็นการชั่วคราว ครั้งละ 6 เดือน จนกว่าจะหมดสัมปทาน หรือการเปลี่ยนผ่านระบบอนาล็อกเป็นดิจิตอลเสร็จสิ้น มีการออกใบอนุญาตทีวีระบบดิจิตอลออกมา จึงจะยกเลิกออกอากาศ

ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติเลือกหมายเลขประจำช่องให้กับทีวีดิจิตอลที่ผ่านการประมูลทั้ง 24 ช่องเรียบร้อยแล้ว

โดยช่องรายการเดิมที่ได้กำหนดไว้ก่อนหน้านี้ หมายเลข 1 คือ ททบ.5, หมายเลข 2 คือ สทท. ส่วนหมายเลข 3 และ 4 คือ ไทยพีบีเอส

หมวดรายการเด็ก หมายเลข 13 เป็นของไทยทีวีสีช่อง 3,หมายเลข 14 เป็นของ อสมท., หมายเลข 15 เป็นของเครือนิตยสารทีวีพูล ซึ่งยังไม่มีการเปิดตัวรูปแบบช่องรายการช่องออกมา

หมวดรายการข่าว หมายเลข 16 ทีเอ็นเอ็น ซึ่งมีช่องรายการข่าวเดิมผ่านทรูวิชั่นส์, หมายเลข 17 ไทยทีวี ของเครือนิตยสารทีวีพูล, หมายเลข 18 เดลินิวส์ทีวี ของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ หมายเลข 19 สปริงนิวส์ หมายเลข 20 ไบร์ท ทีวี ของบริษัท 3เอ มาร์เก็ตติ้ง, หมายเลข 21 วอยซ์ ทีวี และหมายเลข 22 เนชั่น ทีวี ซึ่งส่วนใหญ่มีช่องรายการข่าวเดิมผ่านดาวเทียม

หมวดรายการทั่วไป หรือวาไรตี้ ความคมชัดธรรมดา หมายเลข 23 เวิร์คพอยท์ ทีวี ซึ่งมีช่องรายการอยู่แล้ว, หมายเลข 24 ทรู, หมายเลข 25 เป็นของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่, หมายเลข 26 นาว ของเนชั่น ทีวี, หมายเลข 27 เป็นของอาร์เอส, หมายเลข 28 เป็นของไทยทีวีสีช่อง 3 และหมายเลข 29 โมโน ทีวี ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการมีช่องโทรทัศน์ในเคเบิ้ลทีวีเป็นของตัวเองอยู่แล้ว

ส่วนหมวดรายการทั่วไป ความคมชัดสูง หรือ เอชดี หมายเลข 30 เป็นของ อสมท. ซึ่งโมเดิร์นไนน์ทีวีจะออกอากาศช่องนี้, หมายเลข 31 เป็นของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่, หมายเลข 32 ไทยรัฐทีวี ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, หมายเลข 33 เป็นของไทยทีวีสีช่อง 3, หมายเลข 34 อมรินทร์ ทีวี, หมายเลข 35 เป็นของบีบีทีวี ซึ่งช่อง 7 สีจะออกอากาศช่องนี้ และหมายเลข 36 พีพีทีวี ของตระกูลปราสาททองโอสถ

หลังได้ช่องรายการแล้ว จะมีการดำเนินการจ่ายค่าใบอนุญาต โดยชำระเป็นรายงวด พร้อมแจ้งชื่อโครงข่ายที่เลือกเช่าสัญญาณ โดยมี ททบ.5, อสมท., สทท. และ ไทยพีบีเอส ก่อนที่จะมีการมอบใบอนุญาต ออกอากาศในช่องทางเคเบิลทีวี และจานรับสัญญาณดาวเทียม

วันที่ 1 เมษายน 2557 โครงข่ายทีวีดิจิตอล จะเริ่มส่งสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิตอลภาคพื้นดิน (เสาก้างปลา) 4 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ, นครราชสีมา, เชียงใหม่ และสงขลา ซึ่งจังหวัดสมุทรสาครจะรับสัญญาณจากตึกใบหยก 2 กรุงเทพฯ

วันที่ 1 พฤษภาคม ขยายพื้นที่เพิ่มอีก 3 จังหวัด คือ อุบลราชธานี, สุราษฎร์ธานี และระยอง และในวันที่ 1 มิถุนายน ส่งสัญญาณเพิ่มอีก 4 จังหวัด คือ สิงห์บุรี, สุโขทัย, ขอนแก่น และอุดรธานี

1068-2

สำหรับคนที่มีโทรทัศน์อยู่แล้ว ใช้กล่องรับสัญญาณที่เรียกว่า “เซ็ท ท๊อป บ็อกซ์” ที่ระบุว่ารับสัญญาณทีวีดิจิตอลแบบ DVB-T2 ผ่านเสาอากาศ ต่อเข้ากับช่อง HDMI หรือหากเป็นจอแก้วรุ่นเก่าให้ใช้ช่องต่อ AV แดง ขาว เหลือง สนนราคาอยู่ที่ 1,500 บาท

ซึ่ง กสทช. จะดำเนินการแจกคูปองเงินสดจำนวน 22 ล้านครัวเรือน เพื่อให้สามารถซื้ออุปกรณ์รับชม ทั้งกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล หรือทีวีเครื่องที่สามารถจูนเนอร์สัญญาณทีวีดิจิตอล โดยคาดว่าจะอยู่ที่ราว 6-7 ร้อยบาท

ส่วนสมาชิกเคเบิ้ลทีวี และโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิก ควรรอให้ทางผู้ประกอบการประชาสัมพันธ์ แต่จะได้ดูก่อนใคร แต่สำหรับบ้านที่ติดตั้งกล่องรับสัญญาณดาวเทียม จะมีการอัพเกรดซอฟท์แวร์เพิ่มเติมตามขั้นตอนของผู้ผลิต

หากต้องการซื้อโทรทัศน์เครื่องใหม่ ปัจจุบันห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ ในสมุทรสาคร เช่น เทสโก้ โลตัส, บิ๊กซี และ โฮมโปร มีโทรทัศน์บางรุ่นที่รองรับจูนเนอร์สัญญาณทีวีดิจิตอลในตัว ราคาตั้งแต่หลักพันถึงหลักหมื่น

ถึงกระนั้น ควรสอบถามจากพนักงานขายก่อนซื้อ ว่าโทรทัศน์ดังกล่าวสามารถรับชมทีวีดิจิตอลโดยใช้จูนเนอร์ในตัวได้หรือไม่ เพราะหากต้องใช้กล่องเซ็ทท๊อปบ็อกซ์จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีกต่อหนึ่ง



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง