วิบากกรรม “เสี่ยดำค้าเหล็ก” พ้น ส.ว.สมุทรสาคร จ่อเผชิญคดีอาญาแก้ รธน.

1134

เส้นทางการเมืองของ “เสี่ยดำ” สุวิศว์ เมฆเสรีกุล พ่อค้าเหล็กเจ้าของอาณาจักร “เหล็กทรัพย์กรุ๊ป” ย่านอ้อมน้อยผู้นี้ยังคงมีอุปสรรค แม้จะพ้นจากตำแหน่ง ส.ว.สมุทรสาครไปแล้ว หลัง ป.ป.ช. วินิจฉัยว่าเป็น 1 ใน 36 สมาชิกวุฒิสภาที่ใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ จากการร่วมลงมติแก้รัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของ ส.ว. เอื้อประโยชน์ให้ตัวเองลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ว. ซ้ำได้โดยไม่ต้องเว้นวรรค

29 เมษายน 2557 มีความเคลื่อนไหวของวุฒิสภาที่น่าสนใจหลายเรื่อง เริ่มจาก คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ใหม่ เพิ่มเติมอีก 15 คน รวมเป็น 77 คน เมื่อรวมกับ ส.ว. สรรหาอีก 73 คน เท่ากับว่ามีจำนวน ส.ว. ในสภาครบ 150 คน เท่ากับว่า ส.ว. ชุดเดิม 76 คน ที่ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2551 จะต้องพ้นจากตำแหน่งไปโดยปริยาย

ส.ว.สมุทรสาคร คนปัจจุบันก็คือ นายสุนทร วัฒนาพร ที่ กกต. รับรองไปก่อนหน้านี้ แล้วได้รับรายงานตัวไปแล้ว ซึ่งในวันที่ 2 พฤษภาคมนี้ การประชุมวุฒิสภา สมัยวิสามัญนัดแรก ก็จะต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมวุฒิสภา ก่อนที่จะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสมาชิกวุฒิสภาต่อไป

ส่วน ส.ว. เลือกตั้งชุดเก่า สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาให้เบิกค่าเดินทางขากลับได้เป็นเที่ยวสุดท้ายเป็นวันสุดท้าย ก่อนที่จะไม่ให้เบิกค่าเดินทางได้อีกต่อไป หลังพ้นจากความเป็นสมาชิกวุฒิสภา

ขณะที่แอดมินไลน์ของกลุ่ม ส.ว. ที่ใช้สำหรับส่งข่าวสารนัดประชุมวุฒิสภาฯ แทนการใช้เอสเอ็มเอส ลบชื่อ ส.ว. เลือกตั้งออกไป ภายในสอง-สามชั่วโมง หลัง กกต. ประกาศรับรอง ส.ว. ใหม่ครบ เท่ากับว่าครบวาระโดยสมบูรณ์ ต้องเปลี่ยนสถานะ สูญเสียสิทธิพิเศษที่เคยมีมา 6 ปีเต็ม

แต่วิบากกรรมที่เคยก่อไว้ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภายังไม่จบ…

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงผลการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีร้องขอให้ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270 เนื่องจากมีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กรณีร่วมลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาของ ส.ว.

โดยพบว่ามี ส.ว. ทั้งหมด 36 ราย มีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 291(1) วรรคหนึ่ง หนึ่งในนั้นคือ นายสุวิศว์ เมฆเสรีกุล อดีต ส.ว.สมุทรสาคร เป็น 1 ใน 22 คน ที่ลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว. ซึ่งต่อมาได้พิจารณารับหลักการในวาระที่ 1 และลงมติในวาระที่ 2 โดยเฉพาะมาตรา 6 และลงมติเห็นชอบในวาระที่ 3

ซึ่งมาตรา 6 ของร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว. คือให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา 116 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “บุคคลผู้เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาพสิ้นสุดลงมาแล้ว ยังไม่เกินสองปี จะเป็นรัฐมนตรีหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งมิใช่สมาชิกวุฒิสภา มิได้”

ซึ่งคำว่า “ซึ่งมิใช่สมาชิกวุฒิสภา” ที่เพิ่มลงไปนั้น กลายเป็นการเปิดโอกาสให้ ส.ว. เลือกตั้งชุดปี 2551 ได้ลงสมัครได้ต่อเนื่องอย่างสมบูรณ์ โดยไม่มีการเว้นวรรค จากเดิมที่ ส.ว. จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินหนึ่งวาระไม่ได้ ทำให้อิทธิพลของฝ่ายการเมืองเข้ามามีบทบาทต่ออำนาจของวุฒิสภามากขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบต่อดุลยภาพของระบบรัฐสภาไทย

เนื่องจากหน้าที่ของ ส.ว. ที่แท้จริงนั้น คือการกลั่นกรองกฎหมาย ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน เลือก แต่งตั้ง ให้คำแนะนำ หรือให้ความเห็นชอบ ให้บุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และที่สำคัญ คือ การถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งระดับสูง

ท่ามกลางกระแสข่าวที่ว่า นายสุวิศว์ตั้งใจจะลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ว. สมุทรสาคร อีกสมัยหนึ่ง หากร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว. ฉบับนี้เป็นผลสำเร็จ

และที่ฉาวโฉ่ยิ่งกว่านั้น คือมาตรานี้เกิดขึ้นกับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว. ฉบับที่ นายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีต ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย และคณะยื่นต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2556 มีข้อความในสาระสำคัญไม่ตรงกับตัวร่างฉบับสำเนาที่สมาชิกรัฐสภาได้รับในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2556 ระเบียบวาระที่ 5.1

ทั้งๆ ที่ระบุเลขรับตรงกันคือ 20/2556 และวันที่รับก็ตรงกันคือ 20 มีนาคม 2556 เลขรับตรงกันถึง 3 จุด แต่มีการเพิ่มมาตรา 116 วรรคสองเข้าไปเพื่อให้ ส.ว. เลือกตั้งชุดปัจจุบันลงสมัครได้โดยไม่ต้องเว้นวรรคทางการเมือง ซึ่งถือว่าเป็นการ “ปลอมแปลงร่างรัฐธรรมนูญ” มีเจตนาที่จะปกปิดข้อเท็จจริง เท่ากับว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

แต่บังเอิญสวรรค์มีตา ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยออกมาเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 ว่า ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว. ฉบับดังกล่าวเป็นร่างที่จัดพิมพ์ขึ้นใหม่ และมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาที่เป็นหลักการสำคัญในมาตรา 116 (2) ที่ให้ ส.ว.ซึ่งสิ้นสุดวาระ สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ทันที ขัดบทบัญญัติมาตรา 291 (1) อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ การตัดสิทธิการอภิปรายของผู้ที่ยื่นสงวนคำแปรญัตติถึง 51 คนทั้งที่ยังไม่มีการฟังการอภิปรายเลย ถือเป็นการใช้อำนาจไม่ชอบ และเอื้อประโยชน์ฝ่ายเสียงข้างมากอย่างไม่เป็นธรรม ขณะที่การนับวันแปรญัตติ เหลือเพียง 1 วัน ส่งผลให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 125 และขัดต่อหลักนิติธรรม ที่ขัดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 3

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีประเด็นของการเสียบบัตรแสดงตนและลงคะแนนแทนกัน ที่พบว่า นายนริศร ทองธิราช ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ “หลายใบ” เสียบในช่องลงคะแนนและแสดงตน ทั้งที่สมาชิก 1 คนสามารถลงคะแนนได้เพียง 1 เสียงเท่านั้น เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 และข้อบังคับการประชุม ส่งผลให้การลงมติไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ผลที่สุด ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว. ฉบับนี้เป็นอันต้องแท้งไปโดยปริยาย

หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับรองรายงานการประชุมเกี่ยวกับผลการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีร้องขอให้ถอดถอน ส.ว. เรียบร้อยแล้ว ทางสำนักงาน ป.ป.ช. จะได้ส่งสำนวนดังกล่าวไปยังวุฒิสภา เพื่อพิจารณาถอดถอนต่อไป ในส่วนของการดำเนินคดีอาญาขณะนี้อยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริง ผลเป็นประการใดจะแถลงให้ทราบอีกครั้ง

เท่ากับว่า ส.ว. ทั้ง 36 คน ซึ่งรวมทั้งนายสุวิศว์ ยังจะมีชนักติดหลังถูกดำเนินคดีอาญาพ่วงไปด้วย ซึ่งเท่ากับต้องไปขึ้นศาลฎีกาสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในอนาคตอันใกล้

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ นายสุวิศว์ พ้นจากตำแหน่ง ส.ว.สมุทรสาครไปแล้ว ก็มีกระแสข่าวว่า นายสุวิศว์พยายามจะกลับมาเล่นการเมืองในสนามท้องถิ่น โดยเฉพาะการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สมุทรสาคร ซึ่งจะเกิดขึ้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้า

แหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผย กล่าวว่า นายสุวิศว์ได้พยายามที่จะเข้าหานักการเมืองของพรรคการเมืองรายใหญ่รายหนึ่ง เพื่อขอรับการสนับสนุน ซึ่งนักการเมืองรายนี้อยู่ “คนละขั้ว” กับ นายมณฑล ไกรวัฒนุสสรณ์ นายก อบจ.สมุทรสาครคนปัจจุบัน นับเป็นเรื่องที่น่าแปลก เพราะก่อนหน้านั้นเมื่อ 6 ปีก่อน นายสุวิศว์อาศัยฐานเสียงบ้านใหญ่เอาชนะการเลือกตั้ง แต่มาวันนี้กลับเข้าหาอีกฝ่าย

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวกล่าวกับเราอีกว่า อดีตนายกเทศมนตรีในจังหวัดสมุทรสาครรายหนึ่ง ให้ความสนใจที่จะลงสมัครนายก อบจ.สมุทรสาคร โดยได้เข้าหานักการเมืองรายนี้เช่นกัน เท่ากับว่าโอกาสที่นายสุวิศว์จะลงสนามการเมืองท้องถิ่นไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก อีกทั้งที่ผ่านมา นายสุวิศว์ใช่ว่าจะมีผลงานให้คนสมุทรสาครได้เห็นเป็นที่ประจักษ์ นอกจากติดป้ายไวนีล

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่า นอกจาก ส.ว.ชุดนี้ ครบวาระโดยสมบูรณ์ ต้องเปลี่ยนสถานะ สูญเสียสิทธิพิเศษที่เคยมีมา 6 ปีเต็มแล้ว ยังถูกชี้มูลความผิด รอเข้าสู่กระบวนการถอดถอน และอาจจะถึงขั้นมีคดีอาญาขึ้นศาลฎีกาสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทั้งๆ ที่เมื่อเกือบ 1 ปีก่อนพวกท่านยังคงมีความหวังสดใสว่าจะได้มีโอกาสต่ออายุการเป็น ส.ว. ออกไปเรื่อยๆ ด้วยการลงสมัครซ้ำได้ไม่ต้องเว้นวรรคเพราะการแก้รัฐธรรมนูญผ่านวาระ 3 แล้ว

“ทุกอย่างเป็นสมมติทั้งนั้น ถ้าไม่ยึดติดไม่แบกไว้ ก็สบายเบาตัว” นายคำนูณกล่าวทิ้งท้าย

• กิตตินันท์ นาคทอง •



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง