วิทยุสมุทรสาครช็อก 1 นิติบุคคล 1 สถานี “เอ็มซี-อินฟินิตี้” จำต้องยุบคลื่น

1170

หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกประกาศฉบับที่ 32 ระงับการออกอากาศของสถานีวิทยุชุมชน ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย และสถานีวิทยุกระจายเสียงที่ได้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการ ก็เริ่มมีการจัดระเบียบวิทยุชุมชนทั่วประเทศ เพื่อให้กลับมาออกอากาศได้อีกครั้ง ซึ่ง คสช. จะมีการออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ให้วิทยุชุมชนปฏิบัติตามในเร็วๆ นี้

พ.อ. นที ศุกลรัตน์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. เห็นชอบหลักเกณฑ์ปฏิบัติในการจัดระเบียบวิทยุชุมชนกลุ่มทดลองประกอบกิจการ ที่ได้รับใบอนุญาตชั่วคราว จาก กสทช. จำนวน 4,700 สถานี ให้กลับมาออกอากาศได้อีกครั้ง โดยจะมีแนวทางกำหนดให้วิทยุชุมชนที่ได้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการ ต้องปฏิบัติก่อนรับสิทธิออกอากาศ

โดยต้องเป็นผู้ที่ได้รับใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการจาก กสทช. และมีใบอนุญาตใช้อุปกรณ์เครื่องส่งวิทยุและการตั้งสถานีส่งถูกต้องตามกฎหมาย ต้องนำเครื่องส่งสัญญาณวิทยุมาทดลองมาตรฐานกำลังส่งวัตต์ ที่แลป เทสต์ (Lab Test) ของ กสทช. 25 แห่งทั่วประเทศ โดยจะต้องทำตามหลักเกณฑ์เดิม กสทช. ที่กำหนดให้มีกำลังส่ง 500 วัตต์ เสาสัญญาณส่ง 60 เมตรจากพื้นดิน รัศมีส่งสัญญาณไม่เกิน 20 กิโลเมตร

สิ่งที่ทำเอาผู้ประกอบการวิทยุชุมชนพากันช็อก คือ กำหนดให้วิทยุชุมชน ประเภทธุรกิจ ออกอากาศได้ 1 สถานี ต่อ 1 นิติบุคคลเท่านั้น เช่นเดียวกับวิทยุชุมชน ประเภทสาธารณะและชุมชน กำหนดให้ ออกอากาศได้ 1 สถานี ต่อ 1 นิติบุคคล ต่อ 1 จังหวัด หากนิติบุคคลใดเป็นเจ้าของหลายสถานี ให้เลือกเพียงสถานีเดียว ผู้ประกอบการต้องมาดำเนินการด้วยตนเอง หรือเป็นผู้รับมอบอำนาจจากกลุ่มคนกรณีวิทยุชุมชน เท่านั้น

ทั้งนี้ การออกอากาศเนื้อหารายการของวิทยุชุมชนจะต้องไม่ละเมิด ประกาศ คสช. ฉบับที่ 14 และ 18 คือห้ามยุยงปลุกปั่น วิพากษ์วิจารณ์การเมือง หลังจากกลุ่มวิทยุชุมชนปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้วให้แจ้งหลักฐาน ต่อสำนักงานเขต กสทช. 14 เขต ทั่วประเทศ เพื่อนำส่งข้อมูลมายัง สำนักงาน กสทช. จากนั้นให้ บอร์ด กสท. พิจารณาเห็นชอบให้ออกอากาศอีกครั้ง ภายใต้ประกาศ คสช.

พ.อ. นที กล่าวว่า จากหลักเกณฑ์ปฏิบัติที่กำหนดให้วิทยุชุมชนต้องดำเนินการก่อนรับสิทธิกลับมาออกอากาศ ถือเป็นการจัดระเบียบวิทยุชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาวิทยุชุนส่งสัญญาณกวนคลื่นวิทยุหลักไปพร้อมกัน จากหลักเกณฑ์ดังกล่าวคาดทำให้วิทยุชุมชนที่มีนิติบุคคลซ้ำซ้อน เป็นเจ้าของคลื่นวิทยุชุมชนมากกว่า 1 คลื่น จะลดจำนวนเหลือประมาณ 3,500 สถานี

“หากปฏิบัติได้ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะมีโอกาสกลับมาออกอากาศอีกครั้ง ในจำนวนดังกล่าวแบ่งเป็นวิทยุชุมชน ประเภทธุรกิจ 80% สาธารณะ 10% และ ชุมชน 10 % ขณะที่วิทยุชุมชนที่ไม่ได้รับใบอนุญาตออกอากาศ 3,000 สถานี ถือเป็นกลุ่มที่ผิดกฎหมาย และไม่เข้าหลักเกณฑ์ในการขอสิทธิกลับมาออกอากาศอีกครั้ง” พ.อ. นที กล่าว

เช่นเดียวกับ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสท. กล่าวเปรียบเทียบการจัดระเบียบวิทยุชุมชนคราวนี้ว่า ความรู้สึกเหมือนต้องจัดระเบียบชุมชนแออัด เพื่อสร้างแฟลตให้อยู่ใหม่ เจ็บปวดลึกๆ แต่อยู่แบบเดิมก็เละ จะไประบบใหม่ก็กระทบทั่วทุกอณู ตนเคยทำงานเอ็นจีโอมาก่อน ทราบดีว่าการต้องให้ชุมชนเดิมที่อยู่แบบแออัดแต่คุ้นชิน ย้ายจากที่เดิมนั้นเจ็บปวดอย่างไร แต่ถึงจุดหนึ่งก็ต้องไป

ที่ผ่านมาประเทศไทยมีวิทยุทั่วประเทศเกิดๆ ดับๆ นับหมื่นสถานี เหมือนคนจากต่างจังหวัดย้ายมาอาศัยอยู่ในชุมชนเมืองที่แออัดบนพื้นที่เท่าเดิม จะให้หน่วยงานรัฐย้ายคนออกจากชุมชนแออัดที่เขาใช้ทำมาหากิน มันก็ยากเต็มที จนมาถึงจุดหนึ่งชุมชนเกิดไฟไหม้ ทุกอย่างอาจสลายไปทันที ไฟจะไหม้เพราะอุบัติเหตุหรือเผาไล่ที่ แต่ที่ดินก็ว่างลงแล้ว เหลือแต่ถ่านเถ้า รัฐและนักพัฒนาที่ดินก็ต้องเข้ามาจัดการที่ดินผืนนั้นใหม่

เธอกล่าวว่า คนที่มีเอกสารสิทธิ์ยืนยันว่าเคยอยู่บนพื้นดินนั้นแบบถูกกฎหมายก่อนไฟไหม้ ย่อมได้สิทธิ์ก่อนคนที่ไม่มีเอกสารใดเลยแม้จะเคยอาศัยอยู่ด้วยก็ตาม เมื่อที่ดินว่างลงแล้ว รัฐก็อาศัยโอกาสนั้นในการจัดสรร พัฒนาเพื่อจัดระเบียบที่ดินใหม่ เริ่มจากจำกัดสิทธิการถือครองที่ดินของคนที่เคยอยู่เดิม

ระยะยาวรัฐจะสร้างแฟลตให้คนไปเช่าอยู่แทนชุมชนแออัด แต่เนื่องจากห้องมีจำกัด คนต้องการอยู่มาก กติกาในกฏหมายบอกว่าต้องให้แข่งราคาเช่ากัน ส่วนพื้นที่ดินชุมชนแออัดเดิม จะถูกเก็บไว้ให้ชุมชนหรือ สาธารณะมาอาศัยทำประโยชน์ให้ชุมชนโดยไม่หากำไร แต่คงมีคนแอบหา รัฐต้องกำกับดูแลอีก

เปรียบคลื่นความถี่ แอนาล็อก กับที่ดิน เปรียบแฟลตเหมือนคลื่นวิทยุดิจิตอล รัฐกำลังจะมีโรดแมปออกมา ขยายพื้นที่ให้มากขึ้น วิทยุธรุกิจดิจิตอลจะต้องประมูล แต่วิทยุสาธารณะและชุมชนไม่ต้องประมูล เหมือนทีวีดิจิตอล ตาม พ.ร.บ. ปี 51 เว้นแต่มีคนไปแก้กฏหมายในสภานิติบัญญัติแห่งชาติอีกรอบ

“ใบอนุญาตทดลองกิจการที่ กสทช. ออกให้วิทยุธุรกิจไม่ใช่โฉนด เป็นเอกสารสิทธิ์ชั่วคราว ยังไม่มีสิทธิ์ในคลื่นความถี่ จนกว่าต้องจัดสรรผ่านการประมูล เมื่อได้ใบอนุญาตจริง จึงรวมสิทธิ์การใช้คลื่นความถี่วิทยุใบอนุญาต 7 ปี ที่ผ่านมาคือการผ่อนปรนในรูปแบบทดลองประกอบกิจการให้สถานีที่เกิดก่อน กสทช.” สุภิญญา กล่าว

อย่างไรก็ตาม ก็มีเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการวิทยุชุมชนตามมา เนื่องจากนโยบาย 1 นิติบุคคล 1 สถานี จากที่ก่อนหน้านี้ กสทช. เป็นผู้อนุญาตให้จดทะเบียน 1 นิติบุคคล หลายสถานีเอง ซึ่งอาจทำให้คลื่นวิทยุนับพันสถานีที่มีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายจะถูกปิดตัวลง และมองว่าออกกฎหมายขัดกันไปขัดกันมา

ข้อมูลจากสำนักงาน (กสทช.) สายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ พบว่าจังหวัดสมุทรสาครมีผู้ประกอบกิจการวิทยุชุมชน 5 ราย คือ จุดปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนคนสาคร คริสเตียนมหาชัย แซ่บ ท่าฉลอม วิทยุชุมชนปฐมสาคร และจุดปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนหลักสี่ ส่วนวิทยุชุมชนประเภทสาธารณะ 3 ราย คือ เสียงธรรมเพื่อประชาชนฯ วัดป่ามหาไชย สถานีวิทยุสังฆทานธรรม และมูลนิธิโรงพยาบาลบ้านแพ้ว

ขณะที่วิทยุชุมชนประเภทธุรกิจ มีมากถึง 28 สถานี และจากการตรวจสอบผ่านสำนักงาน กสทช. พบว่ามีนิติบุคคลที่มีคลื่นความถี่มากกว่า 1 คลื่น อยู่หลายสถานี ที่เห็นชัดเจนคือ บริษัท มหาชัย เคเบิลทีวี จำกัด ซึ่งมีคลื่น มหาชัย เอ็มซี เรดิโอ และ สมุทรสาคร ลูกทุ่งเอ็มซี และบริษัท หรรษา อินฟินิตี้ จำกัด ซึ่งมีคลื่นลูกทุ่ง อินฟินิตี้ และเซิร์ฟ อินฟินิตี้ ซึ่งอาจจะต้องเลือกคลื่นใดคลื่นหนึ่ง และปิดตัวคลื่นใดคลื่นหนึ่ง

ขณะที่คลื่นรักสุขภาพเพื่อผู้ใช้แรงงาน ของบริษัท บริการร่วมค้าไทย-จีน จำกัด พบว่ามีคลื่นวิทยุในกรุงเทพฯ 3 สถานี นครปฐม 2 สถานี และปทุมธานี 2 สถานี เช่นเดียวกับ พีพีพี ลัคกี้ เรดิโอ ของบริษัท พีพีพี ลัคกี้ เรดิโอ จำกัด พบว่ามีคลื่นวิทยุในกรุงเทพฯ, นนทบุรี 6 สถานี, ปทุมธานี 2 สถานี ส่วนคลื่นเพาเวอร์ ของบริษัท 168 ฟีโร พลัส จำกัด พบว่าจดทะเบียนที่สมุทรปราการ 2 สถานี คือ TSA Radio และ เจริญสิน เรดิโอ ขณะที่สถานีเสียงจากโครงการรักษ์ไทย “ประชาร่วมใจ ต้านภัยยาเสพติด” ของบริษัท ตองกล้วย จำกัด พบว่าจดทะเบียนที่ จ.ปราจีนบุรี 2 สถานี และนครนายก 1 สถานี

ส่วนคลื่นพลังชุมชน พบว่าจดทะเบียนในนาม ห้างหุ้นส่วนจำกัด ทีพีเอ็ม เน็ทเวิร์ค (สมุทรสาคร) มีเพียงสถานีเดียว จากที่จดทะเบียนในหลายจังหวัด ซึ่งมีมากกว่า 1 สถานี อาทิ ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี 5 สถานี, นครปฐม 5 สถานี, นครราชสีมา, นนทบุรี 3 สถานี, ประจวบคีรีขันธ์, พระนครศรีอยุธยา 2 สถานี, พิษณุโลก 2 สถานี, หนองคาย 2 สถานี, อุดรธานี 3 สถานี, เชียงราย, เชียงใหม่

การจัดระเบียบวิทยุชุมชน โดยเฉพาะประเภทธุรกิจคราวนี้ อาจจะมีคลื่นวิทยุในสมุทรสาครหายไปจากหน้าปัดวิทยุมากถึง 5 สถานี และหากคลื่นไหนผู้ประกอบการให้คนอื่นรับเช่าช่วงก็จะมีปัญหาอีกหลายสถานี

จึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการวิทยุชุมชนในสมุทรสาครควรจับตามองอย่างยิ่ง เพราะเท่ากับผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือเจ้าของคลื่นที่ลงทุนนับล้านบาทต้องหายวับไปกับตา ส่วนดีเจ และผู้ที่อยู่เบื้องหลังนับสิบชีวิตอาจต้องตกงาน

– กิตตินันท์ นาคทอง –

หมายเหตุ : รายชื่อวิทยุชุมชน ประเภทธุรกิจ จังหวัดสมุทรสาคร

– ดี เรดิโอ เอฟเอ็ม บริษัท ดีเอฟที (ประเทศไทย) จำกัด
– รักสุขภาพเพื่อผู้ใช้แรงงาน บริษัท บริการร่วมค้าไทย-จีน จำกัด
– พลังชุมชน ห้างหุ้นส่วนจำกัด ทีพีเอ็ม เน็ทเวิร์ค (สมุทรสาคร)
– RIGHT FM บริษัท ทริพเปิล เค เรดิโอ จำกัด
– พีพีพี ลัคกี้ เรดิโอ บริษัท พีพีพี ลัคกี้ เรดิโอ จำกัด
– N.A.C. RADIO บริษัท สำนักข่าวสร้างสรรค์ จำกัด
– ฮอต เรดิโอ บริษัท สกุณา เรดิโอ จำกัด
– เลิฟ FM บริษัท ไทยเฮลท์ เรดิโอ จำกัด
– Best Radio บริษัท ออกัสชัวรี่ จำกัด
– ยกกระบัตร บริษัท สมุทรสาคร เรดิโอ โปรโมชั่น จำกัด
– เก้าแสน เรดิโอ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เก้าแสนเรดิโอ
– มหาชัยเรดิโอ ห้างหุ้นส่วนจำกัด สยามวอล์คแรลลี่มีเดียกรุ๊ป
– ศรีสำราญ บริษัท ศรีสำราญ เรดิโอ จำกัด
– ชุมชนคนสวนหลวง ห้างหุ้นส่วนจำกัด สราญรมย์มีเดีย
– บ้านดอนพัฒนา บริษัท บุญบันดาล จำกัด
– ที เรดิโอ ห้างหุ้นส่วนจำกัด แสงทิพย์มิเดีย
– เอแอล ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอแอลเรดิโอ
– สมาย ห้างหุ้นส่วนจำกัด สมายเรดิโอ เอฟเอ็ม.96.75
– คนรางสายบัว บริษัท ภุตอรมีเดีย จำกัด
– เซิร์ฟ อินฟินิตี้ บริษัท หรรษา อินฟินิตี้ จำกัด
– นวมินทร์มหานคร ห้างหุ้นส่วนจำกัด นวมินทร์มหานคร
– เพาเวอร์ บริษัท 168 ฟีโร พลัส จำกัด
– มหาชัย เอ็มซี เรดิโอ บริษัท มหาชัย เคเบิลทีวี จำกัด
– สมุทรสาคร ลูกทุ่งเอ็มซี บริษัท มหาชัย เคเบิลทีวี จำกัด
– เสียงจากโครงการรักษ์ไทย “ประชาร่วมใจ ต้านภัยยาเสพติด” บริษัท ตองกล้วย จำกัด
– ศิลปวัฒนธรรมไทย ห้างหุ้นส่วนจำกัด หมื่นกรุ๊ปซาวด์
– โพธิ์แจ้ เรดิโอ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เคพีเอฟ เจริญทรัพย์
– ลูกทุ่ง อินฟินิตี้ บริษัท หรรษา อินฟินิตี้ จำกัด

(ที่มา : สำนักงาน กสทช.)



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง