เปิดแผนทางยกระดับพระราม 2 เชื่อมบางขุนเทียน-ปากท่อ

1181-1

การประชุมสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมของโครงการทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 (ธนบุรี-ปากท่อ) หรือทางยกระดับพระราม 2 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ที่ผ่านมา ได้มีการเปิดเผยรูปแบบเส้นทางออกมาแล้ว หลังพิจารณาเปรียบเทียบ และนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการดำเนินงานการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้รูปแบบการก่อสร้างโดยสรุปดังต่อไปนี้

รูปแบบการก่อสร้างเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจรตลอดทั้งเส้นทาง เริ่มจากช่วงที่ 1 ตั้งแต่กิโลเมตร (กม.) ที่ 9+731 หรือทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน จุดตัดกับถนนกาญจนาภิเษก สิ้นสุดที่ กม. 21+500 หรือทางแยกต่างระดับเอกชัย มีทางขึ้น-ลง 3 จุด คือ ด่านบางขุนเทียน กม. 12, ด่านพันท้ายนรสิงห์ กม. 16 และด่านมหาชัยเมืองใหม่ กม. 19 ทุกด่านจะใช้เป็นสะพานกลับรถได้โดยไม่ต้องผ่านด่านเก็บค่าผ่านทาง

ช่วงที่ 2 ตั้งแต่ กม. ที่ 21+500 สิ้นสุดเส้นทางที่ กม. 81+600 ซึ่งรองรับโครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 8 (นครปฐม-ชะอำ) มีทางขึ้น-ลง 8 จุด ได้แก่ ด่านมหาชัยเมืองใหม่ 2, ด่านสมุทรสาคร 2 จุด, ด่านบ้านแพ้ว 2 จุด, ด่านสมุทรสงคราม 2 จุด และด่านปากท่อ โดยมีสถานีบริการบริเวณ ต.กาหลง อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร

ในช่วงที่ผ่านมา การประชุมเสนอแนวคิดในการกำหนดรูปแบบทางเลือกเบื้องต้นและหลักเกณฑ์การคัดเลือกรูปแบบทางเลือกที่เหมาะสมของโครงการ (การประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 1) ซึ่งแบ่งออกเป็น 11 กลุ่ม ซึ่งจัดที่เคหะชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน 3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร แลัสมุทรสงคราม พบว่ามีประเด็นที่น่าสนใจแตกต่างกัน

เช่น การออกแบบโครงการเป็นทางยกระดับ กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาชี้แจงว่าเนื่องจากถนนพระราม 2 ในปัจจุบันมีปริมาณการจราจรและอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นทุกปี โครงการก่อสร้างทางยกระดับจะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดและอุบัติเหตุบนถนนพระราม 2 ได้ โดยการเก็บค่าผ่านทางแบบระบบปิด รับบัตรและไปชำระเงินที่ปลายทาง ในระยะเริ่มต้นคิดค่าผ่านทางกิโลเมตรละ 1 บาท โดยมีอัตราเริ่มต้นที่ 10 บาท

ประเด็นทางขึ้น-ลงช่วงบ้านแพ้วถึง จ.สมุทรสงครามมีระยะค่อนข้างห่าง กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาชี้แจงว่าได้ออกแบบให้สอดคล้องกับเส้นทางอื่นที่จะเข้ามาเชื่อมกับเส้นทางของโครงการ และต้องเป็นแหล่งชุมชน โดยกรมทางหลวงก็มีแผนที่จะบูรณาการจุดขึ้น-ลงและจุดกลับรถไว้ที่จุดเดียวกัน เพื่อลดจุดตัดกระแสการจราจรบนเส้นทางสายหลัก

1181-2

ต่อคำถามที่ว่า การก่อสร้างทางยกระดับจะทำให้ถนนระดับพื้นล่างเป็นลูกคลื่นหรือไม่ กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาชี้แจงว่าได้พิจารษณาออกแบบทางด้านวิศวกรรม โดยพยายามให้ฐานรากของเสาตอม่ออยู่ในพื้นที่บริเวณเกาะกลาง และใช้เทคนิควิธีที่จะช่วยป้องกันการเกิดลอนลูกคลื่นบนผิวถนนระดับพื้นล่าง นอกจากนี้จะดำเนินการปรับปรุงถนนระดับพื้นล่าง ทั้งในช่องทางหลักและช่องทางคู่ขนานด้วย

ขณะที่รูปแบบโครงสร้างทางยกระดับที่จะก่อสร้างผ่านแม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง จะพิจารณารูปแบบโครงสร้างแบบพิเศษ เพื่อให้ตอม่อสะพานมีน้อยที่สุดและมีความสมดุลกันทั้งสองด้าน โดยกำหนดให้ตอม่อของทางยกระดับอยู่ในตำแหน่งเดียวกับตอม่อของสะพานเดิม เพื่อป้องกันปัญหาการกีดขวางเส้นทางน้ำและการสัญจรทางน้ำ

ส่วนการพัฒนาทางพื้นราบ กรมทางหลวงได้มีนโยบายในการพัฒนาทางพื้นราบให้เป็น 14 ช่องจราจร เป็นทางคู่ขนานข้างละ 3 ช่องจราจร ซึ่งจะพิจารณาดำเนินการในช่วงที่มีการจราจรหนาแน่น และมีแผนในการก่อสร้าสะพานลอยกลับรถแล้ว โดยสะพานกลับรถบริเวณ ต.พันท้ายนรสิงห์ ได้รับงบประมาณแล้ว ซึ่งจะมีการดำเนินการก่อสร้างในช่วงเดือนสิงหาคม 2557

แม้โครงการก่อสร้างทางยกระดับพระราม 2 จะใช้เวลาก่อสร้าง 3-5 ปี แต่ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาโครงการ ซึ่งการก่อสร้างขึ้นอยู่กับการจัดสรรงบประมาณของประเทศ หลังจากการศึกษา การสำรวจและออกแบบแล้วเสร็จ ก็จะดำเนินการส่งให้สำนักงบประมาณพิจารณาอนุมัติจึงจะก่อสร้างได้ต่อไป คงต้องมองกันยาวๆ ว่าที่สุดแล้วเราจะได้เห็นโครงการนี้ตอกเสาเข็มเป็นรูปเป็นร่างเมื่อไหร่ จึงจะมองเห็นอนาคต



3 ความคิดเห็น เรื่อง “เปิดแผนทางยกระดับพระราม 2 เชื่อมบางขุนเทียน-ปากท่อ”

  1. คนมหาชัย กล่าวว่า:

    มิ.ย. 26, 14 at 12:58 pm

    ทำการจัดสร้างรถไฟฟ้าดีกว่าครับ ส่งเสริมให้คนใช้ระบบขนส่งมวลชน ลดจำนวนอุบัติเหตุบนท้องถนน ในเส้นทางนี้คนในสมุทรสาคร รวมทั้งสมุทรสงครามมีมากเหลือเกินที่เดินทางเข้าสู่กรุงเทพมหานคร รถไฟฟ้าสะดวกสะบายกว่า ตรงต่อเวลาหลีกเลี้ยงรถติดได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีแผนแม่บท รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วง หัวลำโพง – มหาชัย แต่แผนนี้จะดำเนินการก่อสร้างตามเส้นทางรถไฟสายชานเมืองแม่กลอง ทำให้ต้องมีการเวณคืนพื้นที่ชมชนริมทางรถไฟจำนวนมาก อีกทั้งเกิดเสียงคัดค้านของคนที่อาศัยอยู่ริมทางรถไฟ ผมเสนอให้สร้างเส้นทางรถไฟฟ้าตามแนวถนนพระราม2 แล้วทำการเจาะอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา สู่สถานีหัวลำโพงครับ

  2. ปรีชา กล่าวว่า:

    ก.ค. 15, 14 at 12:06 am

    ผมเห็นด้วยกับโครงการทางยกระดับถนนพระราม2 เพราะเส้นทางนี้เป็นเส้นทางเศรษฐกิจที่สำคัญมาก และถ้าเราพัฒนาระบบรางโดยสามารถขนคนเป็นจำนวนมากๆได้ก็จะดีอย่างยิ่งเช่นพัฒนารถไฟสายมหาชัย-วงเวียนใหญ่ให้เป็นระบบรางคู่ จะช่วยให้การเดินทางรวดเร็วขึ้นและทำสถานีจุดจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าBTS เป็นต้น และสุดท้ายต้องขอขอบคุณที่กรมทางหลวงอนุมัติก่อสร้างทางกลับรถที่ถนนพระราม2 ก.ม.17ครับ

  3. คนท่าฉลอม กล่าวว่า:

    ก.ค. 17, 14 at 9:09 am

    ผมเห็นด้วยกับโครงการนี้ แต่อยากให้คำนึงถึงผู้ใช้ถนนทางราบให้มาก โดยเฉพาะคนที่เดินทางจากตัวเมืองมหาชัยไปยังอำเภอบ้านแพ้ว ทุกวันนี้จะต้องไปลอดใต้สะพานข้ามคลองหลวง ปัจจุบันมีจำนวนรถหนาแน่นตลอดทั้งวัน รถบรรทุกสิบล้อ รถเทรเลอร์ รถพ่วงช่วงยาวจำนวนมาก ที่มุ่งไปนครปฐม หรือไปออกถนนเพชรเกษม และที่กำลังเป็นปัญหาอีกจุดหนึ่งก็คือ บริเวณทางแยกที่ถนนสาย 375(พระราม2-พระประโทน) มาตัดกับถนนพระราม2 มีรถติดมาก จุดตัดตรงนี้ทางแคบมาก เกิดอุบัติเหตุทุกวัน รถใหญ่ที่มาจากพระราม2ขาเข้าจะเข้าถนน375หักเลี้ยวไม่พ้น ผมอยากให้กรมทางรีบดำเนินการแก้ไขโดยด่วน ไม่ต้องรอโครงการทางยกระดับพระราม2หรอกครับ ผมอยากได้ทางยกระดับแบบที่มีทั้งยูเทิร์นและทางเลี้ยวขวาอยู่ในตัวเดียวกัน เช่นเดียวกับทางเข้าเมืองนครปฐม ถ้าทำได้สำเร็จก็จะสามารถแก้ปัญหาได้ สภาพการจราจรก็จะคล่องตัว อุบัติเหตุก็จะลดลงไปมาก


แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง