จ้างชาวบ้านกั้นทางรถไฟ หนึ่งในวิธีแก้อุบัติเหตุบริเวณจุดตัด

1316-1

ภาพจากแฟ้ม

อุบัติเหตุรถยนต์ที่ข้ามจุดตัดทางรถไฟไม่ทันถูกรถไฟที่วิ่งด้วยความเร็วสูงชนกัน จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บอยู่บ่อยครั้งนั้น เป็นบทเรียนของผู้ใช้รถใช้ถนนว่า ความประมาทเกิดขึ้นได้เพียงเสี้ยววินาที แต่อีกส่วนหนึ่งคือ ปัญหาจุดตัดทางรถไฟไม่มีที่กั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะถนนที่อยู่ในความรับผิดชอบขาดงบประมาณในการติดตั้ง อีกส่วนหนึ่งคือทางที่ชาวบ้านใช้สัญจรไปมานั้น ก่อสร้างกันเองโดยไม่ได้ขออนุญาต

ปัจจุบันพบว่ามีถนนที่ตัดผ่านทางรถไฟจำนวนมาก สร้างขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากการรถไฟแห่งประเทศไทย หลายคนคงไม่ทราบว่า การขับขี่ยานพาหนะผ่านจุดดังกล่าว หากก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลใด การรถไฟแห่งประเทศไทย จะไม่รับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น แตกต่างจากอุบัติเหตุรถยนต์ชนกันที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องชดใช้ค่าเสียหาย

นอกจากนั้น บุคคลผู้ก่อให้เกิดเหตุดังกล่าว ซึ่งหมายถึงคนที่ขับรถผ่านจุดตัดทางรถไฟ ยังต้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291, 300 รวมทั้งจะต้องชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมดใก้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จราจรทางบก ปี 2522 มาตรา 63, 148 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 อีกด้วย

จุดตัดทางรถไฟนั้น ตามข้อกำหนด การรถไฟแห่งประเทศไทยจะรับผิดชอบการติดตั้งเครื่องกั้นทางรถไฟ เฉพาะการทำทางรถไฟตัดกับทางหลวงที่มีอยู่ก่อนเท่านั้น หากเป็นหน่วยงานใดที่ทำจุดตัดทางรถไฟที่หลัง ไม่ว่าจะเป็นกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายและจัดทำ โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างตามเกณฑ์

การติดตั้งเครื่องกั้นทางรถไฟแบบอัตโนมัตินั้น ต้องใช้งบประมาณ 4 ล้านบาทต่อ 1 จุด ซึ่งมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นน้อยรายที่แปรญัตติงบประมาณมาจัดทำ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูง ที่ผ่านมาการรถไฟแห่งประเทศไทย จึงใช้วิธีส่งเจ้าหน้าที่ไปอยู่ประจำจุดตัดที่ได้รับอนุญาต โดยการนำเครื่องกั้นมาเปิดปิดตลอดเวลาที่มีขบวนรถไฟผ่านมา รวมถึงติดตั้งป้ายสัญญาณเตือนให้ผู้ใช้ทางระมัดระวังรถไฟ และให้ขบวนรถไฟลดความเร็ว

สำหรับทางรถไฟสายมหาชัย-วงเวียนใหญ่ ซึ่งเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานคร กับ จ.สมุทรสาคร มีขบวนรถวิ่งผ่านตั้งแต่ช่วงเวลา 04.10 น. ถึง 21.00 น. ทุกวัน ที่ผ่านมาประสบปัญหาขบวนรถไฟชนยานพาหนะต่างๆ บ่อยครั้ง เนื่องจากการขยายตัวของชุมชนใกล้ทางรถไฟ และมีช่องทางลักลอบข้ามรางรถไฟโดยไม่ได้รับอนุญาตตลอดสายมากกว่า 20 จุด ซึ่งไม่มีการป้องกันด้วยการทำเครื่องกั้นทางรถไฟ

1316-2

ภาพจาก คุณจารุ กาญจนพันธุ์ พนักงานรถจักร 6 แขวงงานรถดีเซลรางสมุทรสาคร

หนึ่งในนั้นคือพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บางน้ำจืด ซึ่งมีจุดตัดทางรถไฟ 3 จุดในพื้นที่ ได้แก่ จุดถนนเลียบคลองบางน้ำจืด ก่อนถึงสถานีรถไฟบางน้ำจืด, จุดใกล้สถานีอนามัยบางน้ำจืด และจุดทุ่งสีทอง ซึ่งจุดทุ่งสีทองนั้น อบต.บางน้ำจืดได้ใช้วิธีจ้างชาวบ้านในพื้นที่มาทำหน้าที่กั้นถนน ตามเวลาที่กำหนด โดยมีค่าตอบแทนให้

1316-3

ภาพจาก คุณจารุ กาญจนพันธุ์ พนักงานรถจักร 6 แขวงงานรถดีเซลรางสมุทรสาคร

อีกจุดหนึ่งคือ ป้ายหยุดรถคอกควาย ต.คอกกระบือ ในอดีตมีโรงงานเอกชนขอทำทางผ่านเพื่ออำนวยความสะดวกในการสัญจรในการดำเนินกิจการ ก่อนที่กรมทางหลวงชนบทจะก่อสร้างถนนเชื่อมต่อไปยังถนนสายเจษฎาวิถี-พันท้ายนรสิงห์ แต่เนื่องจากมีอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดซึ่งมีลักษณะเป็นทางหลีก จึงมีคนของโรงงานเอกชนมาช่วยกั้นทางรถไฟ เมื่อรถไฟแล่นผ่าน

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีจุดตัดทางรถไฟหรือไม่ก็ตาม แต่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากผู้ใช้รถใช้ถนนที่มักจะหลีกเครื่องกั้นทางรถไฟเพื่อไม่ให้ตนเองเสียเวลารอรถไฟ ส่วนจุดตัดที่ไม่มีสัญญาณกั้น ผู้ขับขี่มักใช้วิธีเร่งความเร็วโดยไม่ทันได้สังเกตขบวนรถไฟที่จะผ่านเข้ามา แม้รถไฟขบวนนั้นจะใช้ความเร็วไม่ถึง 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงก็ตาม จึงก่อให้เกิดอุบัติเหตุที่นำมาซึ่งความสูญเสีย

พึงระลึกเสมอว่า ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ปี 2522 มาตรา 63 ระบุว่า ในทางเดินรถตอนใดที่มีทางรถไฟผ่าน ไม่ว่าจะมีเครื่องหมายระวังรถไฟหรือไม่ ถ้าทางรถไฟนั้นไม่มีสัญญาณระวังรถไฟ หรือสิ่งปิดกั้น ผู้ขับขี่ต้องลดความเร็วของรถ และหยุดห่างจากทางรถไฟไม่น้อยกว่า 5 เมตร เมื่อเห็นว่าปลอดภัยแล้วจึงจะขับรถผ่านไปได้



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง