ฟังเสียงสะท้อน “ผังเมืองรวมสมุทรสาคร” จะไปทางไหน?

1304-001

การประชุมรับฟังความคิดเห็นการวางและจัดทำผังเมืองรวมสมุทรสาคร พบข้อเสนออดีต ส.ว. ชี้ผังเมืองอายุ 5 ปีไม่เหมาะสม ควรใช้อย่างน้อย 20 ปี คาดต้องรองรับประชากรมากกว่า 1.2 ล้านคน อีกทั้งกระจุกตัวอยู่แค่มหาชัย-ท่าฉลอม แนะพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นที่ใช้ประโยชน์น้อยรองรับการขยายตัว ด้านภาคประชาสังคมยันไม่ปฏิเสธการพัฒนา แต่ต้องบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่

กรมโยธาธิการและผังเมือง จัดประชุมระดมความคิดเห็น ในการวางและจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 20 ต.ค. ที่ห้องโชติกา โรงแรมเซ็นทรัลเพลซ ต.มหาชัย อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร เพื่อกำหนดทิศทางการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ โดยมี ร.ต.ท.อาทิตย์ บุญญะโสภัต ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธาน พร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน

จังหวัดสมุทรสาครมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นเขตอุตสาหกรรมที่สำคัญ อีกทั้งยังมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านระบบคมนาคมขนส่ง ซึ่งเหมาะสมต่อการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของภาคธุรกิจเอกชนและการขยายตัวของแหล่งที่อยู่อาศัยอย่างรวดเร็ว การเติบโตดังกล่าวก็กระทบ และสร้างปัญหาต่อพื้นที่ รวมถึงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในจังหวัด

1304-002

ดังนั้น การศึกษาเพื่อจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดสมุทรสาครจึงมีความจำเป็นในการกำหนดให้มีการแยกประเภทของการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยละเอียดและประกาศ ใช้บังคับเต็มพื้นที่เป็นผังเดียวกัน เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนา การใช้ประโยชน์ที่ดินและโครงสร้างพื้นฐานของจังหวัดอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ

ปัจจุบันจังหวัดสมุทรสาครมีการวางผังเมืองครอบคลุมพื้นที่ของจังหวัดแล้ว ประมาณร้อยละ 60 ของพื้นที่ โดยผังเมืองรวมเมืองสมุทรสาคร ปี 2550 (ปรับปรุงครั้งที่ 2) จะสิ้นสุดบังคับในวันที่ 5 ธ.ค. นี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับปรุงผังครั้งที่ 3 ขยายครอบคลุมทั้งอำเภอเมืองสมุทรสาคร ขณะที่ผังเมืองรวมกระทุ่มแบน ปัจจุบัน (ปรับปรุงครั้งที่ 2) อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาคำร้อง และผังเมืองรวมชุมชนบ้านแพ้ว (แรกประกาศ) บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. 2556 สิ้นสุดวันที่ 24 ก.ย. 2561

1304-003

ในช่วงการอภิปรายรับฟังความคิดเห็น พบว่ามีการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย อาทิ อายุของผังเมือง ข้อมูลประชากรทั้งในอดีตและอนาคต ที่ยังมีประชากรแฝงเป็นจำนวนมาก ความเป็นเมืองปริมณฑล การขยายตัวของเมืองที่มาจากกรุงเทพมหานคร รวมทั้งข้อห่วงใยเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่น อำเภอบ้านแพ้วซึ่งเป็นพื้นที่ทางการเกษตร

นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ อดีต ส.ว.สรรหา กล่าวว่า การจัดทำผังเมืองไม่ควรบังคับใช้เพียงแค่ 5 ปี แต่ควรที่จะบังคับใช้ไปอย่างน้อย 20 ปี ซึ่งจังหวัดสมุทรสาครแตกต่างจากที่อื่น เพราะอยู่ติดกับกรุงเทพมหานคร ในความเป็นปริมณฑลมีปัญหาเยอะมาก ซึ่งเกิดจากประชากรแฝง ควรมองไปข้างหน้าก่อนว่ายุทธศาสตร์ของจังหวัดในอีก 20 ปีข้างหน้าจะมีเป้าหมายอย่างไร และผังเมืองที่เกิดขึ้นจะตอบสนองอย่างไร

อีกประการหนึ่งคือเรื่องประชากร นอกจากประชากรท้องถิ่นกว่า 5 แสนคนแล้ว ยังมีประชากรแฝงอีก 2.5 แสนคน และแรงงานต่างด้าวประมาณ 4 แสนคน ทำให้ในวันนี้มีประชากรประมาณ 1.2 ล้านคน และประชากรที่ย้ายเข้ามาอยู่ใหม่จากบ้านจัดสรร ซึ่งจังหวัดสมุทรสาครเป็นจังหวัดปริมณฑลซึ่งมีที่ดินถูกที่สุด ซึ่งในอีก 20 ปีข้างหน้าแนวโน้มประชากรจะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านคน หากไม่พิจารณาประชากรแฝงตรงนี้จะเป็นผังเมืองที่ล้าสมัยและไร้ประโยชน์

นอกจากนี้ เรื่องการคมนาคมขนส่งและสาธารณูปโภค หากประชากรเพิ่มมากขึ้นก็จะเปลี่ยนไปทั้งขยะ ไฟฟ้า ประปา ถนน ซึ่งผังเมืองที่มีอยู่เดิมใช้ไม่ได้ เพราะโจทย์ผิดมาแต่ต้น จึงขอให้นำโจทย์ตรงนี้มาใส่ในการจัดทำผังเมืองครั้งนี้ด้วย

1304-005

นายวันชัย แสงสุขเอี่ยม อดีต ส.ว.สรรหา กล่าวว่า สมุทรสาครเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพมาก โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ มีดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมในจังหวัด (จีพีพี) มากเป็นอันดับ 8 ของประเทศ มีรายได้ประชากรต่อหัว 3 แสนบาทต่อปี ซึ่งน่าสนใจมากเพราะเป็นจังหวัดเล็กๆ มีประชากรตามทะเบียนราษฎร์น้อย หากรวมกับประชากรแฝงทั้งคนไทยและต่างด้าวน่าจะมีมากกว่า 1 ล้านคน

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาประโยชน์การใช้ที่ดิน โดยเฉพาะ อ.เมืองสมุทรสาคร การวางผังที่ดินควรคำนึงถึงการเติบโตของเมือง ซึ่งพบว่าประชากร ที่อยู่อาศัย และโรงงานอุตสาหกรรมจะกระจุกตัวอยู่ถนนสายหลักไม่กี่สาย เช่น ถนนพระราม 2 ถนนเศรษฐกิจ 1 แต่จะเห็นว่ามีพื้นที่ว่างที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าจำนวนมาก เฉพาะ อ.เมืองสมุทรสาครน่าจะมี 40-50% ของพื้นที่ทั้งหมด

โดยเฉพาะบริเวณปากแม่น้ำท่าจีน สาธารณูปโภคเข้าไปถึงน้อยมาก ที่ผ่านมาถนนสายหลักไม่มีการวางแผน คิดอยู่อย่างเดียวว่าเป็นพื้นที่น้ำท่วม หรือการกัดเซาะชายฝั่งในอนาคต ซึ่งความคิดนี้น่าจะเปลี่ยนได้แล้ว โดยให้พัฒนาถนนสายหลักเข้าไปเพื่อกระจายความหนาแน่นของประชากรและสถานประกอบการ ซึ่งประชาชนจะอยู่ในพื้นที่อากาศบริสุทธิ์ ไม่ใช่มากระจุกตัวในเมือง

ทั้งนี้ การทำผังเมืองน่าจะทบทวนสร้างถนนหลักนำหน้า เพื่อให้ประชาชนมองเห็นนโยบายในการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างชัดเจน และไม่กระจุกตัวซึ่งจะมีปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคม สมุทรสาครเป็นจังหวัดที่มีจีดีพีสูงต่อคน การใช้ทรัพยากรจะค่อนข้างสิ้นเปลือง ยิ่งประชากรกระจุกตัวในพื้นที่ไม่มากนัก ความสึกหรอของสาธารณูปโภคก็มีมาก ถึงแม้จะมีถนนสายหลักก็ไม่สามารถรองรับได้ แม้จะมีถนนสายใหญ่ก็ตาม แต่ในบริเวณที่ผ่านความสนใจจะไม่มีสาธารณูปโภค มีเพียงถนนสายเล็กๆ

“การสร้างถนนเพิ่มในพื้นที่ที่จะใช้ประโยชน์น้อย เอกชนจะไปสร้างถนนเองคงไม่ได้เพราะคงไม่มีกำลังพอ เพราะฉะนั้นการวางผังเมืองจะต้องมุ่งไปข้างหน้าและใช้ประโยชน์ของที่ดิน ถ้าไปดู จ.สมุทรปราการและ จ.สมุทรปราการก็ใช้พื้นที่ริมชายทะเลมาก เห็นได้ชัดเจนว่าชุมชนติดกับอ่าวไทย ต่างจากสมุทรสาคร ชุมชนจะหนาแน่นอยู่เฉพาะเกาะท่าฉลอม และตัวเมืองสมุทรสาคร ส่วนรอบข้างไม่มีสาธารณูปโภค ถนนใหญ่ ถนนเมน อยากให้ทบทวนสาธารณูปโภค โดยเฉพาะถนนเพราะนำไปสู่ความเจริญ กระจายการใช้พื้นที่ให้เป็นประโยชน์” นายวันชัย กล่าว

1304-004

นายสมพร อ่วมประทุม สมาชิกสภาพัฒนาการเมือง กล่าวว่า ภาคประชาสังคมของจังหวัดไม่ปฏิเสธการพัฒนา แต่ก็มีคำถามว่าการพัฒนามีความรับผิดชอบต่อชุมชนท้องถิ่นมากน้อยแค่ไหน สมุทรสาครมีการพัฒนาที่รวดเร็ว มีประชากรแฝงที่ไม่ทราบข้อมูลแตกต่างกันมาก มีรายได้สูงมาก การพัฒนาส่งผลกระทบต่อการบริโภคทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมาก ผังเมืองเปรียบเสมือนเครื่องมือที่ภาคประชาชนหวังว่าจะมาช่วยยับยั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

ทั้งนี้ การรับฟังความคิดเห็นเรื่องการจัดทำผังเมืองรวมสมุทรสาครควรมีความทั่วถึงและเป็นธรรม และลงไปในระดับชุมชน มิใช่ในส่วนกลางไม่กี่ครั้ง เพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่ได้รับฟังข่าวสารความคิดเห็นอีกมาก การเปิดเวทีตามชุมชนต่างๆ ก็จะได้รับข้อมูลที่เป็นความจริงมากขึ้น และควรขยายระยะเวลาการรับฟังความเห็นให้มาก และการประกาศผังเมืองควรใช้ให้ยาวนาน อีกทั้งการระดมความเห็นชุมชนท้องถิ่นเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งจะต้องอยู่อาศัยไปอีกยาวนาน

ส่วนภาคอุตสาหกรรมในจังหวัด มาบริโภคทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รับผลกำไรแล้วก็ไป แต่บางส่วนที่ไม่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมก็ส่งผลกระทบไว้ เช่น คลองภาษีเจริญ ซึ่งจากการสำรวจพบว่าน้ำในคลองไม่ได้เน่าเสียมาจากกรุงเทพฯ เพราะที่วัดใหม่หนองพะองยังมีปลาชุกชุม แต่เมื่อเข้าเขตสมุทรสาคร สิ่งมีชีวิตไม่เหลือเลย ส่วนแม่น้ำท่าจีนสำรวจว่ามาน้ำเสียจากจังหวัดด้านบนหรือไม่ หากพบว่ามาจากสมุทรสาครก็จะทราบว่ามาจากการพัฒนาที่มากเกินไป ประชากรหนาแน่นเกินไปหรือไม่

นอกจากนี้ ขอให้เผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึงและหลากหลาย ทั้งฝ่ายที่ได้ประโยชน์ และเสียผลประโยชน์ ที่สำคัญ ผังเมืองเป็นเครื่องมือที่ดี แม้จะมีกฎหมายบังคับใช้ ทั้ง พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อม แต่เป็นไปไม่ได้เลยหากผู้ปฏิบัติมีการสอดไส้เพื่อที่จะไม่ปฏิบัติตาม เช่น ขออนุญาตสร้างบ้านจัดสรร แต่กลับเป็นการทำอุตสาหกรรมโลหะหนัก จึงขอให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่

นายอัมพร พวงพวา ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า นโยบายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลจะมีการประกาศโซนนิ่งการเกษตรทั่วประเทศ ซึ่งกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีแนวคิดที่จะกำหนดโซนนิ่งการเกษตร ในส่วนจังหวัดสมุทรสาครซึ่งมีการก่อสร้างและการขยายเขตอุตสหกรรม ขอให้สงวนพื้นที่ไว้เพื่อกำหนดพื้นที่โซนนิ่งทำการเกษตรเพื่อพิจารณาในการทำผังเมือง

นายปรีชา ศิริแสงอารำพี ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า การจัดทำผังเมืองของจังหวัดสมุทรสาครเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องจัดในพื้นที่เหมาะสม ตรงไหนมีสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมควรพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีการดูแลอย่างชัดเจน ที่ผ่านมาจังหวัดสมุทรสาครมีนิคมอุตสาหกรรมอยู่ 2 แห่ง ซึ่งปัญหาไม่มีเลย ในอนาคตโรงงานควรอยู่ในนิคม แต่ปัจจุบันไม่ใช่ เพราะโรงงานอุตสาหกรรมกับบ้านจัดสรรอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งมีปัญหาไม่รู้จบ หากจัดโซนนิ่งที่อยู่อาศัยจะดูแลง่ายขึ้น รวมทั้งพื้นที่เกษตรขอให้กำหนดชัดเจน และกำหนดให้เข้ากับปัจจุบัน

– กิตตินันท์ นาคทอง / เรียบเรียง –



1 ความคิดเห็น เรื่อง “ฟังเสียงสะท้อน “ผังเมืองรวมสมุทรสาคร” จะไปทางไหน?”

  1. นายวันชัย แสงสุขเอี่ยม กล่าวว่า:

    ต.ค. 22, 14 at 11:37 am

    ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) ครับ


แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง