สารพันปัญหาประมงสมุทรสาคร “เข้มค้ามนุษย์-อินโดปิดน่านน้ำ”

1507-001

การกีดกันทางการค้าจากปัญหาการค้ามนุษย์ นำมาซึ่งการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออด้วยข้อกล่าวหาประเทศไทยมีการค้ามนุษย์ ในกลุ่มการใช้แรงงานต่างด้าวในภาคประมง ตามสายตาประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดผู้บริโภคอาหารทะเลแปรรูปรายใหญ่ของไทยมาตลอด กระทั่งล่าสุดจึงระบุให้ไทยตกมาอยู่ที่ข่าย เทียร์ 3 ที่ต้องปรับปรุงแก้ไข

ส่งผลให้ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง สลับหมุนเวียนเข้าพื้นที่ จ.สมุทรสาคร เพื่อจับผิดทั้งปัญหาค้ามนุษย์ และการใช้แรงงานและการจ้างงานผิดกฎหมาย แทบไม่เว้นแต่ละวัน อาทิ หน่วยงานสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน กรมประมง ตำรวจจากฝ่ายต่างๆ กรมเจ้าท่าจังหวัด ตำรวจน้ำ ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ต่างพากันตื่นตัวออกกวดขันแก้ปัญหา

ขณะที่สาธารณรัฐอินโดนิเซีย ได้มีออกคำสั่งมาตรการปิดน่านน้ำมาอย่างต่อเนื่อง ระหว่างเดือนธันวาคม 2557 ถึงเดือนเมษายน 2558 เพื่อจัดระเบียบสัมปทานการจับสัตว์น้ำทางทะเล ของเรือประมงหลายประเทศและไทย เข้าทำประมง ส่งผลให้ในภาคประมงนอกน่านน้ำในพื้นที่ และกิจการแปรรูปอาหารเริ่มมีผลกระทบต่อเนื่อง

1507-006

– “สมาคมประมง” รับหน้าเสื่อทางการจับผิดค้ามนุษย์

สารพันปัญหาทั้งการค้ามนุษย์ และการปิดน่านน้ำอินโดนีเซีย ทำหลายฝ่ายแทบจะปวดเศียรเวียนเกล้า โดยเฉพาะผู้ประกอบการประมงในสมุทรสาคร จังหวัดที่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมประมงและกิจการต่อเนื่อง ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ซบเซา

สมาคมการประมงจังหวัดสมุทรสาคร ต้องคอยต้อนรับ และทำหน้าที่รายงานสภาพการค้ามนุษย์แทบรายวัน ขณะที่เรือประมงน้อยใหญ่ก็ถูกสหรัฐฯ เหมารวมให้จับตาในข้อหาค้ามนุษย์ไปด้วย

1507-007

กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรสาคร พล.ต.ท.วีรพงษ์ ชื่นภักดี ผบช.ภ. 7 พร้อมด้วย พล.ต.ต.สุรชัย ควรเดชะคุปต์ รอง ผบช.ภ.7 ได้เปิดโครงการคุมเข้มให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดจังหวัดสมุทรสาครกว่า 100 นาย กวดขันปราบปรามการค้ามนุษย์ ในด้านกิจการประมงและกิจการอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยมี พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร ผบก.ภ.จว.สมุทรสาคร เป็นผู้รับผิดชอบ

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้สนธิกำลังเข้าตรวจสอบการใช้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ เพื่อสำรวจหลักฐาน อาทิ พาสปอร์ตบัตรประจำตัวแรงงานต่างด้าวและใบอนุญาตทำงาน ที่ผิดกฎหมาย อาทิ แพสะพานปลามหาชัย และตลาดกุ้งริมถนนพระราม 2 รวมถึงสถานจำหน่ายแปรรูปสินค้าอาหารและตลาดสดในเขต อ.เมืองสมุทรสาคร เพื่อสนองนโยบายรัฐบาลที่ได้ประกาศวาระแห่งชาติเรื่องการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ จากปัญหาสาเหตุความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ

โดยมีความร่วมมือลงนาม (เอ็มโอยู) บันทึกข้อตกลงในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์กันหลายฝ่าย อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยมี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นสักขีพยาน

1507-002

พล.ต.ท.วีรพงษ์ เปิดเผยถึงผลการตรวจสอบว่า จากการสุ่มสำรวจสอบถามบรรดาแรงงานต่างด้าวตามนโยบายการทำงานปรากฏว่า เบื้องต้นยังไม่มีการบังคับใช้แรงงานแต่อย่างใด

ส่วนการเข้มงวดกวดขันสืบเนื่องจากเป็นการตอบสนองนโยบายรัฐบาลและความร่วมมือบูรณาการ จากที่วันที่ 3 เม.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายและประกาศวาระแห่งชาติ จึงจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ตลอดจนการค้าประเวณีหรือการบังคับให้เป็นขอทาน เป็นต้น

หากพบการกระทำผิดต้องดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งจะออกหมุนเวียนสำรวจปัญหาค้ามนุษย์และการจ้างงานผิดกฎหมายเป็นระยะต่อเนื่องกันไป

1507-003

ขณะเดียวกัน บริเวณองค์การสะพานปลาสมุทรสาคร นายณัฐ จับใจ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า นำคณะเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมด้วยนายสุชิน ธรรมพิทักษ์ เจ้าท่าภูมิภาคสาขานครปฐม ในฐานะรักษาการตำแหน่ง ผู้อำนวยการเจ้าท่าภูมิภาค สาขาสมุทรสาคร และนายนิวัติ เกตุแก้ว ชำนาญงานสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาสมุทรสาคร

ร่วมกับ นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ปลัดจังหวัดสมุทรสาคร นายกำจร มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร และนายสาวงษ์ จุ้ยเจริญ อุปนายกสมาคมประมงจังหวัดสมุทรสาคร ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบความผิดเรือประมง บริเวณแพปลา เพื่อตรวจดูการจดทะเบียนเรืออย่างถูกต้อง ตลอดจนสำรวจการจ้างงานแรงงานประมง เพื่อเน้นจัดการป้องกันปัญหาค้ามนุษย์เป็นหลัก

ผลปรากฏว่า ไม่พบการกระทำผิดค้ามนุษย์ อย่างไรก็ตามรองอธิบดีกรมเจ้าท่าได้เน้นย้ำในประเด็นเรื่องทะเบียนเรือที่ขาดอายุ หากตรวจพบจะดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อปฏิบัติตามนโยบายการทำประมงที่ถูกต้อง

1507-004

1507-005

– โวยกลัวค้ามนุษย์ตามก้นอเมริกาเกินเหตุ ทำต้องหยุดเรือชั่วคราว

นายกำจร มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า เรือประมงที่ จ.สมุทรสาคร ส่วนใหญ่ทำประมงภายในประเทศ และส่งขายสัตว์น้ำบริโภคกันแค่ในประเทศ แตกต่างจากเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่ออกนอกน่านน้ำไทย สำหรับเรือที่เข้าลงทะเบียนกับทางสมาคมมีประมาณกว่า 200 ลำ ซึ่งมีทั้งอยู่ในสมาคมและไม่อยู่ ทำให้ไม่สามารถรู้ข้อมูลได้หมด ส่วนปัญหาของสมาคมมีอยู่ก็คือเรื่องอาชญาบัตรที่ไม่แก้ไขเรื่องเครื่องมือให้ ทำให้เรือหมดอายุไปจำนวนมาก

ส่วนเรื่องแรงงานต่างด้าว ยังมีปัญหาเลือกงานอย่างต่อเนื่อง เป็นเหตุให้ผู้ประกอบการต่างๆ ต้องง้อลูกจ้าง โดยเฉพาะในเรือ ทั้งๆ ที่ปัจจุบันจ้างแรงงานข้ามชาติต้องจ่ายเงินค่าแรงให้ล่วงหน้าเกือบทุกราย อย่างไรก็ตาม แม้มีระบุทำสัญญาการจ้างก็ไม่สามารถมีหลักประกันคุ้มครองแก่นายจ้างแต่อย่างใด ซึ่งไม่น่าจะเป็นธรรม

“ชาวเรือถูกเจ้าหน้าที่จ้องจับผิด กลัวการค้ามนุษย์ตามนโยบายอเมริกา ไม่น่าเหมารวมเรือประมงในประเทศว่ามีค้ามนุษย์ไปด้วย ก็ถือว่าไม่ถูกนัก ส่งผลให้ผู้ประกอบการหยุดออกเรือลงชั่วคราวเกือบ 50% นอกจากมีปัญหาเรื่องอาชญาบัตรหลังเจ้าหน้าที่ไม่ผ่อนผันไม่พิจารณาให้ใหม่ ทำให้เรือไม่น้อยหากินไม่ได้ โดยได้ยื่นปัญหาดังกล่าวต่อผู้เกี่ยวข้องเร่งพิจารณาไปแล้ว” นายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร กล่าวถึงผลกระทบที่ได้รับ

– ประมงอ่าวตัว ก. ไม่กระทบอินโดฯ ปิดน่านน้ำ ชี้เน้นจับ-บริโภคในประเทศ

กรณีที่อินโดนีเซียออกกฎเหล็กปิดน่านน้ำลงเพื่อจัดระเบียบสัมปทานรักษาทรัพยากรทางทะเลครั้งใหม่ นายกำจร กล่าวว่า ไม่มีผลต่อประมงในประเทศหรือประมงชายฝั่งแต่อย่างใด สืบเนื่องจากที่ผ่านมาชาวประมงในสมุทรสาคร ไม่ได้ยึดติดหรือออกเรือทำประมงนอกน่านน้ำเป็นหลัก ทำเฉพาะในอ่าวไทยหรืออ่าวตัว ก. เท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมามีเพียงบางประเทศอื่นๆ บ้างที่เข้าไปทำประมง ดังนั้นจึงไม่มีผลกระทบอินโดฯ ปิดอ่าวแต่อย่างใด

ส่วนเรื่องการแปรรูปสินค้าส่งออกอาหารทะเลของจังหวัดสมุทรสาคร ฐานะเป็นแหล่งใหญ่ก็จริง ที่ผ่านมาได้มีการสั่งซื้อวัตถุดิบปลาจากต่างประเทศ เข้ามาแปรรูปอาหารโดยเฉพาะปลาโอ หรือปลาทูน่ามากที่สุด ขณะที่ชาวประมงภายในของสมุทรสาครหาวัตถุดิบ กุ้ง หอย ปู ปลา ที่ได้นั้นเป็นการขายบริโภคในประเทศเป็นหลักเกือบ 100 % แทบไม่ได้ส่งออกโดยเฉพาะกุ้งและหอย เนื่องจากมีเรื่องราคาค่อนข้างก็สูงกว่าวัตถุดิบนำเข้าอย่างมาก

ขณะเดียวกัน ต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ไม่ได้นิยมและไม่สั่งซื้อไปบริโภคเพราะมีราคาแพงกว่า ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกุ้งเลี้ยงหรือกุ้งบ่อและปลา ที่นำเข้านำมาแปรรูปจำหน่าย

1507-008

– ประมงนอกน่านน้ำร้องผู้ว่าฯ หาทางช่วยเหลืออุตฯ แปรรูปขาดแคลนวัตถุดิบ

อีกด้านหนึ่ง นายวันชัย แสงสุขเอี่ยม ในฐานะสมาชิกประมงนอกน่านน้ำ จ.สมุทรสาคร พร้อมด้วย นายธีรวัฒน์ เจริญสุขโสภณ ประธานชมรมผู้ค้าปลา จ.สมุทรสาคร ได้ร่วมกับตัวแทนผู้ประกอบการ (ล้งแปรรูป) ที่เกี่ยวข้องประมาณ 50 ราย เข้าร้องเรียนขอความช่วยเหลือต่อศูนย์ดำรงธรรมสมุทรสาคร ผ่านไปยังรัฐบาลเพื่อขอให้หามาตรการแก้ไขปัญหารองรับผลขาดแคลนวัตถุดิบสินค้าปลาเพื่อการแปรรูปอาหาร

ปัญหาหลังสาธารณะรัฐอินโดนิเซียที่มีการออกคำสั่งมาตรการปิดน่านน้ำ ซึ่งล่าสุดมีกระแสข่าวว่า จะปิดไปอย่างต่อเนื่องประมาณ 6 เดือน ถึงเดือนตุลาคม 2558 เป็นเหตุให้ชาวประมงน่านน้ำไทย และการแปรรูปอุตสาหกรรมต่อเนื่องต้องประสบปัญหาขาดแคลนเรื่องวัตถุดิบโดยเฉพาะปลาอย่างแน่นอน และยังจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ในระบบแรงงานของการแปรรูปอาหารส่งออกในพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงจังหวัดแถบชายทะเลที่มีการแปรรูปอาหารกว่า 30 จังหวัด ที่ต้องนำเข้าปลาจากอินโดนิเซียอย่างแน่นอน เพราะเรือประมงไทยนอกน่านน้ำไม่สามารถออกเรือได้ตามปกติ

1507-009

ร.ต.ท.อาทิตย์ บุญญะโสภัต ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า หลังรับเรื่องดังกล่าวจะช่วยเร่งส่งผ่านไปยังผู้เกี่ยวข้องส่วนกลางเพื่อไปดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ซึ่งมนส่วนตนยอมรับว่าด้วยเหตุนี้มองว่าอาจจะมีผลกระทบลักษณะลูกโซ่เรื่องของอุตสาหกรรมต่อเนื่องตั้งแต่ปัญหาต้นทางถึงปลายทาง หรือต้นน้ำกลางน้ำและปลายน้ำที่มีภาคส่วนอื่นๆเกี่ยวข้อง ในฐานะเมืองสมุทรสาครเป็นแหล่งผลิตแปรรูปอาหารขนาดใหญ่ตามมา

มานพ พฤฒิวโรดม รายงาน / โทรศัพท์ 08-7151-2525



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง