“รู้เขา รู้เรา 9 ชาติอาเซียน คู่ค้าหรือคู่แข่ง” สัมมนาโค้งสุดท้ายสู่ AEC ที่สมุทรสาคร

Cov

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ร่วมกับหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร และสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดสมุทรสาคร จัดงานสัมมนา “โค้งสุดท้ายสู่ AEC ที่สมุทรสาคร” ที่ห้องโชติกา โรงแรมเซ็นทรัลเพลส ถ.เอกชัย ต.มหาชัย อ.เมืองฯ เมื่อวันที่ 14 ก.ย. ที่ผ่านมา

โดยมีนายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ปลัดจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานในพิธีกล่าวเปิดการสัมมนา และนายปรีชา ศิริแสงอารำพี ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวรายงาน ร่วมด้วยนางอำไพ หาญไกรวิไลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยรอแยล ฟรอเซนฟู๊ด จำกัด, นายสุนทร วัฒนาพร นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดสมุทรสาคร, นายชาธิป ตั้งกุลไพศาล ประธานชมรมผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมสินสาคร, นายกิตติพงษ์ เจริญคงธรรม ประธานกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ วายอีซี สมุทรสาคร พร้อมด้วยตัวแทนจากภาครัฐ นักศึกษาและประชาชนที่สนใจ เข้าร่วมในงานสัมมนาครั้งนี้เป็นอย่างมาก

ในช่วงเช้าเป็นการเสวนาในหัวข้อ “สมุทรสาครพร้อมแค่ไหนที่จะร่วมทาง AEC?” โดยนายชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ บรรณาธิการอาวุโส น.ส.พ.ฐานเศรษฐกิจ เป็นผู้ดำเนินรายการ มีวิทยากร คือ นายสุวพรรณ มลิลา พานิชย์จังหวัดสมุทรสาคร, นายอรุณชัย พุทธเจริญ ประมงจังหวัดสมุทรสาคร, นายอภิชัย เตชะนิธิสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร และนายสมศักดิ์ ดารารัตนโรจน์ รองประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร ให้ความรู้เกี่ยวกับจุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และอุปสรรคในการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

IMG_0120

IMG_0505

1

2

3

4

5

6

7

8

9

10

12

13

14

15

16

17

18

19

23

24

สำหรับในภาคบ่ายของการสัมมนา เป็นการบรรยายพิเศษจากนายเกษมสันต์ วีระกุล นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญ AEC ในหัวข้อเรื่อง “รู้เขา รู้เรา 9 ชาติอาเซียน คู่ค้าหรือคู่แข่ง” เริ่มต้นนายเกษมสันต์ได้อธิบายว่า คนส่วนใหญ่มองว่า วันที่ 31 ธ.ค. 58 นี้ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด ประเทศไทยเป็น เออีซี มานานตั้งแต่เริ่มต้นเป็นสมาคมอาเซียนแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2510 แนวคิดการรวมกลุ่มกันเป็นเขตการค้าเสรีเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2535 และมีการต่อยอดเรื่อยมา

ความเป็นอาเซียนนั้น ประกอบด้วยสามเสาหลักที่สำคัญ คือเศรษฐกิจ การเมืองความมั่นคง สังคมและวัฒนธรรม ทั้งสามเสาสำคัญเท่าเทียมกันและมีความเชื่อมโยงกัน ซึ่งในการรวมกลุ่มกันของอาเซียน นโยบายจะต้องออกเสียงเป็นเอกฉันท์ และเมื่อตกลงหรือเซ็นสัญญากันแล้ว ก็ไม่บังคับกัน อำนาจยังเป็นของรัฐบาลในแต่ละประเทศ ในปัจจุบันการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ ภาษีระหว่างกันแทบไม่มี ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ยกเว้นประเทศในกลุ่ม ซีแอลเอ็มวี

เรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือ 7 ประเภท และเรื่องการครอบครองกิจการของต่างชาตินั้นแทบไม่เกิด เพราะจะต้องทำตามระเบียบที่รัฐบาลในแต่ละประเทศกำหนด และที่ทางภาครัฐบอกว่า เออีซี ตลาดจะใหญ่ขึ้น จากประชากรบ้านเรา 67 ล้านคน จะเพิ่มขึ้นกว่า 605 ล้านคน ประเด็นคือ การซื้อขาย ท่องเที่ยวนั้นเกิดขึ้นเต็มที่แล้ว และจากที่ได้ทำเรื่องนี้มาโดยตลอด มองว่าเล็กมาก ไม่มีอะไรน่าสนใจ

ความน่าสนใจของ เออีซี คือการที่ 10 ประเทศอาเซียน มีข้อตกลงการค้าพิเศษกับอีก 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย เป็น “อาเซียน +6” จำนวนประชากรและขนาดเศรษฐกิจจะใหญ่ขึ้นจากเดิมเกือบสิบเท่า ดึงดูดให้รัสเซียและสหรัฐอเมริกาให้เข้ามาเจรจาการค้าด้วย โดยในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่กรุงเนปิดอว์ ประเทศเมียนมา เมื่อปลายปีที่แล้ว ทั้งสองชาติก็ได้ส่งตัวแทนเข้าประชุมร่วมกับ อาเซียน +6 ด้วย รวมกันเรียกว่า “อีสต์ เอเชีย ซัมมิต” มี 18 ประเทศ ประชากรรวมกันกว่า 3,900 ล้านคน ขนาดเศรษฐกิจ 1,300 ล้านล้านบาท เกินครึ่งโลก

เรื่องในอนาคตอันใกล้ อาเซียนจะเป็นเหมือนสหภาพยุโรป นั้นเป็นการเข้าใจผิด เพราะทางสหภาพยุโรปได้ผ่านการเป็นประชาคมมาแล้ว ในวันนี้ได้รวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น มีทั้งรัฐบาล ศาล ธนาคารกลาง สกุลเงิน และนโยบายความมั่นคงร่วมกัน ยกเว้นเรื่องกองทัพ ซึ่งอาเซียนยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น อนาคตของเรานั้นขึ้นอยู่กับ อีสต์ เอเชียน ซัมมิต คือประเทศไทย และ 17 ประเทศที่เหลือ

27

สำหรับเรื่องสภาพเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของ 9 ชาติในอาเซียน นายเกษมสันต์ได้บรรยายโดยสังเขปดังต่อไปนี้

– เวียดนาม กลุ่มทุนจากเกาหลีใต้ได้เข้ามาลงทุนสร้างฐานการผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ ทั้งโทรศัพท์มือถือและเครื่องใช้ไฟฟ้า ทำให้การส่งออกเวียดนามเติบโต สร้างมูลค่าหลายแสนล้านบาทในแต่ละปี นอกจากนี้ยังมีจีน และสหรัฐอเมริกาก็เดินทางเข้ามาลงทุนด้วยเช่นกัน ซึ่งชาวเวียดนามเก่งในเรื่องคณิตศาสตร์ เมื่อจบปริญญาตรี เงินเดือนเริ่มต้นที่ 7,500 บาท มีทักษะคอมพิวเตอร์ พูดได้สามภาษา ขยันทำงาน เป็นคนเคารพกฎหมาย

เวียดนามเมื่อรวมประเทศ เคยบริหารประเทศและเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม แต่ไปไม่รอด จนต้องเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ที่เศรษฐกิจเติบโตทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งเพราะเคยมีที่ปรึกษาเศรษฐกิจอย่าง นายลี กวนยู อดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ คอยวางรากฐานไว้ ซึ่งในปัจจุบันสิงคโปร์เองก็ได้ใช้เวียดนาม เป็นฐานธุรกิจ เอสเอ็มอี ของประเทศตน

– เมียนมา มี 1 ชนเผ่าใหญ่ และ 7 ชนเผ่าย่อย นอกจากนี้ยังมีชนเผ่าเล็กๆ อีกนับร้อยอาศัยอยู่ร่วมกันในประเทศ แต่ละชนเผ่ามีภาษาและกองกำลังเป็นของตนเอง มีการสู้รบกันระหว่างชนเผ่า จนกระทั่งถูกอังกฤษผนวกเข้าเป็นอาณานิคม และเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น เบอร์มา หรือ พม่า อันหมายถึงชนเผ่าส่วนใหญ่ของประเทศเพียงเผ่าเดียว ภายหลังได้มีการเปลี่ยนกลับมาใช้ เมียนมา เช่นเดิม เพื่อความสามัคคีของคนในชาติ

พื้นฐานของชาวเมียนมาเคร่งครัดในศาสนามาก มีจิตใจดี ทุกวันพระจะเดินทางไปโรงธรรม แล้วถือศีลแปด ช่วงเข้าพรรษา ชาวเมียนมา 30 เปอร์เซ็นต์ทานมังสวิรัติ และไม่จัดงานมงคลเพราะจะรบกวนกิจของพระภิกษุที่กำลังศึกษาพระธรรม นิยมจัดเทศกาลสินค้าช่วงวันออกพรรษา ชุดประจำชาติ ได้รับอิทธิพลระหว่างจีน-อินเดีย สวมรองเท้าแตะ ในการเดินเข้าวัดจะต้องถอดรองเท้า อาหารการกินคล้ายคนไทย เพียงแต่รสไม่จัดและชุ่มด้วยน้ำมัน

เมียนมารู้สึกดีมากกับคนไทย อยากค้าขายด้วยกัน แต่ทัศนคติของคนไทยกลับคิดว่าเป็นชาติที่เข้ามารุกราน ซึ่งเมียนมามองว่าเป็นเรื่องของชนเผ่าหนึ่งที่เข้ามารบกับไทยในอดีตเท่านั้น ไม่ใช่ในนามของประเทศ เมียนมาเมื่อเปิดประเทศ ทุกอย่างเปลี่ยนไป มีการค้าการลงทุนคึกคัก แต่การลงทุนขนาดใหญ่นั้นรัฐบาลเมียนมาจะรักษาผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง หากรู้ว่าเสียเปรียบก็พร้อมที่จะเบรกไว้เพื่อทบทวน

– มาเลเซีย เมื่อปี 2534 นายกรัฐมนตรี ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด ได้ประกาศวิสัยทัศน์ตั้งเป้าภายในปี พ.ศ.2563 จะยกระดับจากประเทศกำลังพัฒนาให้เป็นประเทศพัฒนาแล้ว มีการเดินหน้าเรื่อยมาจนกระทั่งในปี พ.ศ.2552 ยุคนายกรัฐมนตรี ราจิบ ราซัค มองว่าเศรษฐกิจมาเลเซียเติบโตช้าเกินกว่าที่ตั้งเป้าไว้ จึงประกาศปฏิรูปประเทศอีกครั้ง คือ “วัน มาเลเซีย” เป็นการปฏิรูปสองขา หนึ่งคือการลงทุน และการสร้างงานเพิ่ม สองคือการปฏิรูปบริหารจัดการภาครัฐ ระดมสมองผู้เชี่ยวชาญเพื่อแก้ปัญหา เขียนโรดแม็ปประเทศ และตั้งค่า เคพีไอ ของประเทศ พร้อมทั้งมีการตรวจสอบการบริหารงาน

มาเลเซียเคร่งครัดกับกับศาสนาอิสลาม ใช้กฎหมายควบคู่กับหลักศาสนา เป็นศูนย์กลางสินค้า ธนาคารและขนส่งแบบฮาลาล มีการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ ”อิสกันดาร์” ที่รัฐยะโฮร์ร่วมกับสิงคโปร์ นำธุรกิจและอุตสาหกรรมระดับโลก พร้อม “เอ็ดดูเคชั่น ซิตี้” นำมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก มาไว้ที่เมืองนี้เพื่อรองรับบุคลากรในอนาคต

– สิงคโปร์ มีขนาดพื้นที่เล็กกว่าสมุทรสาคร ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ ประกอบด้วยชาวจีน อินเดีย และมลายู เคยผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของมาเลเซียเมื่อครั้งได้รับเอกราชจากอังกฤษ แต่เนื่องจากเกิดความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติจนมีการเสียเลือดเนื้อ จึงถูกแยกกับมาเลเซียเมื่อ 9 ส.ค. 2508 ลี กวนยู นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ประกาศว่า วันนี้เราต้องเล่นเกมการเมืองที่ถูกบังคับให้เราเล่นกัน เราลำบากแน่ เพราะเราไม่มีทรัพยากร แต่เรามีคน 1 ล้าน 8 แสนคนต้องดูแล เราจะต้องอยู่ให้รอด

เนื่องจากไม่มีทรัพยากรและพื้นที่ จึงต้องพัฒนาประเทศให้เก่ง โดยมีการส่งเสริมการศึกษา ให้คนในแต่ละเชื้อชาติรักกัน โดยอนุญาตให้ใช้ภาษาแม่ของตัวเองเป็นภาษาราชการได้ แต่ว่าทุกคนนั้นจะต้องเรียนภาษาอังกฤษด้วย เมื่อสื่อสารกันรู้เรื่อง ทำให้เกิดความเข้าใจต่อกัน ลดความขัดแย้ง และมีความโปร่งใส ซึ่งสมัยก่อนสิงคโปร์เคยมีการโกงกันอุตลุด แล้วนายลี กวนยู หนุนหลัง ปปช. ให้มีการปราบปรามคอรัปชั่น จนในปัจจุบันประเทศมีความโปร่งใสติด 1 ใน 10 ของโลก

สิงคโปร์ติดอันดับในเรื่องความยากง่ายในการทำธุรกิจ อยู่ในอันดับที่ 1 ของโลก และเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเป็นอันดับ 2 ของโลก รายได้ประชากรต่อหัวสูงที่สุดในเออีซี 1 ล้าน 9 แสนบาท ต่อคนต่อปี เมื่อรู้ว่าหากเปิด เออีซี ประเทศต่างๆ จะเกิดการแข่งขันกัน สิงคโปร์จึงตั้งเป้าหมายจะเป็นศูนย์กลางการเจรจาการค้าเสรีโลก เนื่องจากภาษีถูกกว่า และมีการจับมือกับมาเลเซียและเวียดนามลงทุนร่วมกัน

– ฟิลิปปินส์ ให้ดูเรื่องคอรัปชั่น เมื่อ 50 ปีก่อนเป็นประเทศที่ใหญ่มาก แต่เนื่องจากการเมืองมีความรุนแรง และการคอรัปชั่น นักการเมืองหรือตระกูลที่เคยมีเรื่องทุจริตกลับมามีอำนาจอีกครั้ง วันนี้ฟิลิปปินส์จากประเทศที่เคยมีขนาดเศรษฐกิจและรายได้ต่อคนมากกว่าไทย กลับจนลงกว่าไทยครึ่งหนึ่ง และปัจจุบันคะแนนคอรัปชั่น เทียบเท่ากับประเทศไทย แต่ถ้ามีการปราบคอรัปชั่น มีการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน คาดว่าจากนี้ไปอีก 10 ปี ประเทศฟิลิปปินส์จะเติบโตสูงที่สุดในกลุ่มอาเซียน

29

– บรูไน มีขนาดพื้นที่ใหญ่กว่าสมุทรสาคร 10 เท่า ปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช รายได้กว่า 92 เปอร์เซ็นต์มาจากน้ำมัน ซึ่งจะหมดไปจากประเทศในอีก 25 ปีข้างหน้า ปัจจุบันพระมหากษัตริย์ คือสมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ มูอิซซัดดีน วัดเดาละห์ กำลังปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อรองรับในเรื่องดังกล่าว โดยทรงดูวิธีเขียนแผนเศรษฐกิจมาจากมาเลเซีย และสิงคโปร์

– อินโดนีเซีย ประเทศที่ใหญ่ที่สุดในเออีซี มีจำนวนเกาะใหญ่ที่สุดในโลก เป็นประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก อดีตถูกปกครองโดยเผด็จการทหารมาตลอด จนกระทั่งเลือกตั้งครั้งล่าสุด 2557 ได้ประธานาธิบดีพลเรือน มือสะอาด บริหารงานเก่ง ที่ชื่อ โจโค วิโดโด หรือ โจโควี ซึ่งเฉือนชนะอดีตนายพลเก่า ประเด็นก็คือ การจัดการเลือกตั้งมีประสิทธิภาพโปร่งใสยุติธรรม แม้จะเป็นประเทศที่กว้างใหญ่และเต็มไปด้วยหมู่เกาะ ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 200 ล้านคน หน่วยเลือกตั้ง 5.5 แสนหน่วย ใช้เงิน 4 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังถอนรากถอนโคนคอรัปชั่นอย่างเด็ดขาดและรวดเร็ว

เศรษฐกิจของอินโดนีเซีย ใช้ความใหญ่ของพื้นที่แบ่งเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็น 6 เขต เป็นประเทศมุสลิมที่ไม่เคร่งครัดมากเหมือนมาเลเซีย มองโลกในแง่ดี การจราจรในเมืองหลวงมีมอเตอร์ไซค์รับจ้าง และรถติดรองจากกรุงเทพ เป็นประเทศที่น่าทำการค้ามาก แต่ยังมีการกีดกันทางการค้าอยู่มากพอสมควร

– กัมพูชา ประเทศนี้คนกว่าครึ่งประเทศรู้จักภาษาไทย ชอบสินค้าไทยมากกว่าจีนและเวียดนาม กัมพูชารักเรา แต่เรารังเกียจเขา เป็นชาติที่เคารพกฎหมาย ขับรถเร็วตามที่กฎหมายกำหนด เป็นคนกตัญญู ทำงานได้เงินเดือนจะต้องส่งให้ที่บ้านตลอด นิยมจัดงานศพที่บ้านพร้อมฌาปนกิจ ทำบุญเครื่องสังฆทาน เป็นคนที่ชอบขอกันตรงๆ ค้าขายเก่งมากและมีสตอรี่ในการขาย

เมืองหลวงอย่างพนมเปญมีความเจริญพอสมควร อาหารการกินของกัมพูชาคล้ายบ้านเรา แต่รสชาติจืดเหมือนไม่มีรส นักธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนในกัมพูชาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า กัมพูชาเป็นประเทศที่สะอาดมาก กำลังซื้อเยอะ กล้าใช้จ่าย ขอให้สินค้านั้นดีจริง

– ลาว ในที่นี้ขอเรียกว่า สปป.ลาว เพราะคนไทยชอบใช้คำว่าลาวในทางที่ผิด พูดภาษารู้เรื่อง อาหารการกินรสจัดเหมือนกัน มีเพื่อนบ้าน 5 ประเทศ แต่ลำดับความสำคัญของเพื่อนบ้านไทยอยู่อันดับท้ายสุด แม้จะมีพรมแดนติดกันยาวถึง 1,800 ก.ม. ก็ตาม สาเหตุหนึ่งคือเรื่องที่เรามองว่า “พี่ไทยน้องลาว” ซึ่งคน สปป.ลาว ถือว่าคนทั้งโลกเป็นเพื่อนเสมอกัน และประการที่สอง เราล้อเลียนกันเลอะเทอะ เช่น เรื่องตลกภาษาลาวในอินเตอร์เน็ต ซ้ำร้ายกว่านั้น เคยมีค่ายหนังยักษ์ใหญ่ของไทย ทำภาพยนตร์ฟุตบอลล้อเลียนชาติลาว จนทางการลาวท้วงติงมาแล้ว แม้รัฐบาลลาวจะเงินน้อย แต่มีหัวคิด เพราะได้รับการศึกษาต่อที่ประเทศจีน

สปป.ลาว มีทั้งภูเขาและแม่น้ำ มีแผนจะสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า 80 แห่ง ตั้งเป้าจะเป็น “แบตเตอรี่ ออฟ เอเชีย” ผลิตกระแสไฟฟ้ากว่า 2 หมื่นเมกะวัตต์ เทียบเท่าเขื่อนภูมิพลของไทย 51 เขื่อน ในปัจจุบันแต่ละปี สปป.ลาว มีรายได้เข้าประเทศอยู่ที่แสนกว่าล้านบาท แต่หากโครงการสร้างเขื่อนเสร็จสิ้น เฉพาะค่าไฟฟ้าจะทำให้ลาวมีรายได้ 2 แสนล้านบาทต่อปีเป็นอย่างน้อย และในปี พ.ศ.2563 จะก้าวจากประเทศยากจน เป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง มีรายได้ 1 แสนบาทต่อคนต่อปี

นิสัยคนลาวไม่ชอบบีบแตรเวลาขับรถ ถือว่าเป็นเรื่องใจร้าย และชอบขับรถช้า ไม่รีบร้อน มีจังหวะชีวิตช้าเป็นตัวของตัวเอง รักคนไทยแต่ก็มีบ้างที่น้อยใจ เรื่องการลงทุนค้าขาย เราคิดไปเองว่าลาวพึ่งพาเรา แต่ความจริงแล้วหากไม่มีสินค้าไทย ก็ยังมีสินค้าจากจีนและเวียดนามรองรับอยู่

และ ประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2534-2543 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยเติบโตเฉลี่ย 4.6 เปอร์เซ็นต์ ต่อมาอีกสิบปี พ.ศ. 2544-2553 เติบโต 4.4 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยโตขึ้นเพียง 2.9 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแย่สุดๆ เราอ้างว่าเศรษฐกิจโลกไม่ดี นั่นไม่จริง จากที่เราอยากจะเป็นเสือตัวที่ห้าของเอเชีย วันนี้ฝรั่งว่าเราเป็น “คนป่วยคนใหม่ของเอเชีย” เราโตน้อยที่สุด ปีนี้ส่งออกติดลบอย่างน้อย 4.5 เปอร์เซ็นต์ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการเป็นประชาคมอาเซียน จึงเป็นจุดที่เราจะกระโดดไป

แม้เราไม่มีเงินลงทุน ทำอะไรไม่ได้ ต้องการเงินลงทุนจากต่างชาติ แต่โอกาสของประเทศไทยนั้น คือทำเลที่ตั้งอยู่ระหว่างเมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีนตอนใต้ ตอนนี้จีนมีนโยบายจะพัฒนาซีกตะวันตกของตัวเองให้เจริญ โดยใช้มณฑลยูนนาน เมืองคุนหมิง เป็นศูนย์กลางเชื่อมจีน กับเอเชียและโลกด้วยรถไฟ เดินทางไปถึงยุโรปแล้ววิ่งลงเอเชีย ผ่านเมียนมา ผ่านลาว ผ่านเวียดนาม-กัมพูชา เข้ามาในประเทศไทย เป็นเครือข่าย 6 ประเทศรวมกันเรียกว่า “อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือ จีเอ็มเอส” ตรงนี้คือหัวใจของประเทศไทย เพราะจีนต้องการให้ไทยเป็นตัวเชื่อม ฉะนั้นการค้าขายอย่ามองเฉพาะเออีซี ให้มองไปถึงจีนตอนใต้ด้วย

เราใช้เงินเพื่อการศึกษาสูงเป็นที่ 2 ของโลก แต่เด็กของเราอ่อนที่สุดในเอเชีย อัตราการคอรัปชั่นสูง เรื่องโครงสร้างพื้นฐานไม่ได้ลงทุนเรื่องการศึกษาและวิทยาศาสตร์ ไปลงทุนเฉพาะเรื่องถนนหนทางมากกว่า เราไม่พร้อมจะไปประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเราเติบโตมากับการเรียนที่ทำให้เราเกลียดเพื่อนบ้านแต่ละประเทศ วันนี้ผมเล่าให้ฟังเป็นการจุดประกาย ว่าเรามีอนาคต ผมเชื่อว่าคนไทยเก่ง แต่ต้องเปลี่ยนนิดนึง ต้องรักเพื่อนบ้าน เริ่มที่ตัวท่าน สอนลูกท่าน ถึงจะไปรอด

“แล้วสมุทรสาคร ผมบอกได้เลยว่าอนาคตมันก็เป็นแบบสิงคโปร์หรือฮ่องกง คือมีคนต่างชาติ แต่เขาก็ต้องอยู่กับเราอย่างพี่น้อง ไม่ใช่เอาแรงงานมาใช้ แล้วแค่นั้นพอ ไม่ได้ เขาต้องมีสิทธิเสมอเหมือนคนสมุทรสาคร ปกครองเหมือนกัน ไม่งั้นไม่มีทาง ถ้าคิดแค่เป็นเพียงแรงงานราคาถูก มาแทนคนไทยที่ไม่อยากทำงาน สมุทรสาครไปไม่ได้ ต้องคิดใหม่ ต้องมีสิทธิเสมอเหมือนกันถ้าเขามาอยู่กับเรา รวยกับเรา ใช้เงินกับเรา เนี่ยมันถึงจะโต ดูอย่างสิงค์โปร์ สิงค์โปรที่โตอยู่ได้ เพราะทุกคนมาอยู่แล้วรวยกันหมด ใช้เงินเขา รักเมืองเขา” นายเกษมสันต์กล่าวทิ้งท้าย

20

21

22

25

26

30

31

32

33

34

35

กิตติกร นาคทอง



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง