นพ.โมลี วนิชสุวรรณ : ตั้งศูนย์โรคหัวใจ รพ.สมุทรสาคร มุ่งสู่โรงเรียนแพทย์

1917-1

จากจังหวัดสุดท้ายที่ยังไม่มีโรงพยาบาลประจำจังหวัด นับตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2501 เริ่มต้นจากเรือนคนไข้เพียงหลังเดียว ขนาด 25 เตียง ปัจจุบันเป็นเวลา 57 ปีแล้ว ที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รับใช้ผู้ป่วยในจังหวัด ทั้งคนสมุทรสาคร และแรงงานต่างด้าว ในฐานะเมืองอุตสาหกรรมวันละนับพันราย

นอกจากภารกิจในการรักษา ดูแล และช่วยชีวิตผู้ป่วยแล้ว ยังทำหน้าที่ส่งเสริมสุขภาพ ร่วมผลิตบุคลากรสาธารณสุข และเป็นหน่วยงานสนับสนุนภารกิจของทางราชการ อาทิ หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน ร่วมกับศูนย์นเรนทร กระทรวงสาธารณสุข หรือจะเป็น การตรวจสุขภาพแก่แรงงานต่างด้าว ที่ขึ้นทะเบียนกับศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (วัน สตอป เซอร์วิส) ฯลฯ

เมื่อวิวัฒนาการทางการแพทย์ก้าวไปอย่างไม่หยุดยั้ง โรงพยาบาลประจำจังหวัดแห่งนี้ จึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนาตัวเอง นอกจากเพื่อให้มาตรฐานการรักษาทัดเทียมกับโรงพยาบาลอื่นที่เป็นของรัฐแล้ว ประชาชนในจังหวัดสมุทรสาคร และพื้นที่ใกล้เคียง เช่น เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ ก็จะได้ประโยชน์จากการเข้ารับบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน โดยที่ไม่ต้องผจญความลำบากกับการรักษาในโรงพยาบาลที่ห่างไกล

IMG_6077

IMG_6096

1917-2

นายแพทย์โมลี วนิชสุวรรณ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาคร กล่าวเปิดใจกับ “สาครออนไลน์” ถึงพัฒนาการของโรงพยาบาลแห่งนี้ว่า แต่เดิมเป็นเพียงโรงพยาบาลเล็กๆ ได้รับเงินบริจาคจำนวนมากจากคนสมุทรสาครเป็นหลัก ปัจจุบันมีแพทย์ พยาบาล พนักงาน เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ รวม 1,900 คน สามารถให้บริการผู้ป่วยนอกได้ถึงวันละ 3,000 คน ผู้ป่วยในวันละ 500 คน

รวมทั้งยังมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองที่มีชื่อเสียงถึง 5 คน จากเดิมมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพียงคนเดียว ที่นายแพทย์พินิจ หิรัญโชติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาครคนก่อนได้จ้างมา

นอกจากนี้ ยังมีโรงพยาบาลที่อยู่ในความรับผิดชอบอีก 1 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลวัดเกตุมดีศรีวราราม (โรงพยาบาลสมุทรสาคร 2) ตั้งอยู่ที่ ต.บางโทรัด อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร ห่างจากตัวเมืองสมุทรสาครไปทางทิศตะวันตก 17 กิโลเมตร เปิดให้บริการมาแล้ว 2 ปี สร้างโดยทุนทรัพย์ของทางวัด ที่พุทธศาสนิกชนได้ร่วมกันบริจาคผ่านทางพระครูไพศาลสาครกิจ เจ้าอาวาสวัดเกตุมดีศรีวราราม 200 ล้านบาท

ปัจจุบันโรงพยาบาลวัดเกตุมดีศรีวราราม มีผู้ป่วยเข้ารับบริการวันละ 250 คน แต่ยังมีคนไข้เข้าพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในจำนวนน้อย ส่วนหนึ่งเข้ารับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร ในอนาคตหากมีผู้เข้ารับบริการมากกว่า 400 คน ก็จะเปิดหอผู้ป่วยใน

IMG_6127

IMG_6128

IMG_6140

IMG_6148

IMG_6152

IMG_6153

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาคร กล่าวว่า ตนอยากให้โรงพยาบาลสมุทรสาครเป็นโรงเรียนแพทย์ เพื่อผลิตบุคลากรสาธารณสุข เป็นประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ แต่ยังขาดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายด้าน และต้องมีศูนย์รักษาโรคอีกหลายศูนย์ อาทิ ศูนย์โรคหัวใจ ศูนย์โรคมะเร็ง ศูนย์ชีววิทยา ฯลฯ ที่ผ่านมาเคยร้องขอแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจไปที่กระทรวงสาธารณสุข

แต่ได้รับการปฏิเสธ เนื่องจากแจ้งมาว่า โรงพยาบาลสมุทรสาครยังไม่มี “ห้องปฏิบัติการโรคหัวใจ”

การที่โรงพยาบาลสมุทรสาครจะของบประมาณมาสร้างห้องปฏิบัติการโรคหัวใจไม่ใช่เรื่องง่าย นายแพทย์โมลีอธิบายว่า ที่ผ่านมาทางภาครัฐจะให้ความช่วยเหลือตามจำนวนประชากร สมุทรสาครเป็นจังหวัดที่มีประชากรที่แท้จริงน้อย แต่เต็มไปด้วยประชากรแฝงมากกว่าเท่าตัว ทั้งกลุ่มอาชีพค้าขาย กลุ่มผู้ใช้แรงงาน และกลุ่มที่ผู้ปกครองพามาอุปการะเลี้ยงดู ไม่นับรวมแรงงานต่างด้าวทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมายอีกจำนวนมาก

นายแพทย์โมลี กล่าวว่า ที่จำเป็นต้องสร้างศูนย์โรคหัวใจเป็นลำดับแรก เพราะเป็นห่วงผู้ป่วยโรคหัวใจ ที่บางรายช่วยชีวิตไม่ทัน ได้เสียชีวิตลงเสียก่อน เช่น โรคหัวใจขาดเลือด และเพื่อเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นโรงเรียนแพทย์ในอนาคต เบื้องต้นใช้ทุนทรัพย์ประมาณ 30 ล้านบาท มีผู้มีจิตศรัทธาสนับสนุนเงินทุนบางส่วน และทางโรงพยาบาลมีการรณรงค์อย่างต่อเนื่องเพื่อจัดหาทุน อีกส่วนหนึ่งคือมีผู้มีจิตศรัทธา

เช่น สมาคมสวนกุหลาบสมุทรสาคร และสมาคมกีฬาจังหวัดสมุทรสาคร นำโดยนายศรีศักดิ์ วัฒนพรมงคล นายกสมาคมกีฬาจังหวัดสมุทรสาคร จะมีจัดกิจกรรมแรลลีการกุศล เส้นทางไปยังอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ในวันที่ 28 – 29 พ.ย. นี้

นอกจากนี้ ทางโรงพยาบาลได้เตรียมความพร้อมรองรับการจัดตั้ง โดยจะย้ายห้องผ่าตัดไปยังสถานที่ใหม่ภายใน 6 เดือนนับจากนี้ เพื่อใช้พื้นที่เดิมปรับปรุงเป็นศูนย์โรคหัวใจ ซึ่งในอนาคตจะมีห้องไอซียูสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจโดยเฉพาะ คาดว่าต้นปี 2560 จะเปิดให้บริการได้

ปัญหาที่สำคัญประการต่อมา คือ ผู้ป่วยที่เป็นแรงงานต่างด้าว นายแพทย์โมลีกล่าวกับเราว่า ทางโรงพยาบาลได้แยกแผนกออกมาต่างหาก เพื่อความสะดวกของแรงงานต่างด้าว ที่ส่วนใหญ่ไม่รู้ภาษาไทย สื่อสารกับแพทย์ และพยาบาลไม่ได้ โดยส่วนดังกล่าว มีพนักงานที่ได้รับการอบรมให้มีความรู้ในการซักประวัติคนไข้จากโรงพยาบาล เป็นชาวพม่าที่พูดไทยได้ พิมพ์ดีดภาษาไทยได้ เป็นผู้ช่วยเหลือคนไข้ และเป็นล่ามให้กับแพทย์พยาบาล เป็นการอำนวยความสะดวกให้แรงงานต่างด้าว ไม่มีปัญหาการรอคิวนาน ปะปนกับประชาชนทั่วไปที่มีจำนวนมากอยู่แล้ว
IMG_6178

IMG_6181

IMG_6187
อีกประการหนึ่งที่โรงพยาบาลประสบปัญหา คือ ความแออัดของโรงพยาบาล โดยเฉพาะที่จอดรถ ที่ผ่านมามีผู้ป่วยจำนวนมากที่มากับญาติ ทำให้จำนวนผู้ที่อยู่รอการรักษาเพิ่มมากขึ้น เกิดความแออัด และมีคนเข้าออกในโรงพยาบาลวันหนึ่งมากเกือบ 1 หมื่นคน มีทั้งผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย และผู้มาเยี่ยม ทำให้มีปัญหาเรื่องที่จอดรถไม่เพียงพอ

ที่ผ่านมา ทางโรงพยาบาลได้เขียนแบบอาคาร 15 ชั้นสำหรับเป็นอาคารที่จอดรถ ส่งไปของบประมาณจากภาครัฐแล้ว แต่ยังไม่อนุมัติลงมา ซึ่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลได้ส่งไปอีกทุกปี และในปีงบประมาณหน้าก็จะส่งไปขอรับการสนับสนุนอีก ใช้เงินประมาณ 150 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ถ้าหากเอกชนรายใดสนใจจะลงทุนก่อสร้าง แล้วจัดเก็บค่าจอดรถในราคาไม่แพง ถือเป็นการกุศล ทางโรงพยาบาลก็ยินดี

IMG_6108

IMG_6114

IMG_6122

IMG_6123

เมื่อกล่าวถึงโรคภัยไข้เจ็บที่โรงพยาบาลให้การรักษา นายแพทย์โมลี กล่าวว่า ในพื้นที่สมุทรสาคร มีผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานมากที่สุด รวมทั้งโรความดันโลหิตสูง สาเหตุสำคัญที่นำไปสู่โรคหัวใจและโรคไต ที่ผ่านมามีผู้ป่วยโรคเบาหวานเข้ารับการรักษา 8,000 คน ส่วนการรักษาโรคไต เดิมมีเครื่องฟอกไตเพียง 9 เครื่อง ไม่พอกับจำนวนผู้ป่วยที่ต้องฟอกไตสัปดาห์ละ 2 ครั้งเพื่อกำจัดของเสียที่เป็นพิษในเลือดออก หากไม่เอาของเสียที่มีพิษออก คนไข้จะมีชีวิตอยู่ได้แค่ 5-7 วันก็จะเสียชีวิต ทางโรงพยาบาลจึงเพิ่มเครื่องฟอกไตอีก 20 เครื่องที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ทางวิทยาศาสตร์

IMG_6119

นายแพทย์โมลี กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า โรงพยาบาลสมุทรสาครได้พัฒนาเทคโนโลยีทางด้านเครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และพัฒนาในด้านความรู้ของแพทย์ โดยได้ส่งแพทย์ไปเรียนเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำงาน และได้มีการพัฒนาบุคลากรให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับคนไข้จำนวนมากขึ้น และเป็นนโยบายของโรงพยาบาลที่ต้องทำเพื่อมนุษยธรรม เพราะชีวิตมนุษย์สำคัญกว่าสิ่งใด

ดังคำขวัญที่ว่า “โรงพยาบาลคุณภาพ สู่คุณธรรม” ที่ติดไว้หน้าอาคาร บุคลากรทางการแพทย์ของที่นี่ต่างยึดมั่นเสมอมา.

สุรางค์ นาคทอง : รายงาน / กิตตินันท์ นาคทอง : เรียบเรียง



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง